xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตศรัทธาข้าวไทย! ความภาคภูมิใจของชาติที่ถูกย่ำยี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สืบเนื่องจากกรณีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากล แฝงเร้นด้วยเล่ห์ทุจริตคอร์รัปชันในทุกกระบวนการ จนถึงตอนนี้ปลายทางของโครงการที่มีข้าวค้างสต๊อกอยู่เป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งข้อสงสัยสุดค้างคาว่า ท้ายที่สุดแล้วข้าวเก่าค้างเดือนเหล่านั้นจะขายให้แก่ใคร

หลังจากวาดหวังสวยหรูด้วยกลวิธีการขายส่งออกต่างประเทศด้วยอำนาจที่มองไปเห็นของการต่อรองราคาจากการสต๊อกข้าวเยอะที่สุดในโลก ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถทำตามที่พูดได้ กระทั่งมีข่าวลือถึงการขายข้าวเหล่านั้นไปให้แก่ห้างผู้จัดจำหน่ายในประเทศ ส่งผลเป็นความตื่นกระหนกซึ่งคนไทยเองต้องเป็นผู้รับกรรมจากนโยบายจำนำข้าว

ล่าสุดหลังจากสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ผู้จัดและผู้ดำเนินรายการ “ฅนค้นคน” ออกมาโพสต์แฉถึงกรณีข้าวเสียหายหลุด ส่งผลให้หลายคนในสังคมเต็มไปด้วยความวิตก จนกลายเป็นคดีฟ้องร้องโดยข้าวตราฉัตร กับข้าวเบญจรงค์เป็นโจทก์ สะท้อนถึงภาวะวิกฤตทางความเชื่อ และความอ่อนไหวต่อประเด็นข้าวไทยได้เป็นอย่างดี

วิกฤตข้าวเกิดจากอะไร? ข้าวในสต๊อกเหล่านั้นยังสามารถรับประทานได้อยู่หรือไม่? และศรัทธาของข้าวไทยที่ถือเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของชาติจะดำรงอยู่อย่างไร?

เค้าลางของหายนะ

แรกเริ่มเดิมทีนั้นระบบข้าวไทยเริ่มมีเค้าลางของปัญหาปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว จากความเป็นอยู่ที่ลำบากของพี่น้องชาวนาไทยจากนโยบายของรัฐบาลที่ตลอดมาไม่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดความเข้นแข็งด้วยตัวเอง

การทำนาโดยใช้สารเคมีนั้นก็มีผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งยังไม่มีนโยบายการจำกัดการนำเข้าของสารเคมีก็ยิ่งทำให้ชาวนาเน้นการใช้สารเคมีมากขึ้น จนถึงตอนนี้มีการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า

ในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาประเมินความเสี่ยงกลุ่มเกษตรกรและประชาชนทั่วไป โดยปี 2554 ทำการตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบมีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานคือ 100 ยูนิต ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32 ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36

นอกจากนี้ ยังปล่อยให้มีการโฆษณาชวนเชื่อจากบริษัทค้าขายสารเคมีเกษตรโดย น้ำค้าง มั่งศรีจันทร์ ชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ผู้มีประสบการณ์ใช้สารเคมีนานกว่า 10 ปี กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าสารเคมีมีพิษ เพราะเชื่อการโฆษณา ซ้ำยังมีการส่งเสริมจากภาครัฐ ที่สำคัญ เมื่อเวลาฉีดพ่นไม่มีการป้องกันร่างกาย

ในเวทีระดับโลกที่การประชุมข้าวโลกที่จัดมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งไทยคว้ารางวัลข้าวดีเด่นได้ใน 2 ครั้งแรก ก็พบปัญหาเสียแชมป์ใน 2 ปีล่าสุดให้แก่ข้าวหอมไข่มุก ( pearl paw san ) จากพม่า และข้าวหอมของประเทศเขมรอีกด้วย

ทั้งนี้ เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธีขวัญข้าว เคยกล่าวไว้ว่า “รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนให้เกษตรกรเข้มแข็ง ชาวบ้านมีแต่จะอ่อนแอลง ทำเกษตรแบบนี้ต่อไป ใช้สารเคมี ต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำ คุณภาพแย่ จริงๆ แล้วมันต้องอยู่ไม่ได้ แต่รัฐบาลมาช่วยอุดหนุน ทำแบบนี้มันไม่ยั่งยืน อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ สุดท้ายถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือก็ไปเรียกร้อง มันเป็นการส่งเสริมให้เกษตกรปลูกข้าวแบบใช้สารเคมี”

