xs
xsm
sm
md
lg

กิเลสแห่งศรัทธา พุทธพาณิชย์ “ที่สุดในโลก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เงิน” “การฉ้อโกง” และ “การฟ้องร้อง” 3 คำนี้มาเกี่ยวพันกันเมื่อไหร่ ย่อมเกิดปัญหาตามมาได้เสมอๆ และยิ่งมีคำว่า “พระ” และ “ศาสนา” เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญเพิ่มขึ้นอีก เรื่องราวจึงยิ่งทวีความชุลมุนมากกว่าเก่าอีกหลายเท่า เช่นเดียวกับกรณีที่เจ้าอาวาสวัดแม่ตะไคร้ยื่นหนังสือฟ้องร้อง อาจารย์หนู เซียนสักยันต์ชื่อดัง ด้วยข้อกล่าวหาว่า “อมเงินบริจาค” โครงการก่อสร้าง “หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก” ไปกว่า 400 ล้านบาท

งานนี้นอกจากจะมองเห็นวี่แววว่ายังต้องสืบสวนกันไปอีกนานแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่อง “วัตถุนิยม” และ “พุทธพาณิชย์” ที่มีมายาวนานในสังคมไทย จนเกิดเป็นคำถามชวนสงสัยว่า เมื่อไหร่ชาวพุทธจะเลิกงมงายกันเสียที!?!




“ที่สุด” แห่งศรัทธา
“หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก” ที่กล่าวถึงคือโครงการที่ “พระใบฎีกาเทียนชัย สุภัทโท” เจ้าอาวาสวัดแม่ตะไคร้ ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ รับเป็นประธานจัดสร้างร่วมกับ “นายสมพงษ์ กันภัย” นักสักยันต์ชื่อดังซึ่งรู้จักกันในนาม “อ.หนู” มาตั้งแต่ปี 2551 วาดฝันไว้ว่าต้องการให้ออกมาเป็นอุทยานที่มีหลวงปู่ทวดธุดงค์ประทานพร เนื้อทองเหลืององค์ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดสูง 19 เมตร หนัก 18 ตัน มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท แต่ก็มีอันต้องมาสะดุด สร้างได้แค่เพียงตัวฐานพระ 50 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้
 

เจ้าอาวาสกล่าวอ้างว่า อ.หนู เป็นผู้ถือเงินบริจาคเอาไว้ทั้งหมด แต่นำมามอบให้เพียง 15 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วน่าจะมีปึกธนบัตรครอบครองอยู่ถึง 300-400 ล้านบาทเลยทีเดียว ด้าน อ.หนู โต้กลับทันที บอกมีหลักฐานชัดเจนว่าได้จ่ายให้ทางวัดแล้วกว่า 70 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมจำนวนเงินจากการสักยันต์ให้แก่ลูกศิษย์ที่วัดแม่ตะไคร้ร่วม 30 ครั้ง แต่ละครั้งได้ค่าตอบแทนนับล้านบาท เมื่อคำบอกเล่าจากทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกันเช่นนี้ เจ้าอาวาสจึงตัดสินใจเข้าร้องต่อดีเอสไอให้ช่วยตรวจสอบ
  

ถึงแม้ว่าคดีความจะเพิ่งเปิดแฟ้มและยังจับมือใครดมไม่ได้ แต่เม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ทั้งสองฝ่ายกล่าวอ้างออกสื่ออย่างเปิดเผยในครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึง “พลังศรัทธา” ของพุทธศาสนิกชนว่าไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไปแล้ว แต่ละคนยินดีทุ่มทุนสร้าง ขนเงินมาบริจาคหลายหลักเสียจนน่าใจหาย เพียงเพื่อให้ได้มีชื่อว่าได้เข้าร่วมบุญครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อทางวัดหรือสำนักใดประกาศว่าจะจัดสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีขนาด “ใหญ่ที่สุด” หรือเน้นความอลังการต่างๆ นานา ยิ่งล่อใจให้นักบุญกระเป๋าตุงจ่ายหนักเพื่อซื้อบุญมากขึ้นเท่านั้น
  
“จานบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ” คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์ดูดเงินจากพลังศรัทธาของประชาชน หรือที่รู้กันว่ามันคือสัญลักษณ์หลังคาวัดพระธรรมกายนั่นเอง เหตุการณ์นี้เป็นประเด็นร้อนฉ่าตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา เมื่อทางวัดขอออกโฉนดที่ดินบนเกาะดอนสวรรค์ จำนวน 85 ไร่จากที่ดินทั้งหมดบนเกาะ 105 ไร่ เพื่อนำไปสร้างสาขาใหม่ของวัด ซึ่งเกาะดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย โชคดีที่ชาวสกลนครเจ้าของพื้นที่ออกมาต่อต้านการฮุบที่ดิน การล่อลวงผู้ศรัทธาด้วยหลักการ “ทำบุญบริจาคเงินเข้าวัดธรรมกายมาก... ก็ได้บุญมาก” จึงถูกระงับไป




ชาวพุทธ(พาณิชย์)
อาจเพราะได้รับอิทธิพล “ที่สุดในโลก” มาจากตะวันตกอย่างกินเนสส์บุ๊กซึ่งขยันบันทึกสถิติโลกในทุกเรื่องเก็บเอาไว้ตลอด คนไทยจึงเดินตามค่านิยมดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่เรื่องของกินอย่าง “ข้าวหลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เรื่องสิ่งของอย่าง “ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ไปจนถึงเรื่องวัฒนธรรม “บั้งไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก” และ “รวมพลคนนวดไทยไว้มากที่สุดในโลก”
ลัทธิคลั่งความเป็นที่สุดยังลามไปถึงในรั้วแห่งธรรมจนทำให้เกิด “พระพิฆเนศที่ใหญ่ที่สุดในโลก” “พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลก” และล่าสุดกับโครงการ “หลวงปู่ทวดที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ผุดขึ้นมามากมายไม่หยุดหย่อน
 

คนไทยหลายคนอาจจะภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นที่สุด แต่ในสายตาของนักวิชาการด้านศาสนาอย่าง “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” อาจารย์ผู้สอนวิชาศาสนาในสังคมปัจจุบัน ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอฟันธงว่ามันไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลยแม้แต่นิดเดียว
  

“ผมว่าจริงๆ แล้ว การพยายามจะสร้างอะไรใหญ่โตมันเป็นวิธีคิดแบบทุนนิยมนะ คิดแบบการตลาด ทำขึ้นมาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้ศรัทธา แต่มันไม่ใช่การสร้างบนเหตุผลทางศาสนาเป็นหลัก ทั้งที่ความจริงแล้วศาสนาควรจะอยู่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยมด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น การที่คุณจะใช้วิธีการตลาดดึงคนเข้ามาสนใจศาสนา ยังไงมันก็เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง
ถ้าจะอ้างว่าทำไปเพื่อดึงคนให้เข้าวัดก่อน ผมว่าถ้าอยากทำอย่างนั้นจริงๆ เราน่าจะใช้ศาสนธรรมหรือการประยุกต์ธรรมให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อดึงคนให้เข้าวัดดีกว่า มันยั่งยืนกว่า ไม่ใช่การสร้างถาวรวัตถุขึ้นมาเพื่อดึงคนอย่างที่เป็นอยู่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างในตอนนี้ คือผมไม่ได้หมายความว่าสร้างถาวรวัตถุในวัดไม่ได้นะครับ แต่ถ้าจะสร้างก็ควรสร้างในเหตุผลที่มันเหมาะสม”
  

เมื่อพุทธศาสนิกชนถูกดึงดูดให้เข้าวัดด้วยเรื่องของทุนนิยม จึงไม่อาจปฏิเสธการเสียทรัพย์ให้แก่ระบบพุทธพาณิชย์พ้น โดยเฉพาะการทำบุญเน้นจำนวนเงินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยิ่งทำให้ห่างไกลออกจากวิถีชาวพุทธออกไปทุกทีๆ
  

คนสมัยนี้ บริจาคมากเพื่อหวังจะได้อะไรกลับ คิดว่าทำบุญมากต้องได้บุญกลับไปมาก ทำร้อยล้านต้องได้ตอบแทนร้อยล้าน เป็นวิธีคิดแบบทุนนิยมมาก หยิบเอาเรื่องกำไรสูงสุดมาเป็นตัวชี้นำให้คนทำบุญหรือไม่ทำบุญ ซึ่งมันผิด มันไม่ใช่บุญในพระพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว ผมเข้าใจนะว่าวัดทุกวัดมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน แต่ปัจจุบันนี้เราผูกโยงเรื่องการเข้าวัดทำบุญไว้กับเรื่องกำไรขาดทุนมากเกินไป มันกลายเป็นวงจร พระหรือวัดก็รู้ว่าคนต้องการอย่างนี้ เขาก็เลยทำขึ้นมา และกลายเป็นพิธีกรรมที่เอื้อกันพอดี ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ผล ผมว่าต้องแก้ทั้งระบบ”
 

พุทธศาสนิกชนทุกคนลงเรียนวิชาพระพุทธศาสนาเป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่สุดท้ายก็สอบตกในฐานะชาวพุทธที่ดีอยู่ดี ถามว่าเป็นเพราะอะไร อาจารย์คมกฤชได้แต่หัวเราะในลำคอแล้ววิเคราะห์ให้ฟัง “ก็เพราะเราเรียนแค่ศาสนพิธีกับวันสำคัญ แต่ไม่ได้มานั่งศึกษาหลักธรรมกันจริงๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของเราไงครับ เรารู้ว่านี่คืออริยสัจ 4 แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามันสัมพันธ์ยังไงกับชีวิตเรา

ผมว่าพุทธศาสนิกชนต้องทำความเข้าใจกับการเข้าวัดทำบุญกันใหม่ เราต้องเข้าใจอุบายหรือเจตนารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละพิธีกรรม ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการถวายสังฆทาน หลายคนเข้าใจว่าคือการซื้อถังสีเหลืองไปถวายพระแล้วก็จบ แต่จริงๆ แล้วในเจตนารมณ์ดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาแล้ว “สังฆทาน” ประกอบมาจากคำว่า “สังฆะ” แปลว่าชุมชนของพระสงฆ์ และ “ทาน” หมายถึงการให้ รวมความหมายว่าการถวายของบางอย่างเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ชุมชนสงฆ์โดยไม่แบ่งแยกว่าต้องเป็นองค์ใดองค์หนึ่ง ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ได้ เราก็สามารถถวายสังฆทานได้โดยไม่ต้องถวายถังสีเหลืองเสมอไปแล้วครับ




“องค์พระ” ไม่ต้องใหญ่ ใหญ่ที่ “ใจ” ก็พอ
สำหรับพุทธศาสนิกชนที่หลงทางบนความเชื่อกันมานาน เข้าวัดทีไรเป็นต้องควักกระเป๋าสตางค์ บริจาคๆๆ หวังหอบบุญกุศลก้อนโตกลับบ้าน เมื่อมีความทุกข์ก็เอาแต่ยกมือไหว้อธิษฐานขอพร “พระพรพล ปสันโน” เลขานุการเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ขอเตือนว่ากำลังหลงผิดและควรรีบกลับมาเดินบนทางสว่างในเร็ววัน
 

ถ้าลองมองในสมัยพุทธกาลก็จะเห็นว่าพระพุทธองค์ท่านไม่เคยเน้นให้เราทำวัตถุอะไรที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้เน้นให้เราไปพึ่งพาคนอื่น แต่พระพุทธองค์ได้สอนคำหนึ่งเอาไว้คือ อัตต หิ อัตตโน นาโถ สั่งสอนให้ตนเป็นที่พึ่งของตนเอง และการที่เราจะพึ่งตนเองได้ เราก็ต้องศึกษาปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง
แต่ปัจจุบันนี้คนเราเอาตัวไปหาทางลัดกันเยอะ พยายามที่จะไปพึ่งสิ่งอื่นโดยที่ไม่ได้ใช้เวลาฝึกฝนตัวเอง หวังว่าไปลงทุนอะไรใหญ่ๆ หนักๆ จะได้บุญกลับมาหนักๆ ทีเดียว ต้องการบุญทางลัดกันเยอะ ก็เลยเดินกันไปผิดทางหมด แทนที่จะพึ่งตัวเองได้ กลายเป็นพึ่งคนอื่น ไปเซ่นไหว้บวงสรวง ไปอ้อนวอนเพื่อให้เราประสบความสำเร็จ-ความสุข แต่ตัวเราเองยังไม่รู้เลยว่าวิธีไปสู่การประสบความสำเร็จต้องทำยังไง
 

ดังนั้น วิธีที่เราชาวพุทธควรจะทำก็คือการน้อมกลับมาศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระองค์ท่าน บอกเอาไว้ว่ามีอยู่ 3 อย่างคือ ทาน ศีล ภาวนา เริ่มด้วยข้อแรกคือการทำทานเพราะเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่ก็จะได้บุญในระดับหนึ่ง ถ้าได้บุญสูงกว่านั้นก็คือการรักษาศีล ส่วนบุญสูงสุดเลยที่ทำให้เราเกิดปัญญา รู้ว่าอะไรถูกผิด รู้ว่าความทุกข์คืออะไร รู้ว่าจะดับทุกข์ได้ยังไง นั่นคือการภาวนา ต้องรู้จักปฏิบัติธรรมนั่นเอง แต่คนสมัยนี้ไปมองว่า โอ้โห! การนั่งสมาธิ การภาวนา มันเสียเวลา มันนาน เอาวิธีสั้นๆ ง่ายๆ นี่แหละ ก็อาศัยวิธีบวงสรวงอ้อนวอนขอเขา มันเลยทำให้คนในปัจจุบันหลงงมงายและถูกวัตถุเหล่านี้ชักจูงไปให้เราไม่สามารถพึ่งตัวเองได้อย่างที่เป็นอยู่”
 

ถึงแม้ว่าพระสงฆ์และสถานแห่งธรรมหลายแห่งในปัจจุบันจะเน้นหนักชักชวนให้บริจาคเพื่อแลกบุญ แต่ถ้าพุทธศาสนิกชนตั้งสติได้ ก็จะไม่หลงงมงายไปกับระบบพุทธพาณิชย์
 

“ถ้าเราเห็นว่านี่ไม่น่าจะใช่ทางหลุดพ้น ไม่ใช่ทางที่จะดับทุกข์ได้ เราก็ไม่ต้องไปสนับสนุนเขา มันก็จบ แต่ถ้าเราคิดว่าเราอยากพบกับความสุขง่ายๆ อยากจะรวยเร็วๆ พ้นทุกข์ง่ายๆ แต่เราไม่ศึกษาวิธีตามคำสอนของพระพุทธองค์ ใช้วิธีทางลัดอย่างเดียว มันก็จะมีแต่ความงมงายอย่างนี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะเรื่องการทำทานนั้น ขอเน้นย้ำว่าการบริจาคที่จะได้ผลจริงๆ ก็คือการละอัตตา ละความเป็นตัวตนของเรา ถ้าเราลองสละความสุขของเราแบ่งปันไปให้ผู้อื่น แม้จะเป็นเงินเพียงน้อยนิด แต่บริจาคด้วยใจบริสุทธิ์ เงินบริสุทธิ์ ก็ได้บุญเต็มที่แล้ว ไม่ใช่บริจาคเพื่อขอให้รวย ขอให้ถูกหวย ขอให้เป็นเศรษฐี แบบนั้นต่อให้บริจาคยังไง ก็ไม่ได้บุญ
 

ทุกอย่างมันต้องกลับมาดูที่จิตใจของเรานะ ต้องให้ “ใจเราใหญ่” ให้ใจเราเป็นประธาน ต้องให้เรามีสติ มีสมาธิให้มาก ใจเราต้องรักษาศีลได้ ทำใจให้เป็นสมาธิได้ ให้ใจเราสามารถรักษาตัวเราให้ทำความดีได้ นี่แหละถึงจะมีใจที่ใหญ่จริง ไม่ใช่ไปคอยทำภายนอกให้ใหญ่ ไม่ใช่ไปก่อสร้างความดีภายนอกให้มากกว่าภายใน ต้องเริ่มจากตรงนี้ก่อน ส่วนเรื่องความเชื่อต่างๆ นั้น พุทธศาสนาไม่เคยสอนให้เชื่อให้งมงายเลยนะ แต่สอนให้ทดลองและปฏิบัติ ถ้าเราเป็นชาวพุทธจริง เราก็ต้องมาลองปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง

ลองระลึกถึงพระองค์ท่านแล้วคิดตามด้วยปัญญาของเราเองดูว่า พระพุทธองค์ได้สักยันต์ไหม ท่านได้ตรัสสอนให้เราไปสักยันต์ไหม และพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ด้วยการสักยันต์หรือเปล่า เอาแค่นี้พอ ทุกวันนี้มันห่างไกลหลักธรรมคำสอนมามากแล้ว มันไปทางไหนแล้วก็ไม่รู้ ลองกลับมาศึกษาพุทธประวัติ ศึกษาหลักธรรมของพระองค์ท่านดูว่าพระองค์ท่านได้ไปทำเรื่องพวกนี้ไหม เรื่องที่พวกเรากำลังทำๆ กันอยู่นี่ แล้วเราก็จะรู้ว่าตกลงแล้วเราใช่ชาวพุทธหรือเปล่า

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


สร้างไม่เสร็จ โกงกันเสียก่อน

สภาพในปัจจุบัน
เจ้าอาวาสฟ้องเรื่องต่อดีเอสไอ
อาจารย์หนูมีหลักฐานสู้

พระพิฆเนศที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลก

บั้งไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ข้าวหลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นวดไทยมากที่สุดในโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น