xs
xsm
sm
md
lg

“นิมุ” แนะฝ่ายค้าน-รัฐบาลปรองดองดับไฟใต้ อย่าเล่นเกมการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยะลา - “นิมุ มะกาเจ” ผู้นำศาสนาใน จ.ยะลา แนะฝ่ายค้านและรัฐบาลปรองดองดับไฟใต้ อย่าเล่นการเมือง ต้องมีภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมเสนอข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การดับไฟใต้แบบถาวร ระบุ เห็นด้วยกับการเจรจาแกนนำ 93 คน เพื่อหารือข้อยุติในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้

นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา เปิดเผยถึงการที่รัฐบาลจับมือกับผู้นำฝ่ายค้านในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภาคใต้ ว่า ชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เล็งเห็น และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กินเวลามาจะ 9 ปีแล้ว แต่นักการเมืองทั้งหลายที่เข้ามาอย่ามาเล่นบทบาทการเมือง ต้องการการดำเนินบทบาททางการเมืองให้มีกิจจะลักษณะในการช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพราะชาวบ้านเดือดร้อนหนัก

“ไม่เฉพาะฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลที่จับมือกัน แต่อยากจะให้มีพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ในการช่วยกันดับไฟใต้ไปสู่สันติสุข เพราะฉะนั้น การหันหน้าเข้าหากันถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่ามีการวางหมากทางการเมือง หรือวางแผนเพื่อส่วนใดส่วนหนึ่ง จะต้องมีการนั่งคุยหารือ พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้เกิดความสันติสุขอย่างแท้จริง” นายนิมุ กล่าว

นายนิมุ ยังระบุอีกว่า ตนเชื่อว่าฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเองก็มีข้อมูลของพื้นที่ชายแดนใต้ที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ที่มาของข้อมูลดังกล่าวจะจริงเท็จอย่างไรนั้นต้องเอาข้อมูลจากภาคประชาชนในพื้นที่ไปผนวก เพื่อให้ได้คุณภาพข้อมูลที่แท้จริง และพยายามแก้ปัญหาในพื้นที่ให้ถูกจุด สภาวการณ์ปัญหาในภาคใต้ตอนนี้เข้าขั้นสาหัส เนื่องจากมีหลายกลุ่มหลายพวกที่ได้รับความเสียหาย การแก้ปมปัญหาในพื้นที่ให้ถูกจุดจึงถือเป็นความสำคัญอย่างมาก
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา
 
ส่วนกรณีที่มีแกนนำกลุ่มก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้ จำนวน 93 คน นำโดยนายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หรือ “เจ๊ะอาลี” แกนนำคนสำคัญซึ่งมีหมายจับในคดีความมั่นคง เข้าพบเพื่อเจรจาสันติ กับพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัตช์ แม่ทัพภาค 4 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส นายนิมุให้ความเห็นว่า ถือเป็นการเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย เพราะทั้ง 93 คนนั้นมีการกระทำความผิดที่แตกต่างกัน บางคนเข้าขั้นที่มีความผิดรุนแรง บางคนก็ผิด พ.ร.ก. หรือบางคนก็ไม่มีความผิดแต่ต้องหนีเตลิดไปเพราะความหวาดกลัว

“การนัดเจอพูดคุยในวันนั้น นับเป็นการดีอย่างยิ่งที่เปิดทางให้มีการพูดคุย ระบายความรู้สึกกัน ซึ่งทำให้เห็นสภาพปัญหาในหลายๆ ส่วน และถือว่าเป็นการนำร่องอย่างหนึ่งที่แม่ทัพได้ใช้อำนาจของตนเองในการเสนอสู่เบื้องบนว่าจะมีการให้ความช่วยเหลือกลุ่มบุคคลดังกล่าวอย่างไรต่อไป”

นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ จ.ยะลา ระบุว่า ตนเองเชื่อมั่นว่าเป็นการกระทำที่ดีที่เปิดโอกาสให้กลุ่มดังกล่าวได้ออกมาระบายพูดคุยกันกับภาครัฐ ซึ่งทำให้มองเห็นว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องการที่จะมาขอความมั่นใจจากภาครัฐในระดับของแม่ทัพภาค 4 ว่า หากมีการออกมารายงานตัว โดยการเจรจา การรายงานตัว หรือการมอบตัว มันจะต้องมีการแยกแยะให้ดี ซึ่งมีความแตกต่างกัน หากบุคคลใดมีความผิดก็ต้องมีการมอบตัวกัน แต่หากไม่มีความผิดก็ออกมาแสดงตัวกันให้เกิดความชัดเจนเพื่อความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งตนเองเห็นด้วยกับมาตรการ และการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ของแม่ทัพภาคที่ 4

สำหรับการใช้มาตรา 21 นั้น นายนิมุ มะกาเจ ระบุว่า ตนก็เห็นดีด้วยที่ทางการทั้งกองทัพ หรือ กอ.รมน. ได้เตรียมการรองรับผู้ที่กระทำความผิดอยู่ในพื้นที่ตามมาตรา 21 ที่จะเข้ามารายงานตัว หรือเข้ามามอบตัว ในกรณีของผู้ที่มีความผิดติดตัวอยู่ต้องมีการมาเจรจากับผู้ที่เสียหาย หากมีการยินยอมยกโทษให้ อภัยให้ แล้วรัฐจะมีการชดใช้ความเสียหายให้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มามอบตัวเหล่านั้นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยให้ศาลสั่งให้ ผอ.รมน. ดำเนินการในส่วนของกระบวนการอบรมตามหลักสูตร ซึ่งจะต้องมีการอบรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนิสัย โดยใช้หลักสูตรการดาวะห์ ตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งตนเองคิดว่าก็เป็นสิ่งที่ดีหากมีการใช้ ม.21 ในพื้นที่
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น