xs
xsm
sm
md
lg

“พิม” นักซิ่งหน้าหวาน หัวใจห้าวเป้ง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณเซ็ตแฟชั่นแข่งรถจากบริษัท สิทธิผล กรุ๊ป
เพราะเธอคือ “นักแข่งดาวรุ่งหญิงที่น่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้” จึงไม่อาจปล่อยให้ซิ่งรถผ่านไปเฉยๆ ได้ ขอเพิ่มดีกรีความกล้า บ้าบิ่น แล้วเหยียบคันเร่งให้มิดไมล์ไปกับสาวหน้าหวานคนนี้ ไปบนเส้นทางที่พร้อมจะพลิกคว่ำได้ตลอดเวลา อย่างที่หุ่นเพรียวบางหลังพวงมาลัยบอกเอาไว้ว่า “ไม่เคยกลัวอะไรอยู่แล้วค่ะ”

หากเคยติดตามข่าวคราววงการ Racing Sport บ้าง จะคุ้นชื่อ “พิม-พิมพรรณ หงษ์ปาน” เป็นอย่างดี เพราะเธอเข้ามาขับเคลื่อนอยู่ในวงล้อแห่งความเร็วนี้ตั้งแต่อายุ 15 ด้วยฝีเท้าไม่ธรรมดาจึงส่งให้กลายเป็นนักแข่งอายุน้อยที่น่าจับตามองมาโดยตลอด ล่าสุดเพิ่งเหยียบคันเร่งทะยานไปคว้าแชมป์ในรายการ “โตโยต้า วีออส เลดี้” มาได้สำเร็จด้วยวัยเพียง 19 ปี พ่วงด้วยดีกรีนิสิตเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กลับยิ่งเพิ่มมิติในตัวเธอให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

อะไรทำให้สาวน้อยหน้าหวาน อนาคตผู้บริหาร หันมาคลั่งไคล้โลกแห่งความเร็วได้มากขนาดนี้ ต้องลองสตาร์ทเรื่อง ดริฟต์ล้อ เข้าเกียร์ถอยหลังสู่มุมลับๆ ของหญิงสาวมาดมั่นคนนี้เสียหน่อยแล้ว


 

สายเลือดนักแข่ง
ดูเหมือนว่าอาการรักความเร็วจะสืบทอดมาทางพันธุกรรม เพราะสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นคุณลุง คุณพ่อ จนตกมาถึงพี่ชายของเธอ “เพียว หงษ์ปาน” ซึ่งปัจจุบันเป็นนักแข่งรถมือรางวัลอันดับต้นๆ โดยมีพิมดำเนินรอยตามมาติดๆ เพราะฉะนั้นแรงบันดาลใจในการเหยียบคลัตช์ เปลี่ยนเกียร์ครั้งแรกจึงไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คือฮีโร่ใกล้ตัวนี่เอง

“มีพี่เพียว (พี่ชายคนโต) กับคุณลุงเป็นไอดอลค่ะ เราเห็นพี่เราแข่งมาตลอด ปีที่แล้วพี่เขาก็เพิ่งได้แชมป์ไป พี่เพียวจะคอยสอนตลอดเลย ทุกสนาม ทุกครั้งที่ไปซ้อม ทุกครั้งที่ไปแข่ง คุณพ่อคุณลุงก็ตามมาสมทบด้วยตลอด (ยิ้ม) เพราะทั้งสองคนเคยแข่งรถเหมือนกันค่ะ เคยตามไปดูคุณลุงกับพี่เพียวแข่งตั้งแต่อายุ 13-14 เห็นว่ามีรุ่นผู้หญิงแข่งด้วย เราก็เลยสนใจ พ่อเขาเห็นเลยถามว่าอยากลองไหม ปรากฏว่าปีถัดมาก็ได้ลงแข่งจริงเลยค่ะ” พิมเท้าความให้ฟัง

ถึงตอนนี้เธอก็ยังหาคำตอบให้แก่ตัวเองไม่ได้ว่าอะไรดลใจให้หลงใหลในความเร็ว “ครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้เกี่ยวกับการแข่งรถเลย แต่คุณพ่อชื่นชอบอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก เลยอาจจะส่งผ่านสายเลือดมาหรือเปล่า (หัวเราะ)” สาวหน้าหมวยได้แต่หาเหตุผลติดตลกอธิบายไว้อย่างนั้น แต่ถ้าให้ย้อนกลับไปมองจริงๆ ก็พอจะเห็นเค้าอยู่เลาๆ ตั้งแต่ตัวยังเท่ามด

“ทุกคนก็จะชอบแย่งกันนั่งตักคุณพ่อตอนขับรถไปไหนมาไหนประจำเลยค่ะ พี่เพียว (พี่ชายคนโต) กับพี่พีค (พี่ชายคนกลาง) ก็เป็นเหมือนกัน แต่พอถึงทีเราเมื่อไหร่จะรู้สึกมีความสุขมาก คุณพ่อขับไป เราก็นั่งจับพวงมาลัยไปด้วย ทำเหมือนได้ขับเองเลย (ยิ้ม) ตอนนั้นก็คงพอใจแค่นั้นแหละค่ะ จนเริ่มได้หัดขับรถเอง พอดีมีรถอยู่ที่บ้านก็เลยขอคุณพ่อเอาออกมาหัดขับเป็นครั้งแรก ประมาณ ม.2-ม.3 ได้”

“ตอนนั้นอยู่โรงเรียนประจำค่ะ คุณย่าจะเป็นคนขับรถไปรับทุกอาทิตย์ พอขากลับเราก็จะขอขับกลับตลอด ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอายุยังไม่ถึง ยังสอบใบขับขี่ไม่ได้นะ (ยิ้ม) หรือเวลาออกไปกินข้าวกับคุณพ่อก็จะขอขับเอง จนประมาณ ม.4 ก็เริ่มหัดขับเกียร์ manual เป็นรถมิตซูอีโวค่ะ คุณพ่อซื้อมา 2 คัน ให้พี่ชายคันหนึ่ง เหลืออีกคัน เราก็เลยขอมาขับดู ก็เลยขับเกียร์ธรรมดาเป็นมาตั้งแต่ตอนนั้น”

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ หัดขับกิ๊กก๊อกไปเรื่อย จนตอนนี้กลายเป็นนักซิ่งระดับประเทศแล้ว พิมก็ยังคงฝึกซ้อมขับไม่เลิก โดยเฉพาะสนามแก่งกระจาน เซอร์กิต จ.เพชรบุรี เป็นสถานที่ที่เดินทางไปซ้อมบ่อยมาก เนื่องจากเจ้าของพื้นที่คือคุณลุงของเธอเอง ไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดฝีเท้าของเธอจึงก้าวกระโดดได้รวดเร็วขนาดนี้ เพราะมีผู้สนับสนุนเพียบพร้อมอย่างนี้นี่เอง

“สนามตรงนั้นเพิ่งสร้างใหม่ด้วยค่ะ ก็เลยมีโค้งหลายๆ แบบให้ซ้อมให้ฝึกได้ครบเลย มีทั้งโค้งยูเทิร์นเล็ก, โค้งอ้อมใหญ่ๆ, โค้งแบบมองไม่เห็นทางโค้งต่อไป หรือโค้งซิกแซ็ก เยอะมาก ก็พยายามไปซ้อมให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าเราก็ยังเป็นนักแข่งมือใหม่อยู่ เพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นพัฒนาตัวเอง เลยจะพยายามไปเดือนละครั้ง แต่ถ้าเป็นช่วงก่อนแข่งก็จะซ้อมถี่ขึ้น ทุกอาทิตย์เลย”

อีกหนึ่งเบื้องหลังความสำเร็จคือโค้ชฝีมือฉกาจซึ่งมีถึง 3 คนด้วยกัน “พี่เพียวจะช่วยสอนตลอดเลยค่ะ ทุกสนาม ทั้งสนามซ้อม ทั้งสนามแข่ง คุณพ่อกับคุณลุงจะคอยช่วยด้วยตลอด (ยิ้ม) ส่วนใหญ่จะช่วยดูว่าโค้งไหนควรขับยังไง ต้องเบรกช่วงไหน เพราะก่อนแข่งแต่ละครั้ง เขาจะเปิดสนามให้ซ้อมกันก่อนอยู่แล้ว ก็เลยมีเวลาวางแผนและเตรียมตัว เราก็ค่อยๆ ปรับตัวเองจากการดูพี่เขาเป็นตัวอย่าง ดูว่าเขาใจเย็นแล้วประสบความสำเร็จได้นะ เราก็ต้องทำให้ได้อย่างนั้นบ้าง


 

เฉือนกันที่ฝีมือ
รายการที่นักซิ่งหน้าใสรายนี้เพิ่งกวาดรางวัลมาเรียกว่าประเภท “One Make Race” ผู้เข้าแข่งขันจะใช้รถรุ่นเดียวกัน ปรับแต่งทุกอย่างเหมือนกัน ต่างกันอยู่ที่ความสามารถของคนเหยียบคันเร่งเท่านั้นเอง จึงถือเป็นการแข่งโดยวัดจากฝีมือของจริง “จะตัดสินกันด้วยความเร็วค่ะ ต้องแข่งกันที่เทคนิคการเลี้ยว การแซง ไม่ได้วัดกันที่เงินเยอะกว่า แต่งเครื่องได้เยอะกว่า แต่แข่งแบบนี้ยุติธรรมดีค่ะ ทุกคนมีสิทธิ์ชนะเท่าๆ กัน รถเหมือนกัน สนามเหมือนกัน แค่คนขับคนละคน”

“ที่เลือกแข่งแบบนี้มาตลอด อย่างแรกเพราะคิดว่ามันเป็นการแข่งกับผู้หญิงด้วยกันเองหมดเลย น่าจะเหมาะกับการเริ่มต้น เริ่มจากสิ่งที่คิดว่าง่ายที่สุดก่อน เราอยากให้ประสบความสำเร็จแค่จุดเล็กๆ จุดนี้ให้ได้ก่อน แล้วจากนี้ต่อไปจะพัฒนาไปทางไหนก็ค่อยว่ากัน แต่ถ้าแค่จุดที่ง่ายที่สุด เรายังไม่ประสบความสำเร็จ เราจะก้าวอีกก้าวหนึ่งต่อไปได้ยังไง

“เราอาจจะไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่ถ้าเทียบกับน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาแข่ง เราก็ถือว่ามีประสบการณ์มากว่าบ้างเพราะแข่งมาหลายปีแล้วเหมือนกัน ปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้วก็เพิ่งได้แชมป์นี่แหละค่ะ (ยิ้มกว้าง) เราเคยพลาดมาก่อน เคยรู้ว่าโค้งแบบนี้นะที่เราทำไม่ได้ เราก็ไปปรับปรุงตัวเอง แต่ละปีสนามที่แข่งก็จะต่างกันไป เราก็ต้องติดตาม ไปหัดฝึกหัดซ้อม แล้วก็พัฒนาตัวเองอยู่ตลอด”

ถ้าให้มองย้อนกลับไปในวันที่ยังคงเป็นมือใหม่อยู่นั้น เธอก็มีความทรงจำที่เคยพลาดพลั้งคอยย้ำเตือนอยู่ตลอดเหมือนกัน

สนามแรกแข่งตอนอายุ 15 ค่ะ ขับช้ามาก (เน้นเสียง) ตอนนั้นยังไม่ลงเรียน racing school เหมือนคนอื่นๆ เขาด้วยค่ะ ไม่มีประสบการณ์อะไรเลย ขับไปเรื่อยๆ ได้เข้าประมาณที่ 6 ที่ 7 พอปีที่สองเราก็เริ่มไปเรียน แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมา เขาก็จะมีสอนเทคนิคว่าเราต้องเลี้ยวยังไง เบรกแบบไหน โค้งองศาขนาดนี้ต้องเบรกที่ไหน หักเลี้ยวที่เท่าไหร่ ดูการควบคุมรถ ถ้าเกิดเบรกล็อกต้องทำยังไง ถ้าหน้าแถจะแก้ยังไง ปฏิกิริยาในรถที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในตอนที่ขับ”

จากวันนั้นถึงวันนี้ เรียกได้ว่าพื้นฐานแน่น ถามได้ตอบได้ ดูแลเครื่องยนต์เองได้เกือบทั้งหมดแล้ว แต่ด้วยความที่มีคุณลุง คุณพ่อ และพี่ชายคอยประคบประหงม บางทีก็กลายเป็นข้อเสียได้เหมือนกัน

