รมว.คมนาคม สั่งกวดขันรถสาธารณะทุกประเภท ผลปรากฏ “รถแท็กซี่” ครองแชมป์แห่งการกระทำผิด แนะแนวทางให้ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1584 แต่ประชาชนตอกกลับให้เห็นความจริงที่ว่า “สายด่วนไม่ช่วยอะไรเลย” งานนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงได้แต่รับคำแล้วบอกว่า “ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน”
แท็กซี่ = สุดยอดแชมป์ทำผิด
เห็นการทำงานอย่างเอาจริงเอาจังจากฝั่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แล้วก็รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันตา ลงพื้นที่ลุยตั้งแต่บนรถเมล์, รถไฟ, แอร์พอร์ตลิงก์ ฯลฯ สั่งกวดขันรถสาธารณะทุกประเภท ล่าสุด คำสั่งนี้ลงไปยัง ผู้บังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.), กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ให้คุมเข้มรถสาธารณะที่ฝ่าฝืนกฎหมายและก่อให้เกิดปัญหาจราจร ตลอดช่วงวันที่ 16-22 ส.ค.ที่ผ่านมา จนได้สถิติการกระทำผิดชี้ชัดเป็นตัวเลขเกี่ยวกับการกระทำผิดที่น่าสนใจออกมา ดังต่อไปนี้
มีผู้กระทำผิด หยุดรับ-ส่ง กีดขวางการจราจร จำนวน 48 ราย, จอดรถในลักษณะกีดขวาง 77 ราย, จอดในเขตห้าม 131 ราย, จอดรถซ้อนคัน/ หยุดรับ-ส่งซ้อนคัน 13 ราย, จอดรถในเขตป้ายรถประจำทาง 26 ราย, เดินรถในลักษณะกีดขวาง 47 ราย, ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 34 ราย, แต่งกายไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง 142 ราย, ใช้ใบอนุญาตขับขี่ผิดประเภท 13 ราย, ไม่แสดงบัตรประจำตัวผู้ขับขี่ 4ราย, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 40 ราย
ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร 5 ราย, เดินรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย 30 ราย, แซงรถในที่คับขัน 11 ราย, ฝ่าฝืนเครื่องหมายห้ามกลับรถ 1 ราย, ฝ่าฝืนเครื่องหมายบนพื้นทาง 3 ราย, ไม่พกพาสำเนาคู่มือ 8 ราย, ใช้รถจักรยานยนต์เพื่อรับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยยังมิได้จดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์รับจ้าง 4 ราย
รวมแล้ว มีผู้กระทำผิดทั้งสิ้นถึง 637 ราย โดยรถตู้กระทำผิดคิดเป็นจำนวน 98 ราย, รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) 57 ราย, รถจักรยานยนต์ 30 ราย, รถสามล้อ 60 ราย และ รถแท็กซี่มีตัวเลขพุ่งสูงถึง 392 ราย ซึ่งถือว่าเป็นรถสาธารณะที่ครองแชมป์การกระทำผิดสูงที่สุดแล้ว
ตลอดปีที่ผ่านมา ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ สายด่วน 1584 เปิดเผยข้อมูลเอาไว้ว่า มีการร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะในกรณีรถแท็กซี่พุ่งสูงถึง 30,000 กว่าราย ปัญหาโลกแตก แก้ไม่หายและเกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือกรณีการปฏิเสธรับผู้โดยสาร รองลงมาคือการแสดงกิริยาไม่สุภาพ, ไม่ส่งผู้โดยสารตามสถานที่ที่ตกลงกันเอาไว้, ขับรถโดยประมาทและหวาดเสียว และกรณีอื่นๆ เช่น การแต่งกายไม่สุภาพ
ถึงแม้จะมีข่าวแท็กซี่คนดี เก็บทรัพย์สินแล้วคืนเจ้าของออกมาหักล้างข่าวเสียหายอยู่เป็นระยะ แต่ภาพพจน์แท็กซี่ไทยโดยรวมก็ยังดูน่าหวาดหวั่นสำหรับผู้โดยสารส่วนใหญ่อยู่ดี หลายคนกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทั้งทางทรัพย์สินและร่างกาย
1584 สายนี้ ด่วนจริงหรือ?
แท็กซี่ว่างแต่ไม่รับ ทำอย่างไร? คือหนึ่งในโพสต์ที่ทีมงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอแนะวิธีเอาไว้ในแฟนเพจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ให้แจ้งสายด่วน 1584 หรือร้องเรียนผ่าน เว็บไซต์ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก (คลิก) ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1.แจ้งทะเบียนรถแท็กซี่ หรือหมายเลขประจำตัวคนขับรถ
2.แจ้งสถานที่ที่เรียกแท็กซี่และจุดหมายที่จะเดินทางไป
3.ระบุวัน เวลา และสาเหตุที่รถแท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร
เมื่อพิจารณาตรวจสอบพบว่าผิดจริง เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการส่งใบเปรียบเทียบปรับ ไปตามที่อยู่จดทะเบียนของรถแท็กซี่ภายใน 30 วัน ครั้งละ 1,000 บาท ซึ่งหากไม่จ่ายค่าเปรียบเทียบปรับ จะโดนอายัดทะเบียน ณ วันที่ไปต่อทะเบียน
นอกจากนี้สายด่วนดังกล่าวยังร้องเรียนได้ครอบคลุมถึงเรื่องการกิริยาวาจาไม่สุภาพ ขับรถประมาทหวาดเสียว และปัญหาความไม่พอใจของผู้โดยสารที่มีต่อผู้ให้บริการได้สารพัด ทุกขั้นตอนที่บอกเอาไว้น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้โดยสารตาดำๆ ไม่มากก็น้อย แต่เอาเข้าจริง เมื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้ามาส่งเสียงร้องเรียนจากประสบการณ์ในโพสต์เดียวกันนี้ จึงช่วยให้ รมว.คมนาคม เห็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ชัดๆ อีกครั้งจนถึงกับต้องโพสต์ข้อความตอบกลับว่า
“อ่านความเห็นแล้ว ชัดเจนว่า 1584 มีปัญหามาก ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ในเบื้องต้นได้ขอให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เข้ามาอ่านความเห็นเหล่านี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนต่อไป ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นครับ”
มีเคสตัวอย่างรายหนึ่งที่น่าสนใจ แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่าเคยร้องเรียนแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารไปตั้งแต่ 4 เดือนที่แล้ว และโทร.ตามความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีวี่แววว่าแท็กซี่คันนั้นจะถูกปรับแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ทางกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ประกาศอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วว่า ต่อไปนี้ แท็กซี่คันไหนปฏิเสธรับผู้โดยสาร จะถูกจับกุมและปรับ 1,000 บาททันที โดยไม่มีการตักเตือน
“ผมเรียกรถจากเอเชียทีค ถนนเจริญกรุง ให้ไปส่งที่ตรงข้ามเซ็นทรัล พระราม 3 พี่คนขับบอกว่าไม่ไป ถ้าอยากไป ขอคิดราคาเหมาที่ 150 บาท แต่คันถัดมาส่งผมถึงที่ด้วยราคา 55 บาทเท่านั้นเอง ผมเลยตัดสินใจโทร.ร้องเรียนตั้งแต่ช่วงดึกของวันที่ 5 เม.ย.2556 และโทร.ตามเรื่องทุกสัปดาห์ แต่ก็ยังไม่ได้เรื่อง เปลี่ยนเป็นโทร.ทุก 15 วัน จนทุกวันนี้ โทร.ทุกเดือน ด้วยคำถามเดิมว่า ตอนนี้รถคันนั้นโดนปรับ-ถูกอายัดทะเบียนหรือยัง? แต่เจ้าหน้าที่ก็ตอบได้แค่คำตอบเดิมๆ คือ "ยังครับ รอคนขับมารายงานตัวอยู่ครับ" สรุปแล้ว หน่วยงานของรัฐที่ตั้งมา ทำอะไรพี่แท็กซี่ไม่ได้หรอกครับ แค่ไม่ไปรายงานตัว ทุกอย่างก็เงียบสนิท”
