xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปี’55 ข้าวยากหมากแพง ศก.แปรปรวน สินค้าแห่ขึ้นราคา เอกชนโปรด”รัดเข็มขัด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในปี 2554 ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ต่างรู้สึกว่า ทำไมสินค้าถึงได้มีราคาแพงขึ้นแพงขึ้น ทั้งๆ ที่พาณิชย์ก็ป่าวประกาศมาตลอดว่า ยังควบคุมอยู่ ไม่ได้อนุมัติให้ผู้ผลิตรายใดปรับขึ้นราคา

นั่นเป็นเพราะ ผู้ผลิตใช้วิธีเลี่ยง ไม่ขอขึ้นราคาสินค้ารายการที่อยู่ในบัญชีติดตามของกรมการค้าภายใน แต่หันไปใช้วิธีปรับปรุงสินค้า ปรับโน่นนิด นี่หน่อย ใส่ส่วนผสมใหม่ๆ ลงไป แล้วมาขอตั้งราคาใหม่ บอกเป็นสินค้าใหม่ ทั้งๆ ที่เป็นยี่ห้อเดิมๆ ราคาก็เลยขึ้นได้ฉลุย ที่หนักไปกว่านั้น บางรายใช้วิธีลดไซส์ แต่ราคาเดิม นี่ก็คือการขึ้นราคาทางอ้อมอีกแบบ

ส่วนสินค้าที่เลี่ยงไม่ได้ ก็จำเป็นต้องขอเข้ามาตรงๆ ขอขึ้นราคา พร้อมเหตุผลประกอบ ซึ่งในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีสินค้า 4 รายการ ได้แก่ แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ สายไฟฟ้า และเหล็ก ที่เอกสารมาวางรออยู่บนโต๊ะให้ตัดสินใจว่าจะให้ขึ้นหรือไม่

เรื่องนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้นโยบายว่า ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ต้นทุนขึ้นก็ให้ขึ้น ต้นทุนลง ก็ต้องให้ลง ขณะที่นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่กำกับดูแลเรื่องค่าครองชีพ ได้ขอให้ผู้ผลิตไปจัดทำรายละเอียดต้นทุนเข้ามาใหม่ จากนั้นจะพิจารณาให้

แต่ก็นับว่า โชคเข้าข้าง เพราะยังไม่ทันที่จะพิจารณา น้ำก็มาท่วมก่อน เลยรอดตัวไปชนิดเฉียดฉิว แถมยังใช้โอกาสน้ำท่วม บอกผู้ผลิตอย่าเพิ่งขึ้นราคา ตรึงๆ ราคาไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือคนน้ำท่วม

ในทางกลับกัน ปี 2555 อะไรที่เคยคั่งค้างไว้ มันจะเริ่มปะทุ ผู้ผลิตจะเริ่มฮึมๆ เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นราคาอีกรอบ เพราะตอนนี้ เอกสารหลักฐาน รายละเอียดต้นทุนทั้งหมด รออยู่บนโต๊ะ รอผู้มีอำนาจเซ็นแล้ว ก็ต้องดูกันว่าจะยื้อได้อีกนานแค่ไหน

นั่นเป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม เพราะยังมีสินค้าอีกหลายรายการ ที่ได้ถูกขอความร่วมมือให้ตรึงราคาในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีนางพรทิวา นาคาศัย คุมพาณิชย์ รวมๆ แล้วเกือบ 3 ปี ก็จะเริ่มทยอยขอปรับราคาเข้ามากันอย่างต่อเนื่อง ปี 2555 รับรองได้เห็นอะไรดุเดือดเป็นแน่ แต่เป็นแง่ที่ผู้ประกอบการแข่งขันกันขอขึ้นราคา

ในส่วนของสินค้าอาหาร ทั้งอาหารตามสั่ง ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ก็มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น โดยสินค้าประเภทนี้ ได้ปรับขึ้นราคาไปในช่วงที่น้ำท่วม โดยอ้างว่าต้นทุนหมู ไก่ ไข่ไก่ ผักสด สูงขึ้น แต่พอต้นทุนลดลง ก็ยังคงขายราคาเดิม โดยราคาขายตอนนี้เริ่มต้นที่จานละ 35-45 บาท อยากได้ไข่ดาวด้วย เพิ่ม 10 บาท และมีแนวโน้มว่าจะคงราคานี้ต่อไป ถ้าพาณิชย์ไม่ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องดีอยู่บ้าง ก็คือ การพิจารณาเพิ่มหรือลดสินค้าและบริการควบคุม โดยปี 2555 มีหลายรายการที่โชคดีจะหลุดพ้นจากบัญชีควบคุม ที่เป็นข่าวออกมาแล้ว ก็คือ กาแฟผงสำเร็จรูป กะน้ำยาล้างจาน ที่น่าจะรอดแน่ๆ แต่เครื่องจักรกลการเกษตร รถไถ เครื่องสูบน้ำ พวกนี้อาจต้องถูกขึ้นบัญชีคุม เพราะจำเป็นต่อเกษตรกร

ยิ่งในยุครัฐบาลเพื่อไทยที่เอาใจเกษตรกรอย่างหนัก อัดนโยบายจำนำเต็มๆ คนก็เลยหันมาทำไร่ทำนากันมากขึ้น ก็เลยต้องคุมไว้

นอกจากนี้ ในปี 2555 กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนที่จะบริหารจัดการสินค้าอย่างเป็นระบบ จะทำการแบ่งกลุ่มสินค้าออกเป็นหลายๆ กลุ่มที่จะดูแล ทั้งสินค้าที่มีการแข่งขันน้อยราย สินค้าที่ต้องพึ่งวัตถุดิบจากต่างประเทศ สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เพื่อแยกให้ชัด แล้วจะได้มีมาตรการดูแลให้ตรงจุด ป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นเหมือนกับที่ผ่านๆ มา เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำตาล ไข่ไก่ เป็นต้น

ก็ต้องจับตาดูว่า ปี 2555 ซึ่งพาณิชย์คุยไว้ล่วงหน้าว่า จะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 3.2-3.8% นั้น จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน เพราะลำพังแค่ปัจจัยตัวเดียว คือ ราคาสินค้าที่จะขยับขึ้นรุนแรง ก็คงทำให้เงินเฟ้อทะลักจุดแตกได้แล้ว ยังไม่รวมราคาน้ำมันที่จะปรับเพิ่มขึ้นจากการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

บอกได้คำเดียวว่า คิดแล้วหนาว!!!

เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ปี 2555 นับเป็นปีที่ภาคเอกชนมีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นเด่นชัด คงต้องเตรียมตัวเพื่อรัดเข็มขัดกันรอบด้านเพราะปัจจัยที่แน่นอนรออยู่ให้เห็นโดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจภายในที่มีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำคัญได้แก่ 1. ผลกระทบจากอุทกภัยครั้งรุนแรงสุดของไทยช่วงปลายปี 2554 ซึ่งมีโรงงานทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและผลกระทบทางอ้อมเฉพาะในนิคมและเขตประกอบการก็ไม่น้อยกว่า 838 แห่งแล้ว ….ประเมินความเสียหายภาพรวมไม่ต่ำกว่า 4.7 แสนล้านบาท

โรงงานเหล่านี้ต้องหยุดกิจการชั่วคราวส่งผลกระทบต่อแรงงานนับแสนคนว่างงานตามไปด้วยแม้ว่าล่าสุดโรงงานหลายแห่งเริ่มทยอยกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งแต่ก็ยังไม่มากนักโดยคาดว่าจะกลับมาเดินได้ 100% คงจะเป็นครึ่งปีหลังของปี 2555 การฟื้นฟูให้กิจการมาเดินเครื่องใหม่เหล่านี้ล้วนต้องใช้เงินลงทุนจำนวนไม่น้อย

ขณะที่ผู้พัฒนานิคมฯ/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม 7 แห่งที่ประสบภาวะน้ำท่วมไล่ตั้งแต่ นิคมฯสหรัตนคร เขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะ นิคม ฯบ้านหว้า(ไฮเทค) นิคมฯบางปะอิน เขตประกอบการแฟคตอรี่แลนด์ นิคมฯนวนคร และนิคมฯบางกะดี ซึ่งจะต้องกู้เงินมาสร้างคันกั้นน้ำถาวรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนคาดว่าโดยรวมคงต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทโดยทั้งหมดจะต้องเร่งสร้างให้ทันฤดูฝน หรือราวเดือนมิ.ย.55