จนถึงนโยาบายจำนำข้าวทำส่งผลกระทบทำลายระบบไทยข้าวที่เป็นอยู่ ตั้งแต่การปลูกที่ราคาสารเคมีก็ถีบตัวสูงขึ้นเพื่อไปรอราคาข้าว การเก็บเกี่ยวที่เร่งมากขึ้น และการส่งออกที่ไม่สามารถเช็กสต๊อกได้เพราะข้าวทั้งหมดไปอยู่กับรัฐบาลก็ทำให้ชาวไทยรอวันถึงหายนะไปทุกที

กระทั่งถึงตอนนี้เมื่อสต๊อกข้าวที่ยังไม่สามารถหาทางระบายออกถูกตั้งคำถาม จุดเป็นประเด็นถึงให้ผู้สื่อข่าวหลายสำนักลงสำรวจถึงโรงสีจนพบซากหนูตาย กลายเป็นคำถามต่อสังคมที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลกับความปลอดภัยในการกินข้าวไทย

กู้ศรัทธา..หรือต้องระวัง

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีพระดำรัสว่า เป็นห่วงสถานการณ์ข้าวไทยที่มีบางประเทศในยุโรปเกรงว่าจะมีสารปนเปื้อนมาในข้าว โดยมีพระดำรัสต่อคณะผู้เข้าเฝ้าฯ ว่า สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทำการวิจัยเกี่ยวกับข้าวไทย ปรากฏว่า ข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพและไม่มีสารปนเปื้อน ซึ่งแตกต่างจากข่าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการปนเปื้อนจากสารหนู

สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตความน่าเชื่อถือของข้าวไทยที่เคยยิ่งใหญ่ และสร้างความภาคภูมิใจให้ทั่วโลกได้รู้จัก โดยวิกฤตครั้งนี้ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า ข่าวที่ออกมายังคงไม่กระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคต่างประเทศเพราะประเทศไทยก็ถือเป็นผู้ส่งออกข้าวที่มีชื่อเสียงมายาวนาน

“ลูกค้าก็มีโทร.มาถามๆบ้างว่า ช่วงนี้เกิดอะไรขึ้น แต่ยอดขายก็ไม่ได้ลดลงหรือมีปัญหา เพราะเราก็ยังได้ชื่อว่า ผลิตข้าวได้อย่างมีคุณภาพอยู่ เหมือมมันเป็นกระแสข่าวช่วงหนึ่งเท่านั้น”

ในด้านของข้าวที่อยู่ในตลาดที่ผู้บริโภคจับจ่ายซื้อหามารับประทานนั้น เขามั่นใจว่า ไม่มีทางที่ข้าวเสียจะหลุดรอดไปอยู่ในตลาดได้ เพราะกระบวนการในการจัดการก่อนข้าวจะไปถึงมือผู้บริโคนั้นมีหลายขั้นที่ใช้ในการคัดเลือก

ตั้งแต่ซื้อข้าวจากโรงสี ทำความสะอาดข้าว ขัดสี โดยข้าวของบางบริษัทจะทำความสะอาดมากกว่า 1 ครั้ง ก่อนจะเข้าสู่เครื่องซักกิ้งที่จะทำการดีดนำสิ่งปลอมปนอย่างเม็ดขาวออก จากนั้นก็คัดข้าวดีแล้วแพ๊กเข้าถุงจำหน่าย ทั้งนี้ระหว่างกระบวนการทั้งหมดยังมีขั้นตอนของแล็บเทสเพื่อทดสอบควบคุมคุณภาพอีกด้วย

“ผมว่ายากมากครับ ที่ข้าวไม่ดีจะออกไปสู่ตลาด ด้วยขั้นตอนต่างๆ ไม่น่าจะเป็นแบบนั้นได้”

ทว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ตอนนี้คือข้าวในสต๊อกของรัฐบาลที่เก็บไว้นานมาก ข้าวเหล่านี้จะระบายออกอย่างไร? นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผยว่า ข้าวในสต๊อกของรัฐบาลอาจมีบางส่วนที่เน่าเสียด้วยเพราะเก็บสต๊อกไว้ในปริมาณเยอะมาก

“มันเป็นธรรมดาที่จะมีข้าวเน่าเสียบ้าง อาจมาจากความชื้น หลังคารั่ว น้ำฝนตกเข้าไป สต๊อกไว้หลายตันมันมีความเป็นไปได้ที่บางส่วนจะเสียหาย”

ในส่วนประด็นของข้าวที่นับก็ยิ่งถอยหลังกลายเป็นข้าวเก่า เขาเผยว่า ยังสามารถขายได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร อาจขายให้ประเทศแถบแอฟริกาที่ไม่มีปัญหากับข้าวเก่า แต่ก็ขายได้ในราคาที่ถูกลง ขณะที่ฝั่งเอเชียจะไม่รับข้าวเก่าเด็ดขาด

“ถ้าไม่เสียหายก็ยังขายได้ มันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเลือกระบายข้าวเหล่านั้นออกอย่างไร” เขาเอ่ย “แต่ที่ผ่านมาก็มีนโยบายขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(G to G) ซึ่งก็เป็นการขายข้าวในทางลับ คือตอนนี้ผมเป็นผู้ส่งออก ผมยังไม่รู้เลยว่ารัฐบาลจะระบายข้าวออกยังไง

ทั้งนี้ การที่ผู้ส่งออกเองคงไม่ทราบถึงนโยบายการระบายข้าวออกของรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเริ่มหวั่นวิตก สอดคล้องกับความเห็นของ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการอิสระผู้ศึกษาด้านข้าวมาเป็นเวลานาน มองว่า สาเหตุของวิกฤตศรัทธาข้าวไทยครั้งนี้มาจากนโยบายจำนำข้าว

“มันไม่แปลกหรอกที่คนเขาจะกังวลกัน เพราะโดยปกติแล้วข้าวสารมันก็เก็บไว้ได้ไม่นาน โอเค การรมควันเพื่อรักษาข้าวมันก็มีทำเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ต้องทำไปตามมาตรฐาน แล้วการเก็บรักษาข้าวมันยังมีตัวแปรอื่นๆอีก ความชื่นและเชื้อรา”

ทั้งนี้ ตัวเขาเองที่ได้ข่าวทั้งการทุจริตในวงการข้าวมากมายก็ทำให้รู้สึกว่า ตัวเองต้องระวังตัวกับการรับประทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น

“ผมเองก็มีข้าวที่ผมซื้อประจำ ก็สืบข้อมูลมา แต่กับข้าวร้านข้าวแกงนอกบ้าน ตอนนี้ก็กลัวๆ นิดหน่อย แต่ตอนนี้ปัญหาคือมันเกิดทุจริตในระบบข้าว เท่าที่ผมทราบมาในการซื้อขายข้าวกับรัฐจะมีการขายข้าวเก่าในราคาถูก แต่รัฐก็จะนำข้าวใหม่ให้เพื่อจะได้รักษาเครดิต โดยข้าวเก่าก็ทิ้งให้ไม่ได้ระบายออก”

สำหรับการรับประทานข้าวเก่าที่ผ่านการรมสารเคมีนั้น เขาเผยว่า เป็นไปตามสภาพการเก็บข้าวด้วย หากมีการรมสารเคมีมากเกินไปก็อาจจะไม่สามารถรับประทานได้

“ระยะเวลาในการเก็บรักษาข้าวสาร คือถ้าคนปกติจะเห็นว่า แค่ 3 เดือนมอดก็กินแล้ว แต่ถ้าเก็บในโรงเก็บจะมีการรมสารเคมี มีการควบคุมความชื่นเพื่อให้ข้าวเก็บได้นานขึ้น แต่ข่าวที่หลังคาโรงเก็บมันรั่วอย่างงี้ ตอนนี้คนก็เลยไม่มั่นใจเรื่องข้าว”

ความไม่มั่นใจเรื่องข้าวนั้น เจิมศักดิ์เห็นว่าเป็นการสะท้อนถึงความไม่มั่นใจในตัวรัฐบาลด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้ว การจัดการข้าวที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ก็คือรัฐบาลเอง

“ผมมองว่า ยังไงก็ต้องยกเลิกนโยบายนี้นะ อาจเปลี่ยนไปเป็นจ่ายเงินอุดหนุดจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องสต๊อกข้าว แต่ความผิดพลาดที่มันใหญ่หลวงขนาดนี้ ผมคิดว่า รัฐบาลควรจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกเท่านั้น”

…...

ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งสำหรับข้าวไทย หรือรัฐบาลไทย หากศรัทธาเหล่านั้นสูญสิ้นไป ก็คงเหลือแต่เพียงความจริงที่ชัดเจนเท่านั้นที่กู้คืนความศรัทธา หากแต่รัฐบาลจะกล้ายอมรับถึงความจริงที่เกิดขึ้นหรือเปล่า!?


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE






กำลังโหลดความคิดเห็น