xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อหรือไม่ “ตักบาตรแอปเปิ้ล” คว้าเกรด A” ทำบุญหรือติดสินบนกิเลส.. ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นในโซเชียลเน็ตเวิร์กเกี่ยวกับโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ กิจกรรม "ตักบาตรแอปเปิ้ลแลกเกรด A" ของชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเชิญชวนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมตักบาตรแอปเปิ้ล พร้อมด้วยกิจกรรมปล่อยปลาให้ชีวิตเป็นทาน ในช่วงก่อนสอบปลายภาค ที่สื่อให้เห็นถึงการชี้นำความเชื่อที่ว่า การตักบาตรด้วยแอปเปิ้ลจะเป็นการแก้เคล็ด คว้าเกรด A ในการสอบ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้อยคำจากป้ายประชาสัมพันธ์ดังกล่าว จะนำไปสู่การเข้าใจผิด และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

จนในที่สุดทางคณะกรรมการชมรมพุทธศาสตร์ และตัวแทนที่รับผิดชอบในการทำสื่อประชาสัมพันธ์ ต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษถึงความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น โดยมีข้อความบางส่วนชี้แจงว่า "สิ่งที่ชมรมพุทธศาสตร์ได้ดำเนินการและยึดถือปฏิบัติอยู่ เพียงเพื่อประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเอง ตลอดจนนิสิตนักศึกษา ครูบาอาจารย์ และบุคลากร ให้ได้มีโอกาสสั่งสมบุญ สร้างความดี เปรียบเสมือนวัดในมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีการแอบแฝง หรือการได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ประการใด ปัจจัยทั้งหมดที่ได้มาจากกิจกรรมทุกกิจกรรม เป็นไปต่อการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา"




ตักบาตรแอปเปิ้ล มหา'ลัยไหนก็ทำกัน
นางสาวจารุวรรณ ปิ่นทอง ประธานชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า กิจกรรมตักบาตรดังกล่าวมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งเป็นกุศโลบายที่รุ่นพี่ เชิญชวนให้น้องๆ เข้ามาใกล้ชิดพระพุทธศาสนา แต่เดิมมีชื่อกิจกรรมเต็มๆ ว่า "ตักบาตรแอปเปิ้ล และปล่อยฟิช" โดยเชื่อกันว่า การตักบาตรแอปเปิ้ล (Apple) เพื่อให้ได้เกรด A ส่วนการปล่อยปลา (Fish) คือการปล่อย F นั่นเอง

"พอนำความหมายและนัยยะของกิจกรรมตักบาตรแอปเปิ้ลและปล่อยปลา มาปะติดปะต่อรวมกัน ก็ทำนองว่า เมื่อตักบาตรแล้ว ผลบุญจะส่งให้ได้เกรด A คือ มีผลการเรียนที่ดี และเมื่อปล่อยปลาแล้ว ผลบุญจะส่งผลให้ปราศจาก การติด F นั่นเอง ถือเป็นการเอาเคล็ดและให้กำลังใจกับนักศึกษา ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดีเรื่องงาม ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเป็นการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นในช่วงก่อนสอบกลางภาคและก่อนสอบปลายภาคทุกภาคการศึกษา และสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน" นางสาวจารุวรรณเล่า

นอกจากนี้การตักบาตรแอปเปิ้ล ไม่ได้มีเพียงแต่มหาวิทยาลัยรังสิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ชมรมพุทธศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอื่น อาทิ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒฯ, มหาวิทยาลัยหัวเฉียว, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น แต่เนื่องจากในปีนี้เกิดเป็นที่ฮือฮาเพราะ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจัดงานในด้านของการประชาสัมพันธ์ การออกแบบโปสเตอร์ ใบปลิวต่างๆ เพื่อเชิญชวน และเพื่อทำให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น" ประธานชมรมพุทธศาสตร์ ม.รังสิตเล่าเสริม




ตักบาตรแลกบุญ เป็นกุศโลบาย?
ท่านมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า “กุศโลบาย” ไว้ว่า มาจากคำว่า “กุศล” สนธิกับคำว่า “อุบาย” ซึ่งแปลว่า “อุบายที่เป็นกุศล” โดยเป็นวิธีการที่เกิดจากปัญญา มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกิ้อกูลเพื่อนมนุษย์ ให้บรรลุถึงความตื่นรู้ เบิกบาน ดังนั้นเวลาที่เราจะใช้ ต้องมั่นใจว่าวิธีการนั้นเป็นกุศโลบาย ไม่ใช่แค่อุบาย

“การตักบาตรผลไม้แล้วหวังเคล็ดว่าจะได้เกรดที่ดีในทัศนะของอาตมภาพมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เราทั้งหลายอยู่ในกลุ่มประชาคมมหาวิทยาลัยควรเป็นผู้ที่มีสติปัญญามากกว่าคนทั่วไป ถ้าเรายังทำอะไรด้วยความงมงาย ก็เสียชื่อว่าเรามาเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยควรเป็นสถานที่รวบรวมของผู้ที่มีสติปัญญา ไม่ใช่ศูนย์รวมของความงมงายหลากหลายชนิด