“การมีทั้งพี่ชาย ลุง คุณพ่อที่จะคอยบอก คอยเช็กรถให้ตลอดเลย บางทีก็ทำให้เรานิสัยเสียเหมือนกันนะ (ยิ้มบางๆ) หลังๆ เลยพยายามจะดูเองเหมือนกันค่ะ เผื่อวันหนึ่งขับๆ อยู่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจะได้ช่วยตัวเองได้ ตอนนี้ก็พอเช็คเครื่องเป็นบ้าง ดูหม้อน้ำ สังเกตควันเป็น ไม่ใช่แค่ควันสีดำๆ ที่จะดูน่ากลัวและต้องระวังอย่างเดียว ถ้ามีควันสีขาวออกมาจากตัวเครื่องก็ต้องหยุดเช็กเหมือนกันค่ะ แสดงว่ามีน้ำมันเครื่องหลุดเข้าไปห้องเครื่อง” สาวมาดมั่นอธิบายได้อย่างมืออาชีพ
 


 

ขับมาราธอน
นอกจากจะต้อง “ขับเร็ว” แล้ว อีกหนึ่งคุณสมบัติของนักแข่งที่ดีคือต้อง “ขับทน” ด้วย โดยเฉพาะเมื่อเข้าแข่งขันรายการประเภท “Endurance” หรือพูดง่ายๆ คือขับมาราธอนนั่นเอง รูปแบบที่ว่าคือนักแข่งต้องแบ่งทีมกัน ทีมละประมาณ 4 คน เวียนกันขับคล้ายๆ กับวิ่งผลัด นักแข่งแต่ละคนมีเวลาเหยียบคนเร่งอยู่ในรถไม่เกินคนละ 45 นาที จากนั้นต้องออกมาผลัดให้คนอื่นขับ ซึ่งปกติแล้วสนามหนึ่งจะตั้งเวลาจำกัดไว้ที่ 6 ชั่วโมง ทีมไหนขับภายในระยะเวลาที่กำหนดและได้จำนวนรอบมากที่สุด ก็จะเป็นฝ่ายชนะไป ฟังดูน่าสนุก แต่เอาเข้าจริงแอบต้องอาศัยประสบการณ์หลายๆ อย่างมามิกซ์รวมกัน ถือว่าเป็นการแข่งอีกหนึ่งรูปแบบที่ยากมากเหมือนกัน

เคยแข่งแบบมาราธอน 6 ชั่วโมงค่ะ ซึ่งถือว่ายากนะ เพราะเราต้องดูแลรถด้วย เทียบกับ one make race เราจะแข่งแค่ครึ่งชั่วโมงแค่นั้นเอง แล้วแต่ระยะทาง ถ้าแค่ 3 กิโลเมตรก็จะวนขับแค่ 8-9 รอบ ก็เสร็จแล้ว แต่ถ้าเป็นแบบ endurance จะแข่งกัน 5-6 ชั่วโมง ใช้เวลาเป็นตัวกำหนด เพราะฉะนั้นเรื่องการดูแลรถก็สำคัญ คือถ้าขับแค่ 30 นาที รถเราไม่เป็นอะไรอยู่แล้ว แต่แข่งแบบมาราธอน รถมันวิ่ง 6 ชั่วโมงด้วยความเร็วสูงโดยที่ไม่ได้พักเลย รถก็อาจจะพังได้ แล้วถ้าเราวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดโดยที่ไม่ดูแลรถ ไม่คอยสังเกตอาการของรถเลย รถเราก็อาจจะพังก่อนจะครบ 6 ชั่วโมงแล้วก็จบการแข่งขันไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเอาแต่เหยียบคันเร่งอย่างเดียวไม่ได้ค่ะ ต้องสมดุลหลายๆ อย่างเลย”

อีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคือ “สุขภาพ” หลายคนที่ไม่เคยขับรถแข่งอาจจะมองว่าแค่อยู่ในรถ อาจไม่ได้สูญเสียพลังงานมากมายเท่ากีฬาชนิดอื่น แต่ความจริงแล้วโหดเอาการเหมือนกัน

“45 นาทีจะว่านานไหม มันก็รู้สึกไม่ได้นานมากนะคะ เพราะระหว่างที่ขับเราก็ลุ้น เราก็ตื่นเต้นของเราไปเรื่อย อีกอย่างคนเยอะด้วยค่ะ ก็เลยมัวแต่จดจ่ออยู่กับการขับรถ เลยอาจจะลืมไปว่าอยู่ในรถนานหรือเปล่า แต่ถ้าใครร่างกายไม่พร้อม อาจจะรู้สึกว่ามันนานมากๆ เลยก็ได้ เพราะเวลานั่งขับแล้วต้องใส่ชุดแข่งรถมันร้อนมากนะ ทั้งตัวชุดที่แน่นมาก ใส่ถุงมือ หมวกกันน็อก แล้วก็รองเท้าด้วย แล้วต้องนั่งอยู่ในนั้นโดยที่ในรถไม่มีแอร์ ถ้าอยู่นานๆ ร้อนมากๆ ร่างกายก็จะล้า บางคนก็อาจจะขับไม่ไหว เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมตัวเองให้แข็งแรงเพื่อให้ขับไหวได้ทุกรอบ ต้องฟิตร่างกาย เล่นกีฬาด้วยค่ะถึงจะรอด”

“กำลังใจ” ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักซิ่งเหมือนกัน ถึงแม้ว่าในขณะแข่งขัน คนขับอาจมองไม่เห็นกองเชียร์ริมสนาม เพราะต้องมีสมาธิจดจ่ออยู่กับความเป็นความตายตรงหน้า แต่พิมก็ยังยืนยันว่ามีคนเชียร์ดีกว่าไม่มีเลย “เราว่ากองเชียร์มีผลเหมือนกันนะ ทุกครั้งที่มีคนไปเชียร์ก็จะรู้สึกมีกำลังใจกว่าเก่า ถึงตอนขับรถแข่งอยู่เราอาจจะไม่ได้มองหรือมองไม่เห็น แต่เราก็รู้ว่าเพื่อนเรายืนเชียร์อยู่ เราก็ไม่อยากทำให้เขาผิดหวัง เขาอุตส่าห์มาเชียร์เรานะ เราก็อยากชนะอย่างที่เขาอยากให้เราชนะ อยากให้ดีใจไปด้วยกันค่ะ”


 

