xs
xsm
sm
md
lg

ไอโฟน(5) ไทยแลนด์บ้าเห่อ!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จาก iphone 4s สู่ iphone 5 กระแสยังแรงไม่มีตก
ไม่รู้จะเป็นการกล่าวอ้างเกินจริงหรือเปล่า.. ถ้าจะบอกว่า ‘ไอโฟน (iPhone)’ เป็นโทรศัพท์มือถือที่ทั่วโลกจับจ้องอยู่ตลอดเวลา ความนิยมของสมาร์ทโฟนแบรนด์นี้นับวันยิ่งทวีความร้อนแรง ในเมืองไทย ไอโฟน ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ให้มวลชนจำนวนมากตบเท้าเข้ามาเป็นสาวก บางคนถึงขั้นกู้หนี้ยืมสินควักเงินหลักหมื่นซื้อนวัตกรรมทันสมัย ยินยอมแบกรับภาระผูกพันหนี้สินรายเดือน

มิหน้ำซ้ำยังมีความเชื่อกันว่า 'ไอโฟน' เป็นเครื่องแสดงฐานะ บ่งบอกไลฟสไตล์คนเมือง เรียบง่ายแต่โก้เก๋ ตรงนี้ก็ทำเอาหลายคนที่ไม่ได้ใช้ไอโฟนถึงกลับอายมวลแทบไม่กล้าหยิบโทรศัพท์มือถือของตัวเองขึ้นมาใช้ ดีไม่ดีเฮละโลไปซื้อ ณ บัดนาว

ปี 2550 ไอโฟนรุ่นแรกเริ่มวางจำหน่าย จวบจนปัจจุบันถึงคิว ไอโฟน 5 ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ฟีตแบคก็ยังแรงดีไม่มีตก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจากไปของ สตีฟ จอบส์ อดีตซีอีโอบริษัทแอปเปิ้ล หัวเรือใหญ่ที่พาผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ไอโฟน ทยอยเข้าสู่ตลาดโลก อาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นของบรรดาสาวกบ้าง อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบริหารของลูกม้อ อย่าง ทิม คุก ดูเหมือนผู้บริโภคทั่วโลกก็ยังคงศรัทธา 'สมาร์ทโฟนระดับเทพ' ตัวนี้อยู่ดี

เพื่อไอโฟน ไอ..ยอมทุกอย่าง
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทแอปเปิ้ลคลอดไอโฟนออกมาหลายรุ่น ความนิยม ความต้องการก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องความเสถียรของระบบปฏิบัติการ ios การดีไซน์รูปแบบการใช้งานที่เรียบง่าย ดูดีมีคลาส ทำให้วิถีของแอปเปิ้ลชนะใจผู้บริโภคกว่าค่อนโลก

ในโซเซียลมีเดีย แม้กระทั่งวงสังคมที่พบปะสังสรรค์กันล้วนมีการพูดถึงเจ้าสมาร์ทโฟนตัวนี้อยู่ตลอดเวลา ปรากฏการณ์ผู้คนทั่วโลกต่อคิวยาวเหยียดเพื่อเป็นเจ้าของไอโฟน 4s เมื่อปีที่แล้วยังเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ติดตา

ตลอดเวลาก็มีการปล่อยข่าวหลุดเรื่องไอโฟนตัวใหม่เรียกเรตติ้ง สร้างกระแสกันมาอย่างต่อเนื่อง มีล้อเลียนสมาร์ทโฟนตัวนี้ออกมาให้ได้ขบขันกันเป็นระยะๆ ได้รับการพูดถึงอย่างไม่ขาดสาย

ความนิยมเริ่มขึ้นตอนไหนไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มารู้สึกอีกที่ไอโฟนได้กลายเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทุกระดับ

ยกตัวอย่าง ประเทศจีน เพื่อนบ้านของเรา ก็กลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปีที่แล้ว จากกรณีเด็กหนุ่มยอมขายไต 1 ข้าง เพื่อนำเงินที่ได้มาไปซื้อ ไอโฟน ไอแพด หรือกรณีหญิงสาววัยรุ่น ประกาศขายพรหมจรรย์เพื่อแลกไอโฟน

ถึงในบ้านเราอาจไม่มีข่าวฉาวออกมา แต่ความเชื่อที่ว่าใช้ไอโฟนแล้วเก๋ เท่ แสดงตัวตน บ่งบอกฐานะ เป็นที่ยอมรับในวงสังคมหรือกลุ่มเพื่อนฝูง ก็ยังตามติดเป็นเงาตามติดผู้เสพไอโฟนบางส่วน

ค่ายโทรศัพท์ยักษ์ในบ้านเรา ก็จัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเรียกลูกค้ากันพัลวัน หรือกิจกรรมทางการตลาดของหลายๆ ผลิตภัณฑ์ก็นำไอโฟนเข้ามาล่อ

ผู้คนยอมเป็นหนี้ แบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อให้ได้มาซึ่งโทรศัพท์มือถือที่เชื่อกันว่า 'ดีที่สุด'

เลือกเพราะ 'ใช่' เหตุผลไม่จำเป็น
ภายใต้การบริหารงานของ สตีฟ จ็อบส์ เขาเป็นนักการตลาดที่มองการณ์ไกล ผนวกกับวัฒนธรรมองค์กรของแอปเปิ้ลจึงเป็นจุดตั้งต้นของไอโฟน กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เล่าถึงความเป็นมาของโทรศัพท์มือถือยอดนิยมในตลาดเมืองไทย

“ไอโฟน คือ การแก้ปัญหาที่กวนใจผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเดิมๆ อย่างการหาเมนูที่ยุ่งยากผ่านปุ่มและรูปแบบคำสั่งแบบต่างๆ ไอโฟนแก้ปัญหานี้ด้วยการทำระบบจอสัมผัส ที่ไม่มีปุ่มคียบอร์ด และ ใช้การเลื่อนภาพต่างๆ ในการทำงาน สาเหตุที่ไอโฟนเริ่มต้นขึ้นมาแล้วเป็นเจ้าตลาดในทันที มีเหตุผลเดียวคือการใช้กลยุทธ์นำนวัตกรรมของสินค้ามาเป็นกลยุทธ์หลัก (Disruptive Product Innovation Strategy)”

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของไอโฟน คือ การที่แอปเปิ้ลต้องพยายามวิ่งให้ชนะความคาดหวังของผู้บริโภคที่รอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นการแข่งขันกับตัวเองอย่างแท้จริง

ร่องรอยแอปเปิ้ลโดนกัดแหว่ง โลโก้ของบริษัทแอปเปิ้ลแบรนด์ดังที่สลักไว้ด้านหลังโทรศัพท์ไอโฟน เป็นสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำถึงความต่าง ดร. ภิเษก ชัยนิรันดร์ อาจารย์ประจำสายวิชาบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ค่อยๆ อธิบายถึงความนิยมของสมาร์ทโฟนตัวนี้

“คนที่เป็นสาวกของแอปเปิ้ลก็ศรัทธาในตัวของสตีฟ จ๊อบส์ คนที่ใช้แอปเปิ้ลจะมีลักษณะที่แตกต่างจากคนอื่น อย่างเช่น คอมพิวเตอร์สมัยก่อนยี่ห้ออื่นๆ จะไม่สามารถมาใช้โปรแกรมร่วมกับแอปเปิ้ลได้ แอปเปิ้ลจะเป็นclose system(ระบบปิด) หมายถึงว่าใช้กับเครื่องแอปเปิลเท่านั้น มันก็จะสร้างความเฉพาะ ถ้าใครถือคอมพิวเตอร์แอปเปิ้ลก็จะดูเท่ เก๋ ไอเดียเหล่านี้ก็พัฒนามาเป็นไอโฟน

“ซึ่งใช้นโยบายเดียวกันไม่ยอมให้คนอื่นมาแชร์ใช้ ios ขณะที่คนอื่นใช้ไม่ได้ก็เลยผลิตandroidขึ้นมา ยี่ห้อไหนก็ใช้ androidได้หมด แต่คนที่ใช้ ios ได้ก็มียี่ห้อเดียวคือแอปเปิ้ล นี่คือลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะของแอปเปิ้ลที่คนอื่นทำไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของแบรนด์ ยี่ห้ออื่นอาจจะดูไม่เท่ แต่ถ้าถือไอโฟนแล้วโอเคเลย มันในเชิงจิตวิทยามากกว่า”

สมาร์ทโฟนสุดเท่ ว่าแต่ว่ามันใช้อย่างไร?
“คนรู้จักมีขนาดกู้ยืมเงินขวนขวายหาไอโฟนมาใช้ เหมือนกับว่าเป็นวัตถุแสดงฐานะนั้นแหละ เป็นชนชั้นที่แตกต่างจากคนอื่น แต่ปรากฏว่าทุกคนก็ถือไอโฟนทั้งนั้นมันแตกต่างกันตรงไหน” ดร. ภิเษก สะท้อนถึงกระแสวัตถุนิยมที่กลืนกินชีวิตคนสมัยใหม่

ค่าตัวของไอโฟนแม้จะลดหลั่นกันไปตามรุ่นและสเปค แต่ก็ถือว่าไม่ใช่ถูกๆ หากเทียบกับโทรศัพท์มือถือค่ายอื่นที่มีสเปคใกล้เคียงกัน อุปนิสัยคนไทยนั้นเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ปล่อยตัวไปตามกระแสนิยม กลุ่มผู้บริโภคสินค้าประเภทนี้จำนวนไม่น้อยก็เลือกใช้ตามกระแส

“เดี๋ยวนี้ก็บ้าไลน์ วอทแอพ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และก็เล่นเกม คนไทยก็เห่อกันอยู่พักๆ ถามว่าโทรศัพท์รุ่นถูกๆ ใช้ได้ไหม.. ได้ครับ ถ้าใช้งานแค่นี้ก็ไม่เห็นต่างกันตรงไหนเลย”

ด้านพิธีกรและผู้บริหารรายการแบไต๋ไฮเทค พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงไอทีอีกคนหนึ่งที่ยอมรับว่าไม่ได้ใช้ไอโฟน แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่ดีเพียงแต่เลือกใช้ตามไลฟสไตล์ของตัวเอง

“คนที่ตัดสินใจซื้อเพราะเห็นว่าสเปคมันดีจริงๆ ถูกใจก็มี เพราะว่าไอโฟนก็คือมือถือดี ผมเคยพูดว่ามันคือมือถือที่ดีที่สุดในช่วงปี 2553 อีกส่วนหนึ่งก็เป็นกระแสนิยมด้วยเพราะบ้านเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นสังคมแห่งกระแส โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร”

จะว่าไปคนส่วนใหญ่มักไม่ยอมรับหรอกว่าตัวเองนั้นตามกระแส แต่ประเด็นน่าจะอยู่ที่คุณเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างคุ้มค่าหรือเปล่า

“แม้กระทั่งเปิดแอปเปิ้ลไอดีเพื่อจะโหลดแอปเองเป็นหรือยัง.. ยังไม่เป็นนะ น่าพูดถึงเหมือนกันว่าคนส่วนใหญ่ที่ซื้อทำไมไม่เปิดแอปเปิ้ลไอดีเอง แต่ทำไมไปโหลดตามตู้ตามมาบุญครอง เสียเงิน 500 บ้าง 1000 บ้าง โหลกมาแล้วก็ไม่ได้ใช้ ผมว่าตรงนี้เป็นจุดด้อยมากๆ ของบ้านเรา คือเป็นผู้บริโภคอย่างแท้จริง เราไม่ได้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี แต่เราดันต้องใช้ของที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้ใช้ประสิทธิภาพขั้นสูงสุด”

พิธีกรชื่อดัง เล่าถึง การเลือกซื้อโทรศัพท์ไอโฟนของคนบางกลุ่ม ยกตัวอย่าง ไอโฟน4 กับ4s ที่ออกสู่ตลาดเมื่อปีที่แล้วตนรู้สึกผิดหวัง แต่พอไปถามทางช้อปไอสตูดิโอยอดขายกลับดีมากๆ

“กลายเป็นว่าคนคาดหวังกับมือถือที่ จอชัด กล้องชัด ลงไลน์ได้ไหม ลงแอพที่มันดังๆ ได้ไหมก็จบ แต่ความเป็นนวัตกรรมของสินค้ามันมีมากกว่านั้น มันเป็นเรื่องที่เจ้าของแบรนด์ต้องทำหน้าที่สื่อสารไปถึงกลุ่มผู้บริโภคให้มากๆ ไม่ใช่ว่าเน้นแต่เรื่องราคาหรือความสดใหม่ตามกระแส”

ณ วันนี้ระบบปฏิบัติ ios ของแอปเปิ้ลยังเป็นตัวที่เสถียรที่สุดถือว่าเป็นจุดแข็งมาก แอปเปิ้ลเป็นแบรนด์ที่ทรงพลัง ผู้บริโภคเลือกซื้อเพราะศรัทธาในแอปเปิ้ล
….................................

เทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมทันสมัย ล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือให้เราได้เลือกใช้กันตามสมควร แต่ดูเหมือนว่าในยุคนี้คนจำนวนไม่น้อยกลับตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี ติดกับกลไกการตลาด เกิดค่านิยมผิดเพี้ยนหล่อหลอมขึ้นในวงสังคม

สินค้าบางอย่างไม่ได้มีไว้โชว์ แสดงถึงรสนิยม หรือความร่ำรวย แต่มีไว้เพื่อใช้งาน สมาร์ทโฟนราคาแพงก็เช่นกัน ต่างอัดแน่นไปด้วยอัตประโยชน์..เพียงแต่ว่าคุณใช้มันเป็นหรือเปล่า? หรือยินดีเสียค่าโง่เพียงเพราะกระแสนิยม?

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


ทิม คุก CEO คนปัจจุบันของ Apple
ภาพล้อความเปลี่ยนแปลง iphone  รุ่นล่าสุด

ปรากฏการณ์คนไทยแห่รอซื้อ iPhone 4s เมื่อปี 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น