xs
xsm
sm
md
lg

คนดีชอบแก้ไข คน(อะไร)ชอบแก้สุภาษิต!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทราบโดยทั่วกันไม่ว่าจะเป็น สํานวน สุภาษิต หรือคําพังเพย ล้วนเป็นสมบัติที่โบราณได้ถ่ายทอดแนวคิดทัศนคติต่อชนรุ่นหลัง เป็นความสวยงามของภาษาทั้งยังให้ความหมายลึกซึ้ง แม้ไม่ใช่สิ่งท่องจำขึ้นใจแต่หลายๆ ประโยคก็ยังเป็นที่นิยมและเตือนใจได้เช่นเดิม แต่ทางคณะกรรมการการศึกษาปฐมวัยแห่งชาติ กลับเห็นชอบมีมติเปลี่ยนรูปประโยคสุภาษิตเดิม ‘รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี’ เป็น ‘รักวัวให้ผูกรักลูกให้กอด’

พอแนวคิดรักวัวให้ผูกรักลูกให้กอด เสิร์ฟถึงมวลชนก็ตามมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงสุภาษิตโบราณ หลายเสียงสะท้อนกลับมาว่าจะไปเปลี่ยนทำไมของเก่าก็ดีอยู่แล้ว เพราะถ้าเป็นคนไทยคำกล่าวเชิงสัญลักษณ์ในประโยครักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เราสามารถเข้าใจความหมายได้ไม่ยากเลย

จะว่าไปสุภาษิตเป็นคติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนเตือนสติ อาจแบ่งย่อยๆ ได้เป็นสองรูปแบบคือฟังแล้วเข้าใจได้ทันที และฟังแล้วต้องผ่านการวิเคราะห์ไตร่ตรองจึงจะทราบความหมายที่แท้จริง

การปรับเปลี่ยนแนวคิดสุภาษิต รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ถูกเสนอโดย รศ.ดร.สายสุรี จุติกุล ที่ปรึกษาด้านสตรี เด็ก เยาวชน การศึกษาและพัฒนาสังคมสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาปฐมวัยแห่งชาติ โดย ศ.ดร.สชุาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทนนายกรัฐมนตรี

ต่อมา เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เผยภายหลังการประชุมฯ ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ส่วนเนื้อความสำคัญอ้างว่า รศ.ดร.สายสุรี ต้องการปรับเปลี่ยนแนวคิดทัศนคติของสุภาษิต รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เป็น รักวัวให้ผูกรักลูกให้กอด(อย่าตี) เพราะต้องการสร้างศักยภาพของครอบครัว วัฒนธรรม เปลี่ยนความคิด ค่านิยม ด้านที่ประชุมก็เห็นพ้องด้วยวามหวังที่ว่าเมื่อครอบครัวหันมาแสดงออกซึ่งความรักเติมความอบอุ่นให้แก่กันจะลดปัญหาทางสังคม

เปลี่ยนสุภาษิตปรับทัศนคติหรือทำลายรากเหง้า
เสียงส่วนใหญ่ที่สะท้อนถึงประเด็นการปรับแก้สุภาษิตต่างสะท้อนไปในแง่ไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันเสียทั้งหมด ตัวอย่างข้อความแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดยอดนิยมดัง

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี สุภาษิตนี้ ยังเหมาะกับสังคมไทยแม้จนบัดนี้ ทุกวันนี้เด็กไทย มีแต่ก้าวร้าว โหดเหี้ยมขึ้นทุกวัน ส่วนหนึ่งเพราะเราไปเลี่ยนแบบฝรั่ง เห็นเขาไม่ตีลูก ก็จะเอาตามก้นเขา แต่ไม่หันมาดูนิสัยเด็กบ้านเรา ว่าคุณภาพเทียบเด็กฝรั่งได้แค่ไหน เด็กฝรั่ง เรียนมัธยม ไปหางานทำ หาเงินใช้เอง ส่วนเด็กไทย แบมือขอตังค์พ่อแม่ ไปแว้น แค่นี้ก็เห็นความแตกต่างชัดเจนแล้ว”

