หลายครั้งที่สื่อมวลชนหยิบยกผลสำรวจจากโพลออกมานำเสนอสู่สาธารณะ ราวกับเป็นมติมหาชนของคนทั้งประเทศ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงเสียงสะท้อนความเห็นของคนบางส่วนเท่านั้น ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนทำโพล ทั้งนี้ก็มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนให้คล้อยตาม จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าผลโพลสำรวจเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด เอียงข้างรึเปล่า ทำเร็วเกินไปไหม และเป็นการชี้นำคนทั้งประเทศหรือไม่?
โพล (Poll) หรือผลสำรวจของประชาชน ได้มีมานานแล้วในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยการทำโพลระยะแรกถูกนำมาใช้เพื่อการวิจัยทางวิชาการ จนกระทั่งโพลได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ โพลเลือกตั้ง (Election Poll) และโพลความคิดเห็น (Opinion Poll)
โพลสำรวจเริ่มเข้ามาใช้ในเรื่องการเลือกตั้งครั้งแรกที่เห็นอย่างชัดเจน โดย “นิด้าโพล” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 จนกระทั่ง 8-9 ปีที่ผ่านมา “สวนดุสิตโพล” ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและมีผลสำรวจด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น 3-4 ปีให้หลัง ได้มี “เอแบคโพล” และ “กรุงเทพโพล” ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน และยังปรากฏเป็นโพลชื่อดังมาจนถึงปัจจุบัน บางครั้งโพลจากสถาบันต่างๆ เหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องชี้นำที่มีอำนาจต่อการตัดสินใจของคนทั่วประเทศเช่นกัน
อย่าหลงเชื่อกับการหยั่งเสียง
หลายคนมีความคิดว่าผลสำรวจจากโพลเป็นเครื่องมือชี้นำอย่างหนึ่ง ซึ่งมาจากตัวอย่างของกลุ่มประชากรเป้าหมาย หรือพูดง่ายๆ คือการหยั่งเสียงประชาชนกลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นตัวแทนของคนส่วนมาก ผลโพลจึงไม่ใช่ความเห็นของคนทั้งประเทศถึงแม้ว่าคนฟังโดยรวมจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าโพลสามารถกำหนดคำตอบได้
การใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,500-2,000 คนเป็นตัวแทนคนส่วนใหญ่ในการสำรวจ โพลจึงเป็นเสียงสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องนั้นๆ ในช่วงเวลาสำรวจ และมีการเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป หรืออิงตามกระแสมากกว่าความเห็นส่วนตัว แม้ว่าจะมีการประเมินจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากก็ตาม แต่ก็ไม่ได้บอกถึงความแม่นยำเสมอไป
เมื่อผลของโพลไม่ได้แม่นยำอย่างที่หลายคนรู้สึก แต่ก็มักเห็นสื่อมวลชนหยิบยกผลของโพลที่ต่างๆ มีชื่อเสียงบ้าง ไม่มีบ้าง จากสำนักโพลนั้นโพลนี้ บางครั้งคนฟังไม่รู้จักชื่อเลยด้วยซ้ำ ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือได้แล้วนำมาพูดอ้างอิงในการรายงานข่าว
อีกทั้งการทำโพลมีการใช้กลุ่มตัวอย่างที่จำกัด โดยส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเท่านั้น แต่เมื่อสื่อมวลชนนำเสนอสู่สาธารณะ กลับกลายเป็นว่าคนต่างจังหวัด หรือคนชนบท ต้องยอมรับความเห็นที่เขาไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในโพลนั้นเลย และที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้นโพลบางสำนักจะใช้กลุ่มตัวอย่างเดิมซ้ำๆ โดยการประสานกับกลุ่มเครือข่ายที่มีเพื่อให้ช่วยตอบแบบสอบถามที่จัดเตรียมให้ นี่จึงเป็นคำตอบที่หลายคนมักถามว่าทำไมไม่เห็นมีใครมาถามบ้างเลย
จึงมีความสอดคล้องกับความเห็นของ นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล ที่กล่าวว่า ผลสำรวจจากโพลไม่ใช่มติมหาชน แต่มันเป็นเพียงข้อมูลประเภทหนึ่งที่ผู้อ่านหรือพบเห็นต้องมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งถ้าจะเชื่อก็ควรนำผลสำรวจจากโพล ไปประกอบกับแหล่งความเป็นจริงด้านอื่นๆ โดยระลึกอยู่เสมอว่าผลโพลไม่ใช่กรรมการตัดสินชี้ขาด และนักทำโพลเองก็ต้องไม่ให้น้ำหนักกับผลโพลเป็นเสมือนคำพิพากษา
คำถามไม่ครบมิติ คือจุดอ่อนของโพล
ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นคำถามการเมือง จากกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ส่วนคำถามที่นำมาใช้ในการถาม และวัตถุประสงค์ที่จะใช้ถาม บางครั้งจึงมองเหมือนว่าโพลเอียงข้าง เพราะจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือการถูกว่าจ้างโดยพรรคการเมือง จึงเป็นที่มาของการปิดบังผลการสำรวจที่แท้จริง อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับโพลต่างๆ มาแล้ว ทำให้เกิดการตั้งคำถามที่ไม่ควรถามขึ้น
“ถ้ารัฐบาลจะคอรัปชั่นบ้างแล้วประชาชนยังได้ประโยชน์อยู่รับได้ไหม”
“ถ้านักการเมืองโกง ยอมรับได้หรือไม่”
“ถ้าคนไทยได้ “คนเก่ง” มาเป็นนายกฯ แต่คนไทยไม่เลิกตีกันมีประโยชน์หรือไม่”
หรือล่าสุด “นาซ่ามาใช้อู่ตะเภาเพื่อการศึกษาช่วยเหลือ เห็นด้วยหรือไม่” ซึ่งที่จริงควรจะถามว่า “ประเด็นการมาของนาซ่าที่ยังมีข้อสงสัยเคลือบแคลงกันอยู่ รัฐบาลควรรีบเร่งตัดสินใจหรือไม่”
นอกจากคำถามยอดฮิตจะยกให้เรื่องการเมืองแล้ว ยังไล่ถึงการบริหาร ภาพลักษณ์ เศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน และปัญหาสังคม สังเกตได้ว่าบางคำถามก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ที่จะถาม รวมถึงมีรายละเอียดคำถามไม่รอบด้าน จึงมีคนหยิบยกเรื่องนี้มาพูดถึงความเที่ยงตรงของโพลสำรวจต่อสถาบันที่ทำโพลสำรวจนั้นขึ้น ที่อาจขาดความน่าเชื่อถือและเป็นตัวชี้นำความเห็นของคนส่วนใหญ่ได้
นายรชตะ สาสะเน สำนักงานคดี เคยกล่าวถึงผลกระทบของโพลต่อการเมืองในเว็บไซต์ lawamendmentว่า “สถาบันที่จัดทำโพลเพื่อความรู้ในประเด็นสาธารณะควรที่จะแยกเด็ดขาดจากสถาบันที่รับจ้างในการทำโพลเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของสถาบันที่ทำโพล เพราะบางครั้งสถาบันที่รับจ้างทำโพล อาจจำเป็นต้องปกปิดผลการสำรวจ ตามความต้องการของผู้จ้าง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ”
ด้าน รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล และประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า ถ้าคำถามมีความไม่เป็นกลาง ใช้คำถามชี้นำ คำถามไม่ครบทุกมิติ จึงเป็นจุดอ่อนของโพล เพราะฉะนั้นในภาวะปัจจุบัน คงไม่มีใครใช้คำถามชี้นำตรงนั้น แม้คำถามเชิงปริมาณบอกว่าชอบหรือไม่ชอบรัฐบาล แต่มันก็จะมีลักษณะของเชิงคุณภาพว่าทำไมถึงชอบไม่ชอบ สำหรับสวนดุสิตโพลไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล เราจะสะท้อนความคิดเห็นออกมาจากคนทุกกลุ่ม ถ้าถามถึงฝ่ายรัฐบาลก็ต้องถามถึงฝ่ายค้านด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายก็ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ
คนทำโพลต้องมีจรรยาบรรณ
มีหลายขั้นตอนในการทำโพล ที่อาจมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญที่ไม่น่าให้อภัย คือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากผู้ทำโพลที่ขาดจิตสำนึกที่ดี ซึ่งอาจจะกระทำโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม จึงมีประเด็นคำถามที่มักถูกถามบ่อยๆ เกี่ยวกับการทำโพล ไม่ว่าจะเป็น ทราบได้อย่างไรว่าโพลนั้นๆ มีความเป็นกลางหรือไม่, ขอให้หยุดทำโพลได้หรือไม่ เพราะเป็นการชี้นำ, ผลสำรวจโพลมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน, ขนาดตัวอย่างที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่, สำรวจทีไร ทำไมเราไม่เคยถูกถามเลย และโพลต่างๆ มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด
ศิรินทิพย์ ยุติกะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประมวลผลข้อมูลนิด้าโพล กล่าวว่า “จรรยาบรรณ” เป็นคุณสมบัติสำคัญที่นักทำโพลทุกคนต้องมี ต้องไม่บิดพลิ้วต่อข้อมูล ต้องใช้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ใช่เติมแต่งข้อมูลลงไป
คุณสมบัติของนักทำโพลที่ดี ต้องเข้าใจในเรื่องระเบียบวิธีวิจัย ขั้นตอนการทำโพล มีความรู้รอบตัว ติดตามข่าวสาร เป็นกลาง ไม่มีอคติ เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมการพัฒนาในสังคม ต้องไม่ส่งผลกระทบในทางลบ ต้องไม่เอื้อประโยชน์ต่อเพียงกลุ่มบุคคลเดียว รวมทั้งมีประสบการณ์ในทุกขั้นตอนของการทำโพลด้วย
“จรรยาบรรณของนักทำโพลที่ดีต้องมีความเป็นกลาง การทำโพลต้องให้ประโยชน์ในแต่ละเรื่อง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวเองฝ่ายเดียว ต้องมีองค์กรที่ดี มีงานวิจัยทางวิชาการเป็นแบ็กอัพ และที่สำคัญต้องบอกที่มาของตัวเลขผลโพลได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำโพลตรงนั้น” รศ.ดร.สุขุม กล่าวเสริม
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของโพลสมัยนี้ คือ การแข่งขันเรื่องความเร็ว โพลแต่ละสำนักทำผลสำรวจออกมาอย่างรวดเร็วทันใจ เพื่อทำเรตติ้งให้ตัวเองเป็นกระแสก่อนคนอื่น โดยไม่ดูเลยว่ามีประโยชน์ต่อสังคมหรือเปล่า หรือหวังแค่จะได้ขึ้นเป็นโพลแถวหน้าของเมืองไทย จนลืมนึกถึงคุณภาพ แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารฉับไว แต่บางครั้งความรวดเร็วก็ไม่ใช่คำตอบที่น่าเชื่อถือเสมอไป
รศ.ดร.สุขุม ได้ให้ความเห็นอีกว่า โพลเป็นความคิดเห็นของประชาชน ถ้าประชาชนไม่เชื่อถือ โพลก็ไม่สามารถอยู่ได้นาน ส่วนเรื่องการทำโพลออกมาเร็วไม่ได้เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ เพราะยุคปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ทำโพลได้รวดเร็วอยู่แล้ว และการทำโพลเร็วก็เป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชน
โพลออนไลน์ เชื่อได้หรือ?
>>ในโลกดิจิตอลใครก็ทำโพลได้!?
เมื่อโลกในแต่ละวันหมุนเวียนเปลี่ยนไป โพลจึงเกิดขึ้นมามากมาย และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสของสังคมโลก เมื่อโพลเล็กโพลน้อยเกิดขึ้นตามกันมาเป็นดอกเห็ด ชื่อเสียงโด่งดังก็มี แต่ที่ล้มหาย สาบสูญไปก็มาก รวมถึงโพลออนไลน์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก และมีความรวดเร็ว วิวัฒนาการยุคดิจิตอลจึงทำให้การทำโพลง่ายแค่พลิกฝ่ามือ แต่ไร้ความน่าเชื่อถือ
นอกจากจะเป็นสำนักโพลที่มาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง อย่าง นิด้าโพล สวนดุสิตโพล รามคำแหงโพล กรุงเทพโพล เอแบคโพล และก็ยังมีองค์กรอิสระต่างๆ อีกมากมายที่มีการสำรวจวิจัยเช่นเดียวกัน หรือเรียกว่า “โพลออนไลน์” ซึ่งส่วนใหญ่ให้แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผล
เมื่อลองรวบรวมโพลออนไลน์ ที่มีการสำรวจแบบสอบถามทางอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ตอนนี้มีมากกว่า 10 เว็บเพจ เช่น ไอเอเชียเซอร์เวย์, ทอร์คบายยู, มายเซอร์เวย์, ยัววอยส์, ร้อยแปดโพลดอทคอม และวีโหวต เป็นต้น
สถาบันการทำโพลที่มีชื่อเสียงยังต้องใช้เจ้าหน้าที่นักวิจัย ดำเนินการ ประมวลผล แต่ข้อมูลที่ออกมาก็ยังมีการคลาดเคลื่อนได้ จึงไม่แม่นยำ 100% นี่ยังไม่พูดถึงโพลออนไลน์ ซึ่งอาจมีผิดพลาดเกิดขึ้นได้สูงกว่าหลายเท่าตัว
เฟซบุ๊กเว็บไซต์ชื่อดังของโลก ก็ยังมีแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “Poll” ที่สามารถสำรวจความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ บน facebook ได้ เช่น การสำรวจความเห็นเรื่องการเมือง กีฬา หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นการลงมติร่วมกันในกลุ่มคนรู้จัก
ข้อดีของโพลออนไลน์ คือ ความเร็ว ได้ผลลัพธ์ออกมาทันเหตุการณ์ แต่ข้อเสียคือ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการอาจไม่ใช่ มีความผิดพลาดสูงในขั้นตอนการประมวลผล จึงอาจทำให้ข้อมูลเกิดความผิดเพี้ยนไป และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ
ศิรินทิพย์ ยุติกะ กล่าวถึงโพลออนไลน์ว่า ไม่น่าจะมีความน่าเชื่อถือ เพราะการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทางออนไลน์จะใช้รหัสล็อกอินเพื่อเข้าไปตอบคำถาม ซึ่งอาจมีการใช้รหัสที่ซ้ำกันได้ แต่เป็นคนละคนกัน จึงไม่น่าเชื่อถือในเรื่องของกลุ่มตัวอย่างที่มีความสำคัญมากขั้นตอนหนึ่งในการทำโพล ซึ่งต้องดูทั้งเพศ อายุ การศึกษา ฯลฯ จึงอาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการก็ได้ และบางคนอาจตอบไม่ตรงตามความเป็นจริง
ทุกวันนี้โพลเมืองไทยในยุคข้อมูลข่าวสาร ไม่มีสถาบันไหนหรือองค์กรใดยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามีความน่าเชื่อถือจริง ฉะนั้นการฟังความเห็นจากผลโพลสำรวจ จึงควรรับฟังและพิจารณาเสริมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อย่างมีสติ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองก่อนที่จะถูกสื่อมวลชนและผลจากโพลสำรวจต่างๆ ชักจูงความคิดมาใส่หัวคุณง่ายๆ