หลังเยือนบ้านเราไปเมื่อ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเมืองลุงแซมก็รีบแวะไปบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างพม่าทันทีทันใด จนหลายคนนึกสงสัยหรือประเทศไทยจะเป็นแค่ทางผ่านอเมริกา แถมยังฟ้องด้วยภาพอองซาน ซูจี ถ่ายรูปแบบสนิทสนมแนบชิดโอบามา ต่างกับนายกฯ ปูของเราที่นางพยายามฉีกยิ้มหัวเราะร่า ส่งสายตาขี้เล่นเกินงาม ถึงขั้นว่าเว็บเดลิเมล์ของอังกฤษยังต้องเอาภาพออกมาแซว !!
ฟ้องด้วยภาพ โอบามารักใคร
คล้อยหลังไปได้หน่อยเดียวก็มีเรื่องชวนวิพากษ์วิจารณ์แล้ว สำหรับประธานาธิบดีที่เพิ่งได้ตำแหน่งสมัยสองมากอดหมาดๆ แวะมาเยี่ยมเยียนประเทศฝั่งเอเชียเราเพื่อหวังเชื่อมสัมพันธ์ แผ่ขยายอำนาจบารมีหลังซบเซาจากภูมิภาคนี้ไปนาน โดยประเทศแรกที่มาก็คือบ้านเราเอง ต่อจากนั้นก็ข้ามพรมแดนไปเยี่ยมประเทศพม่า โดยมีนัดกับผู้หญิงเแกร่ง หัวใจประชาธิปไตย อองซาน ซูจี
มันคงไม่น่าสนใจเท่าไหร่ หากไม่มีภาพมาให้เปรียบเทียบนั่นเอง ก็ท่านประธานาธิบดีโอบามาทำน้อยใจด้วยการชักภาพกับอองซานแบบแนบชิดสนิทสนมแต่พอหันกลับมามองภาพตอนที่อยู่กับนายกฯ ปูที่เมืองไทยบอกได้คำเดียวว่าเหนื่อยใจ แต่ละภาพสีหน้าร่าเริงสุดคำบรรยาย ฉีกยิ้มกว้างไปร้อยแปดสิบองศา แถมส่งสายตาวิบวับกับประธานาธิบดีโอบามาอยู่ตลอดเวลา ประหนึ่งไม่รู้จักคำว่ากุลสตรี เท่านั้นยังไม่พอเพราะเว็บนอกอย่างเดลิเมล์ยังเอาไปเป็นโจ๊กขำขันชวนขายหน้าอีกด้วย
มองแบบไม่ได้อคติ แต่ละรูปนี่ .ถ้าไม่บอกว่าเป็นนายก ก็ต้องมองว่า... "อินี่กะงาบโอบาม่าแน่ๆ" นารายณ์สังหาร
เข้าไปอ่านเม้นต์ต้นเรื่องจาก Daily Mail มีหลายอันที่แฝงการดูถูกผู้หญิงไทยนะคะ อ่านระหว่างบรรทัดให้ดี ยัยป้ายั่วสวาท ทำพิษซะแล้ว marrykate
ตัวอย่างความคิดเห็นที่ไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ กับเรื่องความไร้มารยาทจนสื่อนอกยังตีข่าวว่านายกฯ ปูส่งสายตา ทำตัวอ้อล้อกับผู้นำโอบามาเสียอย่างนั้น แล้วพอได้มาเห็นภาพที่ปรากฏในวันที่ไปเยือนพม่าว่าสนิทสนมกับอองซาน ซูจี ยิ่งทำให้เกาหัวแกรก แกรก นายกฯ ยิ่งลักษณ์ส่งสายตาให้ขนาดนั้น ทำไมโอบามาไม่หอมโชว์สื่อฯ สักฟอดบ้าง เมื่อเราไปถามความคิดเห็นกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อย่าง รศ. ดร. ปณิธาน วัฒนายากร ท่านก็ให้ทัศนะในเรื่องนี้แบบแง่บวกว่าอาจเป็นเพราะความต่างกันของบริบทในสังคมนั่นเอง
“วิธีการที่โอบามาใช้ในการมีปฏิสัมพันธ์ เป็นวิธีการที่ซับซ้อนทางการทูตอันนุ่มนวลแยบยล อย่างมาเมืองไทยก็เข้าวัดเข้าวา คนไทยก็ชอบมาก เข้าเฝ้าก็สำรวม แล้วก็ให้เกียรติ ไม่แข็งกร้าว เวลาพูดกับรัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญต่อภาษาไทยไปหัดพูดภาษาไทย แล้วก็ยังชมนายกฯ ในเรื่องของภาษาอังกฤษด้วย ทั้งหมดนี่ก่อให้เกิดอำนาจโน้มน้าวที่นุ่มนวล และทำให้เขาได้ประโยชน์มาก เพราะฉะนั้นในพม่าเมื่อเจอ อองซาน ซูจี จึงต้องแสดงความสัมพันธ์ให้ทหารพม่าเห็นว่าเขาใกล้ชิดถึงขนาดโอบกอดแล้วก็ทักทายแบบฝรั่งได้ อันนี้เป็นการสื่อภาษาทางกายที่สำคัญมาก
จะตีความว่าเขาไม่ได้กอดกับคุณยิ่งลักษณ์ เพราะคุณยิ่งลักษณ์ไม่สำคัญอย่างนั้นก็ได้นะ อาจจะประเมินว่าโอบามาให้ความสำคัญกับไทยน้อยกว่าก็ได้ว่าโอบามาไม่อยากกอด ไม่อยากหอม ถ้าจะถามว่าจริงๆ แล้วภาพเป็นอย่างไร มันก็ต่างกัน บริบทต่างกัน ผมว่าน่าคิดที่ไม่กอดไม่หอม อาจจะเป็นเพราะคนไทยไม่ชินกับธรรมเนียมนี้ ส่วนอองซานเขาอาจจะเติบโตอยู่นอกและเป็นฝรั่งมากกว่า อีกเรื่องสำคัญคือนอกจากพม่าแล้วก็มีกัมพูชาโอบามาจะมีลูกเล่นแบบไหนอีก ซึ่งทุกอย่างที่ทำมันส่งสัญญาณต่อจีนแน่ว่าอเมริกากำลังกลับมา”
ลุงแซมพุ่งเป้า เข้าพม่า หวังฉวยประโยชน์
ภาพที่เห็นอาจทำให้หวั่นใจว่าสหรัฐฯ อาจมองเราเป็นเพียงทางผ่าน เพราะการแสดงท่าทีสนิทสนมของโอบามาและอองซาน ซูจี เลยทำให้ฉุกคิดได้ว่าสหรัฐฯ อาจกำลังมีแผนฉวยเอาประโยชน์จากพม่าที่กำลังเปิดประเทศ มีทรัพยากรและผลประโยชน์น่าตักตวงมากกว่าประเทศไทยพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ที่เรามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ มาเกือบ 180 ปีแล้ว ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เคยได้กล่าวเอาไว้เช่นกันในเรื่องที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจประเทศพม่า
“พม่าคือจุดเปลี่ยนไง ซึ่งผมคิดว่าจุดเปลี่ยนสำคัญมาจาก พล.อ.ตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลพม่า เพราะตาน ฉ่วย เขาเห็นแล้วว่าจีนจะมาเอาเปรียบเขา แล้วไปดูประวัติศาสตร์ได้เลยพม่าไม่ยอมขึ้นอยู่กับใครง่ายๆ เขาฉลาด เขาพลิกทันตลอด ระหว่างที่เขาสนิทสนมกับจีน เขาก็เริ่มสนิทสนมกับอินเดีย เพราะเขารู้ว่าถ้าเขาสนิทสนมกับจีนประเทศเดียวเขาก็มีแต่เสีย วันหนึ่งเขาจะถอนตัวไม่ขึ้น นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่าทำไมสหรัฐฯ จึงเข้ามาในพม่า และนี่จะเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ว่านายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่ไปเยือนพม่า หลังจากที่พม่าเปิดประเทศ ประเทศต่างๆ ก็วิ่งเข้าหาพม่า วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ก็ไปเยือนพม่าแล้ว เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ก็มาเยือนพม่าแล้ว
ล่าสุดโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของพม่า ญี่ปุ่นก็เข้าไปลงทุนแล้ว ตอนนี้ใครก็เข้าไปเจริญสัมพันธไมตรี เข้าไปลงทุนในพม่า สหรัฐฯ อินเดีย ไทย เข้าไปหมด เพราะฉะนั้นไม่ใช่จีนประเทศเดียวแล้วที่เข้าไปมีอิทธิพลในประเทศนี้”
ส่วน รศ. ดร. ปณิธาน ก็มีความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน เพียงแต่ว่าคงไม่ได้ถึงขั้นว่าไทยจะตกกระป๋องในสายตาของสหรัฐฯ เพราะเป้าหมายในการเข้ามานั้นแตกต่างกัน เราได้เปรียบเพราะมีสายสัมพันธ์กันมายาวนานและมั่นคง แต่ประเทศเปิดใหม่อย่างพม่าก็มีอะไรยั่วยวนใจให้เข้าไปผูกมิตรเช่นกัน
“ผมคิดว่าเป้าหมายต่างกัน ในเมืองไทยมีคนอเมริกันอยู่หลายหมื่นคน มีสถานทูตที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ บรรยากาศมันก็จะคนละแบบกันครับ เมืองไทยนี่เป็นฐานที่มั่นผลประโยชน์ของอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งก็เข้มแข็งหากเปรียบเทียบกับพม่า กัมพูชา ลาวหรือเวียดนาม ไม่มีประเทศไหนจะมาแทนฐานที่มั่นของอเมริกามากกว่าไทยได้เลย รวมทั้งเรามีความสัมพันธ์ร่วมกันทางด้านทหาร ชัดเจนว่าเราเลือกข้างไปแล้ว เพราะเป็นพันธมิตรทางการทหารของอเมริกาไปแล้ว ตั้งแต่สนธิสัญญามะนิลา เพราะฉะนั้นมันเอามาเทียบกันไม่ได้
เพียงแต่ว่าประเทศพม่าเป็นประเทศเกิดใหม่ซึ่งกำลังอ่อนไหวกับอิทธิพลของจีน ของรัสเซีย ของยุโรป อเมริกันเลยต้องเข้าไปเพื่อที่จะปักธง แล้วก็ใช้ความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่นิยมประชาธิปไตยอย่างอองซาน ซูจี มาเป็นประเด็นในการเปิดทาง นอกจากนั้นยังหนุนให้พม่าเข้ามาในประชาคมอาเซียนแล้วก็เปิดตลาดการค้ากับอเมริกันมากขึ้น แล้วพม่าไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนไปเยือนเลย ของอเมริกันนี่เป็นคนแรกของประวัติศาสตร์เลย คนพม่าจึงตื่นเต้นมาก”
น้ำพึ่งเรือ เสืออเมริกาพึ่งไทย
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการมาเยือนครั้งนี้น่าจะเป็นในเรื่องของการลงนาม TPP ที่ไม่ได้เป็นเพียงการเจรจาที่ให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มีบริบทภูมิศาสตร์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สำหรับข้อตกลง TPP เป็นความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการที่มีความครอบคลุมสูงที่สุดในขณะนี้ เมื่อเทียบกับความตกลงเอฟทีเอทั้งหมดทั่วโลก ประกอบด้วยหัวข้อการเจรจาถึง 26 เรื่อง เช่น การเปิดตลาดสินค้า สินค้าการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ทรัพย์สินทางปัญญา โทรคมนาคม ฯ
เห็นได้ว่าใน TPP ไม่ต่างจากการรื้อฟื้นการเจรจาว่าด้วยข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ซึ่งเคยถูกคัดค้าน ต่อต้านอย่างหนัก แต่ตอนนี้เห็นทีน่ากังวลเพราะหากเข้าร่วมจริงๆ แล้ว แน่นอนว่าประเทศไทยเราต้องเสียเปรียบแลกกับการซื้อใจกับสหรัฐฯ
เมื่อถามถึงการลงทุนสหรัฐฯ ถือว่ายอมทุ่มเม็ดเงินให้กับประเทศไทยพอสมควร จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI และธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า สหรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนในประเทศไทยในลำดับที่สาม รองจากญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 สหรัฐฯ ลงทุนในประเทศไทยไปแล้วกว่า 13,529 ล้านบาท มากกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 ที่ลงทุนแค่ 5,496 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเงินลงทุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกามีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในด้านแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย เริ่มมีแนวโน้มใหม่คือ มีการนําเทคโนโลยีการวิจัยพัฒนาเข้ามาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตรทั้งเพื่อทดแทนการนําเข้าและเพื่อการส่งออก นับได้ว่าเป็นการลงทุนที่เป็นประโยชน์และเอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังขาดแคลนเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร และในอนาคตคาดได้ว่า การลงทุนจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรจะมีมากขึ้น เป็นทางเลือกของทั้งประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
การมาเยี่ยมเยือนกระชับความสัมพันธ์ครั้งนี้ หลายเสียงคิดเห็นว่าว่าสหรัฐฯ ต้องการมาเพื่อคานอำนาจกับยักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีน แต่ประเทศเพื่อนเก่าแก่อย่างเราจะโดนเขี่ยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังไม่อาจให้ความชัดเจนได้ แต่อย่างไรก็ดี ภาพคู่รวมเฟรมประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในตอนนี้คงตอบได้ว่าไทยหรือพม่าที่โอบามารักมากกว่ากัน
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live