รักวัวให้ผูกรักลูกให้กอด กลายๆ ว่าอนาคตของเด็กไทยจะกำหราบด้วยการลงโทษตักเตือนด้วยคำสั่งสอนไม่ได้แล้ว หรืออย่างผู้คว่ำหวอดในแวดวงสิ่งพิมพ์ มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ก็ได้แสดงทัศนะไว้อย่างดุเดือดถึงกรณีดังกล่าว ขอตัดเนื้อหาตอนหนึ่งความว่า

“ไม่มีธรรมเนียมชนชาติใดเปลี่ยนสุภาษิตคำพังเพย
เพราะสุภาษิตคำพังเพย คือสิ่งบอกเรื่องราวประวัติศาสตร์
แสดงยุคสมัยของภาษา และถ่ายทอดวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย
ถ้าฅนสมัยหลังต้องการความหมายอย่างไรในยุคสมัยของตน
ต้องสร้างสุภาษิตหรือคำพังเพยขึ้นใหม่ตามความต้องการและความนิยม
ในแต่ละยุคแต่ละสมัย อันจะแสดงออกถึงรสนิยมด้านต่างๆ ด้วย
บุคคลผู้มีสติปัญญาแห่งยุคสมัย ต้องคิดสุภาษิตด้วยสติปัญญาของตนขึ้น
ต้องไม่ทำลายของเก่าที่มีอยู่เดิม หรือแก้ถ้อยคำเพียงคำเดียว
เพราะคิดทั้งประโยคไม่เป็น หรือแก้คำอย่างไม่เข้าใจความหมายเดิม
หากชนชาติใดแก้ถ้อยคำ หรือเปลี่ยนแปลงสุภาษิตแต่โบราณ
ก็อาจนับได้ว่า เป็นชาติแรก และชาติเดียวที่ปฏิบัติการลบวัฒนธรรม”

ประสบการณ์ครั้งโบราณ ย้ำเตือนลูกหลาน
“คำสอนต่างๆ เกิดจากการสังเกต ธรรชาติ สิ่งที่เป็นไปตามปกติว่าควรทำอะไรควรทำอย่างไร ยกตัวอย่าง น้ำขึ้นให้รีบตัก โบราณไม่มีน้ำประปาก็ต้องอาศัยน้ำคลองพอน้ำขึ้นมาถ้าเผื่อไม่ตักไม่ตักอีกหน่อยก็น้ำลงมันก็อาจจะลดจนเราตักไม่ได้ เขาสอนเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้ว่าเราควรทำอย่างไร ทีนี้เมื่อสอนจากธรรมชาติแล้ว ต่อไปมันก็นำไปใช้อย่างอื่นถ้ามีโอกาส จะทำอะไรก็ต้องรีบทำเสีย มันจะปล่อยให้มันช้าไปมันก็หมดโอกาส คำสอนอย่างนี้มีเยอะแยะมากมาย

“ในชีวิตของคนมันก็มีหลายเรื่อง สอนไปตามเรื่องต่างๆ ว่าควรจะทำอย่างไร มีลูกจะทำอย่างไร มีบ้านจะทำอย่างไร มีทรัพย์สินจะทำอย่างไร ก็เป็นการสั่งสอนอบรมให้ความรู้ให้ข้อคิด”

ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล จากราชบัณฑิตยสถาน อธิบายถึงเรื่องสุภาษิตว่าเป็นข้อเตือนใจ สั่งสอน อบรบ เพื่อให้คนมีแนวทางประพฤติปฏิบัติ ถ้าย้อนดูและจะพบว่าสุภาษิตส่วนใหญ่เป็นเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องตีความหมายต้องทำความเข้าใจ เป็นคุณค่าทางภูมิปัญญญาเตือนใจชนรุ่นหลัง เป็นความไพเราะทางภาษาที่ง่ายต่อการจดจำและเตือนใจ

การที่ทางคณะกรรมการฯ เห็นให้เปลี่ยนเป็นรักวัวให้ผูกรักลูกให้กอด ก็ถือเป็นความหวังดีที่อยากสนับสนุนส่งเสริมให้สังคมแสดงออกถึงความรักความอบอุ่นนัยยะสำคัญมีมากกว่าการกอด แต่ ดร.กาญจนา ก็ยังมองเป็นเรื่องประหลาดเพราะสุภาษิตนั้นมีมานานแล้วไม่สมควรที่จะเปลี่ยนแต่ควรจะสร้างคำใหม่ขึ้นมามากกว่า

ไม้อ่อนดัดง่าย แต่ต้องดัดให้ถูกวิธี
ถึงแม้คณะกรรมการการศึกษาปฐมวัยแห่งชาติ จะอ้างเหตุในการปรับสุภาษิตครั้งนี้ว่าเพื่อเปลี่ยนค่านิยมในการตีลงโทษอบรมสั่งสอน แต่มุ่งเน้นไปในเรื่องการกอดให้ความเข้าใจแสดงความรักความอบอุ่น เพื่อลดปัญหาทางสังคมที่ที่เด็กอาจก่อเหตุในอนาคต แต่ถ้าวิเคราะห์กันในมุมจิตวิทยา รัก ชุณหกาญจน์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่าการลดหรือปัญหาในตัวเด็กนั้นผู้ใหญ่ต้องสร้างประสบการณ์ให้เขาสัมผัสได้ ไม่ใช่มาปรับกับที่เนื้อหาแนวคิดของสุภาษิตโบราณ

“สุภาษิตโบราณมันเป็นคำสอนที่นามธรรมเด็กจะเข้าใจยาก เข้าใจว่าเขาก็เลยใช้สุภาษิตคำสอนแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี นัยยะของคำสอนมันต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม การรักลูกให้ตีเขาก็มีคำอธิบายไว้ อย่างสมัยก่อนตอนที่คุณพ่อคุณแม่จะตีท่านต้องมีคำอธิบายว่าเราทำผิดอะไร ความผิดของเรามันส่งผลกระทบอย่างไร

“เด็กจะคิดโดยรูปธรรมจับต้องได้ ประสาทสัมผัสของเด็กในเชิงจิตวิทยา เด็กรับรู้ความหมายในสิ่งที่เขาเจอ สุภาษิตรู้มาเขาไม่เข้าใจถ้าไม่มีผู้ใหญ่มาอธิบาย คุณต้องสร้างฐานความเข้าใจความรักให้แก่เด็ก”

อาจารย์รัก แสดงทัศนะเพิ่มเติมว่าการจะสร้างทัศนคติใหม่ๆ น่าจะปฏิบัติโดยการสร้างคำหรือรูปประโยคใหม่ๆ จะสมเหตุสมผลกว่า ยกตัวอย่าง รักวัวให้ผูกรักลูกให้กอด ถึงจะปรับให้ร่วมสมัยเข้ากับบริบททางสังคมแต่ก็มีความขัดแย้งในรูปประโยค คำว่ารักวัวให้ผูกเด็กอาจไม่เข้าใจความหมายก็ได้ ขณะรักลูกให้กอดเป็นการบอกกับเขาตรงๆ เลย ถ้าเป็นแบบนี้สู้สร้างคำหรือข้อความขึ้นมาใหม่เลยดีกว่า

“สุภาษิตโบราณเขาก็มีนัยยะของเขาอยู่เราไม่ควรไปเปลี่ยนหรอก แต่ถ้าสร้างคำใหม่ สร้างสโลแกนใหม่ อย่าเมื่อก่อนเราไม่มีนะเมาไม่ขับแต่เดี๋ยวนี้เรามี เพราะฉะนั้นเราก็สร้างอะไรในเรื่องของการกอดสิ”

….........................
สุภาษิตโบราณล้วนมีเหตุมีผลของตัวเอง ยิ่งถ้าได้ลองศึกษาข้อมูลของแต่ละประโยคก็อาจพบอารยะในช่วงสุภาษิตนั้นๆ ถูกสร้างขึ้นมา จะว่าไปสุภาษิตก็เสมือนถ้อยคำเตือนใจแห่งยุคที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมค่านิยมขณะเดียวกันก็เป็นข้อเตือนใจที่ยังสามารถปรับใช้ได้ทุกสมัย ฉะนั้น การปรับทัศนคติ สร้างค่านิยมใหม่ด้วยคำหรือข้อความควรคิดประโยคใหม่ๆ น่าจะดีกว่าไปปรับเปลี่ยนของโบร่ำโบราณ

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา
สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการการศึกษาปฐมวัยแห่งชาติ
 ศ.ดร.สายสุรี จุติกุล
สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประธานการประชุมฯ
ตัวอย่างสุภาษิตโบราณ สีซอให้ควายฟัง
ตัวอย่างสุภาษิตโบราณ ขี่ช้างจับตั๊กแตน
กำลังโหลดความคิดเห็น