เทศกาลคริสมาสต์และส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นเทศกาลที่ผู้คนมากมายจะออกจากบ้านมาร่วมเฉลิมฉลองกัน ซึ่งการออกมารวมตัวของคนจำนวนมหาศาลนั้น หากมองอีกมุมหนึ่ง มันก็คือโอกาสทองของผู้ไม่หวังดีที่จะออกมาก่อความไม่สงบ นั่นอาจเป็นเพราะเพราะการก่อเหตุในช่วงเทศกาลนั้น สามารถส่งผลกระทบแก่สังคมในวงกว้างมากกว่าการก่อการในช่วงเวลาปกติมากมายนัก
หากย้อนกลับไปมองในปี 2549 เหตุการณ์ดังกล่าวก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยในปีนั้น มีการระเบิดในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ถึงเกือบ 10 จุด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 คน และบาดเจ็บอีกเกือบ 40 คน
และในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างในทุกวันนี้ คงไม่แปลกอะไรที่เหตุการณ์แบบนั้นจะกลับมาเกิดอีกรอบ ทั้งนี้เมื่อประกอบกับการที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนากยกฯ คนเก่ง ได้ออกมากล่าวว่า มันอาจจะมีเหตุไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นซ้ำรอย นั่นทำให้สถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วง
เพราะขนาดคนที่ไม่ค่อยกลัวอะไรอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม ยังกังวล แล้วคนธรรมดาๆ อย่างชาวบ้านร้านช่องก็คงต้องฟังเอาไว้บ้าง
10 จุดเสี่ยงรอบกรุง!!!
ก่อนอื่นคงต้องมาดูกันว่า 10 จุดเสี่ยงที่ว่านั้น มันอยู่ที่ไหนกันบ้าง?
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, เมเจอร์รัชโยธิน, ซีคอนสแควร์บางนา, ห้างเซ็นทรัลเวิลด์, ถนนข้าวสาร, พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, แยกสี่เสาเทเวศร์, สถานีขนส่ง, ซอยนานา และห้างพาต้าปิ่นเกล้า ทั้งหมดนี้คือจุดเสี่ยงที่ทางตำรวจเตือนให้มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ซึ่งในการรับมือนั้นทาง พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประธานการประชุมมาตรการป้องกันอาชญากรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็ได้กำชับให้ทุกพื้นที่ป้องกันอาชญากรรมและรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นพิเศษ เพราะปีที่ผ่านๆ มีการวางระเบิดในหลายจุดซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไม่น้อย ส่วนรายละเอียดเบื้องต้นก็จะมีการตั้งด่านเพิ่ม และมีสายตรวจให้ถี่ยิ่งขึ้น
ส่วนทาง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ก็ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า มีความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาสถานการณ์ได้ แต่ประชาชนก็คงต้องเป็นหูเป็นตาด้วย ซึ่งหลายๆ จุดที่เพิ่มขึ้นมาก็เพื่อดูแลความปลอดภัยอย่างครอบคลุม กันไว้ดีกว่าแก้
“ส่วน 10 จุดที่ต้องเฝ้าระวังนั้นเคยเกิดในปี 2550 ปีนี้เกิดไม่ได้หรอก รัฐบาลนี้ไม่ให้เกิด และไอ้พวกนั้นก็ล่มสลายไปแล้ว ทะเลาะกันเองเมื่อปี 50 ซึ่งตอนนี้เห็นใจภาคท่องเที่ยว ตนถึงไม่พูดถึงเรื่องเหตุระเบิดแล้ว แต่ถ้าไม่ระวังไว้มันก็ไม่ได้ ทั้งนี้ตนบอกตำรวจว่าถ้าเจอของซุกซ่อนอยู่ถ้ามันไม่ใช่ระเบิดอย่าไปพูด อย่าให้ข่าวเพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ ก็ต้องพูดน้อยๆ ซึ่งเมื่อวาน นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี ก็บอกตนว่า อย่าพูดมากนักเลย ซึ่งตนก็อธิบายให้ฟังว่ามีหน้าที่ต่างกัน”
งานนี้ไม่รู้ว่าลมปากของรองนายกฯ จะน่าเชื่อถือแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาเห็นพูดอย่างทำอย่างมาก็หลายครั้ง
เหตุผลของคนร้ายและทางรอดของคนกรุง
จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วทำไมต้องเป็นช่วงเทศกาล? และถ้ามันจะเกิด คนไทยจะมีทางเลือกทางรอดเหลือบ้างหรือไม่
ในประเด็นแรก พ.ต.ต.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยบริหารธุรกิจและรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุความไม่สงบในช่วงเทศกาลว่า โดยปกติ ในช่วงเทศกาลเหล่านี้มักจะเป็นช่วงที่ผู้คนเฉลิมฉลองกัน เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่มีความสุข เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น มันจะส่งกระทบมากกว่าปกติ ตรงนี้ก็ต้องไปดูว่าใครที่ได้ประโยชน์และใครที่เสียประโยชน์ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่จะมีปัญหามากสุดก็คือ รัฐบาล และหน่วยงานด้านความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ รวมไปถึงกองทัพบก ในฐานะเครื่องมือบริหารจัดการของรัฐบาล
"เรื่องแบบนี้ มันมีได้หลายเหตุผล บางทีก็อาจจะเป็นมือที่สามก็ได้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาของสังคมไทยอาจจะหยั่งรากลึก แต่ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าเกิดเหตุระเบิดขึ้นมาจริง ไม่ว่าจะเป็นแค่ระเบิดเสีย ระเบิดหมายสังหารก็ตาม ผู้เสียประโยชน์แน่นอนก็คือรัฐบาล ที่ไม่สามารถคุมสถานการณ์ในภาวะปกติได้ และประชาชนเองก็ต้องเผชิญความหวาดระแวง"
คำถามต่อมาก็คือ สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะสามารถป้องกันได้หรือไม่ แน่นอนต้องยอมรับว่า แม้จะมีกำลังเจ้าหน้าที่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่คงรับประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่า จะคุมสถานการณ์ได้อยู่ เพราะแม้แต่ในอังกฤษที่มีกล้องวงจรปิดต่อตัวต่อคนมากที่สุดในโลก แต่ยังไม่สามารถคุมการระเบิดรถไฟฟ้าใต้ดินได้เลย ฉะนั้นเมื่อมองย้อนกลับมา การควบคุมที่ดีที่สุด ก็คือการใช้ประชาชนเข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตา เช่น ถ้าพบคนที่น่าสงสัย หรือเอากระเป๋ามาวาง ก็ต้องรีบแจ้งหน้าที่ตำรวจโดยเร็ว เพื่อมาทำการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
"ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ ที่ไทม์สแควร์ นิวยอร์ก ปรากฏว่ามีการจับได้ก่อน ซึ่งคนที่จับได้ไม่ใช่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คนที่พบกลับเป็นลุงแก่ๆ คนหนึ่งที่ไปเดินอยู่แถวนั้น แล้วเห็นควันพุ่งจากฝากระโปรงหลังทั้งๆ ที่ไม่มีคนขับ แกก็เลยแจ้งตำรวจ พอเจ้าหน้าที่ทราบข่าวก็เลยรีบกันคนออก แล้วตรวจสอบ ปรากฏว่าเป็นระเบิดจริงที่กำลังจะทำงานแต่ยังไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเมื่อมาเปรียบเทียบกับบ้านเราต่อให้เขาเพิ่มสรรพกำลังสักแค่ไหน หากไม่ได้รับการร่วมมือจากประชาชนอย่างเต็มที่ก็คงยาก"
คนที่รับกรรมก็คือประชาชน
ไม่ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่กล่าวถึงกันนั้น มันจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ตามแต่ แต่ที่แน่ๆ คนที่รับกรรมไปเต็มๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นประชาชนคนธรรมดาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเหล่านั้น
สำหรับในพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุอย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น สิปปภาส (ขอสงวนนามสกุล) พ่อค้ารายหนึ่ง ซึ่งตั้งแผงอยู่หน้าบริเวณหน้าห้างเซ็นจูรี่ กล่าวว่าโดยส่วนตัวแล้วไม่กลัว เพราะคิดว่ารัฐบาลเอาอยู่ แต่เราก็ต้องระมัดระวังด้วยถึงแม้จะค้าขายตามปกติ แต่ก็ต้องคอยมองว่ามีอะไรผิดสังเกตหรือเปล่า ผิดกับ อาริยา รอดรุ่งเรือง สาวทำงานย่านเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ยังคงหวาดกลัวการระเบิดป่วนเมืองถึงขั้นตัดสินใจไม่ออกไปเฉียดกรายในพื้นที่เสี่ยงกันเลยทีเดียว
“คือเราคิดว่ามีแนวโน้มที่จะระเบิดเยอะ เพราะวันปีใหม่ตรงนี้คนจะพลุกพล่านมาก ซึ่งจะระวังตัวก็ยากนะ เพราะคนมันเยอะ ดังนั้นถ้าไม่ได้มีอะไรจำเป็นก็อยู่บ้านดีกว่าปลอดภัย”
ส่วนคนในย่านอื่นๆ ที่เพิ่งจะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงสดๆ ซิงๆ ในปีนี้ก็มีทั้งความรู้สึกหวาดกลัวและรู้สึกเฉยๆ ระคนกันไป ดังเช่นความรู้สึกของ จิรัญญา อัศวนภากาส ผู้ซึ่งมีบ้านอยู่แถวๆ สี่เสาเทเวศร์ได้บอกกับเราว่า
“ก็รู้สึกกลัวแต่ไม่มากนะ เพราะเป็นเรื่องธรรมดามันเป็นจุดเสี่ยงนี่นา ซึ่งเราก็คอยดูแลสอดส่อง ช่วยกันสังเกตหากว่ามีคนแปลกหน้ามาด้อมๆมองๆ ก็จะไปบอกตำรวจ คือเราต้องเป็นหูเป็นตาให้กันนะ มันจะได้ปลอดภัย”
…………
แม้ว่าเรื่องราวทั้งหมดมันจะเป็นเพียงการคาดการณ์ แต่ถ้าดูจากเหตุปัจจัยโดยรอบแล้ว คงไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น
ทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่คนธรรมดาอย่างเราๆ จะทำได้ก็คือ การพึ่งตนเองโดยตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท อย่าเห็นแก่ความสนุกสนานจากการเฉลิมฉลองมากกว่าความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง แต่ถ้าเหตุการณ์ระเบิดป่วนเมืองมันจะเกิดขึ้นจริงๆ ก็คงไม่ใครหรืออะไรไปหยุดยั้งมันได้
ยิ่งถ้ารัฐบาลกล้าออกมาประกาศกร้าวว่า 'เอาอยู่' ประชาชนตาดำๆ อย่างเราก็ยิ่งต้องระวังตัวให้จงหนัก ก็มันมีบทเรียนให้ดูเป็นตัวอย่างเสมอมามิใช่หรือ…
>>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK