แล้วก็ได้เห็นคนบริสุทธิ์ออกมาร้อง “แมะๆ” ให้ได้ยินกันลั่นประเทศอีกครั้ง หลังจากคดีแท็กซี่ปล้น-ข่มขืนเหยื่อ 16 รายเกิดพลิก!! กลับกลายเป็นว่าโจรในคราบโชเฟอร์ที่ถูกประชาชนรุมประณามออกสื่ออยู่หลายวันหลายคืน ดันเป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งถูกโจรตัวจริงสวมรอยไปได้เสียนี่ ร้อนถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาลต้องออกมามอบเงินปลอบขวัญแพะรายนี้เป็นจำนวน 2 หมื่นบาท เพื่อชดเชยเวลา 9 วันในมุ้งสายบัวของ “ผู้ถูกกล่าวหา”
...ว่าแต่ มันจะคุ้มกันไหมกับความรู้สึกที่สูญเสียไป? เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองได้เรียนรู้อะไรจากบทเรียนนี้บ้าง? หรือจะเป็นแค่อีกหนึ่งบทที่ตอกย้ำประวัติศาสตร์เดิมๆ แต่สุดท้าย “แพะ” ก็ไม่เคยสูญพันธุ์ไปจากกระบวนการยุติธรรมเหมือนเคย
ได้แต่ร้อง “แมะๆ”
“ตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงก้าวที่ออกมา ผมก็คิดอยู่ในใจตลอดนะครับว่าผมจะไม่เรียกร้องอะไรจากใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านท่านเจ้าทุกข์ทุกรายที่ชี้ตัวว่าผมผิด เพราะผมรู้ว่าเขาก็เดือดร้อนกันอยู่แล้ว ผมเข้าใจ ณ วินาทีนั้น ผมต้องการแค่อิสรภาพอย่างเดียวเลย"
"ผมกราบแม่ธรณีทุกวัน ขอแค่อิสรภาพ ขอแค่ได้อยู่กับแม่ กับลูกผม ผมแค่อยากอยู่กับครอบครัว เพราะพ่อผมเสียแล้ว ผมอยู่กับแม่คนเดียว แล้วก็มีลูกเล็กๆ อีก 2 คน ถ้าเกิดผมต้องมารับชะตากรรมตรงนี้แล้วพวกเขาจะอยู่ยังไง ผมคิดแค่นั้นแหละครับ แต่ตอนนี้ผมก็ได้รับอิสรภาพของผมกลับคืนมาแล้ว ผมไม่ขออะไรมากไปกว่านี้อีกแล้ว ส่วนคนที่ชี้ตัวผม ใจจริงก็อยากจะได้ยินคำขอโทษเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรครับ ไม่ได้อยากจะเรียกร้องอะไรจากเขาเลย เพราะตอนนี้ผมก็สบายใจสุดๆ แล้ว”
นี่คือความในใจของ “ชรินทร์ ช้ำเกตุ” แพะรับบาปคดีแท็กซี่ปล้น-ข่มขืนผู้โดยสาร หลังจากความจริงไขกระจ่างแล้วว่า เขาคือผู้บริสุทธิ์ที่โชคร้ายจนทำให้ต้องกลายเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เพียงเพราะผู้ร้ายตัวจริงใช้วิธีอำพรางความผิด ปลอมทะเบียนโดยการปิดสติกเกอร์ “มจ 621” ทับลงไปบน “มจ 9216” ซึ่งเป็นทะเบียนจริงของโชเฟอร์ใจโหด
เป็นเหตุให้ชรินทร์ถูกออกหมายจับ ต้องมามอบตัวกับตำรวจแทนโจรตัวจริง หนำซ้ำยังถูกเจ้าทุกข์รุมชี้ตัวว่าเป็นคนผิด หลักฐานมัดตัวแน่นหนาจนแพะอย่างชรินทร์แทบหมดหวังกับชีวิตแล้ว โชคยังดีที่สวรรค์มีตา โจรตัวจริงยังใช้รถคันเดิม ปลอมป้ายทะเบียนเดิมออกล่าเหยื่อจนมีเจ้าทุกข์ออกมาแจ้งความเพิ่ม ความจริงจึงเปิดเผยว่าสรุปแล้วตำรวจจับ “แพะ” อีกแล้วครับท่าน
ที่เด็ดที่สุดคือวาทะของท่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล “พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธุปกระจ่าง” ซึ่งออกมาแถลงข่าวรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซ้ำยังพูดดักคอเอาไว้เลยว่า
“เหตุแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ ผมเองก็ไม่อยากให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาของผม เพราะผมเชื่อว่าเขาได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่ไอ้นี่ (ชี้ไปที่ชรินทร์) ดันมาหน้าคล้ายคนร้ายตัวจริงด้วย เลขทะเบียนรถก็ดันมาปลอมตรงกันอีก เอาเป็นว่าผมยอมรับในความผิดพลาดที่ผู้ใต้บังคับบัญชาทำไป แต่ก็ขอชื่นชมที่เขาพยายามทำผลงาน จนจับคนร้ายตัวจริงมาได้ในที่สุด”
ได้ยินอย่างนี้ก็ไม่อยากจะซ้ำเติมความผิดของใคร แต่เท่าที่ลองเสิร์ชข้อมูลเก่าๆ เกี่ยวกับคดีแพะแล้ว จะเห็นว่ามีจำนวนไม่น้อยเลย ยกตัวอย่างคดี “แพะยาเสพติด” เมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว “สมใจ แซ่ลิ้ม” คนงานฟาร์มเลี้ยงหมูก็ต้องถูกตำรวจจับไปนอนในคุกคลองเปรมนานถึง 23 วัน ด้วยข้อหาครอบครองยาเสพติดจำนวน 2,000 เม็ด เมื่อความจริงปรากฏว่าจับคนเลี้ยงหมูมาเลี้ยงแพะ ทางเจ้าหน้าที่ก็แก้หน้าด้วยการมอบเงินจำนวน 300,000 บาทให้ แล้วเรื่องก็เงียบหายไป
ไหนจะ “แพะคดีข่มขืน” ซึ่งถูกกล่าวขานถึงอย่างกว้างขวางเมื่อเดือน ม.ค. ปี 50 ตำรวจรวบตัวคนแคระนายหนึ่งด้วยข้อหาฆ่าข่มขืนหญิงสาว ทำให้เขากลายเป็นจำเลยสังคม โดยถูกประณามว่าเป็น “ไอ้แคระหื่น” ไปพักใหญ่ๆ แถมยังถูกคาดโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต เพียงเพราะมีรูปพรรณสัณฐานเป็น “ชายร่างสูง 120 เซนติเมตร ขาโก่ง หลังคด” ตรงกับที่พยานบอกไว้
โชคยังดีที่แพะเหล่านี้เป็นเพียง “แพะระยะสั้น” ก็มีคนร้ายตัวจริงมาผลัดรับเวรนั้นไป แถมยังมีโอกาสออกมาแก้ตัวต่อสังคมได้ แต่ลองคิดดูว่ายังมีแพะอีกกี่รายที่ต้องนอนในซังเตเพราะความผิดพลาด หลายรายไม่มีโอกาสแม้กระทั่งจะส่งเสียงร้องเรียนกับใคร สุดท้ายก็ได้แต่ไปนอนร้อง “แมะๆ” อยู่ในคุก หมดสิ้นอนาคต
แค่ 2 หมื่น ไม่พอ!
“คุณชรินทร์เป็นคนจิตใจดีมากเลย ถ้าเป็นผม ผมฟ้องทั้งตำรวจทั้งเจ้าทุกข์จอมมั่วแน่ครับ”
“9 วันที่ติดคุกฟรีกับเงินชดเชย 20,000 บาท ไม่คุ้มกันหรอก บาปที่ตำรวจและพยานทั้งหลาย สื่อต่างๆ ที่ประจานเขาออกทีวี สร้างความเจ็บปวดในใจให้เขาและครอบครัว ลองคิดดูว่า หากคนร้ายตัวจริงเว้นช่วงก่อคดีหลายเดือน หรือก่อคดีแต่ไม่มีเจ้าทุกข์แจ้งความ คุณชรินทร์ คงจะเป็นแพะที่น่าสงสารมาก... พยานที่ชี้ตัว หากไม่แน่ใจ อย่าชี้ตัวเลย เพราะเท่ากับพวกคุณสร้างตราบาปให้กับคนบริสุทธ์ไปติดคุกอย่างน่าสงสาร สงสารทั้งคุณชรินทร์ และครอบครัวเขาอย่างมาก"
“คดีคนขับรถตุ๊กๆ ที่ถูกนักข่าวสาวต่างชาติชี้ตัว และเขาตกเป็นแพะ ติดคุกฟรีนานหลายปี เมื่อหลายปีก่อน คิดแล้วทำให้หดหู่ใจ ขอให้กำลังใจคุณชรินทร์ คนขับแท๊กซี่ผู้บริสุทธ์ครั้งนี้ โชคดีที่เขายังเป็นแพะแค่ 9 วัน อยากให้สื่อต่างๆ นำคุณชรินทร์แพะ 9 วัน มาออกรายการ ช่วยเขา ช่วยให้สังคมรับรู้ว่าเขาคือคนดี คนดี คนดี คนดีที่น่าสงสาร... ขอเป็นกำลังใจให้ แพะที่โชคร้ายครั้งนี้ค่ะ แพะที่น่าสงสาร!!!!!!!!”
ข้อความทั้งหมดข้างต้นคือ Top Comment ที่แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถึงแม้จำนวน 2 หมื่นบาทจะมากกว่าเงินเดือนทั้งเดือนของใครหลายๆ คน แต่คนส่วนใหญ่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันไม่คุ้ม” เพราะไม่มีอะไรจะมาชดเชย “ความรู้สึก” และ “อิสรภาพ” ที่เสียไปได้อีกแล้ว
แม้แต่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ยังมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับคนหมู่มาก คือมองว่าความรู้สึกของผู้ถูกกระบวนการยุติธรรมและสังคม ยัดเยียดความผิดให้ นั้น ตีค่าเป็นจำนวนเงินไม่ได้ จึงต้องทดแทนด้วยวิธี “ชดเชย เยียวยา และฟื้นฟู” อย่างจริงจัง
“ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า พนักงานสอบสวนทำงานยังไม่ละเอียดและไม่เที่ยงธรรมพอ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกประจาน สูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องชดเชยคืนให้เขา"
เริ่มตั้งแต่ให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงต่อสื่อสาธารณะ ซึ่งที่ออกมาแถลงข่าวก็ถือว่าทำถูกแล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ หน่วยงานจะต้องออกมาชี้แจงต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 อาทิตย์ เพราะตอนที่ข่าวออกไป มีหน้าเขาหราอยู่เต็มทุกสื่อ ลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่คนอ่านทั่วประเทศ แล้วเวลาแก้ข่าว จะให้ออกทีวีรายการเดียวมันก็คงไม่ได้ คือถ้าต้องซื้อพื้นที่ในสื่อเพื่อเผยแพร่เรื่องนี้ให้คนรู้ทั่วกัน ก็ต้องทำ”
“จากนั้นต้องชดเชยให้เขา ทั้งเรื่องเงินทองและเรื่องจิตใจ คือไม่ใช่แค่เอาเงินฟาดให้ 2 หมื่นแล้วก็แล้วกันไป แต่ต้องเยียวยาจิตใจเขาด้วย ซึ่งผมว่ามันจำเป็นมากกว่าเรื่องเงินเสียอีกนะ คุณต้องออกใบประกาศหรือหลักฐานทางราชการอะไรก็ได้ เพื่อแสดงว่าการจับกุมครั้งนี้คือความผิดพลาด เผื่อวันหนึ่ง เพื่อนของลูกเขาเอาหนังสือพิมพ์มาล้อ บอกพ่อแกเป็นโจร เขาจะได้เอาไปอ้างได้ว่ามันคือความเข้าใจผิด จุดนี้สำคัญมากนะ ต้องอย่ามองข้าม เพราะเรื่องคนในครอบครัวของเขานั่นแหละคือสิ่งที่เขาแคร์มากที่สุด”
ส่วนเรื่องที่คุณชรินทร์ แพะคนดีของสังคมตัดสินใจจะเลิกอาชีพขับแท็กซี่ซึ่งเป็นอาชีพเสริม แล้วเหลือแค่งานหลัก เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของโรงแรมอย่างเดียวนั้น ใครได้ยินก็ต้องอดรู้สึกอนาถใจไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าผู้ดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมือง ไม่สามารถทำให้ประชาชนคนหนึ่งรู้สึกอุ่นใจที่จะประกอบอาชีพสุจริตของตัวเองอีกต่อไปอีกแล้ว เมื่อทราบข่าวนี้ นักสิทธิมนุษยชนอย่างนายแพทย์นิรันดร์ จึงขอฝากทางออก ปิดท้ายเอาไว้ให้ได้คิดกันเสียหน่อย
“ถ้าจะเลิกขับแท็กซี่ไปเลย มันคือการตัดปัญหา แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ที่จริงแล้ว มันเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะช่วยฟื้นฟูจิตใจของเขา ช่วยให้ความมั่นใจว่าคุณยังขับต่อไปได้นะ เพราะคุณไม่ได้ทำความผิด"
"ส่วนเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองเอง ก็ควรให้ความมั่นใจแก่ประชาชนของคุณ ควรตั้งคณะกรรมการภายในกรมตำรวจเพื่อเข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะการสืบสวนเรื่องราวผิดถูกแบบนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีข้อผิดพลาด และเมื่อทำผิดแล้ว คุณจะชดเชย เยียวยา และฟื้นฟูจิตใจผู้เสียหาย ให้กลับมาเชื่อมั่นต่อสังคมที่เขาอยู่ ถ้าใช้หลักเมตตาธรรมเข้ามา และเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถึงแม้ว่าจะผิดพลาดยังไง สังคมก็ให้การยอมรับ”
---ล้อมกรอบ---
คุณอาจเป็นแพะ
ในสังคมที่เต็มไปด้วยเล่ห์หลอกกลลวงและการสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพ วันหนึ่งคุณอาจตกเป็นเหยื่อของสังคม กลายเป็นแพะก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่คุณควรจะรู้ไว้ คือ
1.ต้องรู้ว่าเราทุกคนมีสิทธิที่จะประกันตัว มีสิทธิในการยื่นเรื่องขอทนาย หรือแม้กระทั่งเบิกเงินเพื่อเอามาประกันตัวออกจากคุกได้จาก “กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม”
2.ระหว่างนอนในมุ้งสายบัวและรู้ดีแก่ใจว่าตัวเองไม่ผิด จงอย่าหมดกำลังใจเป็นเด็ดขาด เชื่อมั่นในความดีเอาไว้
3.เมื่อพ้นคดีแล้ว อย่าลืมตรวจสอบรายชื่ออาชญากรด้วยว่าเจ้าหน้าที่ได้ถอนชื่อเราออกจากระบบแล้ว ไม่อย่างนั้นอาจเป็นปัญหาในการสมัครงานและโอกาสดีๆ อื่นๆ ในภายภาคหน้า
4.หากทางราชการสามารถออกใบสำคัญเพื่อแสดงหลักฐานว่าเราเคยเป็นแพะได้ ก็จะดีมาก เผื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE