xs
xsm
sm
md
lg

วาไรตี้ : ‘เรือมาด’ ณ อ่าวสลักคอก ล่องพาหนะคู่คุ้งน้ำ ท่องธรรมชาติบน ‘เกาะช้าง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยถึงท้องทะเลแห่งดินแดนตะวันออก ชื่อของ ‘เกาะช้าง’ หรืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด คงปรากฎขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ถ้าย้อนกลับไปในอดีตแต่ครั้งโบราณ การสัญจรทางน้ำก็คงต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ ที่อาจมีทั้งขับเคลื่อนด้วยแรงฝีพายหรือแรงลมตามธรรมชาติ ตามประวัติศาสตร์เอง ‘เรือมาด’ ก็เป็นเรืออีกประเภทหนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย

‘เกาะช้าง’ เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่สร้างพลังสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศ ให้เดินเข้ามาสัมผัสธรรมชาติอันทรงเสน่ห์ ความงดงามของผืนป่าชายเลน ผืนน้ำสีมรกต รวมทั้งวิถีชีวิตชาวเลที่ยังคงดำเนินไปอย่างไม่เร่งแม้ความเจริญทางวัตถุจะค่อยๆ กลืนกินอาณาบริเวณกว่าสองสองแสนไร่บนเกาะขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศ แต่พื้นที่ ‘ชุมชนบ้านสลักคอก’ ส่วนหนึ่งของเกาะช้างที่ตั้งอยู่ในตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ยังดำเนินวิถีชุมชนอย่างเรียบง่าย สืบทอดอาชีพบรรพบุรุษอย่างการทำประมง หรือการทำสวนยาง ไปพร้อมๆ การเปิดรับนักท่องเที่ยวสู่อ้อมกอดธรรมชาติด้วยการบริหารจัดการในแบบปราชญ์ชาวเล

‘เรือมาด’ พาหนะคู่คุ้งน้ำแต่โบร่ำโบราณของชาวเล ก็ถูกหยิบยกนำกลับมาเป็นตัวชูโรงในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชาวชุมชนสลักคอก ต้องบอกก่อนว่าความเป็นมาของเรือประเภทนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ ตามประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานกันว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 เสด็จประพาสมายังเกาะช้าง เข้ามายังบ้านสลักคอก ก็ได้ประทับเรือมาดเป็นราชพาหนะล่องเลียบลำน้ำชมทัศนียภาพอันสวยงามของอ่าวสลักคอก และป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดของเกาะช้าง บริเวณสลักคอกยังเป็นแหล่งเพาะธุ์พันตัวอ่อนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิดอย่าง กุ้ง หอย ปลา ปู มาจนถึงปัจจุบัน

แม้การท่องเที่ยวจะเข้ามา แต่วิถีดั้งเดิมของชาวบ้านก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปกับระบบทุนนิยมที่เข้ามา พวกเขายังเป็นชุมชนประมงยึดการทำประมงเป็นอาชีพหลัก ส่วนในเรื่องการบริการทางด้านท่องเที่ยวนั้นเป็นเรื่องรองเป็นอาชีพเสริมกันไป นอกจากจะมีจัดตั้งชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอกบริหารจัดการการท่องเที่ยวขเองแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และร่วมกันรักษาธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน

เรือมาดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนสลักคอก
ท่ามกลางแสงสีอุ่นที่ตัดกับน้ำทะเลสีมรกต และทิวทัศน์อันงดงามที่ยากจะมีโอกาสสัมผัส ดูเหมือนว่าการล่องเรือเที่ยวชมความงามบริเวณอ่าวสลักคอกโดยเรือมาดนั้น จะทำให้นักเดินทางอย่างเรามีความรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ จะว่าไปแล้วการล่องเรือที่ใช้แรงสารถีค่อยๆ พ่ายรับความสวยงามของสิ่งปลูกสร้างจากธรรมชาติ นอกจากจะไม่มีเสียงเรือเครื่องรบกวนยังเหมือนกับว่านักท่องเที่ยวได้ทำการนอบน้อมต่อธรรมชาติ

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษณ์ของชุมชนสลักคอกแรกเริ่มเกิดจากแนวคิดของ พิทยา หอมไกรลาศ ที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนด้วยการจัดตั้งกองทุนในระบบสหกรณ์ โดยขายหุ้นให้กับชาวบ้านที่สนใจ เพราะด้วยความพร้อมทางทรัพยากรณ์และสถานที่ตั้งที่อยู่ใกล้ผืนป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะช้างเนื้อที่กว่า 500 ไร่ ที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ รวมทั้งวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านเอง ก็ถือเป็นจุดขายที่สามารถผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เพราะถ้าชาวบ้านไม่จัดการการท่องเที่ยวกันเอง แน่นอน...อนาคตคงมีนายทุนเข้ามาหากำไรแน่ๆ งานนี้เลยเข้ากับสุภาษิตโบราณ เรือล่มในหนอง...ทองจะไปไหน

ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก ก่อตั้งเมื่อปี 2548 เริ่มต้นจาการนำเรือคายักมาให้ได้เช่ายืม และในปีถัดมาก็นำเรือมาด เรือโบราณที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นเรือเก่าแก่ของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเข้ามาให้บริการแก่นักท่องเที่ยว สำหรับเรือมาดนั้นมีลักษณะเป็นเรือขุดโบราณ ประกอบจากไม้ขนาดใหญ่ อย่างไม้สักหรือตะเคียน หัวเรือแบนและกว้าง ช่วงท้องกลม ไม่เสริมกราบ และมักจะมีประทุนไว้บังแดดบังฝน จากสมัยก่อนเรือมาดนั้นมีไว้บรรทุกของจำพวกเปลือก ไม้ฝืน ก็ได้มีการปรับแต่งนิดหน่อยเสริมเติมเก้าอี้นั่งเสริมโต๊ะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยือน ซึ่งผลตอบรับในวันนี้ก็ถือว่าสร้างเม็ดเงินปันกำไรจำนวนไม่น้อยสู่ชาวสลักคอก

ซึ่งจากเอกลักษณ์ของการล่องเรือมาดท่องเที่ยวอ่าวสลักคอก ก็ยังถูกนำไปเปรียบกับการท่องเที่ยวเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ถูกขนานนามว่าเป็น ‘เรือกอนโดแห่งเกาะช้าง’ (เรือกอนโด คือเรือพายพื้นบ้านของชาวเวนิส ที่ใช้พาหนะหลักในการเดินทางมานานหลายร้อยปี) ก่อนออกเดินทางไปกับเรือมาดนักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ว่านั่งเรือเพื่อรับชมทัศนียภาพเพียงอย่างเดียว หรือจะเลือกดินเนอร์ยามเย็นบนเรือมาดกลางอ่าวสลักคอกก็เป็นที่มื้อโรแมนติกไม่เบา

พัชรินทร์ ผลกาจ ประธานชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก กล่าวว่า ชาวชุมชนได้ดำเนินธุรกิจเข้าปีที่ 7 แล้ว แน่นอนว่าในฐานะนักท่องเที่ยวขาจรก็อดสงสัยไม่ได้ว่าระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมานี้ ตั้งแต่ชุมชนเปิดกว้างในเรื่องการท่องเที่ยวนั้นมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

“จริงๆ แล้วเราใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์เสียมากกว่า เราใช้เป็นอาชีพเสริมของชุมชนหลังที่ชาวบ้านกลับมาจากทะเลหรือกรีดยางแล้ว ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเขาก็จะมีรายได้เสริมจากการแจวเรือให้นักท่องเที่ยว การแจวเรือถือเป็นวิถีชีวิตชุมชนอยู่แล้ว ในเรื่องของการสัญจร ในเรื่องของการคมนาคมทั้งหลาย เราก็จะอนุรักษ์ของเราไว้ ไม่ได้ทำกิจกรรมนอกเหนือจากวิถีชีวิตของเราอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ทางชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก ยังมีการจัดสรรปันส่วนรายได้แก่ชาวบ้านผู้ถือหุ้น และสบทบเข้ากองกลางเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน อาทิ เงินปันผลของสมาชิก, เงินปันผลสาธารณะ, เงินปันผลสาธารณะประโยชน์ นอกจากนี้ทางชมรมฯ ก็จะมีเรื่องช่วยเหลือการเงินแก่เด็กและคนชราที่ขาดแคลนด้วย

สำหรับเรือมาดนั้นก็จะถูกจำกัดจำนวนไว้ที่ 8 ลำ เพราะทางชมรมฯ ต้องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวโดยอาศัยจำนวนเรือเป็นเครื่องมือ ประธานชมรมฯ เล่าถึงความปลอดภัยในการล่องเรือมาดที่อ่าวสลักคอก ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแต่อย่างใด

“เราป้องกันอุบัติเหตุให้นักท่องเที่ยว บนเรือมีเสื้อชูชีพ มีห่วงยาง เรือมาดปีหนึ่งเราก็ทำความสะอาดหรือขึ้นคานปีละ 2 ครั้ง คือบางทีเราใช้ไป เรืออาจโทรม รั่ว ก็ต้องขึ้นไปทาน้ำมันยาง ทาสี เรียนว่าขึ้นคาน”

‘ชุมชนสลักคอก’ พื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษ
ในขณะที่มุมหนึ่งของเกาะช้าง คึกคักไปด้วยแสงสีเสียงยามราตรีราวกับยกถนนข้าวสารไปตั้งไว้บนเกาะ แต่อีกมุมของเกาะช้างก็ยังมีพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เงียบสงบ เป็นประสบการณ์การพักผ่อนที่สร้างความรื่นรมย์ชีวิตนักเดินทาง นั้นก็คือชุมชนเล็กๆ ทางตอนใต้ของเกาะช้าง ‘ชุมชนสลักคอก’

พลตรีหญิงจรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง อพท. กล่าวว่า จริงๆ แล้วในช่วงเริ่มแรกนำเอาการท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อมาดูแลสิ่งแวดล้อมมากกว่าธุรกิจ

“เพราะการพายเรือไป เขาก็จะได้เห็นขยะ แม้แต่ปัจจุบันชมรมเองก็มีหลักการที่ตั้งไว้ แต่ไม่ได้บอกนักท่องเที่ยว อย่างนักท่องเที่ยวพายเรือคยักออกไปแล้ว เห็นขยะแล้วหยิบกลับขึ้นมา เขาก็จะไม่คิดค่าเช่าเรือนะ ตรงนี้ไม่ใช้แค่นักท่องเที่ยวที่ได้ แต่เขาสอนตัวชุมชนเขาเอง เพราะว่าถ้าเขาทิ้งขยะ หรือมีขยะให้นักท่องเที่ยวเก็บ รายได้ก็ไม่เข้าชมรม สิ่งที่เขาได้นอกเหนือจากรายได้คือความสะอาดในบ้านเขา ทุกคนจะรู้แล้วว่าเขาต้องรักษาความสะอาด”

ถึงทาง อพท. จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แก่ชุมชน แต่ก็ถือว่าเป็นเพียงการแสดงตัวอย่างเพื่อทางชุมชนนำมาปรับใช้และพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวของพวกเขาเอง ซึ่งทางอพท. ก็มีส่วนสำคัญในการนำเรือมาดเข้ามาในพื้นที่ และความหมายที่แฝงอัตลักษณ์ในตัวสถานที่ จึงไม่น่าแปลกที่สลักคอกจะกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ถูกจัดกิจกรรมหลายๆ อย่างขึ้น ที่มีเรือมาดเป็นพระเอกของงาน

“ที่นี่เรามีประวัติของสถานที่อยู่แล้ว ความผูกพันของรัชกาลที่ 5 เพราะพื้นที่นี้พระพุทธเจ้าหลวงท่านเสด็จมาประภาสต้นที่คลองสลักคอก อย่างที่มีประวัติท่านขึ้นไปประทับพระทับพระบาทเพื่อสร้างอุโบสถ พระราชทานนามวัดสลักคอกให้ใหม่ พื้นที่นี้จะมีความผูกพันกับรัชกาลที่ 5 ที่นี่ยังเป็นที่ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จมากับพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเสวี หรือสมเด็จพระนางเรือล่ม ซึ่งเป็นบุคคลที่พระองค์ท่านรัก ตรงสลักคอกเรียกว่าเป็นพื้นที่ที่ท่านมาฮันนีมูน”
………..

แม้จะมีการส่งเสริมในเรื่องการท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านก็จัดระเบียบชุมชนได้อย่างเข็มแข็ง ซึ่งชุมชนสลักคอกถือเป็นชุมชนนำร่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่บริหารจัดการระบบทุนนิยมที่มาพร้อมกับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นำส่วนหนึ่งของวิถีชุมชนและพาหนะที่ใช้กันแต่ครั้งโบราณ ‘เรือมาด’ เข้ามาปรับเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งพวกเขาก็ยืนยันว่า จะจำกัดเรือมาดไว้เพียง 8 ลำเท่านั้น เพราะถือเป็นการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไปด้วย ที่น่าชื่นชมอีกอย่างหนึ่งก็คือความร่วมมือร่วมใจของพวกเขาในเรื่องจิตสำนึกรักบ้านเกิดที่ไม่ยอมปล่อยให้ ‘บ้านของเขา’ ถูกวิถีคนเมืองพรากไป…
>>>>>>>>>>>>

…………
เรื่อง : ณ
ภาพ : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)




กำลังโหลดความคิดเห็น