xs
xsm
sm
md
lg

“แท็กซี่” ไป-ไม่ไป ทำไมเรียกยาก??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาเรื่องการเรียกแท็กซี่นั้นจะถือว่าเป็นเรื่องระดับชาติเลยก็ว่าได้ เพราะทุกยุคทุกสมัยนั้นมักจะได้ยินเสียงบ่นจากบรรดาผู้โดยสารตาดำๆ เสมอว่า แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารเนื่องจาก “รถติด” “ส่งรถ” “แก๊สหมด” “ไกล” ฯลฯ

“รถแท็กซี่” เป็นรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งให้บริการแก่ผู้โดยสารในการว่าจ้างไปส่งยังจุดหมายปลายทาง โดยมีพระราชบัญญัติที่ออกมาเพื่อควบคุมและดูแลการให้บริการคือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และ พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2522

ซึ่งแม้จะมีการดูแลควบคุมโดยกฎหมายดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีการฝ่าฝืนอยู่ โดยเฉพาะกรณีแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารที่กล่าวไว้เบื้องต้น โดยในกรณีนี้จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 93 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนหรือแก่คนโดยสาร ในกรณีที่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีความประสงค์จะไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ให้แสดงป้ายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร วิธีการแสดงป้ายและลักษณะของป้ายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสารให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์”

โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 ทางกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ได้เพิ่มข้อหาหลักอีก 1 ข้อหา นั่นคือ แท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร หากฝ่าฝืนจะถูกจับกุมและปรับ 1,000 บาท โดยไม่มีการตักเตือน แต่ก็ยังพบเห็นกรณีแท็กซี่ว่างปฏิเสธรับผู้โดยสารอยู่เป็นประจำ

ข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ สายด่วน 1584 เปิดเผยว่า ในรอบปีที่ผ่านมา มีการร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะกรณีของรถแท็กซี่สูงกว่าสามหมื่นราย โดยมากที่สุดคือกรณีการปฏิเสธรับผู้โดยสาร รองลงมาคือการแสดงกิริยาไม่สุภาพ ไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลง ขับรถโดยประมาทและหวาดเสียว และอื่นๆ เช่น แต่งกายไม่สุภาพ เป็นต้น

นอกจากข้อร้องเรียนต่างๆ ที่กล่าวมานี้แล้ว ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของอาชญากรรม ดังที่ปรากฏเป็นข่าวดังหลายข่าว ทั้งชิงทรัพย์ ฆ่า ทำร้ายร่างกาย แต่ในขณะเดียวกัน แท็กซี่ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมก็มีให้เห็นด้วยเช่นกัน แม้เหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ก็ทำให้ภาพพจน์ของแท็กซี่ไทย และคนขับแท็กซี่นั้นดูเป็นผู้ร้ายในสายตาคนทั่วไปได้เช่นกัน

สำหรับความคิดเห็นของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่เป็นประจำคนหนึ่ง ได้บอกไว้ว่า ปัญหาเรื่องแท็กซี่นั้นตนเองก็เจอมาเยอะแล้ว ทั้งเรื่องแท็กซี่เปิดไฟว่างแต่ไม่รับผู้โดยสาร หรือให้ลงรถกลางทาง คิดว่าเรื่องแบบนี้อยู่ที่จิตสำนึกของคนขับรถแท็กซี่คันนั้นๆ เพราะไม่ว่าจะมีกฎหมายอะไรที่ออกมาบอกว่าจะจับหรือปรับ ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหานี้ลดลง ถ้าคนขับแท็กซี่มีจิตสำนึกของคนทำอาชีพบริการ ก็จะทำให้ช่วยเรื่องนี้ได้

“เคยเจอทั้งแท็กซี่จอดรับแต่ไม่ไป แท็กซี่ไม่รับเราแต่ไปจอดรับชาวต่างชาติที่อยู่ข้างหน้า หรือขึ้นไปแล้วให้ลงกลางทาง มันก็เป็นปัญหาที่แก้ยากมาก เพราะคนขับแท็กซี่ก็มาจากหลากหลายที่ เขาก็ต้องทำมาหากิน ต้องได้กำไรเหมือนกัน แต่ถ้าเขามีจิตสำนึก เต็มใจให้บริการ แบบนี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้มากกว่า อย่างแท็กซี่ดีๆ ก็เคยเจอเหมือนกัน บางคนคุยกันสนุกสนาน บางคนก็สอนแล้วก็ให้ความรู้เราด้วย ซึ่งก็ยังเชื่อว่าคนขับแท็กซี่ดีๆ ยังมีอีกเยอะ”

จากความคิดเห็นของผู้โดยสารคนดังกล่าว ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่าคนขับแท็กซี่ซึ่งเป็นผู้ให้บริการนั้นยังมีส่วนที่ดีอีกมาก โดยจากการสอบถามและพูดคุยกับคนขับแท็กซี่บางราย ก็ได้รับความเห็นว่า คนขับแท็กซี่ก็ต้องทำมาหากิน ที่บอกว่าไปส่งรถก็ต้องเห็นใจด้วย หากผู้โดยสารจะไปในทางเดียวกันก็สามารถรับขึ้นมาได้ แต่หากไปอีกทางแล้วคาดว่าจะไปไม่ทันส่งรถ ก็อาจจะถูกปรับเงินได้

ส่วนเรื่องแท็กซี่ชอบรับแต่ผู้โดยสารชาวต่างชาตินั้น ก็ยังสามารถพบกรณีที่กลับกันได้ คือ แท็กซี่บางคันอาจจะไม่ค่อยรับผู้โดยสารชาวต่างชาติ เนื่องจากสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง อีกทั้งชาวต่างชาติยังชอบมองว่าคนขับแท็กซี่ชอบโก่งราคา หรือชอบขับพาไปวนรถไกลเพื่อให้ได้ค่ารถมากกว่าเดิม ซึ่งคนขับแท็กซี่เองก็ไม่สบายใจ เลยเลือกที่จะรับผู้โดยสารคนไทยมากกว่า

เรื่องของแท็กซี่ที่ให้บริการดีๆ นั้น ยังสามารถพบเห็นได้จากสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่มีคนมาโพสต์และแชร์ไว้ เนื่องจากชื่นชอบในการให้บริการ อาทิ มีรถแท็กซี่คันหนึ่งติดป้ายว่า “เชิญขึ้นได้เลย ไปทุกที่ไม่ต้องถามครับ! รถคันนี้ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ขอบคุณที่ใช้บริการ” ซึ่งได้รับการกดไลค์และแชร์เป็นจำนวนมาก

ยังมีแท็กซี่ที่เพิ่มโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้โดยสารที่มียอดชำระตามที่กำหนด จะได้รับเครื่องดื่มไปดื่มให้เย็นใจ, แท็กซี่ที่นอกจากบริการรับส่งผู้โดยสารแล้ว ก็ยังมีข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ บริการอยู่บนรถ ทั้งสบู่ ยาสีฟัน ยาอม ยาดม ยาสามัญประจำบ้าน ทั้งหมดนี้บริการฟรีสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการ

ด้านความเห็นของ พล.ต.ท.ไตรรัตน์ อมาตยกุล ประธารกรรมการบริหารสถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม ได้ให้ความเห็นไว้เมื่อมีการจัดอบรม “โครงการแท็กซี่ไทยหัวใจอินเตอร์” ว่า การขับแท็กซี่นั้นเสมือนห้องเรียนห้องหนึ่ง ที่จะได้เจอหลายอาชีพ แต่ละคนจะขึ้นมาเล่าเรื่องราวต่างๆ มากมาย คนขับเองก็เลยได้เจอประสบการณ์หลายด้านหลายมุม

“โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องที่จะสร้างสังคมที่ดี แท็กซี่ที่ผ่านการอบรมครั้งนี้ผมมีความเชื่อว่าเขาจะไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร และจะบริการผู้โดยสารด้วยใจ”

ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นระหว่างผู้โดยสารและคนขับแท็กซี่นั้น น่าจะยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นไปอีกยาวนาน เพราะต่างคนต่างก็มองเฉพาะผลประโยชน์ของตนเอง หากทั้งสองฝ่ายนั้นเปิดใจฟัง มองในมุมต่าง เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของการกระทำของอีกฝ่าย เชื่อว่าสถานการณ์ก็คงจะดีขึ้นกว่านี้

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“5 จุดเรียกยาก ใน กทม.”
เคยมีการสำรวจกันมาแล้วว่าจุดที่เรียกแท็กซี่ยากที่สุดใน กทม. (แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร) มีแหล่งไหนบ้าง
1.หน้าห้างมาบุญครอง ผู้โดยสาร (ชาวไทย) มักเจอปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธที่จะรับ โดยส่วนใหญ่จะเลือกรับเฉพาะผู้โดยสารชาวต่างชาติ และแม้ว่าจะมีรถแท็กซี่จอดเรียงรายกันเป็นแถวยาว ก็ยังยากที่จะหารถแท็กซี่ที่ไปส่งได้ เนื่องจากเหตุผล “รถติด”
2.หน้าห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังเลิกงาน ตั้งแต่ 16.00 น. เป็นต้นไป
3.สยาม ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งที่เรียกแท็กซี่ได้ยากมาก ห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในย่านนั้นจึงต้องมีการจัดจุดจอดแท็กซี่เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า โดยจะมีพนักงานของห้างคอยดูแลจัดคิวรถแท็กซี่ (ปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้าทั้งใน กทม. และปริมณฑล ก็จะมักมีบริการนี้เช่นกัน)
4.สนามหลวง-ท่าพระจันทร์-ถนนพระอาทิตย์ ผู้โดยสารชาวไทยมักจะมีปัญหากับการใช้บริการแท็กซี่ในบริเวณนี้ เนื่องจากแท็กซี่มักจะเลือกรับชาวต่างชาติเท่านั้น
5.วันที่ฝนตก ในวันที่ฝนตกโปรยปราย ไม่ว่าผู้โดยสารจะอยู่ในบริเวณไหน หรือพื้นที่ไหนทั้งใน กทม. และพื้นที่อื่นๆ มักจะเรียกแท็กซี่ได้ยากกว่าวันปกติอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากฝนตก รถติด และการที่มีความต้องการใช้บริการมาก แท็กซี่หลายคันจึงเลือกที่จะรับผู้โดยสารที่จะเดินทางไปในเส้นทางที่รถไม่ติด ทำให้แท็กซี่ที่เปิดไฟ “ว่าง” อยู่ อาจจะไม่จอดรับผู้โดยสารเลยก็ได้

ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแท็กซี่
“ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ” โดย กรมการขนส่งทางบก
โทรสายด่วน 1584
หรือที่ http://apps.dlt.go.th/1584complain/frmMain-User.php
โดยรับเรื่องร้องเรียนรถตาม พรบ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และตาม พรบ.การขนส่งทางบก ตลอดจนสามารถตรวจสอบผลการดำเนินการได้โดยการกรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพื่อดำเนินการค้นหา ซึ่งรถโดยสารสาธารณะที่สามารถร้องเรียนได้มีทั้ง แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก มอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง รถเมล์ ขสมก. รถเอกชนร่วมบริการ มินิบัส รถตู้โดยสารปรับอากาศ รถสองแถวขนาดใหญ่ รถ บขส. และรถเอกชนร่วมบริการ

และยังมีเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่รับร้องเรียนเกี่ยวกับแท็กซี่ อาทิ
เว็บไซต์ www.Takeatax.com และ ทวิตเตอร์ @takeatax
ทวิตเตอร์ @bkktaxireport
แอพลิเคชั่น Cabsure
แอพลิเคชั่น TaxiReporter

ซึ่งช่องทางต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับรถแท็กซี่ได้แล้ว ก็ยังสามารถโพสต์ชมเชยแท็กซี่ที่บริการดีได้อีกด้วย
 
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *  
 
 
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น