xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติ "น้ำมันทอดซ้ำ" สู่ "ไบโอดีเซล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นอีกหนึ่งงานดี ๆ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำหรับ "เวทีสานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่" ซึ่งภายในงานมีหัวข้อที่น่าสนใจหลากหลาย และหนึ่งในหัวข้อที่มีประโยชน์สำหรับคนในยุคนี้ก็คือ "กินอยู่ให้เป็น เย็นใจ ในสังคมความเสี่ยง"

สำหรับหัวข้อนี้ ประเด็นหนึ่งที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจก็คือ วิธีการจัดการน้ำมันทอดซ้ำในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวบรวมน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้วไม่ให้กลับไปสู่วงจรอาหาร นับเป็นความปลอดภัยของผู้บริโภคยุคนี้ที่จะต้องตระหนัก และจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การจัดการกันเองภายในชุมชน

บอกเล่าได้จาก บรรยง ก้องเกียรติชูชัย นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ หนึ่งในองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่เดินหน้าเชิงรุกอย่างจริงจังในการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพเพื่อสุขภาพของคนในชุมชน โดยนายกฯ ท่านนี้เล่าว่า

"ทุกวันนี้คนชัยภูมิชอบ ทอด ทิ้ง แต่อย่าเอาไปเปรียบกับความรักนะครับ มันไม่ดี แต่ผมกำลังพูดถึงน้ำมันที่ทอดแล้วทิ้งนี่สิดี เพราะดีต่อสุขภาพ ผมให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะการได้เป็นตัวแทนชาวบ้านเข้ามาพัฒนาท้องถิ่น ผมมีคติคือ หน้าต้องดำ มือต้องด้าน"

"สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ไปหาผู้ขายอาหารประเภททอด ซึ่งผมให้กองสาธารณสุขของผมออกไปควานหาถึงบ้าน แล้วขอที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ จากนั้นเอามาประชุมร่วมกันว่าเห็นด้วยไหม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกคือ ท้องถิ่นถือเงินงบประมาณของแผ่นดิน เงินภาษีของชาวบ้านครับ ผมซัดอย่างเดียวเลยถ้าประชาชนได้ประโยชน์ ไม่เคยเหนียว ไม่เคยงก"

"เรามีการจัดอบรมความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการว่า ถ้าน้ำมันเสียท่านได้อะไร บางท้องถิ่นใช้วิธี 4 แลก 1 คือ น้ำมันทอดซ้ำ 4 ขวดมาแลกน้ำมันใหม่ 1 ขวด แต่สำหรับผม ทำโรดโชว์ ถือโทรโข่งเดินตลอดตั้งแต่ 6 โมงเช้า ได้พูดคุยกับแม่ค้า พ่อค้า และรับซื้อน้ำมันทอดเก่าในราคาเต็มถึงที่ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำมันไปตรวจในห้องแล๊บ ว่าร้านนี้ชัวร์หรือไม่ชัวร์ ซึ่งจะประชุมร่วมกันเลยว่า ใน 1 อาทิตย์ให้ซื้อกี่วัน ถ้าสั่งให้ซื้อ 2 วันก็ตั้งโต๊ะในตลาด 2 วัน รับซื้อ 7 โมงเช้าก็ตั้งโต๊ะ 7 โมงเช้า

นอกจากนั้นผมจะลุยเข้าไปวัดค่าโพล่าร์ในน้ำมันทอด หรือแม้แต่ในเคเอฟซี ผมก็เข้าไปวัดถึงในครัวแล้วออกมาบอกว่า ร้านนี้กินได้หรือไม่ได้ ถ้าวัดแล้วเกิน 25 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น กินไม่ได้ครับ ถ้าไม่เกิน กินได้ ถ้าร้านไหนผ่านก็ต้องออกข่าว ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทั้งเสียงตามสาย โรดโชว์ เป็นต้น เป็นการให้รางวัลเขาหน่อย บางร้านถ้าสุ่มแล้วผ่านก็ติดป้ายให้เลยว่า ร้านนี้ปลอดน้ำมันทอดซ้ำ" นายกฯ บรรยงเล่าถึงการทำงานทีละขั้นตอนซึ่งช่วยให้เห็นภาพตามได้ไม่ยาก

หลังจากรับซื้อและทำการตรวจสอบ ก็จะนำส่งเพื่อให้ภาคเอกชนนำไปผลิตไบโอดีเซลต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่จ.ชัยภูมิเท่านั้น หลาย ๆ จังหวัดเริ่มเล็งเห็นความสำคัญนี้ เพราะสามารถกลายพันธุ์ไปสู่น้ำมันไบโอดีเซลได้ หากท้องถิ่นใดสามารถรับซื้อมาทำเป็นไบโอดีเซลได้เลยยิ่งดี ซึ่งที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ทำให้ได้ดี

ยกตัวอย่าง จ.ตรัง บางชุมชนมีขนาดเล็ก ปริมาณน้ำมันที่เหลือไม่มากพอ และถ้าจะส่งไปไกล ๆ เพื่อให้ผลิตไบโอดีเซลมันก็จะมีค่าใช้จ่ายขึ้นมา ดังนั้นทางจ.ตรังจึงแก้ปัญหาด้วยการประดิษฐ์เครื่องมือทำไบโอดีเซลอย่างง่าย ใช้ต้นทุนเพียง 5,000 บาท แล้วจัดการกันเองได้ภายในชุมชน

แนวทางดังกล่าว ถ้าเผยแพร่ไปใช้ทางภาคอีสาน หลายฝ่ายมองว่า มีประโยชน์มาก เนื่องจากมีเครื่องสูบน้ำ รถอีแต๋นเป็นเครื่องยนต์รอบต่ำและสม่ำเสมอ สามารถนำมาใช้ผลิตเป็นเครื่องทำไบโอดีเซลอย่างง่านนี้ได้ ถือเป็นนวัตกรรมทางปัญญาของชาวบ้านที่สามารถก่อประโยชน์ในหลาย ๆ พื้นที่ และควรมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ

อนาคตของน้ำมันทอดซ้ำ เป็นภารกิจที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ดังที่ ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี หนึ่งในแม่ทัพของการปฏวัติน้ำมันทอดซ้ำบอกเอาไว้ว่า หากน้ำมันเสื่อมสภาพที่ออกจากกระทะทอดหลายพันตันต่อปีถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซล ก็จะช่วยตอบโจทย์ทั้งด้านความปลอดภัยอาหาร และเรื่องพลังงานของประเทศไทยไปพร้อม ๆ กัน

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live



กำลังโหลดความคิดเห็น