หลังจากภาพยนตร์เรื่อง “อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิม” ถูกเผยแพร่ทางยูทิวบ์สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวมุสลิมมากมาย จนเกิดเหตุรุนแรงที่สถานทูตสหรัฐฯ เมืองเบงกาซี ประเทศลิเบีย ส่งผลให้ทูตคริสโตเฟอร์ สตีเฟนส์เสียชีวิต เกิดเป็นความขัดแย้งระลอกใหม่ซึ่งประจวบเหมาะกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังใกล้มาถึง
จากเนื้อหาภาพยนตร์ที่ดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัด ทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงจุดยืนของตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย
การปะทะกันในนามของสิทธิเสรีภาพ และความเชื่อทางศาสนาจึงเกิดขึ้น ทว่าเบื้องลึกเบื้องหลัง อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิม คืออะไร? เส้นแบ่งของภาพยนตร์อยู่ที่ไหน? จังหวะเวลาของภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีอะไรซ่อนอยู่ในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้บ้าง?
การประท้วงในไทย “เราคัดค้านความรุนแรง!”
ภาพยนตร์เรื่อง อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิมที่เผยแพร่ทางยูทิวบ์นั้นถูกตัดมาฉายเป็นเวลา 14 นาที มีเนื้อหาหลายช่วงตอนที่หมิ่นหยาม และจาบจ้วงต่อศาสนาอิสลาม ในเนื้อหามีการบอกว่าศาสดามูฮัมหมัดเป็นคนเจ้าชู้ เป็นคนป่าเถื่อนรุนแรง ยังมีการบอกว่า มุสลิมคนแรกที่เกิดบนโลกคือลา บอกนัยว่าเป็นคนโง่ เหล่านี้จุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งขึ้น
โดยผู้สร้างหนังเรื่องดังกล่าวคือ แซม บาซิลชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ด้วยมูลเหตุเหล่านี้เองที่ทำให้ชาวมุสลิมต้องออกมาเคลื่อนไหว
สถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยก็ถูกผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องความรับผิดชอบเช่นกัน สมัย เจริญช่าง รองประธานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงจุดยืนในการชุมนุมว่า คือ การประณาม และคัดค้านบุคคล หรือคณะบุคคลที่ดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนาอื่นทุกศาสนา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้น
“เราขอคัดค้านการกระทำของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ดูหมิ่นดูแคลนต่อศาสนาทุกศาสนา ไม่ใช่เฉพาะศาสนาอิสลามอย่างเดียว ขณะเดียวกัน เราก็ขอคัดค้านการใช้ความรุนแรงในการกระทำต่อสถานทูตทุกประเทศที่อยู่ในประเทศเรา เราคิดว่าเราจะไม่แสดงออกถึงความรุนแรง หรือจงเกลียดจงชัง”
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวมุสลิมในประเทศไทยเป็นการเคลื่อนไหวในด้านของศาสนา ในฐานะศาสนชนคนหนึ่ง และฐานะคนไทยก็ไม่ละเมิดกฎหมายไทย ผู้นำองค์กรศาสนาในประเทศทราบดีว่า กระทำได้แค่ไหน
“เราจะไม่เอาประเด็นศาสนามาเป็นปัญหาภายในประเทศ เราแสดงออกในฐานะของศาสนชนที่ใครมาดูหมิ่นศาสนาเรา เราก็ไม่เห็นด้วย”
เมื่อสอบถามไปถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวอะไรที่เด่นชัด
“หลังจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกมา ตอนนี้ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรเด่นชัดที่จะบ่งชี้ว่ามีมูลเหตุจากสิ่งที่เกิดขึ้น”
หนังศาสนา - จุดอ่อนไหวทางความเชื่อ
ประเด็นศาสนาถือเป็นเรื่องอ่อนไหวที่สร้างความขัดแย้งได้ทุกเมื่อ ที่ผ่านมาหนังที่หยิบยกประเด็นของศาสนาขึ้นมาพูดถึงก็มีหลายเรื่อง และหลายครั้งก็ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน ซึ่งประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์กล่าวถึงประเด็นหนังศาสนาว่า เป็นประเด็นที่อ่อนไหว ดังนั้น ผู้สร้างจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะสามารถจุดเป็นกระแสขัดแย้งได้ทุกเมื่อ
“เส้นแบ่งของการสร้างหนังศาสนา การวิพากษ์วิจารณ์ หรือตีความ ผมว่ามันอยู่ที่ความรับผิดชอบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเจตนา หากสร้างหนังเพื่อเปิดมุมมองต่อความเชื่อ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากสร้างโดยมีเจตนายั่วยุ ดูหมิ่นอีกศาสนา นั่นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ผมต้องขอบอกก่อนว่ายังไม่ได้ดูหนังเรื่องดังกล่าว แต่เท่าที่ได้ยินมา มันมีวาระทางการเมืองด้วย”
ในมุมของหนังศาสนานั้น เคยมีกรณีของ The last temptation of christ (1988) ของมาติน สกอเซซี ผู้กำกับชาวคริสต์นิกายคาทอลิกที่มีการสร้างภาพยนตร์เนื้อหาเกี่ยวกับพระเยซูในช่วงที่ต่อสู้กับกิเลส โดยตีความจากพระคัมภีร์ และสื่อออกมาในมุมที่พระเยซูมีความเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา
“ซึ่งผมว่ากรณี the last temptation of christ เป็นกรณีที่เปิดอีกมุมหนึ่ง มันบอกว่าพระเยซูก็เป็นคนธรรมดาที่ต่อสู้กับกิเลสได้ โดยส่วนตัวแล้วคนที่เคร่งศาสนามากๆ จะมีภาวะของความเชื่อที่รุนแรง ดังนั้น บางครั้งการเปิดอีกมุมหนึ่งอาจจะเป็นผลดี แม้จะเป็นแบบนั้นหนังเรื่องนี้ก็มีการต่อต้านจากฝ่ายคอทอลิกถึงขั้นออกมาแบนหนังจากกลุ่มทุนที่ผลิตหนังเรื่องนี้”
อีกกรณีที่เห็นได้ชัดถึงความขัดแย่งคือThe passion of the christ (2004) ของเมล กิบสันที่นับถือศาสนาคริสต์ก็มีกระแสต่อต้าน ซึ่งประวิทย์เผยว่า เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาในตอนนั้นได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ยอมรับว่าสร้างตามพระคัมภีร์ กระแสการต่อต้านก็ลดลง
ในประเทศไทยเอง ภาพยนตร์เรื่ององคุลิมาลที่กำกับโดยสุเทพ ตันนิรัตน์ แม้ตัวหนังจะสร้างโดยตีความจากข้อมูลในพระไตรปิฎกทั้งหมด ก็ถูกชาวพุทธในเมืองไทยต่อต้าน แม้ว่าเจตนาของผู้กำกับในตอนนั้นคือการเผยแพร่ศาสนาก็ตาม
“กรณีนี้จะเห็นได้ชัดถึงความขัดแย้งที่พร้อมจะเกิดตลอดเวลาเมื่อประเด็นเรื่องศาสนามีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในภาพยนตร์ ยิ่งหนังถูกสร้างขึ้นด้วยความเกลียดชัง ก็ยิ่งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น”
การเมือง - ศาสนา ปมซ้อนทับขัดแย้ง
นับแต่เหตุโศกนาฏกรรม 11 กันยายน 2544 กล่าวกันว่าโลกได้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ สหรัฐอเมริกา กับผู้ก่อการร้าย มีหลายทฤษฎีที่เชื่อมโยงความขัดแย้ง เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และเชื่อมโยงไปถึงชนชาติยิว
กรณี 11 กันยายนที่ความผิดตกเป็นของอุซามะห์ บิน ลาดินนั้นในมุมมองของมุสลิมเป็นที่รู้กันว่า เหตุการณ์ถูกวางแผนโดยกลุ่มยิวมาหลายสิบปี เพื่อสร้างภาพอิสลามโมโฟเบีย ซึ่งผลของเหตุการณ์นั้นทำให้สหรัฐอเมริกาเคลื่อนกองทัพเข้ายึดครองอิรักได้สำเร็จ
สารคดีที่เผยแพร่ทางบีบีซี อำนาจแห่งฝันร้าย หรือ the power of nightmares โดยอดัมน์ เคอติสก็อธิบายเชื่อมโยงถึงภาพของผู้ก่อการร้ายที่อเมริกาสร้างขึ้นเพื่อทำให้เกิดความชอบธรรมในการบุกเข้าไปในประเทศอาหรับ โดยพยายามโยงใยสายสัมพันธ์ของกลุ่มทุนอนุรักษนิยมกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนั้น ในหนังสือสงครามเยเมน โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ก็เผยถึงข้อมูลความเชื่อมโยงของอุซามะห์ บินลาดินกับจอร์จ ดับเบิลยู. บูช และระหว่างชาวมุสลิมกับชนชาติยิวไว้อย่างน่าตกใจ
โดยเชื่อมโยงมาจากโมฮัมเหม็ด บิน ลาดินพ่อของอุซามะห์ บิน ลาดินที่เป็นช่างก่อสร้างของราชวงศ์อัล-ซาอุดแห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นคนเยเมนแท้ๆ โดยในยุคก่อนนั้นความสามารถด้านงานช่างจะเป็นของชาวยิวในพื้นที่
ข้อบ่งชี้สำคัญคือ การที่เขาได้รับสิทธิสัมปทานในการควบคุมดูแลการฟื้นฟูบูรณะ มัสยิด อัล-อักซา (Al-aqsa) ซึ่งเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์อันดับ 3 ของโลกอิสลาม ที่ตั้งอยู่ใกล้กับโดมแห่งศิลา (Dome of rock) และครอบทับซากกำแพงที่เชื่อกันว่าเป็น วิหารแห่งพระเจ้า(Temple Mount) ของชาวยิว ทำให้เห็นได้ว่าเขาต้องได้รับความไว้วางใจจากทั้งชาวมุสลิม และชาวยิว
และจุดเชื่อมโยงระหว่างโลกอาหรับ กับโลกตะวันตกคือซาเล็ม บิน ลาดินพี่ชายต่างมารดาคือ อุซามะห์ บิน ลาดินซึ่งใช้ชีวิตสุดขั้วไปคนละฝั่งกับน้องชาย เขาจบจากวิทยาลัยวิกตอเรีย คอลเลจ รุ่นเดียวกับกษัตริย์แห่งจอร์แดน และบุคคลสำคัญอีกมากมาย เป็นผู้สืบทอด และต่อยอดบริษัท saudi binladin group มีการต่อยอดทำกำไรกับธุรกิจอีกหลายประเภทจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญในบรรษัทยักษ์ระดับโลกอย่าง บริษัท โมโตโรล่า เจเนอนัล อิเล็กทริกส์, ยูนิลิเวอร์, ธนาคารซิตี้กรุ๊ป, เอชเอสบีซี กระทั่งกลุ่มธุรกิจข้ามชาติที่ทรงอิทธิพลระดับโลกอย่าง กลุ่มคาร์ลไลน์ (Carlyle group) ซึ่งมีจอร์จ บุชผู้พ่อ และอดีตนักการเมืองชั้นแนวหน้าของอเมริกาเป็นที่ปรึกษา และคณะกรรมการมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม เหล่านี้เป็นทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งก็มีหลายฝ่ายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีว่ามีจุดอ่อนในบางจุดที่น่าสงสัย ดังนั้น มาถึงตอนนี้ก็ยังฟันธงในเรื่องของความจริงไม่ได้ทั้งหมด เพราะในอีกด้านหนึ่งก็มีการพูดถึงมุสลิมหัวรุนแรงที่มีความต้องการใช้ความรุนแรงก่อตั้งรัฐอิสลามขึ้นในทุกชาติอาหรับอีกด้วย
มาถึงปัจจุบัน...นับจากอาหรับสปริงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมชาติอาหรับ ความขัดแย้งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ประเทศลิเบียที่เปลี่ยนแปลงผู้นำกัดดาฟี ซึ่งมีความขัดแย่งที่คุกรุ่นอยู่แล้ว ความเคลื่อนไหวกรณีภาพยนตร์ อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิม จึงเหมือนน้ำมันที่ราดเข้าไปในไฟของความขัดแย้ง
ในมุมมองของรองประธานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เขาวิเคราะห์ว่าด้วยจังหวะเวลาที่ใกล้กับช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้จึงอาจมีมูลเหตุทางการเมืองด้วย
“สิ่งที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่า หนึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับรัฐบาลปัจจุบันเพื่อทำให้การต่างประเทศมีปัญหา และทำให้ความนิยมของรัฐบาลลดลง สองคือ ทำเพื่อสนองความเชื่อทางศาสนาของตนเอง และสามคือ หากผลความรุนแรงเกิดขึ้น และบานปลาย ก็อาจใช้เป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ ในการเข้าแทรกแซงได้”
โดยส่วนตัวเขามองว่า อเมริกาควรจะทบทวนนโยบายต่างประเทศของตนเองที่ใช้นโยบายเชิงรุก ที่เข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากพื้นที่ในประเทศอื่น
“ชาวอาหรับไม่ได้เกลียดชาวอเมริกันทั้งหมด และก็ไม่ได้เห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะทุกศาสนาก็ไม่ได้สอนให้ใช้ความรุนแรงเป็นทางออกในการตัดสินปัญหา”
…...
มาถึงตอนนี้ ความขัดแย้งที่ถูกจุดชนวนขึ้น ไม่ว่าความจริงที่อยู่เบื้องหลังจะเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ควรเสพรับข้อมูลให้รอบด้าน และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมีความเชื่อในศาสนาใดก็ตาม