xs
xsm
sm
md
lg

"พระพุทธเจ้าน้อย"..มีจริงหรือแค่วัตถุนิยมชิ้นใหม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นกระแสที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อยู่ขณะนี้ ถึงกรณีหล่อองค์ "พระพุทธเจ้าน้อย" และได้มีการจัดพิธีสมโภช และพุทธาภิเษกพระพุทธเจ้าน้อยทำจากทองสำริด ขนาด 3.55 เมตรที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 8-10 มี.ค ที่ผ่านมา โดยหัวเรือใหญ่ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตเจ้าแม่ กทม. พรรคไทยรักไทย

ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล และเป็นสิ่งที่กำลังถูกตั้งคำถามถึงการใช้ชื่อ และมุ่งสร้างวัตถุชิ้นใหม่เพื่อบิดเบือนหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า นั่นก็คือ การไม่ยึดติด


พระพุทธเจ้าน้อย..ชื่อนี้มีคำถาม

เมื่อได้ยินชื่อนี้ เชื่อว่าหลายคนไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แม้แต่ในตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนาก็ไม่เคยระบุไว้ เพิ่งมาได้ยินก็คราวนี้ รวมไปถึงลักษณะการปั้นเป็นรูปเด็กตุ้ยนุ้ย เปลือยท่อนบน ยืนชี้นิ้วขึ้นฟ้า ทำให้คนที่ไม่รู้เรื่อง รู้ความเกิดความสงสัย และมีคำถามตามมามากมาย

"คำว่าพระพุทธเจ้าเป็นสภาวะ ภายหลังการตรัสรู้แล้ว มิใช่ชื่อบุคคล เจ้าชายสิทธัตถะในวัยแรกเกิด จึงมิใช่ พระพุทธเจ้า โลกนี้จึงไม่มี พระพุทธเจ้าน้อย รูปที่สร้างขึ้นนี้ เป็นเพียงรูปในจินตนาการถึง สิทธัตถะกุมาร ผู้ที่ยังมิได้รู้แจ้งในความจริงของชีวิต จึงมิอาจเรียกว่า พระพุทธเจ้า เป็นเพียงรูปวัยเด็กของผู้ที่กาลต่อมา ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น"

"เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วจะมีพระพุทธเจ้าน้อยได้อย่างไร เขาเรียกผู้ที่ยังมิได้ตรัสรู้ ว่าพระโพธิสัตว์ ตราบจนถึงวันตรัสรู้ จึงเป็นพระพุทธเจ้า การสร้างพระพุทธเจ้าน้อย อาจทำด้วยจิตใจเป็นกุศล แต่ผลที่ได้ หรืออานิสงส์ที่ได้ อาจตรงกันข้าม"


"เห็นรูปแล้วคิดว่าเป็นกุมารทอง หรือรัก-ยม อะไรสักอย่างที่เคยเห็นประกาศหล่อพระทางหน้าหนังสือพิมพ์"

"ใช้คำนี้ผิดแน่นอนครับ เพราะพระพุทธเจ้าน้อยที่มีรูปออกมาแบบนี้ยังเป็นปุถุชนอยู่ การใช้คำว่าพระพุทธเจ้านั้นต้องเป็นผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่สมควรอย่างยิ่งที่ใช้คำนี้ (เจตนาดีครับ แต่ไม่เข้าใจความเป็นจริง)"

ขณะที่คอลัมน์ "เปลวสีเงิน" ฉบับตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 11 มีนาคม 2556 ก็ได้เขียนเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าน้อยไว้ด้วย โดยทีมข่าว Live ขอหยิบยกมานำเสนอบางตอนว่า

"..ผมทะแม่งหู ขัดตา-ขัดใจ ยอมรับไม่ได้จริงๆ กับคำว่าพระพุทธเจ้าน้อยมันจะแผลงและพิเรนทร์นอกกรอบจนเกินงามไปหรือเปล่า ผมก็เรียนพุทธประวัติมาพอสมควร พบแต่ใช้คำว่าพระพุทธเจ้าเฉพาะกับสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกพระองค์ ไม่เคยพบตรงไหนเลยทั้งในพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ว่ามีการใช้คำว่าพระพุทธเจ้าน้อยเรียกขานสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ว่าพระองค์ไหนทั้งสิ้น.."

