xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจาก“น้องเอย” ความปลอดภัยของเด็กเล็กในสังคมไทยอยู่ที่ไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากกรณีของน้อยเอย หรือ ด.ญ.มนัสนันท์ ทองภู่ อายุ 3 ขวบ ที่ติดอยู่ในรถตู้จนขาดอากาศหายใจ สะท้อนให้เห็นว่าความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยที่อาจนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวงได้
 
ยิ่งเข้าสู่ช่วงปิดเทอมแบบนี้ อันตรายที่อาจเกิดกับเด็กเล็กในสังคมไทยจึงยิ่งมีอัตราที่เพิ่มขึ้น ความน่าเป็นห่วงที่นำพาอุทาหรณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ให้บทเรียนซ้ำๆ ทั้งยังทิ้งความโศกเศร้าไว้กับผู้คนที่เกี่ยวข้อง นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า มาตรฐานความปลอดภัยของเด็กเล็กในสังคมไทยนั้นมีการจัดการหรือมีมาตรฐานอย่างไร?

จากอุบัติเหตุมากมายจนถึงความผิดพลาด ภัยอันตรายหลายอย่างแฝงเร้นอยู่รอบตัวเด็ก มีเพียงแต่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในทุกภาคส่วนของสังคมที่ต้องช่วยกันดูแล หากทว่าในสังคมไทยนั้น ความปลอดภัยของเด็กได้รับการใส่ใจอย่างแท้จริงหรือไม่?

มาตรฐานความ(ไม่)ปลอดภัยของเด็ก

ความปลอดภัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (safety right is a fundamental human right) เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลเพื่อให้เติบโต เล่น มีพัฒนาการที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยอย่างเสมอภาคกัน เป็นหน้าที่ของรัฐ ผู้ปกครอง และทุกส่วนของสังคมจะต้องร่วมรับผิดชอบในสิทธิและความเสมอภาคนั้น

โดยข้อบังคับหรือกฎที่รัฐสร้างให้เกิดอุดมคติในความปลอดภัยซึ่งมีระบุทั้งในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (convention on the rights of the child) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นกฎหมายในประเทศ กำหนดให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของเด็ก ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำกลับเป็นอุทาหรณ์ต่อความปลอดภัยของเด็กเล็กที่ถูกละเลย

จากกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดของน้องเอยนั้น งามตา รอดสนใจ เจ้าหน้าที่วิจัย ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยข้อมูลอุบัติเหตุของเด็กเล็กที่เกิดอันตรายและแนะนำข้อควรระวังเมื่อเด็กเล็กต้องไปกับคนอื่นว่า ให้โทรศัพท์ตามอยู่เสมอ

“ถ้าหากเด็กเล็กหรือลูกเราต้องไปกับคนอื่น ให้ติดต่อสอบถามตลอด ตอนนี้ลูกเป็นอย่างไร เพราะคนที่ฝากไปอาจจะเผลอ อันนี้เราก็ไม่ทราบได้ด้วยเหตุใด ซึ่งกรณีรถโรงเรียน พ่อแม่ต้องมั่นใจมากๆ ก่อนในการใช้บริการ แม้ว่าจริงๆแล้ว ไม่อยากจะแนะนำให้ใช้ แต่ด้วยความจำเป็น ก็ควรดูการให้บริการของรถโรงเรียนว่ามีมาตรฐานอย่างไร”

สำหรับมาตรฐานในส่วนของสถานศึกษาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กนั้น เจ้าหน้าที่วิจัยจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กเผยว่า มีหลักสากลเป็นข้อกำหนดโดยรวมๆ อยู่ 6 ข้อด้วยกัน

