xs
xsm
sm
md
lg

“ข่าวอวดผี” ความ(ไม่)เชื่อ(อย่าลบหลู่)ในสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คงเป็นคำที่คุ้นหูกันดีในหมู่คนที่นึกสงสัยในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จากปรากฏการณ์ของข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระแสพูดกันมากมาย

ตั้งแต่กรณีหญิงสาวห่มสไบช่วยเครื่องบินตก จนถึงภาพเขียนอาถรรพ์ในการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เกิดเป็นคำถามต่อหลายคนว่า เหตุใดสังคมไทยจึงกลับมาสู่ความเชื่อเก่า? ความงมงายในสังคมที่ก่อตัวขึ้นจนกลายเป็น “ผี” บนหน้าหนังสือพิมพ์ สะท้อนความเป็นไปอย่างไรในสังคมไทยยุคปัจจุบันบ้าง?

3 สิ่งลี้ลับในรอบ 1 เดือน

ในช่วงไม่นานมานี้ตามหนังสือพิมพ์ได้ปรากฏข่าวลี้ลับมากมาย โดยทั้งหมดเป็นข่าวใหญ่ที่ชวนให้หลายคนนึกสงสัยต่อความเชื่อและความเป็นไปของประเทศที่ดูเหมือนจะย้อนกลับไปสู่ความเชื่อเก่าที่หลายคนมองว่า “งมงาย” อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ต่อไปนี้คือ 3 เหตุลี้ลับที่เกิดเป็นข่าวแล้วขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หัวสีชื่อดังในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา

1.หญิงสาวห่มสไบช่วยเครื่องบินตก
กลายเป็นอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงเมื่อเครื่องบินของการบินไทยไถลออกนอกรันเวย์ หลังเหตุการณ์ทั้งหมดกลับเกิดเรื่องประหลาดขึ้นเมื่อมีข่าวลือว่า ผู้โดยสารการบินไทยเที่ยวบินดังกล่าวมองเห็นแอร์โฮสเตสแต่งชุดไทย ห่มสไบเข้ามาช่วยเหลือผู้โดยสารไว้!!

ในเหตุการณ์ดังกล่าว พนักงานต่างยืนยันว่าไม่มีใครแต่งชุดไทย ทั้งนี้เรื่องราวทั้งหมดนั้นได้เผยแพร่ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ทว่าเรื่องไม่จบเพียงแค่ข่าวลือ เมื่อผู้บริหาระดับสูงและเจ้าหน้าที่การบินไทยต่างเห็นว่า หญิงสาวแต่งชุดไทยน่าจะเป็นจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยดา นางฟ้าของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เข้ามาช่วยเหลือผู้โดยสารทุกคนให้แคล้วคลาดปลอดภัย

ทางด้านโชติศักดิ์ อาสภะวิริยะ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยต่อเรื่องลี้ลับดังกล่าวว่า ในช่วงที่ตนเองบริหารงานนั้น มีพนักงานชุดแรกที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่บริเวณศูนย์ดับเพลิงมาร้องเรียนว่าถูกผีหลอกเป็นจำนวนมากทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งยังประสบปัญหาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ครั้งใหญ่มีผู้บาดเจ็บถึง 30 คน และช่วงนั้นพบว่าถนนทางเข้าสนามบินบริเวณติดกับรันเวย์ตะวันออกก็มีผู้ประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำให้ตนตัดสินใจทำพิธีสร้างศาล รวม 6 แห่ง และให้พนักงานสวดมนต์ทุกวันเสาร์ และมีพิธีทำบุญใหญ่

ทว่าเท่านั้นยังไม่พอ หลังจากเหตุลี้ลับดังกล่าวเป็นที่พูดถึงก็มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายออกมายืนยันถึงการมีอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่เจน ญาณทิพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสัมผัสวิญญาณ หมอช้าง ทศพร ศรีตุลา ซินแสชื่อดัง ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (สนามบินสุวรรณภูมิ) กระทั้ง ระวีวรรณ เนตระคเวสนะ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