ภาระการสร้างคันกั้นน้ำที่เพิ่มขึ้นแน่นอนว่าส่วนหนึ่งคงหนีไม่พ้นที่จะโยนภาระให้กับผู้ลงทุนในนิคมฯ/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายค่าบริการส่วนกลางหรือค่าสาธารณูปโภคหรืออื่นๆเพื่อนำเงินนี้มาชดเชยกับการลงทุนของผู้พัฒนานิคมฯหรือนำไปคืนเงินกู้นั่นเอง

นี่คือต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้นซึ่งทุกฝ่ายคงต้องรับสภาพจากผลกระทบน้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. ที่เห็นชัดตามมาเป็นระลอกคือ การขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของรัฐบาลนำร่องใน 7 จังหวัดได้แก่ ภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม มีผลวันที่ 1 เมษายน 2555 ก่อนที่จะครบทั่วประเทศวันที่ 1 เม.ย. 2556 ซึ่งภาคการผลิตของไทยไม่น้อยกว่า 50% พึ่งพิงแรงงานขั้นต่ำและการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างดังกล่าวเฉลี่ยสูงขึ้นราว 40%จึงเป็นเหตุผลที่เอกชนมองว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจึงมีความพยายามที่จะต่อสู้กับภาครัฐในการขอทยอยการขยับขึ้นแทนหรือให้รัฐเข้ามาช่วยรับภาระส่วนหนึ่ง

มองในเรื่องค่าแรงแล้วนับเป็นปัจจัยที่น่าติดตามเพราะอย่าลืมว่าโรงงานที่รับผลกระทบจากน้ำท่วมการจ่ายเงินเดือนเพื่อเลี้ยงพนักงานไว้ใน 2-3 เดือนที่ผ่านมากับรายได้ที่หายไปก็ถือว่าสาหัสแล้วซึ่งโรงงานที่มีสายป่านธุรกิจสั้นถึงขั้นออกอาการว่าจะเอาไม่อยู่ ส่วนหนึ่งอาจทำให้เกิดการตกงานได้ในช่วงต้นปี 2555 เมื่อการขึ้นค่าแรงต้องมาซ้ำเติมช่วง 1 เม.ย. 55

ก็คงต้องติดตามว่าปัญหานี้จะรุนแรงมากน้อยเพียงใด…แต่ที่แน่เมื่อค่าแรงขั้นต่ำขยับก็จะดันโครงสร้างเงินเดือนทั้งระบบปรับตามไปด้วย

ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายนอก ได้แก่ ปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกปี 2555 จะชะลอตัว แม้ว่าหลายประเทศทั้งจีน อินเดีย จะขยายตัวก็ตามแต่ก็เป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ดังนั้นย่อมส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงนั้นจะมีผลต่อตลาดการส่งออกของไทยที่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักส่งผลให้การแข่งขันการส่งออกจะสูงขึ้น

ด้านทางอ้อมที่ต้องติดตามจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนจากปัญหาวิกฤตหนี้สินในยุโรปว่าจะมีผลต่อสกุลเงินยูโร อย่างไรซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถกลับมาสู่สภาพเดิมได้ เช่นเดียวกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาซึ่งยังคงเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบและแน่นอนว่าเงินทุนจะไหลเข้าประเทศไทยส่วนหนึ่งซึ่งจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐจะยังคงมีทิศทางที่ผันผวนไปในทางแข็งค่า “การส่งออกไทย”จึงมีความเสี่ยงจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น

ปัจจัยเศรษฐกิจภายในและนอกที่อยู่ในสภาพแปรปรวนมีผลที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตและการส่งออกสูงขึ้นเปรียบเหมือนผู้ประกอบการไทยกำลังฝ่าอากาศที่แปรปรวน ดังนั้นคงต้องรัดเข็มขัด ไว้เป็นปลอดภัยที่สุด แต่ปัจจัยเหล่านั้นก็ยังพอจะคาดเดาหรือหาทางรับมือได้ไม่มากก็น้อย

แต่ปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดาอย่าง”ภัยธรรมชาติ” ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทุกฝ่ายหวาดกลัวมากสุดโดยเฉพาะคำถามที่ต้องรอคำตอบ น้ำจะท่วมไทยอีกหรือไม่ ? …แต่ยังไม่ทันไรคลื่นยักษ์ที่ซัดกระหน่ำชายฝั่งภาคใต้ของไทยรับเทศกาลฉลองคริสมาสต์ก็เล่นเอาเสียวไส้กันซะแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น