xs
xsm
sm
md
lg

CLICK สุดสัปดาห์ : ‘เมษาหน้าโง่’ อำกันพอเป็นกษัย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จะว่าไปแล้วธรรมเนียมปฏิบัติหลายๆ อย่างในบ้านเรานั้นได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติ ยิ่งเทศกาลเฉลิมฉลองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันคริสมาสต์, วันวาเลนไทน์, วันฮัลโลวีน ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่รับอิทธิพลมาจากฝรั่งแทบทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าประเทศไทยนั้นเปิดรับไปเสียทุกเทศกาล อย่างวันที่ 1 เมษายน ที่ชาวตะวันตกถือว่าเป็นวันแห่งการโกหก เรียกกันว่า ‘วันเมษาหน้าโง่’ หรือ April Fool’s Day แน่นอนว่าการอำกันในวันนี้จะไม่มีใครถือโทษโกรธกัน

แม้ April Fool’s Day จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่กลับไม่ได้รับความนิยมในสังคมไทยเท่าใดนัก ผิดกับในโลกตะวันตกเรื่องของการโกหกกันในวันนี้ก็กลับกลายเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมา

ทำไมต้องมี ‘วันเมษาหน้าโง่’
ต้นกำเนิดของวัน April Fool’s Day หรือที่คนไทยเรียกกันเล่นๆ ว่าวัน ‘เมษาหน้าโง่’ ว่ากันว่ามันเริ่มต้น ขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งในขณะนั้นวันที่ 1 เมษายน คือวันปีใหม่ของประเทศฝรั่งเศสแต่ต่อมาในปี ค.ศ.1562 โป๊ป เกรกอรีที่ 13 ได้กำหนดให้ชาวคริสต์ทั่วโลกฉลองวันปีใหม่พร้อมกันวันที่ 1 มกราคม ซึ่งการประกาศครั้งนั้นยังมีคนในพื้นที่ห่างไกลบางกลุ่มไม่รู้ว่า ได้มีการเปลี่ยนวันปีใหม่แล้ว และพวกเขาก็ก็ยังคงฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษาอยู่เหมือนเดิม แถมเมื่อรู้ข่าวแล้วก็ยังดื้อดึงไม่เชื่อหาว่าเป็นเรื่องโกหกอีกต่างหาก นั่นทำให้คนที่เป็นคนเมือง (ซึ่งทราบการประกาศเปลี่ยนแปลง) เย้ยหยันพวกที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และทำให้วันที่ 1 เมษากลายเป็น April Fool’s Day นับแต่นั้นเป็นต้นมา

และต่อมาวันโกหกก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลก ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งว่ากันว่าคนอังกฤษที่อพยพไปในอเมริกานำพาเข้าไป), อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สกอตแลนด์, อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส, สวีเดน, เยอรมนี ,นอร์เวย์ ซึ่งประเทศทั้งหมดล้วนแต่เป็นประเทศตะวันตกทั้งนั้น ส่วนทางตะวันออกก็เห็จจะมีแต่ญี่ปุ่นประเทศเดียวที่เล่นและขำกับประเพณีห่ามๆ นี้

แต่กระนั้นในประเทศเม็กซิโกและสเปน จะใช้วันที่ 28 ธันวาคม โดยเรียกมันว่าวัน Holy Innocents ส่วนในประเทศเยอรมนี และนอร์เวย์ จัดวันโกหกสองครั้งคือ 1 เมษายน และ 30 เมษายน แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ในโลกยกให้วันที่ 1 เมษาเป็นวันโกหกสากลไปเสียแล้ว ซึ่งในวันนี้ในอดีตที่ผ่านมาก็มีเรื่องขำๆ ฮาๆ ออกมาอำคนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอำกันเล็กๆ ในหมู่เพื่อนฝูงหรือจะเป็นการอำระดับโลกก็มีให้เห็น

ยกตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ.1957 สำนักข่าวบีบีซีแพร่ภาพเกษตรกรสาวนางหนึ่งกำลังดึงสปาเกตตี้ลงจากต้นไม้ และประกาศว่าชาวไร่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในการปลูกต้นสปาเกตตี้แล้ว ส่วนวิทยุก็ไม่น้อยหน้าเพราะในปี ค.ศ.1990 ที่อังกฤษ สถานีวิทยุคิส เอฟเอ็ม เล่นแรงถึงขั้นโม้ข่าวออกอากาศว่าดวงจันทร์กำลังจะวิ่งชนโลก หรือเรื่องอำที่ฮือฮาไปทั่วโลกอีกเรื่องก็คือในปี ค.ศ.2005 ทางองค์การนาซาได้พาดหัวที่หน้าเว็บไซต์ของตัวเองว่า ได้พบน้ำบนดาวอังคารแล้ว (Water on Mars) แต่พอคลิกเข้าไปก็พบภาพแก้วน้ำวางอยู่บนขนมยี่ห้อ Mars แทน