1.อาคารสถานที่ มีความปลอดภัย มีทางหนีไฟ รั่วประตูไม่ชำรุด และไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำซึ่งอาจเกิดอันตรายกับเด็กได้ 2.ผลิตภัณฑ์ ภาชนะ ของเล่น หรือสิ่งของที่เด็กต้องใช้ได้มาตรฐาน เป็นวัตถุที่ไม่ก่ออันตรายต่อเด็ก 3.การเดินทาง การดูแลที่ใส่ใจต่อความปลอดภัยระหว่างเดินทาง 4.กิจกรรม มีการสอดแทรกให้ความรู้ด้านความปลอดภัยเพื่อให้เด็กสามารถดูแลตัวเองได้ 5.ถูกละเมิดสิทธิ มีมาตรการในการป้องกันบุคคลภายนอกในการเข้ามาละเมิดสิทธิเด็ก มีระบบรับ - ส่งเด็กไม่ให้คนแปลกหน้าอ้างว่า เป็นพ่อแม่มารับตัวเด็กไป 6.ฉุกเฉิน มาตรการในการรับมือเหตุฉุกเฉินอย่างไฟไหม้สถานที่ภายนอกโรงเรียน มีการซ้อมเตือนภัย ถังดับเพลิงไม่เก่าหรือหมดอายุ

“ทั้งหมดนี้เป็นมาตรฐานสากลเพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็กซึ่งผู้ปกครองสามารถใช้ในการพิจารณาตรวจสอบสถานศึกษาด้วยตัวเองได้”

อันตรายน่าห่วงในช่วงปิดเทอม

ในช่วงปิดเทอมแบบนี้ การที่เด็กอยู่ในความดูแลของพ่อแม่เป็นสิ่งที่ดี หากทว่าหลายครั้งที่พ่อแม่อาจจะไม่มีเวลาเลี้ยงลูกตลอดเวลา ทำให้มีเงื่อนไขซึ่งส่งผลให้เด็กเสี่ยงอันตรายมากขึ้น สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นอันตราย3 อันดับที่น่าเป็นห่วงในช่วงปิดเทอมได้แก่ 1. จมน้ำ 2. อุบัติเหตุจราจร 3.การถูกทิ้งให้อยู่ในรถ

การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กเล็ก ซึ่งตามปกติเธอเผยว่า เด็กควรว่ายน้ำเป็นตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และมีทักษะในการช่วยเหลือเพื่อนอย่างการตะโกนขอความช่วยเหลือหากเพื่อนจนน้ำได้

“แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นแบบนั้น ดังนั้นเมื่อลงเล่นน้ำเด็กจึงควรว่ายน้ำเป็นหรือมีพ่อแม่ดูแลอย่างใกล้ชิดเสมอ”

ในส่วนของอุบัติเหตุจราจร เธอเผยว่า ช่วงสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออุบัติเหตุในการเดินทางที่อาจจะเกิดขึ้นได้มาก ซึ่งเด็กเล็กหรือเด็กต่ำกว่า 9 ขวบ ไม่สมควรนั่งหน้ารถคู่กับคนขับ เพราะเข็มขัดนิรภัยจะคาดไม่ถูกตำแหน่ง

“ในเด็กเล็กควรจะมีเบาะเสริมที่ทำมาเฉพาะช่วงวัยเพื่อให้เด็กนั่งแล้วเกิดความปลอดภัยจากแรงกระแทกที่เกิดจากอุบัติเหตุนั้น เข็ดขัดสำหรับผู้ใหญ่จะไม่สามารถใช้ร่วมกับเด็กได้ และอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นเพราะอาจจะคาดไปที่คอของเด็กแทนที่จะเป็นหน้าอก โดยในช่วงสงกรานต์ของปีที่แล้วก็มีสถิติอันตรายของเด็กที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจรค่อนข้างน่าเป็นห่วงทีเดียว”

และอันตรายจากการถูกทิ้งไว้ในรถนั้น แม้ในส่วนของน้องเอยอันตรายจะเกิดจากการขาดอากาศ แต่เธอเผยว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของอันตรายที่เกิดจากการทิ้งเด็กไว้ในรถเพียงลำพังมาจากความร้อนเสียมากกว่า

“แม้กรณีของน้องเอยที่เกิดขึ้นจะมาจากการขาดอากาศ แต่สาเหตุใหญ่หลายกรณีในเมืองไทยนั้น เด็กที่ถูกให้นั่งในรถยนต์เพียงลำพังจะเป็นอันตรายจากความร้อนในรถที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปกติคนเราจะรับความร้อนได้เต็มที่ 37 องศาโดยจะปรับอุณหภูมิตาม แต่เมื่อความร้อนสูงขึ้นจะเกิดภาวะผิดปกติกับร่างกายจนเลือดกลายเป็นกรด และทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ดังนั้นจากกรณีนี้ข้อควรระวังคือผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กโดยทั่วไปไม่ควรปล่อยเด็กทิ้งไว้ในรถเด็ดขาด แม้ว่าจะเปิดกระจกแง้มไว้ให้มีอากาศเข้าไป แต่ความร้อนในรถที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุของการสูญเสีย

เด็กยากจนในเมืองร่ำรวย

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในสังคมไทยนั้น หากมองในมุมกว้างของความปลอดภัยในเด็ก เจ้าหน้าที่วิจัย ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก เผยว่า สังคมไทยยังคงไม่เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในเด็กเท่าที่ควร ทั้งในส่วนของผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิด ชุมชนที่เด็กอยู่อาศัย ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่มีความเสี่ยงให้เด็กเกิดอันตรายมากขึ้น

โดยสถิติของเด็กที่เสียชีวิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น เธอเผยว่า เด็กแต่ละช่วงวัยก็มีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดอันตรายเรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้ 1.จนน้ำ 2. อุบัติเหตุจราจร 3.พลัดตกจากที่สูง 4.อุบัติเหตุจากสนามเด็กเล่น 5.ไฟฟ้า 6. สัตว์ดุร้าย

“โดยหลักทั่วไป เด็กแต่ละช่วงวัยจะมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน ต่ำกว่า 6 ขวบผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องมีการสอนความรู้ในเรื่องของความปลอดภัยให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก แต่ในทางปฏิบัติสังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น ทั้งการที่ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเด็กได้ตลอดจากการที่ต้องทำงาน รวมไปถึงความรู้ของทั้งเด็กและผู้ปกครองในเรื่องความปลอดภัยในเด็ก”

สิ่งที่เกิดขึ้นเธอมองว่า มาจากการขาดองค์ความรู้โดยเด็กที่ประสบปัญหานี้ส่วนมากแล้วคือ เด็กยากจนในเมืองร่ำรวย

“เด็กยากจนในเมืองร่ำรวยคือเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด อาจจจะมีปัจจัยเสี่ยงจากการดูแลของผู้ปกครองที่ไม่ทั่วถึง ผู้ปกครองต้องทำมาหากิน สิ่งที่เป็นปัญหาของเด็กคือสิ่งแวดล้อม ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อความปลอดภัยของเขา เด็กก็จะอยู่ในอันตราย อย่างเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารพิษ อย่างใกล้โรงงาน ก็จะได้รับสารพิษโลหะหนัก หรือโรงเรียนไม่ได้มาตรฐานก็เป็นอันตราย เป็นปัญหาหลักๆ”

หนทางในการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เธอเห็นว่า ชุมชนควรรู้จักตระหนักถึงความเสี่ยง และร่วมกันลดปัจจัยของสิ่งแวดล้อมเพื่อทำให้เด็กเหล่านั้นมีความปลอดภัยมากขึ้น

“มากไปกว่านั้น ชุมชนควรใส่ใจในความปลอดภัยของเด็กๆในชุมชน ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่อยู่ร่วมในชุมชนเดียวกัน ซึ่งหากในชุมชนมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ก็อาจมีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนมีความปลอดภัยต่อเด็กมากขึ้น”

…..

แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ผู้ปกครองต้องเลือกที่จะเสี่ยง ฝากชีวิตลูกหลานของตนเองไว้กับผู้ดูแลที่ตนเองไว้ใจ

จากอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า...จากโศกนาฐกรรมที่ทิ้งทั้งบทเรียนและความเศร้าไว้กับผู้คนที่ประสบ แม้จะเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากความพลั้งเผลอเพียงชั่วขณะก็ตาม คงได้แต่หวังว่า บทเรียนจากเหตุการณ์เหล่านี้จะช่วยให้สังคมได้ฉุกคิด และได้ลงมือเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง เพราะสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบตัวเด็กที่ไม่ว่าจะปลอดภัยหรืออันตราย ก็เกิดจากสิ่งที่สังคมร่วมกันสร้างขึ้นนั่นเอง


ข่าวโดย ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live




กำลังโหลดความคิดเห็น