ณ วินาทีนี้ มีเพียง “ช่อง 3” ต้นตอของประเด็นร้อน แบนละครเรื่อง “เหนือเมฆ 2” เท่านั้น ที่ยังไม่ออกมาชี้แจงให้ชัดว่าเบื้องลึกเบื้องหลังการตัดทิ้ง 4 ตอนสุดท้ายให้จบกลางคัน มันเป็นเพราะอะไรกันแน่?
ถึงแม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดเสวนา “บอกความจริงเรื่อง เหนือเมฆ 2: สงสารช่อง 3 หรือประชาชนดี” เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยได้แก้ตัวแล้ว แต่สุดท้าย ก็ไม่เห็นหัวผู้เกี่ยวข้องกับองค์กรออกมายืดอกแสดงความรับผิดชอบเลยสักคน ได้แต่ปล่อยเวทีให้ กสทช. ประกาศจุดยืนและคาดโทษช่อง 3 ในฐานะ “สื่อที่เซ็นเซอร์ตัวเอง”
ความคลุมเครือที่เกิดขึ้น นอกจากจะทำให้ประชาชนสับสน คาดเดากันไปต่างๆ นานาว่าเป็นเพราะมีมือมืดทางการเมืองเข้ามาครอบงำ กริ๊งกร๊างให้ระงับละครแทงใจดำ ยังส่งผลให้บรรดาผู้ผลิต-คนเขียนบท หัวหดไปตามๆ กัน เกิดกลายเป็นบรรยากาศแห่งความกลัว เสรีภาพในการนำเสนอความคิดถูกย่ำยีไปหมดสิ้น
และทางออกเดียวที่สังคมต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือ ช่อง 3 ต้องออกมารับผิดชอบ!! เพราะประเด็นไม่ใช่แค่เพียงคอละครจะได้ดูตอบจบของเหนือเมฆหรือไม่อีกต่อไป แต่มันสร้างผลกระทบกว้างใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าเสรีภาพของสื่อไทยกำลังถอยหลังลงคลอง!!
คนเขียนบท หัวหดกันหมดแล้ว!!
“บอกความจริงเรื่อง เหนือเมฆ 2: สงสารช่อง 3 หรือประชาชนดี” คืองานเสวนาที่จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตอบคำถามคาใจของสังคม และแสดงจุดยืน คัดค้านการปิดกั้นทางความคิดด้วยการแบนละครโดยไร้เหตุผลรองรับที่เหมาะสม ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นข่าวเรื่องตัดจบละคร “เหนือเมฆ2” ที่เกิดขึ้น หลังจากนักสื่อสารมวลชนหัวก้าวหน้าหลายคนทนนิ่งเฉยต่อข้อเท็จจริงที่แสนคลุมเครือในครั้งนี้ต่อไปไม่ไหว เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่ประเด็นเล็กๆ แค่เรื่องละครหลังข่าวอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่ทำให้คนเบื้องหลัง-คนทำสื่อ ถูกเซ็นเซอร์และถูกตีกรอบความคิดอย่างรุนแรง จากการแบนละครในครั้งนี้
พิง ลำพระเพลิง ได้เผยความจริงที่น่าตกใจเอาไว้อย่างหมดเปลือกในรายการ “คมชัดลึก” ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบต่อทีมงานเหนือเมฆเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อวิชาชีพ “คนเขียนบท” ทุกคนอย่างแรง ถึงขั้นถูกใบสั่งให้ต้องทยอยแก้บทละครอีกหลายต่อหลายเรื่อง ทั้งที่เรื่องนั้นเคยได้รับอนุมัติจากทางช่องให้ไฟเขียวไปแล้ว
“ตอนนี้ผมไปหาที่เช่าร้านก๋วยเตี๋ยวไว้แล้ว เพราะพูดออกไปแบบนี้ งานคงไม่เข้าผมแล้วล่ะ (หัวเราะ) ตอนนี้ไม่ต้องถามเลยว่าคนเขียนบทตั้งหลักกันยังไง เราตั้งรับกันอย่างเดียว ตอนนี้เริ่มทยอยแก้บทเรื่องอื่นๆ ที่เขียนไปแล้ว หลังจากเกิดเหตุการณ์เหนือเมฆเมื่อวันศุกร์ ผมบอกได้เลยว่าผมไม่ได้เซ็นเซอร์ตัวเองด้วย ผมทำมาหากิน อะไรเป็นเงินได้ผมเอาหมด แต่นี่เจ้านายยกหูมาเลย โทร.มาบอกให้แก้ ผมก็ต้องแก้
ผมไม่บอกแล้วกันว่าเจ้านายจากช่องไหน ผมเขียนให้หลายที่ครับ แต่เขาบอกให้เอาตัวโกงที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน เกี่ยวกับหุ้น ให้รื้อออกหมด ห้ามเกี่ยวโยงไปถึงผู้มีอำนาจวาสนาที่ปกครองประเทศเราอยู่ ทำไม่ได้แล้ว จากนี้ไปทิศทางละครจะถูกกำหนดด้วยเหนือเมฆ 2 แล้วครับ ต่อไปจะเป็นทิศทางนี้หมด จริงๆ ผมก็อยากพูดเท่ๆ นะว่าในฐานะคนเขียนบท ผมจะไม่ยอม เฮ้ย! ไม่ได้นะ เราต้องตีแผ่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ความจริงมันไม่ใช่แบบนั้น”
ช่อง 3 แจง แบนโดย “สุจริตใจ”
และนี่คือสาเหตุสำคัญในการจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อไขความกระจ่างและให้พื้นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ออกมาอธิบาย แต่สุดท้าย ผู้ที่ควรจะออกมาตอบคำถามมากที่สุดอย่าง สมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็ไม่โผล่หน้ามาให้เห็น ทั้งที่มีรายชื่อติดอยู่ในรายละเอียดงานเสวนาให้ได้ลุ้นเล่นๆ ว่าจะมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ ระบุไว้ว่าเป็นหนึ่งในวิทยากรซึ่ง “อยู่ในระหว่างการติดต่อ” เช่นเดียวกับ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับละครเรื่องนี้ที่เลือกอยู่เงียบๆ ดีกว่า ในเมื่อนายใหญ่ของช่องไม่ไหวติง ใครเล่าจะกล้าเผยการเมืองภายใน
มีเพียงความคืบหน้าให้เห็นในโซเชียลมีเดียว่าทั้งนกหญิง (สินจัย) และนกชาย (ฉัตรชัย) หลบลี้ไปพักผ่อนใจที่เมืองนอกเรียบร้อยแล้ว ส่วนความจริงนั้น พวกเขาจะหลบไปเพราะอะไรกันแน่ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด ทางด้านช่อง 3 เองหลังจากทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่นาน ขึ้นตัววิ่งหน้าจอทีวีว่าขอระงับการออกอากาศละครเพราะบางช่วงบางตอนไม่เหมาะสมแล้ว ก็ไม่ไหวติงใดๆ อีกเลย
แม้แต่รายการเล่าข่าวที่มักจะหยิบประเด็นร้อนมาพูดอยู่เสมอๆ อย่าง “เรื่องเล่าเช้านี้” ก็เลือกไม่นำเสนอประเด็นร้อนที่สุด เรื่องแบนละครเหนือเมฆ แม้แต่น้อย แต่ล่าสุดทางช่องคงทนปั้นหน้าต่อไปไม่ไหว จึงมีความเคลื่อนไหวออกมาให้เห็นกันบ้าง เพิ่งยื่นหนังสือชี้แจง กสทช. ถึงเหตุผลที่ยุติการออกอากาศ ซึ่งคำชี้แจงทั้งหมดก็ไม่ได้ตอบคำถามคาใจใดๆ ให้กระจ่างขึ้นเลย
“ช่อง 3 ได้สร้างละครเหนือเมฆ 2 ขึ้นมา ด้วยเจตนาเพื่อความบันเทิงและให้ผู้ชมได้รับความสนุกสนานจากการชมละคร ตามที่ผู้ผลิตได้สมมติขึ้น โดยไม่ประสงค์จะให้เกิดความขัดแย้งในแนวความคิด แต่เมื่อละครเรื่องนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไปในแนวทางต่างๆ กัน ทางสถานีจึงได้พิจารณาตามหน้าที่ปกติ และพบว่าละครเรื่องดังกล่าว มีเนื้อหาบางช่วงบางตอนที่ไม่เหมาะสมกับการออกอากาศ จึงได้งดออกอากาศในวันดังกล่าวด้วยความสุจริตใจ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ”
ขัดต่อความมั่นคงของชาติ หรือของใคร?
ขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นแบนเหนือเมฆมีมากมายจนผู้บริโภคข่าวสับสนไปหมดแล้ว ตั้งแต่ช่วงแรกที่ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาชี้แจงแทนว่าได้คำตอบจากผู้บริหารระดับสูงทางช่อง 3 ถึงสาเหตุที่ตัดจบละคร บอกเป็นเพราะผิด “มาตราที่ 37” ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
“ห้ามไม่ให้ออกอากาศเนื้อหารายการที่มีลักษณะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจารหรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง”
แต่หลังจากลองกลับไปดูคลิปละครย้อนหลังตั้งแต่ตอนที่ 1 จนถึงวันที่ถูกหั่นจบ สุวรรณา สมบัติรักษาสุข อดีตประธานวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย กล้าประกาศอย่างเต็มปากเต็มคำกลางวงเสวนาว่า “ไม่เห็นมีตอนไหนขัดกับมาตราที่ 37 เลยแม้แต่นิดเดียว” ทั้งยังเน้นย้ำด้วยว่าเธอดูแบบ “ผู้รู้กฎหมาย”
“ดิฉันไม่ได้ดูละครมานานมาก แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนที่ 1 จนถึงตอนที่ 8 แต่ก็ไม่พบว่าตอนไหนจะเข้าข่ายขัดต่อความมั่นคงของชาติเลย ที่แย่กว่านั้นคือมีคนออกมากล่าวอ้างว่าผิดมาตรา 112 ด้วย เป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งดิฉันเบื่อมากเลยค่ะ ทุกครั้งที่มีการถกเถียงกันไม่ว่าเรื่องอะไรในสังคม มาตรานี้จะถูกโยงเข้ามาเกี่ยว ทั้งๆ ที่ไม่มีเนื้อหาตอนไหนเกี่ยวข้องเลย ขอร้องเถอะค่ะ
ถ้าใครไม่เคยดูจริงๆ แล้วมาอ้างว่าผิดตามมาตรานู่นนี่ ก็ขอให้กลับไปดูเถอะ ดูอย่างผู้รู้กฎหมายจริงๆ แล้วมาตอบหน่อยว่ามันผิดตรงไหน ถ้าจะบอกว่าขัดต่อความมั่นคง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันขัดต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อความมั่นคงของนักการเมืองกันแน่”
อย่ากินปูนร้อนท้อง อย่าเซ็นเซอร์ตัวเอง
ขณะที่ผู้ร่วมเสวนากำลังแลกเปลี่ยนข้อมูล-มุมมองเกี่ยวกับกรณีที่ช่อง 3 แบนละครเรื่องเหนือเมฆอย่างดุเดือดอยู่บนเวที มองลงมาด้านล่าง อุณหภูมิความคิดเห็นก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน มีประชาชนส่วนหนึ่งชูป้าย “ขี้ข้าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3” และ “ละครดีๆ ไม่มีวันตาย” เป็นระยะ ทั้งยังส่งเสียงปรบมือ แสดงความเห็นด้วยต่อคำพูดของผู้เสวนาเป็นระยะเมื่อเห็นว่าถูกใจ และส่งเสียงโห่ร้อง แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผยต่อความคิดเห็นของประชาชนด้วยกันเอง ในช่วงท้ายของการเสวนาที่เปิดฟลอร์ให้ภาคประชาชนคนธรรมดากระหน่ำความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่
สะท้อนให้เห็นถึงแง่ดีในวิกฤตนี้คือ ประชาชนจำนวนมากพร้อมใจกันมาเข้าร่วมเสวนาเพื่อติดตามความคืบหน้า ทั้งยังกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แม้บางช่วงบางตอนอาจดุเดือดไปหน่อย ถึงขั้นที่ผู้ดำเนินการเสวนาต้องช่วยกันปราม ให้ฟังกันเยอะๆ และใจเย็นๆ มากขึ้น
แต่เมื่อหันมามองบรรยากาศแห่งเสรีภาพในระดับมหภาคอย่าง “สื่อมวลชน” กลับมีให้เห็นแต่ “ความถดถอย” จนน่าใจหาย เพราะไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังของการเซ็นเซอร์ตัวเองของทางช่อง 3 คืออะไร แต่การระงับการฉายละครกลางคัน ก็เท่ากับการปิดกั้นเสรีภาพ-สิทธิการบริโภคของผู้ชมโดยไร้เหตุผลรองรับที่ควรจะเป็น ไม่ต่างอะไรกับการถอยหลังกลับไปในยุคประชาธิปไตยยังไม่เบ่งบานเต็มใบแม้แต่นิดเดียว
“การแบนแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว ครั้งสุดท้ายคือตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ใหม่ๆ ที่รัฐออกมาแบนละครวิทยุเรื่องหนึ่ง แต่ยังไงการแบนโดยทางช่องเองก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่ควรเกิดขึ้นด้วย ในเมื่อคนที่ทำงานสื่อมาเซ็นเซอร์ตัวเองแบบนี้แล้วมันจะเหลืออะไร ต่อไปใครจะหวังให้สื่ออาจหาญตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ ในสังคม แม้กระทั่งตัวสื่อเองยังยอมถอยเองแบบนี้
ในฐานะที่ดิฉันก็เป็นคอละครคนหนึ่ง ติดตามมาตั้งแต่เหนือเมฆภาค 1 จนมาถึงภาค 2 ที่โดนแบน ก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีตัวละครประเภทตำรวจ นักการเมืองคอร์รัปชัน หรือจอมขมังเวทย์ เพราะละครหรือนิยายคือเรื่องสมมติ คือจินตนาการของคนเขียนบท ซึ่งอาจจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงหรือความฝัน อะไรก็แล้วแต่ และผู้ชมก็มีเสรีภาพที่จะตีความไปได้สารพัด บางคนอาจจะดูเพราะแค่อยากดูคู่นายตำรวจสุดหล่อ หมาก-ปริญ กับคุณหมอ บางคนอาจจะชอบใจเรื่องขมังเวทย์ หรือบางคนดูแล้วอาจจะตีความถึงเรื่องการเมือง มันก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ที่ดิฉันรับไม่ได้คือ ทำไมดิฉันถึงไม่มีสิทธิจะได้ดูอีก 4 ตอนสุดท้าย ทำไม?”
ประชาชนชาวไทยก็คงอยากรู้คำตอบเหมือนกันว่าทำไม ผศ.เกริกเกียรติ พันธุ์พิพัฒน์ คณบดีคณะศิลปกรรมการผลิตสื่อ สถาบันกันตนา จึงช่วยตอบให้จากมุมมองของผู้คร่ำหวอดในวงการนี้มานานว่า อาจเป็นเพราะทุกวันนี้คนขวัญอ่อน สะดุ้งสะเทือนกับอะไรได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นอาการของคนประเภท “กินปูนร้อนท้อง” หรือ “สันหลังหวะ” นั่นเอง
“มีอยู่ยุคสมัยหนึ่งที่ตัวละครตำรวจถูกสั่งห้ามไม่ให้ใส่ชุดตำรวจ ผู้จัดต้องเลี่ยงให้ใส่ชุดสีกากีแล้วเอาเหรียญบ้าอะไรไม่รู้มาติด เพราะมีเนื้อหาพูดถึงตำรวจชั่ว ก็ตลกดีเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ในสังคมก็รู้กันอยู่แล้วว่าตำรวจก็มีทั้งดีและชั่ว เหมือนกับทุกอาชีพ แต่สำคัญคือตอนจบต้องทำให้คนรู้ว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม
ผมว่าละครที่ดี นอกจากจะให้ความบันเทิงได้แล้ว ยังทำหน้าที่สะท้อนสังคม สะท้อนคนที่มีบทบาทในสังคมได้ด้วย มันมีแต่ได้กับได้ ก็ไม่รู้จะกลัว จะสะดุ้งกับการกล่าวถึงตัวละครไปทำไม แล้วก็ไม่รู้ว่าจะขวัญอ่อน สะดุ้งกับบทแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหนเหมือนกัน คงเหมือนคำที่เห็นใช้กันในโซเชียลมีเดียบ่อยๆ ช่วงนี้มั้งครับ คำว่า สันหลังหวะ กับ กินปูนร้อนท้อง”
กสทช. ท้า! บริสุทธิ์ใจก็ออกมาอธิบาย
คำตอบที่สังคมต้องการมากที่สุดในเวลานี้คือ ถ้อยคำจากฝ่ายผู้ก่อเรื่อง เจ้าของคอนเซ็ปต์ “คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีข่อง 3” แต่ก็ไม่เห็นว่าจะออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองให้ตรงจุดชัดเจนเสียที ในฐานะของผู้ที่เคยตกเป็นจำเลยของสังคมแทน อย่าง กสทช. ว่าเป็นตัวการแบนละครเรื่องนี้ จึงขอใช้สิทธิขององค์กรอิสระซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ออกคำสั่งให้ช่อง 3 ออกมาชี้แจงเรื่องนี้โดยด่วน!
“ปกติแล้ว ถ้าทางช่องจะตัดสินใจปลดละครเรื่องไหน เขาจะคิดหนักว่าจะกระทบต่อเม็ดเงินโฆษณาหรือเปล่า เพราะเขาอยู่ได้ด้วยระบบทุน แต่ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เขาตัดสินใจแลกกับเงินโฆษณาที่หายไปจำนวนมาก มันสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่อำนาจทุนก็ยังต้องพ่ายแพ้ต่ออำนาจมืดที่มองไม่เห็นอีกทอดนึง” สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตั้งข้อสงสัยเอาไว้ให้คิด ทั้งยังไม่ลืมเสนอทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้เอาไว้ด้วยน้ำเสียงเด็ดขาด ประกาศกลางวงเสวนาให้ ช่อง 3 ออกมาพิสูจน์ตัวเอง
“ตอนนี้ขอเวลาให้ กสทช. อีกสักอาทิตย์ ในการไปหาข้อมูลและพูดคุยกับทางช่อง 3 ให้ชัดเจน ถ้าทางช่อง 3 บริสุทธิ์ใจและยืนยันว่าเนื้อหาในละครขัดกับมาตรา 37 จริง ก็ขอให้ส่งเทปมาให้ทาง กสทช. พิจารณา เพราะคนที่จะมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าอะไรขัดกับมาตรา 37 หรือไม่ก็คือ กสทช. ไม่ใช่ทางช่อง แล้วถ้า กสทช. พิจารณาว่าละครเหนือเมฆไม่ได้ขัดกับมาตรา 37 ก็สามารถเอาละครไปออกอากาศให้จบตอนได้ตามปกติ คือถ้าช่องบริสุทธิ์ใจ หวังดีต่อสังคมด้วยใจจริงก็ควรจะออกมายืดอกอธิบาย เอาเทปมาให้เราดู แล้วเราจะพิจารณาเอง"
จากปรากฏการณ์ “เหนือเมฆ” ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักสิทธิเสรีภาพและผู้รู้กฎหมายบางส่วนค้นพบว่า ต่อไปอาจต้องมีการบัญญัติกฎหมายลูกเพิ่ม กำหนดบทลงโทษสำหรับ “สื่อที่เซ็นเซอร์ตัวเอง” เอาไว้ด้วย จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก
แต่ในเมื่อตอนนี้ วินาทีนี้ ยังไม่มีกฎหมายฉบับดังกล่าว ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ฟรีทีวีแห่งนี้จะได้รับบทลงโทษอย่างไร ในฐานะผู้แบนละคร-ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ด้วยข้ออ้างของคำว่า “รับผิดชอบต่อสังคม” จนยอมเซ็นเซอร์ตัวเอง...
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
คลิป ประชาชนเดือดกลางเสวนาแบน "เหนือเมฆ"
คลิป ประโยคเด็ดจากเสวนา แบนละครแทงใจดำ
คลิป บทสรุป คาดโทษช่อง 3 ประชาชนสู้ไม่ถอย
คลิป ตัวอย่างบางตอนจากละครที่ถูกแบน