เดือดระอุไปทั่วสังคมออนไลน์ เมื่อกลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ได้แชร์จดหมาย "จดหมายถึงเพื่อนสวนโมกข์" เขียนถึงกัลยาณมิตรของสวนโมกขพลาราม วิพากษ์เรื่องการบริหารจัดการ "เงิน" และถาวรวัตถุที่กำลังสร้างขึ้นใหม่ อันสวนทางกับหลักคำสอนของพุทธทาส
ไม่แปลกที่จะมีครูบาอาจารย์และกัลยาณมิตรแห่ต่อต้าน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณเขาพุทธทอง ที่ตอนนี้มีการขุดถมดิน ลงฐานรากคอนกรีตขนาดใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลง "โบสถ์ธรรมชาติแบบสวนโมกข์" ให้ทันสมัย ดูดียิ่งขึ้น
แต่จะว่าไป นอกจากประเด็นดังกล่าวนี้แล้ว หากมองและวิเคราะห์ให้ลึกลงไป เรื่องนี้มีปมปัญหาให้น่าขบคิดอีกมาก..
กระแสทวงคืนจิตวิญญาณสวนโมกข์
กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที ภายหลังจากที่กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ได้แชร์จดหมาย "จดหมายถึงเพื่อนสวนโมกข์" เขียนถึงกัลยาณมิตรของสวนโมกขพลารามเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อแจ้งข่าวให้ทราบถึงพระสงฆ์ที่แตกแยกออกเป็นสองกลุ่ม และทิศทางของสวนโมกข์ที่กำลังเดินออกไปจากสิ่งที่ท่านพุทธทาสได้วางไว้ในอดีต
เป็นเหตุให้หลายฝ่ายเกิดความรู้สึกเป็นห่วงกับปัญหาภายในวัด และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งกำลังกระทบต่อจิตวิญญาณความเป็นสวนโมกข์อย่างยากที่จะนำกลับคืนมา
นี่คือความปรารถนาดีจากเพื่อนสวนโมกข์บางส่วนที่ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ขออนุญาตหยิบยกนำเสนอต่อ
"อยากให้สวนโมกข์ยุคใหม่ ไม่ทิ้งแนวคิดเดิมของสวนโมกข์ยุคท่านอาจารย์พุทธทาส ที่เน้นความสำคัญของธรรมชาติในฐานะที่เป็นสิ่งแวดล้อมช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้สงบและเปิดใจให้เห็นธรรมะ แม้ท่านอาจารย์จะจากไปแล้ว แต่ก็ยังมีธรรมชาติที่สอนธรรมอันลึกซึ้งแทนท่านได้ ขณะเดียวกันสิ่งใหม่ที่ควรเพิ่ม (หรือที่จริงเป็นของเก่าที่ควรรื้อฟื้นกลับมา)ก็คือ ความเป็นหมู่สงฆ์ ที่ร่วมคิดร่วมทำ มิใช่เพื่อเสริมสร้างสามัคคีธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างผู้นำร่วม (collective leadership) ซึ่งจำเป็นสำหรับสวนโมกข์ยุคใหม่ที่ไร้ท่านอาจารย์พุทธทาส" พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคโต
"ขอให้นึกถึงสวนโมกข์และอ.พุทธทาสนอกเหนือไปจากการคิดสั้นเพื่อสถาบันหลัก และขอให้นึกถึงความเป็นทาสของพระพุทธเจ้าเพื่อการหลุดพ้นต่อการครอบงำต่างๆ ให้สมกับชื่อของท่านและสวนแห่งนี้" สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม/ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
นอกจากนั้น ยังมีความปรารถนาดีจากครูบาอาจารย์และกัลยาณมิตรอาวุโสอีกหลายท่าน เข้ามาแสดงความคิดเห็นโดยวิงวอนให้คณะสงฆ์ได้ปรึกษาหารือกันก่อนที่จะดําเนินการใด ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นทิศทางในอนาคตของสวนโมกข์ การมีส่วนร่วม หรืออะไรคือจิตวิญญาณของสวนโมกข์
เปิดข้อเท็จจริงจากปาก "พระสุชาติ"