"ในพระพุทธศาสนา ไม่มีหรอกครับ และไม่มีใครสอน ให้ยก-ให้ยึดเอาสิทธัตถะราชกุมารขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้าน้อย ในเมื่อมีพระพุทธเจ้า คือสมณโคดมทั้งพระองค์ ในความหมายว่า มีของแท้อยู่แล้วทั้งองค์ แล้วจำเป็นอะไรต้องดัดจริตไปปั่นกระแสเอาสิทธัตถะขึ้นมาเทียบเป็นพระพุทธเจ้า.."

นี่คือทัศนะบางส่วนของคนในโลกออนไลน์ และคอลัมนิสต์ชื่อดังที่มีต่อเรื่องพระพุทธเจ้าน้อย

ด้านนักวิชาการด้านศาสนาอย่าง คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นผ่านทีมข่าว Liveว่า การหล่อองค์พระพุทธเจ้าน้อยมีมาก่อนหน้านี้ 2-3 ปีแล้ว และในครั้งนั้นก็มีการเรียกว่า พระพุทธเจ้าน้อย ซึ่งแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า "เบบี้ บุดด้า" และเรียกตามกันมาโดยขาดความเข้าใจ แต่ชื่อที่เหมาะสมน่าจะใช้ว่า "พระพุทธรูปปางประสูติ" มากกว่า ส่วนลักษณะการสร้าง ครั้งนี้อาจจะดูสมัยใหม่มากเกินไป แต่ก็ไม่ผิดแบบตามคติมหายานมากนัก

ทั้งนี้ หากค้นให้ลึกลงไป ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ปางประสูติ หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า "พระพุทธเจ้าน้อย" นั้น ในเฟซบุ๊กของ ลักษณ์ เรขานิเทศ โหรฟันธงชื่อดังระดับประเทศ ได้ระบุว่า

"เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นในพระพุทธศาสนา โดยได้รับแนวคิดมาจากพระพุทธศาสนาแบบมหายาน ในจีน ทิเบต เนปาล และญี่ปุ่น
ลักษณะพุทธปฏิมาเป็นรูปบุคคล ยืนบนดอกบัว ปลายพระหัตถ์ขวาชี้ขึ้นเบื้องบน ปลายพระหัตถ์ซ้ายชี้ลงเบื้องล่าง สร้างขึ้นตามพุทธประวัติ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท เช่น คัมภีร์พุทธจริต ลลิตวิศตระ ฝ่ายมหายาน และคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถา ฝ่ายเถรวาท"

"สำหรับในประเทศไทย เคยมีการกล่าวถึงการค้นพบพระพุทธรูปปางประสูตินี้ที่วัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย แต่ปัจจุบันได้หายสาบสูญไปเสียแล้วจนมีการถูกค้นพบภายในกรุเจดีย์ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งตรวจสอบแล้วโดยกรมศิลปากร ส่วนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะพบในประเทศที่มีการนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นสำคัญ อาทิเช่น จีน ทิเบต เนปาล เกาหลี และ ญี่ปุ่น"

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ พระพุทธรูปน้อย หรือพระพุทธเจ้าน้อยที่ใครหลายคนนิยมเรียกกัน องค์ที่ถูกค้นพบภายในกรุเจดีย์ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยกลับไม่ใช่รูปเด็กชายตุ้ยนุ้ย เปลือยท่อนบน ยืนยกมือชี้นิ้วขึ้นฟ้าเหมือนในครั้งนี้ หรือนี่อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าน้อยยุค 2013 กันแน่!

แก่นแท้..หรือแค่วัตถุชิ้นใหม่กันแน่?

กรณี "พระพุทธเจ้าน้อย" อีกประเด็นที่ถูกตั้งคำถามขึ้นมาก็คือ ความเป็นแก่นแท้ หรือแค่วัตถุที่สร้างความงมงายเพิ่มขึ้นอีกชิ้นหนึ่งกันแน่ เนื่องจากหลาย ๆ ความเห็นมองว่า เป็นการมุ่งเน้นสร้างวัตถุชิ้นใหม่เพื่อบิดเบือนหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเป็นสิ่งมงคลสำหรับผู้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ผู้ที่ได้บูชาพระพุทธรูปปางประสูติ จะเป็นผู้ได้เริ่มต้นชีวิตอันเจริญรุ่งเรือง เฉกเช่นเดียวกับอากัปกิริยาแรกเริ่มของพระพุทธองค์

เรื่องนี้ กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ศิษยานุศิษย์ พุทธทาส ภิกขุ หนึ่งในเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา ยอมรับผ่านทีมข่าว Live ว่า เมื่อมีโอกาสได้ยินข่าว "พระพุทธเจ้าน้อย" ความงวยงงก็ได้ตรงเข้าครอบงำในทันที

"พ.ศ. 2525 พุทธทาสภิกขุ และพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งร่วมกันตั้งกฎบัตรของพุทธบริษัทขึ้นมา หนึ่งในกฏบัตรดังกล่าวระบุว่า ถ้าพระพุทธองค์เสด็จมาเห็นพระพุทธรูปอันมากมายมหาศาลแห่งยุคนี้ พระองค์คงจะตรัสว่า จงใช้มันให้ถูกต้องนะโว้ย! และผมก็เชื่อว่า หากพระพุทธองค์ทรงมีโอกาสได้มาเห็นพระพุทธเจ้าน้อย พระองค์คงจะแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อยแล้วตรัสว่า จงใช้มันให้ถูกต้องนะโว้ย!" กิตติศักดิ์เผย พร้อมกับให้ความเห็นต่อไปว่า

"หลายครั้งที่พิธีกรรมและวัตถุมงคลถูกใช้เพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ หลายต่อหลายครั้งที่พุทธพาณิชย์เข้ามาเบียดบังไม่ให้ศาสนิกชนเข้าถึงพุทธธรรม ส่วนตัวมองว่า มันไม่ผิดที่เราจะมีวัตถุมงคล เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง ของขลังต่างๆ เอาไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่เราต้องไม่ลืมว่า อะไรก็ตามที่สามารถสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้แก่เราได้ เราก็มักจะฉวย และคว้าเอามันมาเป็นที่พึ่ง วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ทั้งหลายจึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นวัตถุแห่งการรองรับ สภาวะอันสั่นคลอนทางจิตใจของเรา แต่นี่ไม่ใช่มรรคาแห่งความรู้แจ้ง ไม่ใช่วิถีแห่งชาวพุทธ-ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" เขาว่า

ไม่ผิดที่จะกราบ-ห้อยพระ แต่ต้องใช้ให้เป็น!

กระนั้น คงจะปฏิเสธได้ว่า การกราบไหว้บูชา หรือห้อยพระเครื่อง เป็นสิ่งที่ชาวพุทธให้ความเคารพ และศรัทธามาตลอด แต่ในทัศนะส่วนตัวของ "กิตติศักดิ์" เขามองว่า ไม่ผิดที่จะกราบพระ ไม่ผิดที่จะห้อยพระเครื่อง เพียงแต่ต้องรู้จักใช้ ต้องใช้ให้เป็น

"ผมนึกถึงคำที่ท่านพุทธทาสบอกว่า จงใช้มันให้ถูกนะโว้ย! ซึ่งท่านพุทธทาสได้ให้ข้อคิดเอาไว้ว่า พุทธศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งคนตื่น คู่ปรับกับไสยศาสตร์ ศาสตร์แห่งคนหลับเป็นสิ่งที่จำต้องมีไว้สำหรับคนปัญญาอ่อน หรือเรายังอยากเป็นคนปัญญาอ่อน"

นี่จึงเป็นที่มาของสิ่งที่เขากำลังสะท้อนต่อไปว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่า อะไรคือหัวใจของพุทธศาสนา

"คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่สามารถตอบได้ว่าอะไรคือหัวใจของพุทธศาสนา บ้างก็ตอบอย่างมั่นใจว่าเรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องกรรม บ้างก็บอกว่าเรื่องชาตินี้ ชาติหน้า ตายแล้วเกิดใหม่ และที่น่าอนาถใจ คนไทยจำนวนนี้เรียกตัวเองว่า ชาวพุทธ ส่วนตัวคิดว่า หากเรากล้าเรียกประเทศไทยว่าเมืองพุทธ และหากเรากล้าพอที่จะเรียกตัวเองว่าชาวพุทธแล้ว สิ่งสำคัญอย่างยิ่งประการแรกที่เราควรทำคือการรู้ว่า อะไรคือแก่นของพุทธศาสนา อะไรคือเนื้อ และอะไรคือเปลือก"

"ปวัตนาการทางศาสนาในบ้านเราทุกวันนี้ ไม่เอื้อให้การตระหนักรู้ว่าอะไรเป็นอะไร สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายนัก ของผสมทางความเชื่อจึงอากูลพูนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เปลือกและเนื้อปนเปกันจนยากจะแยก และที่น่าเศร้า ทุกวันนี้ เราหลายๆ คนกำลังกินเปลือก โดยหลงคิดว่าเป็นเนื้อ มนุษย์เราเป็นสัตว์ที่มีความเปราะบางทางจิตใจสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ เราต้องการที่พึ่งทางใจ แทบจะตลอดเวลา เราต้องการอะไรมายึดเหนี่ยวให้เรารู้สึกผ่อนคลายสบายใจ ให้รู้สึกปลอดภัย ชาวพุทธหลายต่อหลายคนกราบพระพุทธรูปพร้อมร้องขอสิ่งที่ตนต้องการจากพระพุทธรูป ชาวพุทธจำนวนมากแขวนพระเครื่องด้วยความเชื่อว่า พระเครื่องจะคุ้มครองตนจากภยันตราย"

ดังนั้น การบูชาวัตถุทั้งหลาย สิ่งหนึ่งที่ควรระลึกไว้ด้วยก็คือ "สติ" รวมไปถึงการปล่อยวางการสร้างวัตถุแล้วหันมาสร้างปัญญากันเสียที ดังที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย เคยให้คมธรรมในวันมาฆบูชา ซึ่งพอจะนำมาสรุปทิ้งท้ายได้เป็นอย่างดีว่า "การบูชาด้วยวัตถุหรืออามิส ชีวิตยังไม่เปลี่ยน ต่อเมื่อนำพุทธธรรมมาปฏิบัติในชีวิตจริง จึงจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นมา ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ปฏิบัติบูชาดียิ่งกว่าการบูชาด้วยวัตถุอามิส"

/////////////////////

พระพุทธเจ้าน้อย สร้างแล้วไปไหน

องค์พระพุทธเจ้าน้อยที่สร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ หล่อด้วยแผ่นทองสัมฤทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศร่วมบริจาคจำนวนทั้งสิ้น 840,000 แผ่น น้ำหนักรวม 3 ตัน โดยมีความสูง 3 เมตร 55 เซนติเมตร เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ทางเข้าสู่มหาวิหารมายาเทวี จุดที่พระพุทธเจ้าประสูติ ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล ในวันที่ 31 มีนาคม 2556 ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ของการบูรณะครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดจากพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




องค์พระพุทธเจ้าน้อย ทำจากทองสำริด ขนาด 3.55 เมตร


พระพุทธรูปน้อยปางประสูติ ถูกค้นพบภายในกรุเจดีย์ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งตรวจสอบแล้วโดยกรมศิลปากร
แม่งานใหญ่-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตเจ้าแม่ กทม. พรรคไทยรักไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น