เบียดแหลก
บางช่วงเวลานักแข่งก็อาจมีวิญญาณ “ตีนผี” เข้าสิงได้เหมือนกัน นี่ไม่ได้มุก แต่พิมยืนยันไว้อย่างนั้นจริงๆ “บางคนใส่หมวกลงสนามแล้วกลายเป็นอีกคนหนึ่งเลยค่ะ บางทีเรายังงงเลย เฮ้ย! คนที่เราคุยด้วยเมื่อกี้นี้หายไปไหนแล้ว ทำไมคนที่อยู่ในสนามคนนั้นถึงขับโหดจัง เราก็เคยเจอคนที่ขับรถค่อนข้างแย่เหมือนกันค่ะ ขับแล้วไปชนไปเบียดคนอื่นตลอด เพื่อให้อีกฝ่ายเสียหลักหรือหลุดออกไปจากการแข่งขัน แบบนั้นถือว่าขับแบบไม่มีมารยาทนะ ซึ่งเขาก็จะโดนยกธงขาวดำเตือนนะว่าทำแบบนี้ไม่เหมาะสม ถ้าทำบ่อยๆ ก็จะถูกตัดคะแนนหรือไม่ก็ไล่ออกจากการแข่งขัน”

“ก็อยากจะบอกนักแข่งที่ขับไม่ค่อยมีมารยาทว่าก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักแข่ง เราก็เรียนรู้กติกาอยู่แล้ว มีการเข้าอบรมกัน อยากให้เอามาใช้ด้วยค่ะ อย่าเอาอารมณ์มาเป็นหลัก เข้าใจว่าบางคนอาจจะใจร้อน แต่ถ้ามองกลับไปแล้วรู้ว่าแข่งแบบรุนแรงมากเกินไปมันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ก็อยากให้ค่อยๆ ปรับปรุงตัวให้ใจร้อนน้อยลง”

“โชคดีที่พิมไม่เคยโดนเบียดโหดๆ แบบนั้นกับตัว เคยมีถูกชนก้นตอนเลี้ยวๆ อยู่เหมือนกันค่ะ เป็นโค้งแรกจากจุดเริ่มต้น เพราะช่วงนั้นจะแข่งขันสูงมาก วุ่นวายมาก ทุกคนทุกคันก็อยากจะแซงไปอยู่ข้างหน้าเพื่อทำระยะห่าง เพราะฉะนั้นโค้งแรกเลยเป็นโค้งที่จะมีปัญหาเยอะที่สุดเลย (ยิ้มเนือยๆ) แต่ถ้าผ่านโค้งแรกไปได้ นอกนั้นก็สบายแล้ว คนส่วนใหญ่เขาจะถือว่าถ้านำไปได้ภายในโค้งแรกก็จะสบายขึ้นไปหนึ่งระดับ เพราะหลังจากนั้นเราก็ขับด้วยความเร็วคงที่ของตัวเองไปเรื่อยๆ ถ้านำตั้งแต่แรกได้ก็ยากที่คนอื่นจะตีตื้นขึ้นมาแซงได้”

พิมเองก็เคยเป็นหนึ่งในบรรดาตีนผีที่ขับเคี่ยวแข่งขันอยู่กับโค้งแรกแบบเอาเป็นเอาตายเหมือนกัน “ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าไม่ว่าจะยังไงต้องแซงให้ได้ภายในโค้งแรก แต่พอแข่งไปหลายๆ สนามเข้าก็เริ่มเรียนรู้ว่ามันไม่จำเป็นค่ะ คุณลุงกับพี่เพียวก็จะเตือนตลอดว่าให้ใจเย็นๆ โค้งแรกไม่ใช่ตัวตัดสินทุกอย่างนะ โค้งแรกแค่ประคับประคองตัวเองไปก็พอ แต่ถ้ารีบตั้งแต่โค้งแรกแล้วพลาดเนี่ย ต้องขับแก้อีกตั้งหลายรอบกว่าจะตีตื้นขึ้นมาได้ ซึ่งมันก็จริงค่ะ ขับระวังๆ มันดีกว่าไปชนคนอื่นเขาแล้วรถเสีย แข่งต่อไม่ได้อยู่แล้ว” อันนี้พูดมาจากประสบการณ์ตรง เพราะเธอเคยทู่ซี้จะแซงจนชนเข้ากับทางโค้งอย่างจังมาแล้ว

“ครั้งนั้นน่าจะถือเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวที่สุดแล้วค่ะ ด้วยความใจร้อนของเรา ขับแรกๆ จะไม่ยอม จะต้องแซงให้ได้ทุกโค้ง จริงๆ แล้วมันควรจะผ่อนคันเร่ง 50 เมตรก่อนถึงทางเลี้ยว แต่เราอยากแซง เราก็ไปเบรกตอนเหลืออีก 20 เมตรก่อนเลี้ยว พอเลี้ยวปุ๊บก็เลยไม่พ้น ชนเข้ากับโค้งเต็มๆ เลย รถก็เสียหายเยอะเหมือนกันค่ะ ครั้งนั้นก็ถือเป็นบทเรียนไป อย่างที่บอกว่าความจริงแล้วมันยังมีหลายโค้งให้แซงได้ ต้องใจเย็นๆ”

ใครที่เคยมองว่าขับรถแล้วทำให้ยิ่งใจร้อน ขอให้คิดทบทวนสมมติฐานข้อนี้เสียใหม่ เพราะผลลัพธ์ที่พิมพิสูจน์ด้วยตนเอง มันออกมาในทางตรงกันข้าม คือแข่งรถแล้วกลับใจเย็นลงมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าด้วยซ้ำ

“มันทำให้เรารู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร พอแข่งรถบ่อยๆ เข้าก็รู้สึกว่าความคิดโตขึ้นเหมือนกัน มีสมาธิมากขึ้น ถ้าเป็นแต่ก่อนจะใจร้อน คิดแต่เรื่องชนะอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ทักษะเราอาจจะยังไม่ดีพอ มีแต่ใจอยากแซงอย่างเดียว เลยอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ขับแบบนี้รู้เลยว่าเรื่องสมาธิเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องไม่ตื่นเต้น ไม่ลน แต่ละสนามที่ผ่านมามันทำให้ความตื่นเต้นเวลาเกิดเหตุคับขันน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้เอามาใช้กับเรื่องอื่นในชีวิตประจำวันได้เหมือนกันนะคะ มันทำให้เราเป็นคนตื่นตูมหรือกระวนกระวายกับเหตุการณ์ที่เข้ามา ได้อะไรๆ จากการแข่งรถหลายอย่างเลยค่ะ”


 

นาทีชีวิต!
ประสบการณ์ชนเข้ากับหัวโค้งอย่างจังยังไม่เท่าไหร่ มือดริฟต์อย่างเธอยังมีนาทีชีวิตให้ได้ลุ้นระทึกมากกว่านั้นอีก เพราะพิมเคยพลาดถึงขั้นรถพลิกคว่ำลอยเคว้งอยู่ในอากาศ 2 ตลบมาแล้ว!