ส่วนในปีที่แล้ว สื่อสมัยใหม่หลายๆ เจ้าก็ออกมาสร้างเรื่องอำคนเล่นตามประเพณีนี้อยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นมุกจีเมลโมชันจากกูเกิลที่อำว่า ต่อไปเราสามารถควบคุบการเปิดอีเมล์ได้ด้วยการทำท่าทางต่างๆ (อันนี้ลงทุนมากมีวิดีโอแนะนำการใช้งานด้วย) หรือจะเป็นมุกของแมคเวิร์ลด์ ที่ประกาศว่าสตีฟ จ๊อบส์ ลาออกไปอยู่ไมโครซอฟท์แล้ว ซึ่งมุกนี้ขึ้นชื่อว่าเชยมาก และปัจจุบันสตีฟ จ๊อบส์ ก็ลาโลกไปแล้ว

แต่ทีเด็ดที่สุดในปีที่แล้วคือ ข่าวอำของหนังสือพิมพ์เดอะ ซัน ที่มีการวิจัยมาแล้วว่า ไอแพด นั้น ช่วยให้ลิงกอลิล่ามีความสุขมากขึ้นในสวนสัตว์ แต่มีเว็บไซต์ข่าวในไทยแปลข่าวนี้มาลงและเชื่อเป็นตุเป็นตะว่าเป็นข่าวจริง!!!

คนไทยเมิน...วันโกหกโลก?
หลายๆ ปีที่ผ่านมานั้น วันที่ 1 เมษายน ในประเทศไทยก็ไม่ค่อยจะมีการเรื่องราวออกมาอำกันเสียเท่าใดนัก จากตั้งข้อสังเกตได้ว่าด้วยความที่เป็นเมืองพุทธนับถือพุทธศาสนา ธรรมเนียมโกหกสากลเลยไม่เป็นที่แพร่หลายในบ้านเรา ซึ่งในเรื่องนี้ ผศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็แสดงทัศนะต่อการรับแบบแผนปฏิบัติของสังคมไทยจากต่างชาติต่างวัฒธรรมไว้ว่า การอยู่ร่วมกันตั้งแต่ 2 สังคมขึ้นไปนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพียงแต่ว่าสิ่งที่รับมานั้นต้องเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่สังคมหนึ่งยังคงขาด

“วัฒนธรรมหรือแบบแผนปฎิบัติมันจะต้องมีฟังก์ชัน (หน้าที่) อะไรบางอย่างที่อีกสังคมหนึ่งที่เป็นผู้รับยังพร่องอยู่ ถ้าหากเป็นแบบแผนปฎิบัติที่มีด้วยกันอยู่แล้วทั้งสองฝ่ายมันก็จะไม่เกิดการถ่ายเท คล้ายๆ กับน้ำ 2 ถัง ที่ข้างล่างมันเชื่อมถึงกัน ฝั่งหนึ่งน้ำมันสูงกกว่าอีกฝั่งหนึ่งน้ำมันพร่องแน่นอนน้ำมันก็ต้องมีแรงดัน

“อย่างวาเลนไทน์คนเดือดร้อนกันมาก นับวันยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ มันแสดงว่าสังคมไม่มีวิธีการบอกรักที่เป็นทางการถูกต้องที่ผู้คนจะยอมรับ แต่เอพริลฟูลส์เดย์ก็ไม่รู้จะรับมาทำไมในเมื่อเราก็โกหกกันอยู่ทุกวัน เห็นคนโกหกผ่านจอทีวีในข่าวการเมืองวันละหลายรอบอยู่แล้ว สังคมไทยมันมีเรื่องแบบนี้อยู่เยอะแล้วก็เลยไม่รู้จะอิมพอร์ต (นำเข้า) เรื่องนี้มาทำไม”

การที่สังคมจะรับหรือไม่รับที่สำคัญคือต้องพิจารณาว่าในสังคมนั้นๆ มันขาดเรื่องบางเรื่องอยู่หรือเปล่า อย่างในประเทศไทยอาจถือปฎิบัติกันจำเพาะกลุ่มเล็กๆ แต่เชื่อว่าคนที่รับคงไตร่ตรองได้ ผศ.พรชัย ให้ข้อคิดในการเปิดรับวัฒนธรรมของต่างชาติ

“อย่างในเรื่องพุทธศาสนาไม่เห็นมีใครเดือนร้อนที่เรารับพุทธศาสนามาหลายร้อยปี ทั้งๆ ที่เป็นของแขกแท้ๆ จะว่าไปตอนที่รับเข้ามาก็เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่ใช่ประโยชน์ของพี่น้องประชาชนแม้แต่น้อย เราก็รับมาและทุกวันนี้เราก็ยกย่อง การถ่ายเทข้ามไปข้ามมาระหว่างวัฒนธรรมมันเป็นเรื่องธรรมดามันเป็นเรื่องปกติ จะผิดจากสมัยก่อนก็ตรงที่ว่าการแลกเปลี่ยนกันทางวัฒนธรรมในตอนนนั้นกระทำโดยอาศัยผู้คนที่เดินทางไปมาหาสู่กัน พอมาสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม มันก็เลยทำให้ดูเหมือนกับการถ่ายเท อาจไม่จำเป็นต้องถูกกีดขวางด้วยระยะทางหรือความถี่ห่างของผู้คนที่ไปมาหาสู่กัน”

นานาทัศนะ
ฉะนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการอำกันอยู่แล้วจึงทำให้ 1 เมษาฯ วันโกหกแห่งสากลถูกลดทอนความสำคัญในสังคมไทย อย่าง ประวิทย์ อรุณวิทยทัศน์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มองว่า เทศกาลนี้อาจมีความสำคัญสำหรับชาวต่างชาติที่จะได้สนุกกันกับการโกหกหยอกล้อ ซึ่งสำหรับคนไทยแล้ว การอำกันเล่นๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่เกิดกันได้สนุกๆ ทุกวันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นวันโกหกก็ได้

“ผมก็หยอก อำเพื่อนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วนะ ผมไม่คิดว่าวันนี้จะมีความสำคัญอะไรนอกจากจะมีการเรียกมันขึ้นมาเฉยๆ แล้วอาจจะมีการอำกันเล่นที่แรงกว่าปกติ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วคนไทยก็อาจจะไม่ได้สนใจอะไรกับวันนี้นัก อย่างผมวันไหนผมก็อำเพื่อนได้ทั้งนั้นแหละ”

ด้านข้าราชการที่เคยไปศึกษาต่างประเทศ สุรศักดิ์ จงวัฒนกุล ก็เล่าว่า โดยส่วนตัวไม่รู้ที่มาที่ไปของวันที่ 1 เมษาฯ แต่รู้ว่าจะอาจมีการหยอกล้อกันบ้าง ซึ่งตนก็ไม่ถือว่าเป็นเทศกาลที่ต้องให้ความสำคัญมากมาย เท่ากับวันขอบคุณพระเจ้าหรือวันสำคัญอื่นๆ

“คิดว่าการโกหกกันเล่นๆ ในวันนี้ ก็อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ อาจจะแค่สร้างความสัมพันธ์กันทั่วไป แต่พอเข้ามาในประเทศไทย มันก็ไม่ค่อยคนร่วมรับรู้ หรือเล่นกับเทศกาลนี้ ที่สำคัญคือมันไม่ได้มีพิธีอะไรเหมือนอย่างวันคริสมาสต์ที่อาจจะมีการให้ความขวัญกัน มีเรื่องราวการประสูติของพระเยซูคริสต์ แต่พอมาวันโกหกมันไม่ได้มีขั้นตอนอะไรแบบนี้ แล้วในประเทศโดยทั่วไปก็ไม่ได้มีการจัดการอะไรที่ให้ความสำคัญกับวันนี้เป็นพิเศษ”
............

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางความคิด การเปิดรับธรรมเนียมปฏิบัติจากต่างชาติก็ไม่ได้ถูกกีดกั้น แต่สิ่งที่สำคัญไปก็คงเป็นเรื่องของดุลพินิจในแต่ละบุคคลที่จะยอมรับและถือปฎิบัติหรือไม่ จะว่าไปแล้วถึงไม่มี April Fool’s Day ก็เชื่อว่าการโกหกก็คงไม่ห่างหายไปจากโลกหรอก...
>>>>>>>>>>>

……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
กำลังโหลดความคิดเห็น