จะไปส่งรถ...จะไปเติมก๊าซ นี่คือแท็กซี่ไทยที่ใช้อ้างกับผู้โดยสาร อาจไม่ถึงต้องถูกปล้น โดนจี้ แต่ผู้โดยสารก็จำต้องฝากชีวิตบนความเสี่ยงกับคนขับแท็กซี่ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้กว่า 50,000 คนซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถรับจ้างสาธารณะอย่างถูกต้อง วันดีคืนดีอาจโดยปล่อยลงกลางทาง ไม่ใครก็ใครคงต้องเหตุการณ์แบบนี้เข้าสักวัน เพราะเชื่อว่ามีมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนแท็กซี่ทั่วมหานครเสียอีก!
ระวัง! “แท็กซี่ปลอม”
ไม่รู้เลยว่าวันดีคืนดีจะต้องเจอเซอร์ไพร์ซแบบไม่คาดฝันหรือไม่ เพราะภาพลักษณ์แท็กซี่ในปัจจุบันไม่ค่อยดีนัก ถึงแม้ไม่ถึงขนาดปล้นจี้ผู้โดยสาร แต่ก็รู้สึกได้ถึงความไม่เต็มใจบริการ พลอยให้แท็กซี่ดีๆ ถูกเหมารวมให้เสื่อมเสียไปด้วย
ตอนนี้จำนวนแท็กซี่ในกรุงเทพฯ มีทั้งหมดประมาณ 100,000 คัน และในจำนวนนี้คนขับที่มีใบขับขี่รถรับจ้างสาธารณะถูกต้องตามกฎหมายมีอยู่ประมาณ 20,000 คนเท่านั้น นอกนั้นไม่มีใบขับขี่ หรือมีใบขับขี่ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ขับขี่รถจับจ้างได้ (ข้อมูลกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก)
วิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการสหกรณ์แท็กซี่สยาม และเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่คนขับรถแท็กซี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะว่า หากผู้ใดไม่มี หรืออายุไม่ถึงเกณฑ์ ต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขว่าต้องทำอย่างไรให้เกิดใบขับขี่สาธารณะอย่างทั่วถึง โดยเสนอแนวทางคือต้องบังคับใช้ทางกฎหมายมากขึ้น หรือการสร้างแรงจูงใจ
“อาจเป็นการให้สิทธิพิเศษจุดจอดรถสำหรับรถแท็กซี่ ในสถานที่สำคัญต่างๆ และการได้รับส่วนลดหรือสวัสดิการในเรื่องการคุ้มครองคนขับแท็กซี่ ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้คนขับรถแท็กซี่ทำใบขับขี่เพิ่มมากขึ้น”
ถ้าคนขับแท็กซี่มีใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายอย่างถูกต้อง อย่างน้อยมีแค่ครึ่งหนึ่งของคนขับทั้งหมดที่มีอยู่ตอนนี้ก็คงดีแก่ตัวแท็กซี่ และผู้โดยสาร เพราะไม่ใช่แค่ผู้โดยสารที่ต้องนั่งระแวดระวังกลัวคนขับไปตลอดทาง แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่แท็กซี่กลับเป็นเหยื่อถูกปล้น ถูกทำร้ายร่างกายเพื่อชิงทรัพย์เสียเอง
คนขับรถแท็กซี่ย่านตลาดนัดสวนจตุจักร เล่าให้ฟังว่า ผมเคยไปส่งหญิงสาวหน้าตาดีคนหนึ่งในซอยเปลี่ยวกลางดึก ซึ่งไม่มีผู้คน ไม่มีบ้านเลยระหว่างทาง ในแถบจังหวัดนนทบุรี ผู้โดยสารบอกว่านี่เป็นทางลัดเข้าบ้าน ผมจึงถามกลับไปว่า น้องไม่กลัวเหรอ มาคนเดียว แล้วกลับดึกขนาดนี้ เขาตอบกลับด้วยน้ำเสียงธรรมดา ใบหน้าเรียบเฉยว่า ไม่หรอกค่ะ พี่แหละต้องกลัวหนู เพราะหนูนี่แหละจะปล้นพี่เอง คำพูดนั้นมันทำให้ผมเงียบเลยทันที เพราะไม่รู้ว่าเขาพูดเล่น หรือพูดจริง ได้แต่คิดในใจว่าเมื่อไหร่จะถึง พอผู้หญิงลงรถ ผมรีบล็อกประตูและขับออกมาทันที
เรื่องนี้ทำให้ต้องมองอีกมุมหนึ่งของอาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งบ่อยครั้งต้องเจอกับผู้โดยสารที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และเมื่อเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นจริงกับแท็กซี่ปลอมที่ไม่มีทะเบียนประวัติใดๆ เขาจึงไม่มีสิทธิ์ในสวัสดิการคุ้มครองแท็กซี่
ปฏิเสธผู้โดยสาร ผิดกฎหมาย
ถ้าไม่อ้างว่าก๊าซหมด ก็ไปส่งรถไม่ทัน ประโยคเดิมๆ ที่แท็กซี่ชอบใช้ ทำให้ผู้โดยสารจับไต๋ได้ว่าคนขับแท็กซี่ตั้งใจจะไม่รับ (คนไทย) อยู่แล้ว และรับแค่ผู้โดยสารชาวต่างชาติ เพราะให้ทิปมากกว่า ทำให้ชาวเน็ตประโคมโพสต์ความเห็นแง่ลบถึงแท็กซี่กรุงเทพฯ ต่างๆ นานาว่า “แถวประตูน้ำทั้งแถบเลย ในตอนสัก 1-3 ทุ่ม พวกนี้ปฏิเสธหมดทุกคัน เพียงเพราะต้องการรับชาวต่างชาติที่ต้องเหมารถ นี่ไม่นับช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมานะ ไม่รับเลย อยากให้เหมาอย่างเดียว”
“ที่เลวที่สุดอีกที่หนึ่งก็คือ ตลาดนัดสวนจตุจักร เขาแทบจะไม่รับคนไทยเลย จ้องแต่จะไม่กดมิเตอร์หลอกฝรั่ง หลอกญี่ปุ่น ทั้งที่กฎหมายบังคับให้รับลูกค้า เพราะมีสิทธิ์ที่จะจอดรับคนได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ชอปปิ้งลูกค้าไปเรื่อย ทำให้รถติดเพิ่มขึ้นอีกด้วย”
“ที่เห็นปัญหาและเจอกันทุกคน คือ ความมักง่าย เห็นแก่ตัว และเสื่อมทรามของคนขับ อีกทั้งการบังคับใช้การลงโทษที่ยังหละหลอม อยากแก้ไข...ต้องแก้ทั้งระบบ”
มีหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ผู้โดยสารมักโดนแท็กซี่ปฏิเสธเอาเสียดื้อๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเขตเมืองที่มีผู้คนเดินทางสัญจรไปมา อย่างเช่น ขนส่งหมอชิตใหม่ ตลาดนัดจตุจักร ประตูน้ำ ฝั่งตรงข้ามสยามพารากอน และบีทีเอส หมอชิต
จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบก พบว่าในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม การร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 ถึงเรื่องการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารมาเป็นอันดับหนึ่งมากถึง 2,633 ราย ทำให้คนบนโลกออนไลน์ตอนนี้ช่วยกันแชร์โจมตีแท็กซี่ เพราะจะได้โดนปรับให้เข็ดหลาบ แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลจริงหรือไม่!?
เนื่องจากผู้โดยสารบางคนเคยเจอประสบการณ์ไม่ดีกับ สายด่วน 1584 มาแล้ว ด้วยกิริยารับเรื่องร้องเรียนแบบไม่เต็มใจ เมื่อให้เบอร์ติดต่อกลับไว้ ก็เงียบหายเป็นเป่าสาก แต่สำหรับบางคนที่เคยใช้บริการสายด่วนเหมือนกัน บางส่วนรู้สึกพอใจถึงการรับเรื่องร้องเรียน และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการการปรับแท็กซี่คู่กรณีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ว่ากันตามจริง ถ้าจะให้ดีในการรับเรื่องร้องเรียน สามารถสอบสวนได้ไม่ยากนัก เพราะส่วนมากพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นรถเช่า ซึ่งมีผู้ประกอบการอยู่ ฉะนั้นการลงโทษต้องลงลึกถึงเจ้าของอู่ หรือต้นสังกัดให้หนักด้วยเช่นกัน ด้านผู้ให้เช่ารถหรือเจ้าของอู่ก็ควรจัดการผู้เช่าให้เป็นระบบ โดยต้องบันทึกประวัติคนขับรถ หรือคนเช่าเป็นที่แน่นอน ไม่ใช่เกิดเรื่องขึ้นก็ให้มันผ่านๆ ไปแค่นั้น
มาดูความคืบหน้าล่าสุดของการยกเครื่องแท็กซี่ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก ได้จัดทำโครงการจัดระเบียบรถแท็กซี่ ยกเครื่องแท็กซี่ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวในข้างต้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการให้เป็นที่ยอมรับและไว้ใจได้ รวมทั้งความปลอดภัยเมื่อใช้บริการ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อข้อมูลของคนขับรถแท็กซี่ ระหว่างกรมการขนส่งทางบก กับสหกรณ์รถแท็กซี่ทั่วประเทศ เพื่อจะนำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบ เมื่อมีผู้ใช้บริการร้องเรียน ทางศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ 1584
“คาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยแก้ปัญหา และทำให้คนขับรถแท็กซี่เคารพและเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎระเบียบมากขึ้น”
ชะลอปรับขึ้นค่าแท็กซี่
เห็นว่าจะปรับขึ้นค่าแท็กซี่ แต่สุดท้ายก็ถูกเลื่อนออกไปก่อน!?
จากที่คาดว่าควรจะให้ปรับขึ้นภายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบการปรับขึ้นราคาก๊าซให้แก่ผู้ประกอบการ และเชื่อว่าหากได้รับการปรับขึ้นค่าโดยสาร จะเป็นการสร้างแรงจูงใจไม่ให้คนขับปฏิเสธการรับผู้โดยสาร แต่แล้วก็ยังไม่มีการปรับค่าโดยสารแต่อย่างใด
โดยเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่นำเสนอกรอบการปรับขึ้นค่าโดยสาร เริ่มต้นกิโลเมตรที่ 0-1 อัตราค่ามิเตอร์ 35 บาทเท่าเดิม แต่จะปรับในระยะทางจากกิโลเมตรที่ 2-50 อัตราค่ามิเตอร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12% กิโลเมตรที่ 51-150 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% และมากกว่า 151 กิโลเมตรเป็นต้นไป อัตราค่ามิเตอร์เพิ่มขึ้น 15%
ธนณัฏฐ์ เกรียงไกรวศิน ผู้ขับรถแท็กซี่ จังหวัดนนทบุรี บอกว่า เรื่องปรับค่าแท็กซี่ ผมคิดว่าตอนนี้ผู้โดยสารเขาก็มีภาระค่าใช้จ่ายเยอะเหมือนกัน ถ้าในความคิดส่วนตัวของผม เราควรเข้มงวดกับการใช้จ่ายของตัวเราเองดีกว่า มันถึงจะอยู่ได้ และเรื่องการขึ้นราคาแท็กซี่ คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่นะครับ ไม่ใช่ว่าจะขึ้นได้เลยทันที คงต้องใช้เวลา” เช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่อีกหลายคนที่คิดว่าการปรับขึ้นค่าโดยสารไม่ได้เรื่องง่าย แต่ก็ยังคงมีความหวังว่าปลายปีนี้ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง
“ตอนนี้รัฐให้บัตรส่วนลดใช้ในการเติมก๊าซแทนเงินสดได้ครั้งละ 20 บาท ส่วนบัตรเครดิตพลังงานก็ใช้ได้เหมือนกัน มีวงเงินเดือนละ 3,000 บาท เหมือนบัตรเครดิตทั่วไป มันแล้วแต่คนจะเลือกใช้”
การให้สิทธิ์ส่วนลดต่างๆ แก่แท็กซี่โดยเฉพาะการให้สิทธิ์ใช้เงินอนาคต อย่างบัตรเครดิตพลังงาน ซึ่งผู้ขับแท็กซี่บางคนยังไม่แน่ใจเลยว่าจะเป็นการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่?
ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ที่จะสร้างความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาแท็กซี่อย่างจริงจัง หรือท้ายที่สุดแล้วก็คงได้แต่ “คาดว่า...!?” เท่านั้น
5 จุดหลัก ที่แท็กซี่ไม่จอดรับผู้โดยสาร (คนไทย)
1.ขนส่งหมอชิตใหม่
2.ตลาดนัดจตุจักร
3.ประตูน้ำ
4.ฝั่งตรงข้ามสยามพารากอน
5.บีทีเอส หมอชิต
ข่าวโดย Manager LIVE