ฉะนั้นการตักบาตรก็ขอให้คำนึงถึงสาระสำคัญของการตักบาตร เราตักบาตรเพื่อทำลายความตระหนี่ ไม่ใช่ตักบาตรเพื่อต่อยอดไปสู่การเอากิเลสอ่อนไปแลกกิเลสแก่ คือการทำบุญอย่างหนึ่งเพื่อหวังผลให้ได้อีกอย่างหนึ่ง คล้ายเป็นการติดสินบนนั่นเอง เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่า การตักบาตรแอปเปิ้ลแล้วได้เกรด A นั้น อันนี้ไม่ควรเรียกว่าเป็นการตักบาตรแบบบริสุทธิ์ใจ แต่เป็นการตักบาตรเพื่อติดสินบนนั่นเอง ถ้าอยากจะแก้เคล็ดควรแก้ด้วยการตั้งจิตตั้งใจเรียนหนังสือเพื่อให้ตนเองมีสติปัญญาจะดีกว่า




การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
พร้อมกันนี้ท่านมหาวุฒิชัย วชิรเมธียังได้อธิบายถึงรูปแบบของการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาด้วยว่า การทำบุญทำได้หลายรูปแบบ เช่น ศีลมัย คือบุญที่เกิดจากการรักษาศีล คือ การประพฤติตนเป็นคนดีนั่นเอง ประพฤติตนเป็นคนดีเมื่อไหร่ก็ได้บุญเมื่อนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ทำดีเมื่อไหร่ก็ได้บุญเมื่อนั้น

ทานมัย คือ บุญที่เกิดจากการให้ทาน สาระสำคัญของทานจริงๆ คือ ให้เพื่อกำจัดความตระหนี่ ยกจิตใจของเราให้สูงขึ้น จากการที่ทำอะไรก็ตาม “ถามแต่ว่าฉันจะได้อะไร เปลี่ยนให้เป็นฉันจะให้อะไร” ฉะนั้นสาระสำคัญของทาน คือกำจัดความตระหนี่แล้ว คำนึงถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น การให้ทานก็เป็นเหมือนการปลูกฝังการสลายความเห็นแก่ตัว

“แต่เวลานี้ดูเหมือนว่าการทำบุญให้ทานของคนเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เราให้ทานอย่างหนึ่งเพื่อแลกกับกิเลสอีกอย่างหนึ่ง เช่น การให้ทานอย่างนี้แล้วก็ขออย่างนั้น ให้ทานหนึ่งอย่างขอเป็นร้อยอย่าง พันอย่างก็มี หรือแม้แต่กระแสที่ว่า ทำบุญด้วยแอปเปิ้ล แล้วได้เกรด A หรือปล่อยปลาเท่ากับปล่อย Fฟังดูไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะน้องๆ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันทางการศึกษา จะทำบุญอะไรก็ควรใช้ปัญญา ให้มีเหตุผล มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะไม่คุ้มที่ได้อยู่ในสถาบันซึ่งควรจะเป็นสถานที่ของคนที่มีความรู้สติปัญญา”

ท่านมหาวุฒิชัย กล่าวทิ้งท้ายด้วยการทำบุญแบบ ภาวนามัย คือ บุญที่เกิดจากการฝึกตนให้เป็นคนที่มีปัญญา ถ้าเรามีปัญญาแล้ว ไม่ต้องไปแสวงหา หรือแก้เคล็ดอะไรหรอก ตัวปัญญานั่นแหละเป็นโชคดีอยู่แล้วในตัวของมันเอง ใครมีปัญญาคนนั้นก็เท่ากับเป็นบุคคลที่มีโชค ถ้าเรามีปัญญาแล้วก็ไม่ต้องเที่ยวไปแก้เคล็ดอย่างนั้นอย่างนี้ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาของเราเอง ถ้าเรามีปัญญามาก ปัญญาดี เราก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ถ้ามีปัญญาน้อย หรือปัญญาที่ไม่ดี เราก็จะได้คุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เพราะชีวิตขึ้นอยู่กับคุณภาพของปัญญาของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแก้เคล็ดเสียเท่าไหร่

“ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าวิธีการทำบุญมีอยู่หลายรูปแบบ แต่แบบที่สำคัญที่สุดคือการทำบุญทางปัญญานั่นเอง ถ้าเราให้ความรู้ ให้ปัญญาเป็นวิทยาทาน พระท่านว่า เป็นทานอันสูงสุด เหมือนคำกล่าวที่ว่า “สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ : การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง”




แถลงการณ์ฉบับเต็ม จากชมรมพุทธศาสตร์ ม.รังสิต

ตามที่เป็นกระแสข่าวในโลกสังคมออนไลน์ขณะนี้กับกรณี กิจกรรมการตักบาตรแอปเปิ้ลและปล่อยปลาของชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2555 ที่ผ่านมานั้นทางคณะกรรมการชมรมพุทธศาสตร์ และตัวแทนที่รับผิดชอบในการทำสื่อประชาสัมพันธ์ ต้องขออภัยทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ ในการสื่อสารที่ผิดพลาด อาจด้วยข้อความที่สื่อได้หลายความหมายทำให้เป็นประเด็นและก่อให้เกิดความไม่เข้าใจของหลายฝ่าย
แต่ต้องขออนุญาตชี้แจงว่าเดิมทีนั้น กิจกรรมตักบาตรและปล่อยปลาของชมรมพุทธศาสตร์เป็นประเพณีที่สืบทอดและปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเพื่อให้นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร ของมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสทำบุญเป็นการสร้างความดีแบบง่ายๆ โดยทางชมรมจะเป็นฝ่ายเตรียมงานทุกอย่างให้ทั้งการนิมนต์พระสงฆ์ การเตรียมสถานที่ และอาหารใส่บาตรซึ่งไม่เพียงมีแค่มหาวิทยาลัยรังสิตเท่านั้น ชมรมพุทธฯที่อื่นๆอาทิ จุฬา , ธรรมศาสตร์ , ลาดกระบัง , มศว. , ม.บูรพา , มช. , มอ. , มข.ก็มีกิจกรรมเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ต่อมา ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจัดงาน ในด้านของการประชาสัมพันธ์การออกแบบโปสเตอร์ ใบปลิวต่างๆ เพื่อเชิญชวน และเพื่อทำให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้นจึงเป็นที่มาของ คอนเซ็ปท์ หรือ กุศโลบาย โดยเน้นที่นิสิตนักศึกษาในเรื่องของการตักบาตรและปล่อยปลา สั่งสมบุญก่อนสอบ เพื่อที่ว่าผลบุญที่ได้กระทำนั้นจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นที่พึ่งให้มีสติ รอบคอบ ในการดำเนินชีวิต แม้แต่การเรียนหรือสอบ ความพยายามด้วยการท่องและอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ หากต้องใช้บุญมาเป็นตัวประคับประคองจิตใจในการทำสิ่งเหล่านี้ด้วย

ดังนั้น หนึ่งสัปดาห์ก่อนจะสอบทุกครั้ง ทั้งกลางภาคและปลายภาคการศึกษา ทางชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีกิจกรรมบุญพิเศษคือการตักบาตรแอปเปิ้ล ในที่นี้ คือจะเหมือนกับการตักบาตรทั่วๆ ไปตามปกติแต่จะมีการเพิ่มแอปเปิ้ล ลงในรายการของอาหารใส่บาตรด้วยโดยพยายามจะสื่อสารว่า เมื่อตักบาตรแอปเปิ้ลแล้ว ผลบุญนี้จะทำให้ได้ผลการเรียนที่ดีนั่นคือการ Get A ซึ่งมาจากคำว่า Apple เป็นสิ่งที่นิสิตนักศึกษาทุกคนปรารถนาตั้งใจไว้

ส่วนกิจกรรมปล่อยปลานั้น ที่ชมรมพุทธฯ ม.รังสิต จะจัด1เดือน ต่อ1ครั้งโดยจะมีขึ้นวันเดียวกับการตักบาตร แต่จะเป็นตอนเย็น ตามวัดต่างๆ รอบๆมหาวิทยาลัยซึ่งก็ประจวบเหมาะพอดีกับ การตักบาตรแอปเปิ้ล ที่มีตัว A ซึ่งสื่อถึง เกรดเอ หรือ get A การปล่อยปลาจึงกลายเป็น การปล่อย fish หรือ การปราศจาก F นั่นเอง พอนำความหมายและนัยยะของ กิจกรรมตักบาตรแอปเปิ้ลและปล่อยปลามาปะติดปะต่อรวมกัน ก็ทำนองว่า เมื่อตักบาตรแล้ว.. บุญจะส่งผลให้ได้เกรด A คือ ได้ผลการเรียนที่ดี และเมื่อปล่อยปลาแล้ว.. บุญจะส่งผลให้ปราศจากซึ่งการติดF นั่นเอง

ทั้งหมดทั้งมวล ที่ได้ชี้แจงไปนี้ ก็เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามกันของทุกๆ ท่านว่าสิ่งที่ชมรมพุทธศาสตร์ได้ดำเนินการ และยึดถือปฏิบัติอยู่ เพียงเพื่อประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเอง ตลอดจนเพื่อนนิสิตนักศึกษา ครูบาอาจารย์ และบุคลากรให้ได้มีโอกาสสั่งสมบุญ สร้างความดีเปรียบเสมือนวัดในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการแอบแฝง หรือ การได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ประการใดปัจจัยทั้งหมดที่ได้มาจากกิจกรรมทุกกิจกรรม เป็นไปต่อการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา จึงขออภัยและชี้แจงมา ณ โอกาสนี้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


โปสเตอร์ชวนตักบาตรแอปเปิ้ลของม.รังสิต
โปสเตอร์ชวนตักบาตรแอปเปิ้ลของมศว.


กำลังโหลดความคิดเห็น