ผู้มีประสบการณ์ตรงอีกท่านหนึ่งมีมุมมองที่ต่างออกไป เคยร้องเรียนผ่านสายด่วน 1584 ไปเหมือนกัน และทางเจ้าหน้าที่ก็ส่งข้อความแจ้งกลับมาว่าได้ดำเนินการปรับแท็กซี่ผู้กระทำผิดแล้ว แต่กว่าจะถูกปรับตามความผิดได้ก็ปาเข้าไปหลายเดือนจนผู้แจ้งลืมไปแล้วว่าเคยร้องเรียน นั่นเป็นเพราะแผนกเปรียบเทียบปรับของกรมการขนส่งทางบกซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ได้ทำงานแบบรุก เรียกตัวแท็กซี่ผู้กระทำผิดเข้ามาจัดการ แต่ทำงานเชิงรับ จะปรับได้ก็ต่อเมื่อรถคันที่ถูกร้องเรียนเดินทางมาต่อทะเบียนเท่านั้น
ดูเหมือนระบบร้องเรียนจะยังไม่สามารถทำให้ประชาชนผู้โดยสารรู้สึกอุ่นใจได้ ผลสะท้อนกลับจึงออกมาอย่างที่เห็น
“1584 ห่วย บอกตรงๆ แจ้งไปก็เท่านั้น ทำอะไรไม่ได้ จะจัดระเบียบแท็กซี่ก็น่าจะเอาจริงเอาจังหน่อย ลงโทษทันทีที่แจ้งเลยได้ไหม? นี่รออายัดต่อทะเบียน เหอะๆ พี่ฮะ แท็กซี่กว่า80% เป็นรถเช่าทั้งนั้น”
บางรายและนำให้ รมว.คมนาคม ลองวิธีล่อซื้อดูบ้าง คือให้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเรียกแท็กซี่แล้วปรับกันตรงนั้นซึ่งหน้าเลย เผื่อจะกระตุ้นให้โชเฟอร์กล้าปฏิเสธผู้โดยน้อยลง บางรายแนะนำให้ใช้ระบบตัดแต้มใบขับขี่สาธารณะของแท็กซี่ผู้กระทำผิด เมื่อทำผิดครั้งหนึ่ง แต้มจะถูกตัดออกไป เมื่อแต้มหมดก็ให้เจ้าหน้าที่ยกเลิกใบขับขี่ ถ้าอยากประกอบอาชีพต่อก็ต้องเข้ารับการอบรม ถูกสั่งปรับ และเข้ามาสอบใบขับขี่กันใหม่ ไม่อยากเสียเวลาทำมาหากินก็ต้องให้บริการอย่างละมุนละม่อม
เหตุผลที่ต้อง “เติมแก๊ส”
ปล่อยให้เป็นจำเลยของสังคม ถูกกล่าวหา ตำหนิติเตียน และร้องเรียนอยู่ฝ่ายเดียวคงไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก จึงขอให้ ปราโมช โคตรมณี อุปนายกสมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ-สุวรรณภูมิ เป็นตัวแทนเพื่อนร่วมอาชีพคนหลังพวงมาลัย เปิดใจเคลียร์ข้อกล่าวหาเสียหน่อย กับประเด็นที่ผู้โดยสารทุกคนอยากรู้ว่า โบกมือเรียกทีไร ทำไมต้อง “เติมแก๊ส” และ “ส่งรถ” ตลอด?
“ไม่มีแท็กซี่คนไหนอยากปฏิเสธผู้โดยสารหรอกครับ ใครก็อยากได้เงินทั้งนั้น แต่ที่บอกว่าเติมแก๊สกับส่งรถ บางคนเขาก็ไม่ได้อ้างเฉยๆ นะ แต่มันคือความจริงครับ แท็กซี่ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ติดแก๊ส NGV กันทั้งนั้น เติมครั้งหนึ่งจะวิ่งได้ 180-200 กิโลเมตร ก็เลยต้องเติมบ่อย เติมครั้งหนึ่งก็ต้องรอคิว ถ้าคิวยาวหน่อยก็ต้องรอไป 30 นาที บางทีเป็นชั่วโมง ถ้ารับผู้โดยสารมาแล้วไปเติมแก๊ส ใครเขาจะรอ แต่อย่างผม ผมก็บอกเขาตรงๆ เลยนะ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสารครับ บอกว่าไปครับ แต่ขอแวะเติมแก๊สก่อนได้มั้ย ถ้าผู้โดยสารเขาไม่ขัดข้องก็ไปได้ ถ้าโชคดี ไปเติมแก๊สจังหวะที่รถไม่มีก็อาจจะรอไม่นานมาก 10-15 นาทีก็มี”
ถ้าไม่อยากให้พวกเขาปฏิเสธผู้โดยสาร ทางออกที่ขอเสนอไว้คือ “ก็ทำให้น้ำมันมันถูกลงสิครับ พวกผมจะได้ไม่ต้องเติมแก๊ส เติมน้ำมันแทน จะได้ไม่ต้องแวะเติมกันบ่อยๆ” ส่วนข้ออ้างเรื่อง “ส่งรถ” นั้น อาจจะเป็นไปได้ว่าต้องส่งรถจริงๆ หรือบางคันก็อ้างไปเรื่อย แล้วแต่แท็กซี่แต่ละคันว่าจะมีความเป็นมืออาชีพแค่ไหน เขาบอกเอาไว้อย่างนั้น