2. กระดูกผี 7 ป่าช้ากลางทำเนียบฃ

ช่วงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ประสบกับปัญหามากมายตั้งแต่กระแสปฏิวัติจนถึงข้าวยากหมากแพง พระวัดดังจากจังหวัดเชียงใหม่ก็ออกมาให้ข่าวว่า มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีกับรัฐบาลนำกระดูกผี 7 ป่าช้ามาฝังไว้ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยพระชื่อดังรูปนั้นคือพระครูสุเทพสิทธิคุณ หรือหลวงพ่อพันเทวา เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง ถือเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังของเชียงใหม่ และดินแดนล้านนา มีชื่อเสียงทางด้านวิชาอาคมจนเป็นที่นับถือของชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง และเป็นพระอาจารย์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

หลังจากให้ข่าวดังกล่าวก็ได้มีการประกอบพิธีเพ่งดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าเป็นเวลานานกว่า 30 นาที พร้อมกับสวดมนต์แผ่เมตตาขอบารมีสุริยะ ให้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่กำลังคุกคามรัฐบาล ลดกระแสความร้อนแรงของสถานการณ์บ้านเมืองลง ทั้งนี้มีการรายงานว่า หลังจากจากการทำพิธีในช่วงต้นได้มีเมฆมาบดบังดวงอาทิตย์จากนั้นไม่นานกลุ่มเมฆก็ได้เคลื่อนตัวออกไป ซึ่งตีความได้ว่าประเทศชาติอาจจะประสบปัญญาภัยคุกคามในบางช่วง แต่จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

3.ภาพอาถรรพ์ร.ฟ.ท.

หลังเกิดรถไฟด่วนพิเศษระหว่างประเทศขบวนที่ 36 วิ่งระหว่างสถานีบัตเตอร์เวิร์ธ - กรุงเทพ ประสบอุบัติเหตุตกรางระหว่างออกจากสถานีรถไฟบางซื่อ 2 มุ่งหน้าสถานีสามเสนและสถานีหัวลำโพง ได้มีการตั้งข้อสังเกตกับภาพเขียนสีน้ำมัน ที่เป็นรูปรถไฟติดอยู่ที่บริเวณโถงกลางทางขึ้นสำนักงานร.ฟ.ท.ซึ่งภาพดังกล่าวมีร่องรอยชำรุดโดยเฉพาะที่รางรถไฟมีรูขนาดใหญ่เกิดขึ้น อาจเชื่อมโยงกับกรณีอุบัติเหตุหลายครั้งที่เกิดขึ้นกับร.ฟ.ท. จนเป็นที่มาของพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า “ภาพอาถรรพ์”

ทั้งนี้ ประภัสร์ จงสงวนผู้ว่าฯการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพเขียนดังกล่าวว่า เรื่องอุบัติเหตุต้องมองที่ข้อเท็จของปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่า คือสภาพรางที่เก่าชำรุดและไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการซ้อมบำรุงมาเป็นเวลานาน โดยระบุว่าจะมีการทำบุญใหญ่ในวันที่ 14 กันยายนซึ่งตรงกับวันครบรอบ 117 ปีของการก่อตั้งร.ฟ.ท. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงาน เนื่องจากประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยการทำบุญเป็นความเชื่อที่อยู่กับสังคมไทยมานาน ส่วนตัวก็เชื่อว่าการที่ประเทศไทยผ่านพ้นเหตุการณ์ร้ายๆมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองประเทศ ยอมรับว่าเห็นตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง ได้สั่งให้คนมาซ้อมแล้วแต่เป็นภาพสีน้ำมันที่ต้องหาช่างที่ชำนาญเป็นพิเศษ จึงจะดำเนินการได้ โดยภาพดังกล่าวถูกไว้ตั้งแต่ 2508 และมีการนำมาใส่กรอบติดไว้

สังคมที่อ่อนไหว

จากกระแสข่าวถึง 3 ข่าวที่ขึ้นหน้าหนึ่งและมีการพูดถึงไสยศาสตร์เรื่องลี้ลับในสังคมไทย ทำให้เกิดสงสัยว่า สังคมกำลังอยู่ในภาวะผิดแปลกจากปกติอย่างไรหรือเปล่า รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า สิ่งเกิดขึ้นนี้เกิดจากตัวแปลหลายอย่างด้วยกัน

“ผมว่ามันเกิดจากหลายอย่างนะ ความเชื่อเก่าเดิมมันก็มีอยู่แล้วนะ เชื่อแบบไสยศาสตร์อะไรที่เหนือธรรมชาติ ดังนั้นพอสังคมเกิดความไม่แน่นอนไม่มั่นคง คนก็จะเชื่อพวกนี้ง่ายขึ้น มันอาจจะมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง เศรษฐกิจ ไปทางไหนมันไม่ชัดเจน มันเป็นปกติที่เมื่อไม่มีความมั่นคงในจิตใจ คนเราจะเชื่อเรื่องแปลกๆ เหนือธรรมชาติ”

ในความเห็นของเขา การเชื่อในสิ่งเหล่านี้เขาเห็นว่า ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะสิ่งที่ไม่มีเหตุผลจะขัดขวางการค้นหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ได้

“ผมคิดว่าไม่มีข้อดี คือเราก็ไม่ดูถูกความเชื่อคนนะ แต่มันไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์หรือเป็นเหตุเป็นผล อย่างปัญหาเรื่องเครื่องบินมันต้องมีการสอบสวนให้เต็มที่ ไม่ใช่พูดว่าก็ดีนะ มีคนห่มสไบมาช่วยเหลือ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ คนอาจจะเกิดภาวะตกใจ แล้วทำให้เห็นอะไรแปลกๆ ซึ่งยังไงความจริงมันต้องสอบสวน”

ในส่วนของผลเสีย เขาเห็นว่า การมีความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติมากเกินไป มีแต่จะทำให้สังคมเดินถอยไปสู่สังคมที่ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นไปทุกที

“ข้อเสีย ผมว่าคนเราจะเชื่อมากเกินไปจนเราไม่พยายามทำตัวให้เป็นเหตุผล บางครั้งพุทธศาสนาสอนเรื่องเหตุผล เป็นการกระทำของเราเอง เราทำดีก็ต้องได้ดี ดังนั้นสังคมควรจะช่วยเหลือกันเอง ไม่ใช่ฝากความหวังไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมันมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากพิสูจน์ไม่ได้แล้วยังไม่รู้ว่าบางช่วงก็มาช่วย บางช่วงก็ไม่มาช่วย”

เขายกตัวอย่าง ช่วงที่เกิดเหตุน้ำท่วม เหตุใดจึงไม่สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วย ท้ายที่สุดของการมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เขาเห็นว่ามันอาจทำให้ผู้คนลืมไปว่า สังคมเราเคยผ่านเรื่องร้ายแรงมากมาแล้วแค่ไหน และหันไปศึกษาหาทางแก้ไข โดยเส้นแบ่งของคำว่า “ศรัทธา” กับ “งมงาย” เขาบอกเลยว่า แบ่งได้ยาก

“มันพูดยากในแง่ปัจเจกชน...ถ้าเขาเชื่อแล้วสบายใจมันก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเชื่อมากๆ งมงายจนเขาไม่ทำอะไรเลย นอนรอแต่ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยมันก็แย่เหมือนกัน ยิ่งถ้าเชื่อมากทั้งสังคมมันจะยุ่ง ผมว่าไม่ดี ท้ายที่สุดสังคมจะต้องอยู่กับความเป็นจริงพยายามหาทางวิเคราะห์ว่า ปัญหามันอยู่ที่ไหนจะแก้อย่างไร? เรื่องของไสยศาสตร์มันไม่ควรเป็นประเด็นหลักของสังคม”

ผีในสื่อคือเรื่องขำขัน

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา...ผีได้แปรเปลี่ยนสถานะของมันไปตามแต่ช่วงยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง จาก “ผี” ของความเชื่อ ความกลัว การเคารพและวัฒนธรรมจารีตพื้นถิ่น สู่เล่าเรื่องน่ากลัวสยองขวัญในสื่อบันเทิง ธาม เชื้อสถาปนาสิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)/ไทยพีบีเอส มองความเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมอธิบายถึงการกลับมาโผล่อีกครั้งของ “ผี” ในพาดหัวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งว่า ลึกๆ แล้วคนไทยยังคงเชื่อเรื่องผีอยู่อย่างฝังหัว

“มันน่าจะมาจากการที่สังคมไทยหาทางออก หาคำตอบให้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้จริงๆ มันสุดปัญญาของคนไทยจริงๆ มันมักจะลงท้ายด้วยเหตุผลประเภทเป็นเรื่องโชคลาง เหนือธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ตรวจสอบไม่ได้เป็นเรื่องผีที่เข้ามาช่วย ซึ่งไม่ใช่เหตุผลทั่วๆไปแบบที่เราสามารถอธิบายมันได้ และเมื่อถึงจุดหนึ่งคนไทยจะบอกว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”

โดยปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ลึกๆ แล้วคนไทยยังเอาความเชื่อเรื่องของผีสางนางไม้เทวดาเทพยากรผีบรรพบุรุษมาอธิบายเรื่องต่างๆ อยู่ และมันก็ยังคงแอบแฝงฝังอยู่ในสังคมสะท้อนผ่านสื่ออย่างรายการ คนอวยผี ที่มียอดรับชมย้อนหลังรวมมากกว่า ฮอร์โมน

“มันกลายเป็นกระแสนิ่งๆ เงียบๆ ทุกคืนวันพุธคนจะอยากดูมาก สาเหตุก็คือปัจจุบันนี้เราเป็นสังคมเมืองค่อนข้างมาก เวลาเกิดเหตุการณ์ทางสังคมต่างๆ เราไม่นึกถึงผีเท่าไหร่ ราวกับว่า ผีหายไปจากสังคมไทยค่อนข้างมาก แต่พอเหตุการณ์นี้แล้วผีแทรกตัวเข้ามา มันสะท้อนว่า ลึกๆคนไทยยังโหยหา ยังคงเชื่อเรื่องผีอยู่”

แต่เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่า ยุคที่เปลี่ยนไป วัฒนธรรมของผีที่แทรกตัวเข้ามาในยุคปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากความเชื่อเก่าที่ผีเป็นประเพณี ผีคือบรรพบุรุษหรือที่เรียกว่า ผีปู่ผีย่า มีเรื่องที่ห้ามทำ ห้ามละเมิด ได้ผ่านกาลเวลาจากเป็นผู้ปกครองกลายเป็นเพื่อนจนถึงเรื่อนขำขันสีสันในสื่อบันเทิงไปแล้ว

“ตอนนี้ผีของคนชั้นล่างหรือคนรุ่นเก่ามันเป็นระบบความคิดความเชื่อทางสังคม ผีเป็นประเพณี เป็นจารีตด้วยซ้ำไป แต่ผีของคนเสพข่าวหรือชนชั้นกลางกรุงเทพฯไม่ใช่แบบนั้น มันกลายเป็น เฮ่ย จริงเหรอ? มันไม่ใช่ระบบวัฒนธรรม ผีเข้ามาในข่าวมันเป็นความบันเทิง”

คำพูดที่มักจะถูกเอ่ยขึ้นหากได้ยินเรื่องทำนองนี้จึงเป็น “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” แล้วตามมาด้านเสียงหัวเราะขำขัน เขามองว่า เรื่องผีกลายเป็นความบันเทิงที่ไม่ได้มีความหมายอย่างผีของคนสมัยก่อน ทั้งนี้ผีในอดีตนั้นเขาเผยว่า เป็นสิ่งที่ต้องมีในการปกครองและอยู่ร่วมกัน แต่พอถึงปัจจุบันที่มีกฎหมาย มีสถาบันครอบครัวที่ปกครองดูแลกัน ผีจึงหมดความหมายสำหรับยุคปัจจุบัน

โดยผลที่ตามมานั้น ผมมองว่า สังคมไทยอาจไปไม่ถึงสุดทางของข้อเท็จจริง แล้วให้เหตุผลรองรับว่า บางครั้งมันก็มีเรื่องของผีสางที่ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่มาแก้ไขปัญหา เขาเรียกว่า “divine intervention” หรือสวรรค์บันดาล ซึ่งคนในภูมิภาคเอเชียชอบใช้สิ่งนี้

“เราไม่ต้องการเหตุผลว่าทำไมสิ่งนั้นเกิดขึ้น ซึ่งของประเทศไทยบางเรื่องที่เราไม่อยากจะอธิบายเราก็จะหาเหตุผลแบบ ธรรมะจัดสรร ผีจัดให้ ข้อเสียคือ หากมันเป็นแค่โจ๊กมันจะไม่เสียหายอะไรมาก อย่างผีการบินไทย อุบัติเหตุบางอย่างกลายเป็นมีเรื่องโจ๊กที่ว่า ผีห่มสไบมาช่วยผู้โดยสารแล้วข่าวมันก็จบแค่นี้ มีผีมาช่วยเหลือ ผมจะบอกว่า สังคมไทยจะวนเวียนอยู่ที่ว่า เวลาเกิดปัญหาอะไรเราจะไม่หาคำตอบให้ชัด เราจะสืบเสาะจนถึงที่สุดแล้วเราก็จะขำๆ ตลกๆกับปัญหา จากกันไปกับข่าว มันจะจบด้วยแบบนี้ หรือที่จริงแล้ว คนไม่สนใจด้วยซ้ำว่าข้อเท็จจริงมันจะเป็นยังไง คนสนใจแค่เรื่องบันเทิง ผีเข้ามาในองค์ประกอบของความบันเทิงก็เลยตลกแค่นั้น”

ในส่วนของการสื่อสารเรื่องลี้ลับเหล่านี้ในฐานะของข่าวที่ขึ้นหน้าหนึ่ง ธาม อธิบายว่า มาจากพื้นฐานสังคมที่ชอบเรื่องลี้ลับ

“ข่าวพวกนี้มันขายค่อนข้างดีโดยเฉพาะในวันที่ 1 กับ 15 คือผู้คนแสวงหาเงื่อนงำตัวเลข ทำไมสรยุทธชอบนำข่าวพวกนี้มารายงานช่วงหวยออกละ? เพราะว่ามันสามารถดึงความสนใจของผู้คนได้ แต่ในขณะที่ขายข่าวเรื่องแบบนี้สังคมไทยกำลังถูกหล่อเลี้ยงด้วยเรื่องงมงายนะ”

ทว่าคุณค่าของข่าวคือข้อเท็จจริง ดังนั้นการรายงานด้วยข่าวลือ เรื่องที่ตรวจสอบไม่ได้ เรื่องลึกลับ เรื่องแนวไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เขามองว่า จะนำสังคมไปสู่สังคมที่ไม่ได้แสวงหาข้อเท็จจริง

โดยเรื่องโจ๊กของการมีผีอยู่ในข่าวนั้น เขามองว่าเป็นมุกเดิมที่คนไทยชอบอยู่แล้ว ทำให้ขายข่าวได้ง่าย หากแต่มองในอีกมุม โจ๊กของเหตุการณ์ที่มาจากข้อเท็จจริงอาจช่วยเติมทั้งสีสันและข้อเท็จจริงให้กับข่าวได้

“ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เราขำไปกับข้อเท็จจริง อันนี้สำคัญ ถ้าข่าวทำให้คนขำกับข้อเท็จจริงได้ มันจะดีกว่าขำกับสิ่งที่เราพิสูจน์ไมได้ แต่มันเป็นรสชาติที่ถูกปากคนไทยแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด เขาเห็นว่า การเสพสื่อนั้นก็ควรจะก้าวไปให้พ้นไปจากความ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ไปสู่การตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังข่าวด้วย

“เวลาเสพข่าวพวกนี้ให้มองเป็นขำขัน แต่มากกว่าขำขันคือการตั้งคำถามว่า 1. เราในฐานะผู้อ่าน ผู้ดูข่าวสารได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้บ้าง? 2. มุกตลก ขำขันที่ไม่เชื่ออย่าลบหลู่แบบนี้มันทำให้สังคมไทยได้ค้นหา ได้ตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงหรือเปล่า?”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


ภาพหลังเหตุเครื่องบินไถล
หลวงพ่อพันเทวาประกอบพิธีเพ่งดวงอาทิตย์
ภาพเขียนสีน้ำมันในร.ฟ.ท.
กำลังโหลดความคิดเห็น