ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้างสำหรับกิจกรรม "แชร์ธรรมะชิงโชค ลุ้นพระทองคำ 10 บาท" ของวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีฝ่ายไม่เห็นด้วยอื้อ แถมวิจารณ์ยับ พร้อมกับข้อสังเกตว่า หากนี่คือกลยุทธ์ดึงคนเข้าวัดด้วยการนำพระพุทธรูปมูลค่าแตะล้านมาโกยคนเข้าวัด ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก แต่จะยิ่งสร้างพฤติกรรมให้คนเกิดมิจฉาทิฏฐิ มองที่ตัววัตถุมากกว่าจะมองที่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
อยู่ดีไม่ว่าดี ธรรมะเอ๋ยธรรมกาย
หลังจากที่สกู๊ปข่าว "แฉ!! ธรรมกาย งัดแผนเรียกคนเข้าวัด แชร์ธรรมะชิงโชค ลุ้นพระทองคำ" ที่ ASTVผู้จัดการ Live ได้นำเสนอไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 โดยตีแผ่แคมเปญเรียกคนเข้าวัด ปลุกกระแสชาวพุทธในยุคโซเชียล "แชร์ธรรมะ รับพระทองคำ" ผลปรากฏว่ามีเสียงตอบรับทั้งชื่นชม และติเตียน
โดยเสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ นอกจากจะพูดในประเด็นเดียวกันเรื่องกิจกรรมแชร์ธรรมะ ลุ้นพระทองคำของวัดพระธรรมกายแล้ว ยังมีหลาย ๆ ความเห็นพูดถึงการให้สัมภาษณ์ของ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา ที่ออกมาให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวด้วย
"นี่ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะในปัจจุบันกิจกรรมทำนองเดียวกันนี้ก็มีให้เห็นโดยทั่วไป ซึ่งในกรณีนี้ก็เหมือนประชาสัมพันธ์ให้คนหันมาสนใจธรรมะมากขึ้น ส่วนคนที่มองว่าเป็นการโฆษณาวัด เพื่อหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่างนั้น อาจเป็นเพราะวัดแห่งนี้มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีมาอยู่ก่อนแล้วก็เป็นได้"
การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ชาวเน็ตส่วนใหญ่ตั้งคำถามถึงการทำงานในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่น
"อ่านความเห็นของหน่วยงานที่ดูแลพระพุทธศาสนาแล้ว ฉันล่ะกลุ้ม"
"แล้วทำอะไรมันได้คะ ปล่อยให้กาฝากตัวนี้เติบโตเกาะกินพุทธศาสนามาถึงขนาดนี้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ไม่เห็นทำอะไรได้ นอกจากพูดปัดสวะออกให้พ้น ๆ ตัวไป"
"ยุบไปเหอะ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หน่วยงานไร้ประโยชน์"
"สำนักพุทธฯ และสังฆราชที่แกล้งโง่เรื่องธรรมกายจนถึงวันนี้ เพราะได้รับส่วยใช่หรือไม่"
ชาวเน็ตวิจารณ์ขรม! โหวตไม่เห็นด้วยอื้อ
หันมาดูปฏิกิริยาต่าง ๆ ในโลกออนไลน์กันบ้าง มีการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีแชร์ธรรมะ รับพระทองคำ 10 บาทของวัดพระธรรมกายอย่างแพร่หลาย และหลากหลายตามพื้นที่เว็บบอร์ดสำคัญ ๆ รวมไปถึงเว็บข่าวอันดับหนึ่งของประเทศอย่าง ASTVผู้จัดการออนไลน์ หลังจากมีการนำเสนอสกู๊ปข่าว "แฉ!! ธรรมกาย งัดแผนเรียกคนเข้าวัด แชร์ธรรมะชิงโชค ลุ้นพระทองคำ" ออกไป ก็มีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผ่านคีย์บอร์ดจำนวนมากต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
"ธรรมะเป็นสิ่งที่พึงสอนเพื่อลด ละกิเลสไม่ใช่ไปเพิ่มความอยากมี อยากได้เป็นการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธองค์น่าอนาถใจจริงๆ"
"เข้าวัดทำบุญหวังว่าจะได้รับคำสอนจากพระให้ละกิเลส แต่ของจริงกลับเป็น หย่อนตู้เลยโยม กลับไปขอให้รวยๆๆ ได้เงินได้ทอง ถูกหวยนะโยม ตู้สังฆทานอยู่ทางโน้นนะ ชุดละ 200...แทนที่จะสอนให้ละกิเลส แต่กลับสอนให้เข้าหากิเลส"
"หมดมุกแล้วเหรอครับ ขอร้องละท่านอย่าเอาหลวงพ่อใหญ่ (พระพุทธชินราช) ของชาวพิษณุโลกมากยุ่งเกี่ยวด้วยเลยครับ"
ทั้งนี้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ ยังได้เปิดโอกาสให้ชาวพุทธในยุคไซเบอร์ เข้ามาร่วมโหวตผ่านหัวข้อที่ว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับกิจกรรม "แชร์ธรรมะ รับพระทองคำ" 10 บาท ของวัดพระธรรมกาย? ผลปรากฎว่ามีผู้เข้ามาโหวตตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 โดยมีคนเข้ามาร่วมกดโหวต จำนวน 1,981 โหวต แบ่งออกเป็น
- เห็นด้วย 76 โหวต หรือคิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์
- ไม่เห็นด้วย 1,785 โหวต หรือคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์
- เฉยๆ 51 โหวต หรือคิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์
- อื่นๆ 69 โหวต หรือคิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์
จากผลโหวตที่แสดงตัวเลขออกมาให้เห็น คงพอจะบอกได้ว่า กระแสในการจัดกิจกรรมของวัดพระธรรมกายในครั้งนี้ เป็นบวกหรือลบมากกว่ากัน
นี่ส่วนหนึ่งความคิดเห็นของคนที่เข้ามาโหวต และร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อกรณีแชร์ธรรมะ ลุ้นรับพระทองคำของวัดพระธรรมกาย
"พุทธวิบัติแล้วยุครัฐบาลการตลาดฟาดหัวชาวบ้านด้วยเงิน"
"เชื่อว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนมาแบบนี้ เชื่อว่าวัดนี้เป็นพุทธพาณิชย์เต็มๆแต่อย่างว่า ประเทศเราวัวหายล้อมคอกเราชาวพุทธต้องหาปัญญาให้ได้จะได้มีสติไม่เป็นเหยื่อ คำสอนของท่านพุทธทาสคือสุดยอดปฏิบัติได้ด้วยตัวเองไม่ต้องทุ่มเทเงินทองเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์"
"รางวัลที่เราได้รับจากพระธรรม คือ สติ ค่ะ ไม่ใช่พระทองคำ ได้กิเลสน่ะสิ ไม่ว่า"
"สั่งตรวจสอบการเงินเสียที ข้อหามอมเมาประชาชน"
"กรมการพุทธศาสนา และ DSI กล้าแตะธรรมกาย ธรรมชโยเปล่า หรือว่าเพ่งควงแก้วจนตาลายเห็นแต่เณรคำผิดอยู่คนเดียว ยิ่งกว่าชาเขียวเสียอีก"
"ธรรมะ" ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ ธรรมะบนโลกโซเชียลมีเดียที่มาในรูปแบบสื่อออนไลน์และสื่อโมบาย ปัจจุบันมีให้เห็นมากขึ้น ทั้งการโพสต์ และการแชร์ธรรมะ ทำให้เกิดคำถามตามมาในประเด็นที่ว่า แล้วแบบนี้จะช่วยให้คนเข้าถึงธรรมะได้จริงหรือ
เรื่องนี้ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยให้แง่มุมผ่านทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ไว้อย่างน่าสนใจ โดยนักวิชาการท่านนี้ มองว่า ธรรมะที่ถูกหยิบยกเข้ามาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์นั้นมีทั้งแง่ดีและแง่ลบ ง่ายต่อการเข้าถึงก็จริง และพฤติกรรมการเสพสื่อของในยุคใหม่ก็อาจเป็นเครื่องบั่นทอนคุณค่าของพุทธศาสนาลงได้
"การมีสื่อออนไลน์เป็นแง่ดี เรื่องของธรรมะ หรือเรื่องที่คนอยากรู้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่มันมีแง่ลบด้วย เช่น โพสต์แชร์ธรรมะมันกลายเป็นการก่อสร้างตัวตนแบบใหม่เข้ามาแบบหนึ่งที่จะบอกว่าฉันสัมพันธ์กับธรรมะนะ ฉันเป็นคนดีนะ ผมมองว่าเมื่อธรรมะกลายเป็นของอะไรง่ายๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเรา ซึ่งสุดท้ายจะเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ธรรมะกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่เหมือนวัฒนธรรมป็อปอาร์ต ในที่สุดถูกลดค่าเหลือเพียงแง่มุมความหวือหวา"
อย่างไรก็ดี แม้ "ธรรมะ" จะเป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากขึ้น แต่สิ่งที่นักวิชาการด้านศาสนาท่านนี้อยากจะฝากก็คืออย่าหลงลืมเนื้อแท้ของพุทธศาสนาด้วย
"ธรรมะไม่ได้มีมิติแค่การรู้แค่เรื่องของการอ่านข้อความที่ถูกโค้ดกันมา ฟังธรรม หรืออ่านหนังสือธรรมะ ธรรมะเราต้องเอาวิถีชีวิตไปใช้กับมัน มันเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเท ไม่ใช่เรื่องที่ใช้ผ่านในมีเดียได้แค่นั้น สุดท้ายธรรมะจะถูกลดทอนลง เป็นสินค้าอะไรบางอย่างสำหรับคนรุ่นใหม่เท่านั้นเอง"
"ดังนั้น การฟังธรรม ไม่ต่างกับการฟังเพลงแจ๊ซ ถ้าคุณจะนิยามตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องนำไปใช้แต่ไม่ใช่แค่การฟังธรรม หรือการโค้ดข้อความธรรมะที่มันผิวเผินมาก อีกอย่างเรื่องศาสนา ไม่ได้เป็นเรื่องข้อมูล ศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติ" นักวิชาการด้านศาสนาเผยทัศนะ
สุดท้ายนี้กับกรณีที่เป็นข่าว หากการจัดกิจกรรมแชร์ธรรมะธรรมดาๆ ไม่มีพระพุทธรูปทองคำมาเป็นรางวัลล่อใจเพื่อหวังโกยคนเข้าวัด เชื่อว่าคงจะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้..คราวหน้าคราวหลังถ้าจะทำการใดอีก คงต้อง "คิดก่อนทำ" กันให้มากกว่านี้นะจ๊ะ
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live