แม้มีฝ่ายที่เห็นว่า การดำเนินงานเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และการก่อสร้างอย่างเอิกเกริกบนยอดเขาพุทธทอง ณ ตอนนี้ ควรถูกยับยั้งโดยเร็วที่สุด เพราะสวนทางกับจิตวิญญาณของสวนโมกข์ที่เน้นหลักความเรียบง่าย ไม่ปรุงแต่ง เป็นอิสระจากการครอบงำ บวกกับพลังทางสังคมที่ร่วมด้วยช่วยกันกดดัน พร้อมกับตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงของสวนโมกข์
แต่เวลานี้ คำชี้แจงจาก พระอาจารย์สุชาติ ปัญญาทีโป เจ้าอาวาสคนปัจจุบันแห่งวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี คือสิ่งที่สังคมอยากที่จะฟังมากที่สุด และนี่คือคำตอบของท่านผ่านการให้สัมภาษณ์กับ นสพ.คมชัดลึก เซ็กชันศาสนา-พระเครื่อง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังจากสวนโมกข์ลุกเป็นไฟจนลามไปทั่วสังคมออนไลน์ โดยทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live หยิบยกมานำเสนอเพื่อให้เกิดการรับทราบข้อเท็จจริงที่ตรงกัน
"บริเวณเขาพุทธทอง เราต้องการทำให้ดูดีขึ้น เพราะโบสถ์ถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลาหลายสิบปี ฝนตก น้ำเซาะ แล้วบันไดขึ้นลงก็แตกออก ทำให้ขึ้นลงไม่สะดวก พระอาจารย์ทองสุข ธมฺมวโร ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่บวชมานานแล้ว โบสถ์เขาพุทธทอง ท่านก็เป็นผู้ปรับปรุงตั้งแต่สมัยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสยังอยู่ ท่านได้มอบหมายให้อาจารย์ทองสุข เป็นผู้จัดทำลานข้างบนเวลาพระท่านนั่งสมาธิ อบรมพระเณร ทำสังฆกรรม เวลามีการบวช เวียนเทียน วันสำคัญๆ นานเข้า ฝนตก น้ำเซาะ เป็นหลุมเป็นบ่อ ก็เลยต้องการปรับปรุงให้ดูดี พอดีมีเพื่อนที่เมื่อก่อนเขาเคยบวชแล้วสึกออกไป เป็นสถาปนิกอายุ 70 กว่าปี เขามาพักผ่อนทำความสงบที่สวนโมกข์ก็เลยขอร้องให้เขาช่วยออกแบบที่จะปรับปรุงโบสถ์ เราไม่ได้สร้างเป็นอาคาร แต่เอาดินมาถมหน่อย แล้วทำบันไดให้มันแข็งแรง คนที่มาเห็นบันได เอาเหล็กมาผูก เขาก็คิดว่าเราจะสร้างเป็นอาคารใหญ่"
"คนที่ดูเฉพาะภาพก็อาจจะคิดว่า เราจะสร้างอะไรใหญ่โตหลายสิบล้าน แต่จริงๆ เราแค่ทำอะไรให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ได้สร้างเป็นอาคาร แต่บันไดต้องการทำให้แข็งแรง เทคอนกรีต เวลาทำจริง เราก็ต้องเอาหินมาวาง มันก็ดูเป็นกอง เป็นคาน แต่มันยังไม่เสร็จ ตรงที่เราเทปูน วางเหล็ก ทำบันไดเขาก็ไปเอะอะโวยวายกัน การที่เราเอาดินมาถม เขาก็อ้างว่า กลัวต้นไม้ใหญ่จะตาย แต่เราก็พยายามถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ว่าถมอย่างไร ต้นไม้จึงไม่ตาย เราก็ค่อยๆ ทำ เขาเห็นเป็นกองดิน เนินดิน เขาบอกว่า ไม่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็บอกว่า รอให้เราทำให้เสร็จก่อนได้ไหม เขาก็ไม่เชื่อ ไปบอกคนนั้นคนนี้ว่าทำให้เสียธรรมชาติ เขาต้องการให้เป็นภาพเดิม อนุรักษ์แบบเก่าๆ ไว้ คนรอบๆ วัดเขามาดูเขาก็เข้าใจ ไม่มีปัญหา แต่คนที่มาต่อต้านก็มาจากที่ต่างๆ กัน แต่พอมาแล้วเราก็ชี้แจงให้เขาเข้าใจ แต่มีส่วนหนึ่งเขายังต่อต้านอยู่"
ส่วนกรณีที่ใครหลายคนกังวลกันมากว่า ทางเจ้าอาวาสไม่ได้ดำเนินตามปณิธานท่านพุทธทาสอย่างที่ควรจะเป็น เรื่องนี้ พระอาจารย์สุชาติ ให้ความเห็นว่า "ก็ยังดำเนินตามปณิธานท่านอาจารย์อยู่ เราจะไปนอกแนวได้อย่างไร บางสิ่งบางอย่างก็ต้องพัฒนาบ้าง แต่เราไม่ได้ทำให้มันเกินเลย"
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ พระอาจารย์ทองสุก ธัมมวโร ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ก็ออกมาชี้แจงตรงกันว่า พระอุโบสถแห่งนี้ตนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโดยทำตามคำสั่งของท่านพุทธทาส ซึ่งเห็นว่าถึงเวลาที่จะควรมีการปรับปรุง เนื่องจากพื้นที่เป็นป่ารก และทึบเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดเล็ก และมียุงจำนวนมาก เวลาที่มีกิจกรรมทางสงฆ์ หรืองานประเพณีในวันสำคัญทางศาสนา ผู้ที่ขึ้นมาปฏิบัติธรรมต้องเผชิญกับสิ่งรบกวน และพื้นที่ไม่เพียงพอต่อประชาชนขึ้นมาปฏิบัติธรรม จึงได้ขออนุญาตพระอธิการสุชาติ ปัญญาทีโป เจ้าอาวาส ดำเนินการปรับปรุง โดยมีคณะกรรมการของวัดเห็นชอบด้วย แต่มีกระแสข่าวออกไปว่าจะมีการรื้อพระอุโบสถเก่าทิ้ง และดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นเหมือนแบบวัดทั่วๆ ไปนั้น มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ทั้งนี้ การปรับปรุงในพื้นที่รอบพระอุโบสถที่มีอาณาเขตกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ยังคงยึดหลักธรรมชาติ ไม่มีการทำลายธรรมชาติแต่อย่างใด พื้นที่บางส่วนมีการปรับแต่งพื้นที่เป็นตามขั้นบันได และลดหลั่นไปตามพื้นที่ พร้อมจัดสัดส่วนสถานที่ ฌาปนกิจสรีระ ท่านพระพุทธทาส ให้เด่นชัด เป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป แต่ก็ยอมรับว่า การปรับปรุงครั้งนี้ย่อมมีคนเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ก็พร้อมที่จะชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจ และเดินหน้าการปรับปรุงต่อไป
เคลียร์ปัญหา สงฆ์แตกเป็น 2 กลุ่ม!
ส่วนอีกประเด็นร้อนที่กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ได้แชร์จดหมาย "จดหมายถึงเพื่อนสวนโมกข์" เขียนถึงกัลยาณมิตรของสวนโมกขพลาราม เพื่อแจ้งสถานการณ์ภายในวัดสวนโมกข์ โดยอ้างว่า สงฆ์แตกออกเป็นสองกลุ่มจากการตั้งเจ้าอาวาสคนใหม่มาแทนเจ้าอาวาสคนเก่า ได้มีเจ้าอาวาสเงาเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สวนโมกข์ โดยเฉพาะการเข้ามาควบคุมจัดการเรื่องเงิน โดยต้องการแยกบัญชีวัดออกจากธรรมทานมูลนิธิ
เรื่องนี้ได้มีการชี้แจงสั้นๆ จากเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหลว่า "จริงๆ ไม่ได้มีการแบ่งแยกอะไรในหมู่สงฆ์ ในส่วนของพระทำความเข้าใจกันได้ แต่คนที่ไม่เข้าใจก็มี ก็ต้องมาคุยกัน"
ส่วนกรณีท่านจ้อย หรือพระครูใบฎีกามณเฑียร มัณฑิโร อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาส หลังจากมีกระแสข่าวถูกบีบให้ออกจากการทำหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์รับบริจาคเงิน ความจริงแล้ว ท่านจ้อยได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดตะกรบ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งวันเดียวกับที่ท่านสุชาติได้มาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่
ส่วนกรณีการเปลี่ยนไวยาวัจกร (ผู้ช่วยเหลือรับใช้พระสงฆ์ ทำกิจธุระแทนสงฆ์) จากคุณเมตตา พานิช มาเป็นคุณนิคม เจตนเจริญรักษ์ คุณณรงค์ เสมียนเพชร อาจารย์โพธิพันธ์ พานิช คุณกิตติศักดิ์ รุ่งเรืองวัฒนชัย และคุณธวัชชัย จันทร์แดง เจ้าอาวาสคนเดียวกันนี้ก็อธิบายว่า เป็นการเปลี่ยนไปตามวาระ เมื่อเปลี่ยนเจ้าอาวาสไวยาวัจกรก็หมดวาระไปตามกฎหมาย
เมื่อสวนโมกข์กำลังถูกครอบงำ?!
อีกหนึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสวนโมกข์ที่กำลังกลับไปสู่ระบบสงฆ์ของรัฐ ไม่ใช่ระบบลอยและเป็นสังฆะอิสระอย่างที่เคยเป็นมา ดังที่ วิจักขณ์ พานิช นักแสวงหาทางจิตวิญญาณและเป็นผู้ที่เคยบวชเรียนอยู่ในสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวอิศราเมื่อเร็วๆ นี้ว่า
"อย่างที่ทราบกันว่าตอนนี้เป็นสภาพที่สังฆะของสวนโมกข์พยายามที่จะฉีกตัวไปจากแนวทางดั้งเดิมจากที่ธรรมทานมูลนิธิเคยเป็นศูนย์กลางจัดการด้านการเงิน แล้วคณะสงฆ์ใหม่ก็พยายามจะนำสวนโมกข์ไปอยู่ภายใต้การจัดการของคณะสงฆ์ของรัฐ ที่ผมเป็นห่วงคือ ณ เวลานี้ เมื่อใครจะทำอะไรกับสวนโมกข์ ได้มีการพูดคุยภายในสังฆะด้วยกันหรือเปล่า มีใครเข้าใจและนำแนวทางของท่านพุทธทาสมาปฏิบัติอย่างแท้จริงและพร้อมจะนำพาสวนโมกข์ไปสู่อนาคตจริงหรือเปล่า" นายวิจักขณ์กล่าวพร้อมกับย้ำด้วยว่า นี่เป็นคำถามใหญ่ และคำถามสำคัญคือสวนโมกข์เป็นของใคร ใครเป็นเจ้าของสวนโมกข์กันแน่
เห็นได้ชัดจากการติดกล้องวงจรปิด 2 จุดที่เคาน์เตอร์รับบริจาค ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิธีการจัดการและการครอบงำของรัฐ สวนทางกับแนวทางสวนโมกข์ที่พุทธทาสดำริไว้จากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะมันคือความพยายามในการหวนกลับไปสู่ระบบคณะสงฆ์ของรัฐและการตรวจสอบจากกลไกภายนอก แทนที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ ความริเริ่มสร้างสรรค์ และส่งเสริมการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและตรวจสอบตัวเองและกันเองในสังฆะ หรือชุมชนของสงฆ์
เผด็จการโดยธรรมเป็นเหตุ?!
นอกจากนี้ วิจักขณ์ ยังได้เคยเขียนบทความ กล้องวงจรปิด พุทธศาสนาแบบรัฐ และความเถื่อนของสวนโมกข์ ไว้ 2 ตอน โดยในตอนที่ 2 มีข้อเขียนบางตอน สะท้อนให้เห็นภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับสวนโมกข์ในตอนนี้ไว้อย่างน่าพิจารณา
"..ความเป็นอิสระจากรัฐ คือ หัวใจของสวนป่าอันเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ของพุทธทาส โปรเจกต์มากมายถูกสร้างสรรค์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้าง งานเสวนา โครงการ เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งนั่นสะท้อนถึงจิตวิญญาณการเรียนรู้ การทดลอง ความกล้าลองผิดลองถูก การสัมพันธ์กับความเป็นไปของสังคม ความตื่น การแหวกแนวอย่างเป็นตัวของตัวเอง และความเรียบง่ายอันเป็นเอกลักษณ์ของสวนโมกข์
ทว่าการบริหารงานตามใจฉัน โดยมีพุทธทาสและคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คนเป็นผู้รู้เห็นและร่วมรับผิดชอบ ก็นำมาสู่ปัญหาในที่สุด ดูเหมือนพุทธทาสจะมองเห็นอนาคตไว้แล้วล่วงหน้า ว่าเมื่อเขาไม่อยู่ ความขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้น ระบบแบบเชื่อใจ "ให้คนรู้เห็นน้อยที่สุด จะได้ไม่มากเรื่อง" ความเป็นเผด็จการโดยธรรมที่ต้องอาศัยตัวบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูงสุดเช่นนั้น อาจไม่สามารถใช้ได้กับคนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน
สำหรับคนที่มาแทน การพยายามเดินตามแนวทางที่พุทธทาสวางไว้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้านหนึ่งหาก play safe พยายามรักษาทุกอย่างให้เหมือนเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ซึ่งน่าจะเป็นการสงวนรักษา "ความเป็นพุทธทาส" และ "ความเป็นสวนโมกข์" ไว้เป็นอนุสรณ์ให้แก่คนรุ่นหลังได้ดีที่สุด แต่ยิ่งสงวนรักษา สวนโมกข์ที่มีชีวิตชีวาก็จะหายไป ไม่มีอะไรใหม่ กลายสภาพเป็นแค่พิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง แต่หากผู้ที่เข้ามาแทนพยายามเปลี่ยนแปลง คิดใหม่ ทำใหม่ และออกกฎใหม่ ก็ย่อมทำให้เกิดการเปรียบเทียบและกระตุ้นให้เกิดความเห็นต่างและขัดแย้งกันในหมู่สาวกพุทธทาสยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่า
ตรงจุดนี้เอง ที่ วิจักขณ์ พยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าใครที่เข้ามาทำหน้าที่เจ้าอาวาสในยุคหลังพุทธทาส ย่อมเจอกับแรงต้านทั้งนั้น ด้วยเหตุผลเพียงเพราะคนคนนั้น "ไม่ใช่พุทธทาส" จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาวะกล้าๆ กลัวๆ จะทำให้ทิศทางของสวนโมกข์ที่ผ่านมา ค่อยๆ ตกไปสู่ความเป็นอนุรักษนิยมมากขึ้นทุกทีๆ
ดังนั้น ความเป็นผู้นำเผด็จการโดยธรรมแบบพุทธทาส จึงดูจะเป็นรูปแบบที่ใช้ไม่ได้ในยุคหลังพุทธทาส ซึ่งพุทธทาสคงมองเห็นข้อจำกัดตรงนี้ด้วยเช่นกัน จึงดำริไว้ว่า "เมื่อเราตายลง วัดธารน้ำไหลจะผูกพันอยู่กับมูลนิธิ แทนสวนโมกข์" ความเป็นวัด ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในสถานะลอย ไม่ต้องทำตามระเบียบของคณะสงฆ์ได้ เพราะบารมีของตัวบุคคล จะเป็นไปได้ยากขึ้น เมื่อพุทธทาสไม่อยู่แล้ว วัดธารน้ำไหลจะต้องผูกพันอยู่กับธรรมทานมูลนิธิ แทนที่จะผูกอยู่กับสถานะลอยของสวนโมกข์เหมือนแต่ก่อน ผลคือวัดจะดำเนินงานอยู่ภายใต้รูปแบบมูลนิธิ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พุทธทาสยังคงยืนยันที่จะไม่ให้วัดธารน้ำไหลอยู่ภายใต้ระเบียบคณะสงฆ์อีกเช่นเดิม เพราะรูปแบบมูลนิธิน่าจะเป็นอิสระ ช่วยคน และกล้าแหวกแนวได้ดีกว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากมองย้อนกลับมาที่ประเด็นสวนโมกข์ที่กำลังร้อนระอุอยู่ขณะนี้ คงพอจะสรุปได้ว่า บางทีวิธีการบริหารแบบตามใจฉันอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต คงใช้ไม่ได้ในยุคหลังพุทธทาสเสียแล้ว ส่วนการคิดใหม่ ทำใหม่ของผู้นำคนใหม่ จำเป็นต้องอาศัยการประชุม สนทนา ถกเถียง โต้แย้ง พูดคุย และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันให้มากขึ้น รวมไปถึงวัดกับชุมชนที่ต้องมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและไว้วางใจกันในหมู่คณะ และผู้ร่วมอยู่ในสังฆะนั้น
ส่วนเรื่องสถานที่ แม้ทางวัดยังคงยืนยันเดินหน้าปรับปรุงต่อไป โดยให้เหตุผลเรื่องความสะดวก และจะทำให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ถ้า "คำสอน" ของท่านพุทธทาสไม่เปลี่ยนไปตามสถานที่ ส่วนหนึ่งมองว่า ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร..
โดยข่าว ASTV ผู้จัดการ LIVE