แท็กซี่แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ 1.แท็กซี่เช่าขับ 2.แท็กซี่เช่าซื้อ และ 3.แท็กซี่ส่วนบุคคล ถ้าเป็นแท็กซี่ที่อ้างว่าต้องส่งรถบ่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทแรกคือ “แท็กซี่เช่าขับ” เพราะต้องเช่ารถจากสหกรณ์หรืออู่มาเป็นกะ กะละ 12 ชั่วโมง สังเกตง่ายๆ คือพวกแท็กซี่สีล้วน ฟ้า, ชมพู, เขียว แล้วคาดด้วยตัวหนังสือระบุว่าเป็นของสหกรณ์ไหน
ประเภทที่สองคือ “แท็กซี่เช่าซื้อ” ตัวรถจะมีลักษณะหน้าตาไม่ต่างจากประเภทแรก คือเป็นแท็กซี่สีล้วนเหมือนกัน เพราะถูกเช่ามาจากที่เดียวกัน ต่างกันเพียงเป็นลักษณะการเช่าซื้อ ไม่ต้องเข้ากะ ไม่ต้องคืน เพราะใช้วิธีผ่อนจ่ายค่ารถและใช้เหมือนรถของตัวเอง ผ่อนหมดเมื่อไหร่ รถก็จะตกเป็นของคนขับ เพราะฉะนั้น ประเภทที่สองจะไม่มีการคืนรถ มีแต่ขับกลับบ้าน
ประเภทที่สามคือ “แท็กซี่ส่วนบุคคล” ส่วนใหญ่จะผสมสองสี เขียว-เหลือง แต่บางคันก็ใช้สีล้วน โดยใช้สีเหลืองเป็นสีของตัวถังรถ และสีน้ำเงินเป็นสีของข้อความและเครื่องหมายตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด แท็กซี่ประเภทนี้ไม่มีปัญหาเรื่องส่งรถ เพราะเป็นรถที่คนขับผ่อนซื้อด้วยตัวเอง จากนั้นจึงไปขอจดทะเบียนรับจ้างนิติบุคคลเพื่อเป็นแท็กซี่ เพราะฉะนั้น โบกรถประเภทนี้ เสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธ “ส่งรถ” น้อยที่สุดแล้ว
ส่วนเรื่องมิจฉาชีพในคราบแท็กซี่นั้น อุปนายกสมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ-สุวรรณภูมิ ขอให้ผู้โดยสารอย่าตื่นกลัวไป เพราะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ก่อนที่แท็กซี่จะได้ประจำตำแหน่งหลังพวงมาลัย ทางสหกรณ์รถแท็กซี่ทั้งหลายจะส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบก พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจสอบประวัติเบื้องต้นเสียก่อน ใครประวัติไม่ดี เขาก็ไม่ออกใบอนุญาตขับขี่สาธารณะให้ แต่แท็กซี่ที่ก่ออาชญากรรมตามที่เห็นในข่าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นแท็กซี่ที่เช่ารถมาจากอู่ทั้งนั้น
“อู่รถ ก็เช่ารถมาจากสหกรณ์อีกที เพราะบางสหกรณ์เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เช่าขับแล้ว มีแต่เช่าซื้อ พอบางอู่เช่ารถมา มีคนขับ 2-3 คน รถที่เช่ามาก็นอนแช่อยู่ เขาก็เลยไม่ค่อยคัดคนเท่าไหร่ ใครว่างก็จับมาขับ ไม่ค่อยได้ตรวจประวัติ ทำให้มีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาง่ายมาก ถ้าอยากจะแก้ปัญหามิจฉาชีพแท็กซี่ ต้องให้ทางตำรวจไปคุมเข้มตามอู่รถแท็กซี่นี่แหละ ไม่ต้องไปตรวจที่อื่นเลย เพราะแท็กซี่มืออาชีพจริงๆ เขาไม่ทำกันหรอก”
ตามนิยามแล้ว “รถแท็กซี่” เป็นรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งให้บริการแก่ผู้โดยสารในการว่าจ้างไปส่งยัง “จุดหมายปลายทาง” หากทำตามนิยามควบคู่ไปกับหัวใจแห่งการบริการได้ ก็คงไม่ต้องมาแก้กันที่ปลายเหตุ หรือร้องเรียนสายด่วนกันไม่จบไม่สิ้นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE