xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คำรณวิทย์” ปฏิวัติ “หัวปิงปอง” ห้ามตั้งด่านจราจร...รีดส่วย ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

”พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อ “บิ๊กแจ๊ส”-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พูดที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต ขึ้นมาช่วงตอนหนึ่งขณะมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล (บก.น.1 - 9) นำไปปฏิบัติ ถึงประเด็นการ “ตั้งด่าน” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

ทั้งนี้ บิ๊กแจ๊สให้เหตุผลประกอบการให้นโยบายเอาไว้ชัดเจนว่า เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมาเป็นจำนวนมากว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรพื้นที่ บก.น. 1 - 9 ชอบไปตั้งด่านตรวจจับผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงเวลาเร่งด่วน จนกลายเป็นการาสร้างปัญหาให้การจราจรบนท้องถนนเกิดความติดขัด อีกทั้งยังมีการตั้งด่านในพื้นที่รอยต่อระหว่างสถานีตำรวจนครบาลบนท้องถนนที่เชื่อมติดกันจนเป็นที่เอือมระอาแก่ประชาชน

และหลังจากนั้นไม่นานนัก นโยบายดังกล่าวของบิ๊กแจ๊สก็มีผลในทางปฏิบัติ กระทั่งได้รับคำชื่นชนจากประชาชนคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก เมื่อพล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลงานด้านจราจร ได้ออกมารับลูกนโยบายทันที โดยประชุมร่วมกับรอง ผบก.น.1-9 และ รอง ผบก.จร. ในวาระการประชุมงานจราจร บช.น. ตามที่ ผบช.น. ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วง จนนำมาซึ่งนโยบายเรื่องการกำหนดเวลาการตั้งด่านตรวจวินัยจราจร ( ว.43) ซึ่งจะเริ่มมีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 นี้เป็นต้นไป ด้วยการกำหนดให้กองบังการตำรวจนครบาล 1 -9 งดการตั้งด่านตรวจจราจร (ว.43) ในเวลากลางวัน รวมทั้งจราจรกลางด้วย โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเข้าสนับสนุนงานร่วมกับฝ่ายป้องกันปราบปรามที่มีการตั้งด่านป้องกันอาชญากรรมในเวลากลางวัน แต่ยังดำเนินการจับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร 13 ข้อหลักเหมือนเดิม ยกเว้นการกระทำความผิดในข้อหาอื่นๆ ซึ่งใช้การแจกใบเตือนแทน

ส่วนการด่านกวดขันวินัยจราจรให้ดำเนินการหลังพ้นเวลา 21.00 น.เป็นต้นไป แต่บนถนนเส้นเดียวกันห้ามตั้งด่านตรวจจราจรซ้ำซ้อน ไม่ว่าจะเป็น บก.เดียวกันหรือต่าง บก.กันก็ตาม รวมทั้งพื้นที่ซึ่งเป็นคนละ สน.ก็ตั้งไม่ได้ เช่นเดียวกันกับทางจราจรกลางด้วย ซึ่งให้ประสานงานกันโดยตรงระหว่างผู้ปฏิบัติการ และรายงานพื้นที่ที่จะตั้งด่านกวดขันวินัยจราจร ให้ศูนย์วิทยุ บก.02 ทราบทุกครั้ง หากศูนย์ฯ ได้รับแจ้งการตั้งด่านฯ ซ้ำซ้อน ให้รีบแจ้ง ผู้บังคับบัญชาและผู้ปฏิบัติเพื่อแก้ไขทันที

พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสอาด ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบนโยบายนี้โดยตรงเปิดเผยว่า ได้จัดทำใบเตือน หรือใบบันทึกว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ ที่กระทำความผิดวินัยจราจร ให้กับตำรวจจราจรในเขตกรุงเทพมหานครทุกหน่วย ทุกสถานี ในสังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 และสังกัดกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อใช้ในการว่ากล่าวตักเตือนผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรในครั้งแรก โดยจะเริ่มใช้ใบเตือนแทนใบสั่งจราจร และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 นี้เป็นต้นไป

สำหรับลักษณะของใบเตือนมีรูปแบบประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 สีเหลือง สำหรับให้เตือนแก่ผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดกฎหมายจราจร ส่วนที่ 2 สีชมพู สำหรับใช้ในการบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์หรือฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนที่ 3 สีขาว สำหรับเป็นสำเนาคู่ฉบับติดอยู่กับต้นขั้วเล่มใบเตือนไว้เป็นหลักฐานสำหรับเจ้าพนักงานผู้พบเห็นการกระทำความผิดหรือจับกุม ซึ่งขนาดของใบเตือนจราจรจะเท่ากับใบสั่งของเจ้าหน้าที่ แต่เขียนคำว่าใบเตือนแทน

ทั้งนี้ การออกใบเตือนกับผู้ขับขี่ที่กระผิดกฎหมายจราจร จะไม่นำไปใช้ใน 13 ข้อหาหลักตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา เช่น 1.แข่งรถในทาง 2. ขับรถเร็ว 3. แซงในที่คับขัน 4. เมาแล้วขับ 5. ขับรถย้อนศร 6. ไม่สวมหมวกนิรภัย 7. จอดรถซ้อนคัน 8.ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน 9. มลพิษควันดำ 10. จอดรถในที่ห้ามจอด 11.การจอดรถบนทางเท้า 12. การขับรถบนทางเท้า 13. แท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร

ขณะที่ พ.ต.อ.วีระวิทย์ วัจจนะพุกกะ ผกก.3 (ศูนย์ข้อมูลใบสั่ง) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ขยายความชัดเจนถึงการเตรียมความพร้อมการออกใบเตือนให้กับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรว่าเบื้องต้นใบเตือนจะเริ่มใช้ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป โดยเป็นการเตือนนอกเหนือ 13 ข้อหาหลักตามนโยบายของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เช่น ขับขี่โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือขับขี่โดยไม่พกใบอนุญาตขับขี่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจออกใบเตือนให้ผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎไปแล้ว หากมีความผิดซ้ำจะมีการบันทึกข้อมูล และให้ตำรวจปรับในอัตราสูงสุดทันที

“เมื่อมีการเตือนผู้ขับขี่แล้ว ตำรวจจะบันทึกข้อมูลในส่วนของต้นขั้วส่งมายังบก.จร. เพื่อรวบรวมข้อมูลความผิดที่เตือนไป จากนั้นบก.จร.จะส่งต่อข้อมูลดังกล่าวไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 และทุกสน. เพื่อให้ทุกท้องที่รับทราบว่าผู้ขับขี่รายใดบ้างที่ได้ออกใบเตือนไปแล้ว และหากพบว่ามีการเตือนอีก ก็จะเรียกเจ้าของรถตามทะเบียนนั้นมาปรับในอัตราโทษสูงสุด ต่อไปจะไม่มีการปรับ 200-500 บาทแล้ว”พ.ต.อ.วีระวิทย์ พูดเสียงเข้ม พร้อมกำชับในความผิดเพิ่มเติมข้อที่ 13 กรณีแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารนั้นให้ประชาชนเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ทันทีเพราะถือเป็นความผิดซึ่งหน้า และมีประชาชนร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก หากไม่สามารถเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันให้จดหมายเลขทะเบียนรถแล้วแจ้งไปยังสายด่วน 1584 กรมขนส่งทางบก

ด้วยเหตุดังกล่าว นับจากนี้เป็นต้นไป หากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจับกุมในลักษณะ “ลักไก่” หรือซุ่มโป่งอยู่ตามทางโค้ง หรือหลังเสาไฟฟ้า สามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่ www.trafficpolice.go.th หรือที่กองบังคับการตำรวจจรา 123 หมู่ 2 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2515-3111 โทรสาร 0-2515-3111

แต่ถ้าจะให้ดีควรมีพยานหลักฐานประกอบ เช่น คลิปวิดีโอ หรือภาพนิ่ง ซึ่งอาจบันทึกได้โดยตรงผ่านกล้องโทรศัพท์มือถือ เพราะจะสามารถจัดการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ(บางนาย) เหล่านั้นอยู่หมัดชนิดที่ไม่อาจแก้ตัวได้เลยทีเดียว

กระนั้นก็ดี ถ้าจะว่าไปแล้ว สิ่งดี ๆ ของการตั้งด่านก็ใช่ว่าไม่มีเอาเสียเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งด่านตรวจจับสิ่งผิดกฎหมายและยาเสพติด เพราะมิฉะนั้น คนร้ายอาจอาศัยช่องว่างจากนโยบายนี้กระทำความผิดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่านปราบปรามปัญหาอาชญากรรมด้วยว่าอย่าอาศัยช่องทางนโยบายห้ามตำรวจจราจรตั้งด่าน แล้วตนเองมาตั้งด่านรีดไถเสียเอง มันก็จะกลายเป็นว่า “เปลี่ยนมือคนรับเงินเท่านั้น”

ฟังเสียงตำรวจมาก็มาก เรามาฟังเสียงจากประชาชนท่านหนึ่งซึ่งใช้รถใช้ถนนเป็นประจำทุกวันและไม่ประสงค์จะออกนามกันบ้าง

“ถือเป็นเรื่องดีที่ต้องขอชื่นชม ผบช.น.คนปัจจุบันที่เห็นความสำคัญในปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้รถใช้ถนน กล้าคิด กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่ดี ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนว่าการตั้งด่านตรวจจับนั้นถือว่าเป็นเรื่องดีนะ แต่ที่ไม่ดีเพราะความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรบางนายนะที่เอาการตั้งด่านตรวจจับมารีดส่วยหากินกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน

“ยอมรับว่าการจ่ายส่วยให้ตำรวจจราจรเป็นสิ่งที่จำเป็น จะว่าตำรวจฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะหากเราไม่ทำผิดกฎจราจร ซึ่งบางครั้งคนกระทำผิดยอมที่จะจ่ายส่วยเพื่อแลกกับการต้องถูกยึดใบอนุญาตขับขี่แล้วไปเสียค่าปรับที่โรงพัก จึงเป็นการสมยอมทั้ง 2 ฝ่าย ยอมจ่าย 100 - 200 เพื่อแลกกับการไม่ถูกออกใบสั่งในข้อหาที่ปรับหนัก ๆ ก็อยากเตือนทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดด้วย และตำรวจเองก็เช่นกันให้นึกถึงภาษีอากรประชาชนที่ทุกคนจ่ายให้เป็นเงินเดือนตัวเองให้มากๆ “

นั่นคือข้อคิดเห็นของผู้ใช้รถใช้ถนซึ่งสะท้อนต่อการเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ซึ่ง “กล้าปฎิวัติทุบหม้อข้าววงการหัวปิงปองนอกรีต” ชนิดที่ไม่เคยมีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนใดทำมาก่อน

และงานนี้คนเดือดร้อนโดยตรงคงจะหนีไม่พ้น “แม่บ้านตำรวจจราจร ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปลงทะเบียนเรียนปริญญาจัตวา วิชาคณิตศาสตร์ ข้างห้อง....”
โฉมหน้าของใบเตือนที่นำออกมาใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป

กำลังโหลดความคิดเห็น