คว่ำ 2 ตลบเลยค่ะ (บอกเล่าด้วยสีหน้าระทึก) แต่ไม่เป็นอะไรนะ เพราะรถแข่งมีระบบเซฟตี้ดีอยู่แล้ว ตอนนั้นอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้มากกว่า ยังมีประสบการณ์ไม่มาก เพิ่งขับได้แค่ปีเดียวค่ะ ในสนามเหมือนมีสิ่งกีดขวางอะไรสักอย่างวางอยู่ น่าจะเป็นกันชนหน้าของรถสักคันหนึ่งทำหล่นไว้ เรามองเห็นแล้วแต่ไม่แน่ใจว่าจะเหยียบทับไปเลยดีไหมหรือจะหักหลบ ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่มีประสบการณ์จะรู้กันว่าเหยียบทับไปได้เลย กันชนหน้าเหล็กไม่ได้แข็งมากอยู่แล้ว แต่เรายังใหม่เลยไม่รู้จะตัดสินใจยังไงดี แล้วมันเป็นทางโค้งพอดี สุดท้ายเลยตัดสินใจหักหลบด้วยความเร็วสูงในตอนที่เลี้ยวโค้งอยู่ด้วย รถก็เลยเสียการทรงตัวแล้วก็ไปเบียดเข้ากับฟุตปาธพอดี คว่ำเลยค่ะ”

“ออกมาจากรถก็ไม่ได้มึนอะไร แค่รู้สึกเสียดายมาก (หน้าตาบ่งบอกความรู้สึก) ตอนนั้นยังสงสัยอยู่ในใจว่าตกลงเราจะเหยียบหรือหักหลบดี พอเล่าให้คุณลุงกับพี่เพียวฟัง เขาก็บอกว่าจริงๆ แล้วเหยียบได้เลย ก็เลยเสียดายมากค่ะ ถ้าไม่หักหลบตอนนั้น เราก็ยังแข่งได้ต่อ แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ไปค่ะ ต่อไปเจออะไรแบบนี้อีกเราก็จะได้รู้ ต้องใช้ไหวพริบของตัวเองตัดสิน ณ ช่วงเวลานั้นว่าอะไรควรหลบ อะไรเหยียบผ่านไปได้เลย แต่ส่วนใหญ่เหตุการณ์แบบนี้จะไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่นะ เพราะเวลามีอะไรหลุดมากีดขวางทาง จะมีคนดูแลถนนคอยเก็บให้อยู่แล้ว แต่ที่ตอนนั้นเก็บไม่ทัน อาจจะเพราะรถของพิมตามคันก่อนหน้านั้นมาติดๆ เขาก็เลยเก็บไม่ทันค่ะ”

ดูในแววตาเธอจะไม่มีความกลัวหลงเหลืออยู่เลยแม้ขณะที่เล่าถึงนาทีระทึกขนาดนั้น จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าวินาทีนั้นพิมรู้สึกอย่างไรกันแน่ และคำตอบที่ได้ยิ่งทำให้รู้จักหัวใจที่กล้าและบ้าบิ่นของเธอมากขึ้นไปอีก “ตอนที่คว่ำก็รู้สึกตัวหมุนๆ อยู่ในรถค่ะ แต่ในหัวตอนนั้นแค่รู้สึกผิดหวังแล้วก็กลัวโดนด่าอย่างเดียว (หัวเราะ)” ขอถามย้ำๆ อีกครั้งว่า “ไม่รู้สึกกลัวเลยหรือ?” พิมส่ายหน้าด้วยท่าทีไม่คิดมากแล้วตอบแบบสบายๆ

เป็นคนไม่เคยกลัวอะไรแบบนี้อยู่แล้วค่ะ เป็นเพราะเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมบ่อยมั้งคะ เลยไม่ได้ตกใจอะไร พยายามเซฟตัวเองให้ได้มากที่สุดนาทีนั้น กอดตัวเองไว้ค่ะ (ทำท่าเก็บมือทั้งสองข้างโอบแขนตัวเอง) เคยได้ยินมาว่ามีนักแข่งรถบางคน รถเสียหลักแล้วพยายามไปฝืนพวงมาลัย พอคว่ำมือยังคาอยู่ในนั้น พวงมาลัยก็เลยตีข้อมือหักเลย ก็เลยไม่อยากเป็นอย่างนั้นค่ะ ต้องพยายามขยับตัวให้น้อยที่สุด อย่าตื่นเต้นตกใจ อย่างน้อยเราก็มีเข็มขัดนิรภัยช่วยไว้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว”

“พอสักพักรถอยู่กับที่ เราก็ปลดเข็มขัด ส่วนพี่ๆ ที่ดูแลอยู่ตรงนั้นก็กรูกันเข้ามาชกกระจกแล้วก็ดึงตัวเราออกไป ถามว่าน้องพิมเป็นยังไงบ้างครับ เราก็บอกไม่เป็นไรเลยค่ะพี่ แต่ตอนนั้นต้องให้เขาลากออกมาทางกระจกนะ (ยิ้ม) เพราะประตูเปิดไม่ได้แล้ว ถามว่ากลัวไหม ถ้าครั้งต่อไปต้องแข่งสนามเดิมแล้วผ่านโค้งนั้นอีก ก็จะรู้สึกเหวอๆ นิดหนึ่งค่ะ แต่ก็ไม่ได้มากมาย”

ทุกครั้งที่ขับรถเคยคิดไหมว่าฉันอาจจะมีโอกาสตายหรือพิการได้? ท่าทีไร้ความกลัวของเธอดึงให้คำถามนี้ลอยออกไป สาวหน้าหมวยยังคงยิ้มสบายๆ แล้วย้ำให้รู้จักตัวตนของเธอผ่านคำตอบนี้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ไม่เคยนะ (ยิ้มเย็นๆ) จริงๆ ไม่กลัวด้วย แล้วก็ไม่ได้ประมาทนะ แต่วัดจาก 5-6 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นใครแข่งรถแล้วเป็นอะไรเลยนะ ครอบครัวเราก็เข้าใจ คุณแม่กับคุณย่าอาจห่วงมากหน่อยเพราะเห็นเราเป็นผู้หญิง แต่เขาก็ไว้วางใจค่ะเพราะมีทั้งคุณพ่อ คุณลุง แล้วก็พี่ชายที่เล่นมาก่อนแล้วยังปลอดภัยดี”

“คุณพ่อเขารู้ค่ะว่ามันไม่อันตรายถึงขั้นหนักขนาดนั้น อย่างน้อยก็ยังเป็นเหล็กหุ้มหนังอยู่น่ะค่ะ ไม่เหมือนขี่มอเตอร์ไซค์ที่เป็นหนังหุ้มเหล็ก ล้มนิดเดียวก็เป็นแผลแล้ว แต่นี่ถึงชน รถเราเป็นแผลแต่ตัวเราไม่ได้เป็น โอกาสชนแรงๆ มันก็อาจจะมี แต่ถึงขั้นบาดเจ็บหนักๆ เลยไหม มันน้อยมากนะ เพราะชุดนักแข่งที่ใส่อยู่ก็เซฟมากๆ ค่ะ กันไฟทั้งตัวเลย ทั้งชุด หมวก ถุงมือ รองเท้า แล้วตัวรถก็มีโครงเหล็กแน่นหนามาก ถ้าไปดูหลังคาข้างในจะเห็นว่ามีเหล็กค้ำไว้เยอะมาก ถึงจะชนแรงหรือคว่ำกี่ตลบ เราก็จะไม่ถูกบีบไปกับตัวรถแน่นอน” ตอบแบบนี้ ไม่ห้าวเป้งก็ไม่รู้จะเรียกอะไรแล้ว


 

แว้นให้เป็นที่ ตีนผีให้เป็นทาง
ถึงบนสนามแข่งเธอจะเหยียบคันเร่งได้อย่างไร้ความกลัวครอบงำในจิตใจ แต่ในสนามจริงพิมไม่เคยสวมวิญญาณตีนผีเลยสักครั้ง แต่กลับขับด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุดเสมอ ทั้งยังไม่เคยนึกเหิมเกริมอยากเหยียบให้มิดไมล์บนถนนสาธารณะด้วย เพราะรู้ดีว่ามันไม่เหมือนกัน

เรามีสนามที่ปลอดภัยให้เราไปซ้อมไปแข่ง ให้ไปเหยียบคันเร่งปลดปล่อยในนั้นได้อยู่แล้ว เรามีตรงนั้นแล้ว เราก็พอใจแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาปลดปล่อยในที่สาธารณะ แถมยังมีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำอีกตั้งมากมายค่ะ ไปปลดปล่อยกับอย่างอื่นดีกว่าที่ไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน”

“พูดจริงๆ พิมว่าขับรถในชีวิตประจำวันยังไงก็อันตรายกว่าเยอะนะ เพราะถ้าอยู่ในสนามแข่ง ทุกคนจะเคารพกฎกติกา ขับอย่างระมัดระวังเพื่อเข้าให้ถึงเส้นชัย แต่ถ้าขับในท้องถนน แต่ละคนมีความต้องการต่างกัน บางคนขับช้า บางคนขับเร็ว บางทีเร่งรีบมากๆ คนขับก็อาจจะแซง เบียดไลน์คนอื่น ถ้าเป็นในสนามแข่งก็ยังพอหลบกันได้ เพราะรถไม่เยอะมาก แต่บนถนนจริงๆ จำนวนรถมันเยอะ ถ้าทับไลน์กันนิดเดียว เบียดกันนิดหนึ่งก็อาจจะเป๋ไปโดนอีกคันหนึ่งง่ายๆ ก็ได้ พื้นที่มันน้อยมากค่ะ เพราะฉะนั้นยังไงขับบนถนนจริงๆ ก็น่ากลัวกว่า” เธอย้ำด้วยน้ำเสียงจริงจังอีกรอบก่อนยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

“แล้วเวลาขับบนถนน มันก็ไม่ได้มีแค่รถขนาดเดียวกันกับเราเหมือนในสนามแข่ง ยิ่งขับออกต่างจังหวัด รถบรรทุกเยอะมาก คุณแม่เคยโดนรถสิบล้อเบียดบนทางด่วนด้วยค่ะ จู่ๆ รถก็เอียงมาเข้าเลนเราเลย น่ากลัวมาก คิดว่าเขาน่าจะหลับในค่ะ มันทำให้เรารู้สึกเลยว่าสภาพของคนขับรถบนถนนจริงๆ เป็นอะไรที่เราคาดเดาไม่ได้เลย ต้องระวังมากๆ แต่ถ้าเป็นนักแข่งบนสนามแข่ง ทุกคนจะเตรียมพร้อมร่างกายมาเป็นอย่างดีเพื่อการแข่งครั้งนั้น แล้วบนท้องถนนทั่วไป รถที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีระบบเซฟตี้ที่ดีมากมาย มีแค่เข็มขัดนิรภัยอย่างเดียวจริงๆ”

ส่วนปัญหาที่แก้ไม่ตกอย่างแก๊งเด็กแว้น-สาวสก๊อยนั้น ในฐานะคนใช้ถนนหนทางคนหนึ่งก็ไม่อยากจะกล่าวโทษใคร แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเสนอทางออกใหม่ๆ ให้วัยรุ่นเหล่านั้นเอากลับไปคิดกันดู

“ไม่อยากให้เอารถไปแข่งเล่นๆ กันเองบนถนนทั่วๆ ไปค่ะ เพราะมันอันตรายมาก ถ้าอยากจะแข่งจริงๆ เดี๋ยวนี้มีหลายๆ รายการมากๆ ที่เปิดขึ้นมาให้เข้าร่วมได้ ยิ่งถ้าเป็นวัยรุ่น สมัยนี้ทุกคนเล่นคอมพ์เป็น สามารถเสิร์ชหาได้เลยค่ะว่ามีที่ไหนที่เขาจัดบ้าง อยากแข่งรถอะไร แข่งรูปแบบไหน มีหลากหลายมากแล้วแต่จะเลือกเลยค่ะ แข่งกันบนสนามที่ปลอดภัย มีคนคอยดูแล มีกฎกติกาดีกว่า เพราะถ้าไปแข่งกันบนถนนสาธารณะ มันเป็นอันตรายต่อตัวเองแล้วก็เดือดร้อนคนที่วิ่งอยู่ข้างๆ ด้วย”
 


 

ขอแค่เร้าใจ
อย่างที่บอกว่าถ้าอยากปลดปล่อย ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่สามารถเลือกทำได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนคนอื่น และหนึ่งในนั้นก็คือกีฬาประเภทเอ็กซ์ตรีมซึ่งเป็นแนวโปรดของพิมมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

“เป็นคนไม่ชอบกีฬาในร่มหรือต้องอยู่ในโรงยิมอยู่แล้วค่ะ ชอบกีฬากลางแจ้งมากกว่า ถามว่ากลัวดำไหม ก็ไม่กลัวนะ กลัวล่ำไหม เราว่าเล่นแล้วเฟิร์มดีออก จริงๆ เล่นแล้วคงไม่ได้ล่ำอะไรขนาดนั้นนะ เพราะไม่ได้ไปยกเวตเพิ่มกล้าม ที่เล่นประจำก็จะเป็นเวกบอร์ด แล้วก็ขี่ม้าค่ะ พยายามไปให้ได้อาทิตย์ละครั้ง อย่างเวกบอร์ดนี่ไปเล่นแถวลำลูกกา คลองหก อาศัยเล่นในบึงเอา เพราะถ้าจะให้หอบไปเล่นที่ทะเลทุกอาทิตย์คงลำบากเกิน”

ด้วยนิสัยชอบลองอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด จึงทำให้พิมได้มีโอกาสทำความรู้จักกับเวกบอร์ด ในตอนแรกนั้นเพื่อนสนิทของเธอเป็นคนชวน แต่หลังจากไปลองได้ 2-3 ครั้งคนชวนก็กลับถอดใจ เหลือแต่คนถูกชวนอย่างพิมที่ติดใจและหัดเล่นต่ออย่างจริงจัง ถึงตอนนี้เล่นมาได้ครึ่งปีแล้ว อาจจะไม่ถึงกับตีลังกาม้วนหน้าระดับแอดวานซ์ แต่ก็สามารถทรงตัวอยู่บนบอร์ดได้อย่างมืออาชีพ แถมยังกระโดดสลับเปลี่ยนฝั่งซ้าย-ขวาได้แบบชิลชิลอีกด้วย

“เวลาไปเที่ยวทะเล เราก็พกเวกบอร์ดไปด้วย ไปลากกับเจ็ตสกี เล่นกับทะเลไปได้เรื่อยๆ รู้สึกเป็นอิสระมาก มีพื้นที่กว้างๆ ให้เราได้เล่น รู้สึกได้ปลดปล่อยจริงๆ ค่ะ” เธอพูดถึงเสน่ห์ของเวกบอร์ดเอาไว้อย่างนั้น ก่อนบอกเล่าอีกหนึ่งกิจกรรมที่เธอคลั่งไคล้ไม่แพ้กันให้ฟัง “Sky Diving”

“เคยลองครั้งแรกที่นิวซีแลนด์ค่ะ ตอนนั้นไปเที่ยวกับครอบครัว ไปเล่นสกีกัน ขากลับพอเดินเล่นอยู่ในเมือง เห็นมีรับสมัครให้โดดร่มพอดี เพราะนิวซีแลนด์เขาดังเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว เราเห็นปุ๊บก็อยากลองมาก ก็เลยชวนพี่เพียวไปโดดด้วยกัน โชคดีมากที่ได้คิว โดดลงมาจากเครื่องบินพร้อมอาจารย์ ผูกตัวติดกับเราอยู่ข้างหลังเป็นจิงโจ้เลยค่ะ (ยิ้ม) เพราะเขาจะไม่ปล่อยให้คนที่ไม่เคยโดดโดดเอง ต้องมีคนช่วยคุม ตอนที่ขึ้นไปยืนอยู่บนเครื่องบินก่อนโดดก็ตื่นเต้นนิดหน่อยค่ะ แต่พอโดดลงมาแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นนกเลย”

“ตอนแรกเขาจะยังไม่กางเครื่องร่อน จะปล่อยให้ตัวเราบินอยู่กลางอากาศสักพักหนึ่งเลยค่ะ อยู่บนนั้นเห็นวิวเมือง เห็นก้อนเมฆชัดมาก เหมือนเป็นความฝันเลย (เล่าด้วยแววตาเปี่ยมสุข) เคยฝันมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้วว่าอยากเหยียบก้อนเมฆ อยากตกลงมาแล้วมีเมฆรองรับเหมือนในการ์ตูน (หัวเราะ) นี่ก็ใกล้เคียงนะ เพราะเราก็ลอยทะลุผ่านก้อนเมฆลงมาเหมือนกัน พอทะลุผ่านรู้สึกเลยว่าที่หายใจเข้าไปมีแต่ไอก้อนเมฆ ไม่มีอากาศเลย สนุกมากค่ะ พอเลยกลุ่มก้อนเมฆมาสักพัก เขาจะกางปีกเครื่องร่อน เราก็จะเห็นวิวสวยๆ อยู่บนนั้นสักพัก ประทับใจมากๆ ค่ะ ถ้ามีโอกาสอีกก็อยากเล่นอีก”

เป็นผู้หญิงลุยขนาดนี้ หนุ่มๆ คนไหนจะเข้ามาจีบคงต้องคิดหนักนิดหนึ่งว่าพร้อมจะลุยไปกับเธอได้หรือเปล่า เพราะเจ้าตัวยืนยันมาเองเลยว่า “เราอาจจะดูลุยกว่าผู้ชายบางคน เขาก็เลยไม่กล้าเข้ามาจีบเราเท่าไหร่ (หัวเราะ) แต่ถ้าจะคบใคร เราคงคบคนที่ลุยไปด้วยกันได้ หรือถ้าลุยน้อยกว่าเรา ก็อย่าน้อยกว่าเยอะค่ะ เพราะถ้าเกิดเราชอบขับรถแล้วเขาขับรถไม่เป็น มันก็... (เสียงอ่อย) ถ้าเราชอบเดินป่า แต่เขาเดินป่าไม่เป็น แล้วทำไงล่ะ ก็ต้องแยกกันไปเหรอ ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นค่ะ อย่างน้อยถ้าจะคบกัน ไลฟ์สไตล์น่าจะตรงกันนิดหนึ่ง” ได้ยินชัดไหม


 

จะแข่งกับผู้ชาย
“นักแข่งดาวรุ่งหญิงที่น่าจับตามองมากที่สุด” เธอยิ้มรับสมญานามนี้ด้วยท่าทีเขินๆ ก่อนเปลี่ยนเป็นสีหน้าจริงจังแล้วตอบว่า “ก็รู้สึกขอบคุณค่ะที่มีคนคิดอย่างนั้น และในเมื่อคนอื่นคิดว่าเราน่าจับตามอง เราก็ต้องพัฒนาฝีมือตัวเองให้ดีกว่านี้ ให้เก่งกว่านี้ ตอนนี้อาจจะเป็นการประสบความสำเร็จขั้นแรกที่เพิ่งก้าวเข้ามา แต่หลังจากนี้ยังมีอีกหลายขั้นที่ต้องไปให้ถึง เราก็จะพยายามพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ค่ะ อย่างตอนนี้เคยแข่งแต่กับผู้หญิง ก็คิดไว้ว่าจะเปลี่ยนรุ่นไปแข่งรวมกับผู้ชายดูบ้าง มันน่าจะให้ประสบการณ์ต่างกันดี ต้องยากขึ้นแน่นอนแต่ก็น่าลอง” เธอเปรยๆ เอาไว้ด้วยแววตามุ่งมั่น

แม้ว่าฝีมือระดับนี้จะก้าวเข้าสู่คำว่า “มืออาชีพ” ได้อย่างสบายๆ แต่พิมยังคงถ่อมตัวและยืนยันว่าอยากแค่แข่งรถเป็นงานอดิเรกไปก่อน เพราะตอนนี้ยังมีหน้าที่เรียนที่ต้องให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง “ทางฝั่งคุณพ่อเขาสนับสนุนเรื่องรถเต็มที่ แต่ทางฝั่งคุณแม่กับคุณย่าก็เคร่งเรื่องเรียนมากเหมือนกัน เราก็ทิ้งไม่ได้ ต้องเอาดีให้ได้ทั้งสองอย่าง แต่ต้องเรียนเป็นหลักค่ะ” แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะปล่อยทิ้งงานอดิเรกที่ตัวเองรักอย่างไม่สนใจไยดี

อยากให้การแข่งรถเป็นพื้นที่ปลดปล่อยความสนุกของเรา แต่ก็ไม่ใช่ความสนุกแบบเปล่าๆ แข่งไปวันๆ แข่งแล้วแพ้ๆ เราก็ไม่เอา แต่เราอยากสนุกแบบมีจุดหมาย แข่งเพื่อจะชนะ ถ้าไม่ชนะก็กลับมาพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องจะเป็นนักแข่งรถมืออาชีพเลยไหม คงยังไม่มองถึงจุดนั้นค่ะ ถ้าเรียนจบก็อยากทำงาน หารายได้ให้ตัวเองให้ได้ก่อน เพราะถึงเราเป็นผู้หญิง เราก็หาเงินเองได้โดยไม่ต้องแบมือขอใคร”

พิมคิดเสมอว่าทุกวันนี้ผู้หญิงสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้เทียบเท่ากับผู้ชาย แม้แต่เรื่องความเร็วเดี๋ยวนี้ก็มีผู้หญิงหันมาหลงใหลและเริ่มเข้าสู่วงการมากขึ้นแล้ว ทำให้ทุกวันนี้พิมมีเพื่อนผู้หญิงที่จะออกมาทำกิจกรรมแนวเดียวกันเพิ่มมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ต้องชวนเพื่อนผู้ชายไปด้วยกันเท่านั้น
 
ลองมองหญิงสาวหน้าหวานที่อยู่ตรงหน้าอีกสักครั้ง อดสงสัยไม่ได้ว่าเจ้าตัวเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า “นักเศรษฐศาสตร์สาว” กับ “สาวนักซิ่ง” มาบรรจบกันได้อย่างไร เธอมอบรอยยิ้มสดใสให้ ชี้นิ้วไปที่ตัวเองแล้วบอกว่า “ก็บรรจบกันอยู่ที่คนนี้ไงคะ” เท่านั้นแหละ หมดข้อสงสัยไปในทันทีเลย





---ล้อมกรอบ---
ประวัติส่วนตัว
ชื่อ-สกุล : พิม-พิมพรรณ หงษ์ปาน
วันเกิด : 20 พ.ค. 2535
ส่วนสูง : 169 ซม.
น้ำหนัก : 47 กก.
การศึกษา : นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รางวัลที่ได้รับ : ชนะเลิศการแข่งขันรายการ “โตโยต้า วีออส เลดี้ 2011”

ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย... ธนารักษ์ คุณทน





เปรี้ยวก็ได้



ถอดมาดนักแข่ง เหลือแต่ลุคน่ารักๆ


คว้าแชมป์ด้วยวัยเพียง 19
ลุยได้ทุกแบบ


Sky Diving กิจกรรมสุดโปรด
อีกมุมคือสาวเศรษฐศาสตร์
ไม่ได้ห้าวอย่างเดียวนะ
มาหยารัศมี ตอนที่ 2
มาหยารัศมี ตอนที่ 2
เหตุการณ์วันนั้นในอดีต หม่อมเจ้าธีรธำรงกับหม่อมรัตนาเดินออกมาด้วยกัน ที่ลานจอดรถของโรงแรม บริเวณนั้นค่อนข้างมืด หม่อมรัตนาแต่งตัวหรูหรา เครื่องประดับเต็ม สองคนจะเดินขึ้นรถ คนร้ายสองคนขับมอเตอร์ไซค์คน อีกคนซ้อนท้าย ทั้งคู่ซ่อนตัวอยู่ในมุมมืด เหมือนรออยู่ก่อนแล้ว มองไปที่เครื่องประดับตามตัวหม่อมรัตนา ทันทีที่มีจังหวะ สองวายร้ายขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาทำท่าจะพุ่งชนหม่อมรัตนาเต็มแรง หม่อมเจ้าธีรธำรงร้องเสียงดัง “ระวัง” ธีรธำรงกระชากแขนหม่อมรัตนาเต็มแรง จนพ้นทางรถ หม่อมรัตนาล้มลง ธีรธำรงมองหม่อมรัตนาอย่างเป็นห่วง จังหวะนั้นเองที่คนร้ายจอดรถพุ่งเข้าหาสองสามีภรรยาอย่างรวดเร็วทำร้ายเพื่อหมายเอาเครื่องประดับราคาแพง
กำลังโหลดความคิดเห็น