เรื่องน่ายินดีของประชาชนคนอาศัยแท็กซี่ที่แน่นอนแล้วว่า 1 กันยายนนี้ แท็กซี่ทั้งหลายห้ามปฏิเสธผู้โดยสาร มิฉะนั้นจะโดนจับปรับทันทีหนึ่งพันบาท แต่จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่านโยบายขายผ้าเอาหน้ารอดทำนองนี้เกิดมาบ่อยครั้งแล้วอย่าง ผู้ขับแท็กซี่ไม่มีใบอนุญาต ตรวจพบเจอปรับทันที แต่ตอนนี้ก็เห็นแท็กซี่เถื่อนเกลื่อนเหมือนเดิม และครั้งนี้ก็ไม่แน่ว่าอาจจะเข้าทำนองเดียวกันซึ่งจะทำได้จริง แก้ไขได้อย่างที่พูดหรือเปล่า 1 กันยายนก็เตรียมโบกแท็กซี่กันได้เลย
ปัญหาซ้ำซาก ปฏิเสธผู้โดยสาร
ปัญหาน่าเบื่อของคนที่ต้องรีบเร่งเดินทางและเลือกใช้บริการแท็กซี่เพื่อความสะดวกรวดเร็ว แต่พอโบกเรียกทีไรก็ต้องทำอารมณ์เสียทุกที เมื่อโดนปฏิเสธไม่ไป ไม่ว่าง กลายเป็นว่ากว่าจะเรียกแท็กซี่ได้ก็เสียเวลาพอๆ กันกับการขึ้นรถเมล์
จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่าในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม การร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 ถึงเรื่องการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารมาเป็นอันดับหนึ่งมากถึง 2,633 ราย ก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าแท็กซี่สมัยนี้เลือกรับผู้โดยสาร โดยหลากหลายเหตุผลปฏิเสธก็มีตั้งแต่ ส่งรถ ไปเติมแก๊ส หรือแค่เพียงเราเอ่ยปากสถานที่เท่านั้น แท็กซี่ก็ส่ายหัวปฏิเสธแบบไร้เหตุผล ซึ่งหนึ่งเสียงจากคนขับแท็กซี่ย่านจังหวัดนนทบุรี ธนณัฏฐ์ เกรียงไกรวศิน ก็บอกกับเราว่าบางครั้งผู้โดยสารก็ต้องเห็นใจคนขับแท็กซี่บ้าง
“สำหรับตัวผม มีบ้างเป็นบางโอกาสที่ไม่ได้รับผู้โดยสาร เหตุผลหลักเลยคือแก๊สใกล้หมด ถ้าเค้าเรียกระยะใกล้ๆ เราไปได้ กรณีนี้เป็นเหตุจำเป็น ยกเว้นว่าถ้าผู้โดยสารรอเราเติมแก๊สได้ ผมก็รับ ส่วนเรื่องระยะทางผมก็ไม่ค่อยเกี่ยง แต่ถ้าเข้าไปในเมืองแล้วไม่มีที่เติมแก๊สเราออกมาไม่ทัน อันนี้ผมก็ต้องขอปฏิเสธ
อีกสถานการณ์หนึ่งคือตอนกลางคืนไม่มีใครอยากรับผู้โดยสารสุ่มสี่สุ่มห้า บางทีเรียกไปในที่ที่เราไม่คุ้น หรือเรารู้ว่ามันเปลี่ยว ก็ไม่อยากไป รวมถึงผู้โดยสารที่หน้าตาไม่น่าไว้ใจ บางครั้งก็ต้องมองในมุมของคนขับแท็กซี่บ้าง”
แน่ชัดแล้วว่าตั้งแต่พรุ่งนี้ คือวันที่ 1 กันยายน จะเป็นวันสุดท้ายที่แท็กซี่จะได้ปฏิเสธลูกค้า หากผู้โดยสารโดนปฏิเสธจากคนขับรถแท็กซี่ก็สามารถแจ้งตำรวจได้โดยตรง แต่ถ้าบริเวณนั้นไม่มีตำรวจอยู่สามารถจดเลขทะเบียนแล้วแจ้งไปที่ 1197 กองบังคับการตำรวจจราจร ซึ่งตำรวจจะตรวจสอบและจับกุมตามความผิดทันที เนื่องจากข้อหาดังกล่าวถือว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป ตามกฎหมายพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 93 วรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยไม่มีเหตุอันควร ถือเป็นความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเป็นข้อหาที่ต้องถูกบันทึกคะแนน 20 คะแนน ถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ 15 วัน
ประชาชนบอกเลย “ไม่แน่ใจ”
ถึงแม้จะมีข้อกำหนดออกมาแล้ว แต่ด้วยความไม่ชัดเจนอย่างเช่น ถ้าไม่มีตำรวจแถวนั้นจะทำอย่างไร ? แจ้งแล้วจะทำอะไรได้ ? ทำให้ประชาชนหลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่านโยบายครั้งนี้จะสามารถแก้ไขให้คนขับแท็กซี่เลิกปฏิเสธผู้โดยสารได้จริงหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ที่มักมีการติติง ระบายความไม่พอใจต่อแท็กซี่ตามเว็บบอร์ดอยู่บ่อยครั้งซึ่งแต่ละคนก็แสดงความคิดเห็นว่า โครงการนี้ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
"งั้นขอถามว่าโบกแล้วไม่ไป จดเลขทะเบียน โทรแจ้งแล้ว ยังไงต่อ
ถ้าแท็กซี่บอกว่า ผมยังไม่เคยขับไปแถวนั้นเลย ก็คงเท่านั้น
ผมว่าเปลี่ยนมาจับพวกจอดแช่ดีกว่าครับ หลักฐานมันก็เห็นๆ หนีไม่ได้"
"ขอให้จับจริงๆ แล้วกัน ผมเจอส่งรถบ่อยมาก เวลารีบๆ หรือฝนตกนี่ตัวดีเลย เลือกรับผู้โดยสารเอาเยอะๆตลอด"
"คำพูดน่าปลื้ม หลักการดูดี แต่จะทำได้จริงๆ หรือ?
เราเคยโดนปฏิเสธที 10 กว่าคัน เรียกไปสายใต้ จากอนุสาวรีย์
ถ้าเราจดเลขทะเบียนแล้วแจ้งไป คุณตำรวจที่ไหนจะไปตามจับ แถมกทม.วันๆ มีคนโดนปฏิเสธกันเป็นพันเป็นหมื่นราย แค่คิดก็เหนื่อยแทนคุณตำรวจแล้วค่ะ"
"ฝันไปเถอะค่ะ ตำรวจประเทศต.แหลแลนด์ มันไม่เอาจริงหรอก"
“เราเห็นด้วยในมาตรการ แต่คิดว่าในทางปฏิบัติจริงคงยาก
วันๆตำรวจมีงานเยอะ เกินกว่าที่จะสนใจนั่งจดเลขทะเบียนแท็กซี่และไปตามจับให้
ปกติ ขนาดคดีสำคัญกว่านี้ยังไม่ทำอะไรให้เลย (แบบรู้ตัวคนผิด มีหลักฐาน พยาน)”
แม้แต่คนขับแท็กซี่คนเดิมอย่าง ธนณัฏฐ์ เองก็ยังตอบแบบฉะฉานเลยว่า ไม่มีทาง !!
"ไม่มีทาง ผมว่าใช้วิธีอื่นดีกว่า ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือจิตสำนึกของคนขับแท็กซี่ เพราตอนนี้แท็กซี่สามารถเช่าขับได้ง่ายมาก ใครก็ได้ คุณต้องสอบประวัติ ทำใบขับขี่ให้ถูกต้อง อันนี้สิ ถึงจะแก้ปัญหาได้จริง มาทำเหมือนแมวไล่จับหนูแบบนี้ไม่มีทางจับได้หมดหรอก
คนที่ออกกฎมาเขาไม่ได้เป็นคนขับแท็กซี่ คนเช่ารถขับนี่ลำบากนะครับ ทุกเวลาของเขาคือค่าเช่ารถ คุณออกกฎมาควรจะมอง 2 ด้าน อย่าดูแลผู้บริโภคมากเกินไป"
แก้ปัญหา ยกมาตรฐานแท็กซี่ไทย
นอกจากปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารแล้ว อีกปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องแท็กซี่เถื่อนที่มีอยู่เกลื่อนไปหมด โดยข้อมูลจากกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบกระบุว่า ตอนนี้จำนวนแท็กซี่ในกรุงเทพฯ มีทั้งหมดประมาณ 100,000 คัน และในจำนวนนี้คนขับที่มีใบขับขี่รถรับจ้างสาธารณะถูกต้องตามกฎหมายมีอยู่ประมาณ 20,000 คนเท่านั้น นอกนั้นไม่มีใบขับขี่ หรือมีใบขับขี่ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ขับขี่รถจับจ้างได้ โดย วิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการสหกรณ์แท็กซี่สยาม และเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร มองว่าหากต้องการให้ผู้ขับขี่แท็กซี่ทำใบขับขี่ให้ถูกกฎหมายนั้นอาจจะต้องมีการจูงใจด้วยสิทธิพิเศษต่างๆ
“อาจเป็นการให้สิทธิพิเศษจุดจอดรถสำหรับรถแท็กซี่ ในสถานที่สำคัญต่างๆ และการได้รับส่วนลดหรือสวัสดิการในเรื่องการคุ้มครองคนขับแท็กซี่ ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้คนขับรถแท็กซี่ทำใบขับขี่เพิ่มมากขึ้น”
นโยบายแก้ปัญหาออกมาแล้ว ยังตามมาด้วยนโยบายและโครงการอื่นๆ ที่หวังช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานแท็กซี่ด้วย อย่างเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็เพิ่งมีการเปิดโครงการ “วิ่งสู้ฟัด 2” ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่หวังช่วยจัดระบบสหกรณ์แท็กซี่ ในการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล และราคาพลังงาน พร้อมรับปากจะเร่งหารือกับสหกรณ์แท็กซี่ เพื่อให้รับภาระค่าพลังงานต่อไปก่อน โดยจะไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารจนถึงสิ้นปี
ทั้งยังหวัง ผลักดันให้มีมูลนิธิเพื่อคนขับแท็กซี่ ช่วยเหลือด้านสวัสดิการ ทุนการศึกษาบุตรคนขับแท็กซี่ ระหว่างเปิดโครงการแท็กซี่วิ่งสู้ฟัดภาค 2 มีกลุ่มสหกรณ์ผู้ขับแท็กซี่ เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ตั้งกองทุนเงินหมุนเวียนสำหรับผู้ขับแท็กซี่ โดยให้สถาบันการเงินของรัฐ ปล่อยกู้วงเงิน 10-20 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ขับขี่ที่ไม่มีนายทุนตั้งสหกรณ์เองได้
เหตุการณ์น่าประทับใจหลังจากนั้นในวันที่ 26 สิงหาคม หลังมีการประมูลเพื่อนำเงินเข้ามูลนิธิเพื่อคนขับแท็กซี่ โดยมีผู้ประมูลให้ราคาสูงสุดถึง 1 ล้านบาท นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อก็ได้ขับแท็กซี่ไปรับผู้โดยสารคนนี้ พร้อมโชว์ใบขับขี่สาธารณะด้วย
..........
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณ ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต