xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ดีเดย์ใช้ใบตักเตือนแทนใบสั่ง 1 ก.ย. ผิดซ้ำปรับหนัก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

โฉมหน้าใบตักเตือน
กอง บก.จร.พร้อมใช้มาตรการออกใบบันทึกว่ากล่าวตักเตือนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนที่ทำผิดกฎจราจรในพื้นที่ กทม. เริ่ม 1 ก.ย.นี้ ยกเว้น 13 ข้อหาหลัก คาดโทษหนักแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ถือเป็นความผิดซึ่งหน้า จับกุมได้ทันที

วันนี้ (29 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง กรณีกองบังคับการตำรวจจราจร จะออกใบบันทึกว่ากล่าวตักเตือนให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่ทำผิดกฎจราจรในพื้นที่ กทม.โดยเริ่มวันที่ 1 ก.ย.นี้ ยกเว้น 13 ข้อหาหลักซึ่งเป็นข้อหาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน หรือเป็นต้นเหตุทำให้การจราจรติดขัด ได้แก่ ข้อหาแข่งรถในทาง, ขับรถเร็ว, แซงในที่คับขัน, เมาแล้วขับ, ขับรถย้อนศร, ไม่สวมหมวกนิรภัย, จอดรถซ้อนคัน, ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน, มลพิษควันดำ, จอดรถในที่ห้ามจอด, การจอดรถบนทางเท้า, การขับรถบนทางเท้า ส่วนข้อหาที่ 13 เป็นกรณีที่รถโดยสารสาธารณะ หรือแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ตำรวจจึงต้องจับกุมทันทีที่พบ

ทั้งนี้ ความผิดแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารจะต้องมีคู่กรณี ซึ่งหากเป็นความผิดซึ่งหน้า ประชาชนสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ทันที แต่หากไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณใกล้เคียง สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบก

โฆษก ตร. กล่วด้วยว่า ตำรวจยืนยันจะไม่มีการกลั่นแกล้ง โดยหากแท็กซี่รายใดบริสุทธิ์ใจ ไม่ประสงค์จะรับผู้โดยสาร สามารถปิดไฟว่าง หรือติดประกาศแจ้งงดรับผู้โดยสารบริเวณหน้ากระจกรถได้

ด้าน พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสอาด ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) เปิดเผยว่า ได้จัดทำใบเตือน หรือใบบันทึกว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ ที่กระทำความผิดวินัยจราจร ให้กับตำรวจจราจรในเขตกรุงเทพมหานครทุกหน่วย ทุกสถานีในสังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 และสังกัดกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อใช้ในการว่ากล่าวตักเตือนผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรในครั้งแรก โดยจะเริ่มใช้ใบเตือนแทนใบสั่งจราจร โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรใช้การว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎหมายจราจร ในข้อหาเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจร และความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ หากผู้ขับขี่ ได้รับใบเตือนไปแล้วครั้งหนึ่ง และยังกระทำความผิดกฎหมายจราจรซ้ำอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยอาจถูกปรับในอัตราโทษสูงสุดทันที

ส่วนลักษณะของใบเตือนมีรูปแบบประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 สีเหลือง สำหรับให้เตือนแก่ผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดกฎหมายจราจร ส่วนที่ 2 สีชมพู สำหรับใช้ในการบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์หรือฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนที่ 3 สีขาว สำหรับเป็นสำเนาคู่ฉบับติดอยู่กับต้นขั้วเล่มใบเตือนไว้เป็นหลักฐานสำหรับเจ้าพนักงานผู้พบเห็นการกระทำความผิดหรือจับกุม ซึ่งขนาดของใบเตือนจราจรจะเท่ากับใบสั่งของเจ้าหน้าที่ แต่เขียนคำว่าใบเตือนแทน

“เมื่อมีการเตือนผู้ขับขี่แล้ว ตำรวจจะบันทึกข้อมูลในส่วนของต้นขั้วส่งมายัง บก.จร. เพื่อรวบรวมข้อมูลความผิดที่เตือนไป จากนั้น บก.จร.จะส่งต่อข้อมูลดังกล่าวไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 และทุก สน. เพื่อให้ทุกท้องที่รับทราบว่าผู้ขับขี่รายใดบ้างที่ได้ออกใบเตือนไปแล้ว และหากพบว่ามีการเตือนอีก ก็จะเรียกเจ้าของรถตามทะเบียนนั้นมาปรับในอัตราโทษสูงสุด ต่อไปจะไม่มีการปรับ 200-500 บาทแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น