xs
xsm
sm
md
lg

‘แบล็กลิสต์’ บัญชีหนังหมาจาก ‘แดนมะกัน’!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องเรียกว่าร้อนแรงมาตลอดช่วงสัปดาห์ สำหรับกรณีการแต่งตั้งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหมายเลข 125 ของพรรคเพื่อไทย ดร.นลินี ทวีสิน มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เพราะชื่อของเธอนั้นไปอยู่ในบัญชีดำของสหรัฐอเมริกา ที่ถูกยึดทรัพย์และห้ามทำธุรกรรมใดๆ ทั้งสิ้นในดินแดนเสรีภาพแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 โดยให้เหตุผลว่า เธอเป็น 1 ใน 3 นักธุรกิจที่ให้การช่วยเหลือการทุจริตของรัฐบาลของ โรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีของประเทศซิมบับเว แถมยังทำธุรกิจค้าอัญมณีร่วมกับภรรยาของอดีตผู้นำเผด็จการอีกต่างหาก ซึ่งทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป ก็มีเสียงเรียกร้องออกมายังเซ็งแซ่ ตั้งแต่ให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรักษาหน้าของประเทศ หรือไม่ก็ยืนหยัดสู้ต่อไป รวมไปถึงบางคนก็ยุให้ประกาศประณามสหรัฐอเมริกาเสียเลย

แต่คำถามหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีใครตอบเท่าใดนัก เห็นจะไม่พ้นเรื่องราวของบัญชีเจ้าปัญหาอย่าง ‘แบล็กลิสต์’ ว่าตกลงแล้วว่า มีคืออะไร และส่งผลอย่างไรให้แก่ผู้ที่มีชื่ออยู่อย่างไรกันแน่

สมุดนี้สำหรับศัตรู!!!

หากจะว่าไปแล้วกรณีของ ดร.นลินีนั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่เมืองไทยเจอ เพราะก่อนหน้านั้นก็มีเรื่องที่โด่งดังสุดๆ เมื่อปี 2535 อย่างกรณีของ ณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมถูกปล่อยข่าวว่ามีชื่อในแบล็กลิสต์ของสหรัฐฯ และห้ามเข้าประเทศ จนถึงพ่อเลี้ยงเมืองแพร่ต้องพลาดโอกาสสัมผัสเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และอีกครั้ง เมื่อปี 2537 ที่มีชื่อของ ทนง ศิริปรีชาพงษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครพนม ที่มีชื่ออยู่เช่นกัน เพราะไปพัวพันกับคดียาเสพติด และถูกทางการสหรัฐฯ ขอตัวไปดำเนินคดีในอีก 2 ปีต่อมา

รศ.ดร.ชัยชนะ อิงคะวัต อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายที่ไปที่มาของแบล็กลิสต์ว่า หลักๆ ก็มาจากการที่สหรัฐอเมริกานั้นเป็นประเทศมหาอำนาจและมีการเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้มีทั้งมิตรและศัตรูเต็มไปหมด แน่นอนว่าประเทศไหนที่อยู่ในข่ายศัตรู หรือมีความขัดแย้งในเรื่องกฎระเบียบที่สหรัฐฯ ยึดถือ เช่นประเทศนั้นปกครองขัดกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่ หรือประเทศนั้นปกครองด้วยเผด็จการหรือไม่ ก็จะถูกบันทึกอยู่ในบัญชีดำของกระทรวงการต่างประเทศ

“ในกรณีของมูกาเบนั้น ก็ต้องไปในอดีต เพราะเขาเคยไปยึดที่ดินของชาวอังกฤษ เพราะเดิมซิมบับเวนั้นเคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน เพราะฉะนั้นพอได้อำนาจมาก็เลยต้องการแก้แค้น ประเทศตะวันตกก็เลยไม่พอใจ เพราะมูกาเบทำการเกินเหตุ และอีกส่วนหนึ่งก็คือแอฟริกานั้นจะมีชนเผ่าที่ขัดแย้งกันอยู่ มูกาเบก็ใช้อำนาจทางทหารจัดการกับฝ่ายตรงข้าม เขาก็เลยถูกมองว่าเป็นพวกชอบใช้ความรุนแรง เป็นเผด็จการ ฉะนั้นซิมบับเวจึงถูกกำหนดไว้ในบัญชีดำของสหรัฐฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศนี้ไม่ได้เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็เพื่อกดดันประเทศนั้นๆ”

ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว นี่ก็คือผลพวงอย่างหนึ่งที่สหรัฐฯ ต้องการแสดงให้โลกได้เห็นถึงศักยภาพของประเทศและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน จนหลายคนก็รู้สึกว่าสหรัฐฯ ชอบทำตัวเป็น ‘ตำรวจโลก’

โดยกระบวนการความผิดที่สหรัฐฯ มักนำมาเป็นข้ออ้างในการขึ้นบัญชีดำนั้น ก็มีตั้งแต่การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งมีทั้ง ซิมบับเว เกาหลีเหนือ คิวบา หรือแม้แต่พม่าที่เคยถูกขึ้นบัญชี ซึ่งประเทศพวกนี้ส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร แล้วก็ยังมีการลงโทษเกี่ยวกับการเงินต่างๆ เช่นฟอกเงิน ค้าน้ำมัน ค้ายาเสพติด หรือแม้การก่อการร้ายข้ามชาติ ซึ่งผู้ที่อยู่ในบัญชีได้นั้นก็มีตั้งแต่ประเทศเอกราช บริษัทเอกชน หรือแม้แต่บุคคลธรรมดา

“การขึ้นแบล็กลิสต์ของเขาไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องการเมือง อย่างเรื่องยาเสพติดก็เห็นได้ชัด เพราะเขากลัวมากเนื่องจากคนหนุ่มสาวเสพยาเยอะ ทั้งชิคาโก นิวยอร์ก ใช้ยาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงมองว่าการที่ประเทศเหล่านี้เข้าไปทำมาค้าขายนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่ควรจะมี ก็กำหนดลงแบล็กลิสต์ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับตัวอเมริกาว่าจะกำหนดใคร”

ส่วนวิธีการควบคุม ก็จะมีตั้งแต่การจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงิน เช่นเงินฝาก เงินลงทุน ห้ามทำธุรกรรมภายในประเทศ การเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสาร อย่างอินเทอร์เน็ต หรือดาวเทียม จนถึงการห้ามเข้าประเทศ แต่ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ การขอตัวมาดำเนินคดีภายในประเทศ

เชื่อได้แค่ไหน?

แต่ถึงแม้สหรัฐฯ จะออกมาเผยบัญชีดำมากมาย แต่ปัญหาหนึ่งที่ถูกถกเถียงกันมาตลอดก็คือ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล เพราะมีหลายครั้งที่ข้อมูลที่เผยออกมาก็กลายเป็นเรื่องเท็จ เนื่องจากต้องยอมรับว่า บัญชีนี้เป็นผลพวงมาจากทัศนคติทางการเมืองและสังคมของตัวสหรัฐอเมริกา ซึ่งบางครั้งก็เต็มไปด้วยอคติ เช่นมุมมองที่มีต่อประเทศคอมมิวนิสต์หรือประเทศในกลุ่มโลกอาหรับ

ดังนั้นจึงต้องพิจารณาด้วยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าปัจจัยทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่มีร่วมกัน หรือแม้แต่ปัจจัยเรื่องการแสวงอำนาจ

“เรื่องจริงหรือเท็จนั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้ เพียงแต่จะเชื่อหรือไม่ มันเป็นคนละเรื่อง อย่างเรื่องซิมบับเว ที่มีกรณีการยึดที่ดิน หรือการทำร้ายชนเผ่าต่างๆ ในส่วนตัวผมก็มองว่าเกินไป แต่ในขณะเดียวเมื่อเราถามว่า ตัวมูกาเบนั้นเป็นโหดร้ายที่สุดจริงหรือเปล่า ประเด็นนี้ก็อาจจะไม่จริงก็ได้ เพราะประเด็นเผด็จการในโลกนี้มันเยอะมาก ทีผ่านมาอเมริกาก็ใช้ 2 มาตรฐานเมื่อกัน เช่นบางประเทศที่ได้ผลประโยชน์จากการค้า เขาก็ยังคบ เช่นที่ซูดาน ก็มีการฆ่ากันเป็นพันคนแต่อเมริกาก็ยังเฉยๆ ไม่ส่งกองกำลังเข้าไปจัดการอะไร แต่กรณีซัดดัม ซึ่งฆ่าคนไป 20,000 คน แต่ทำไมอเมริกาถึงเอาพรรคพวกไปรุม เพราะมันมีเบื้องหลังคือ เรื่องน้ำมัน ดังนั้นในแต่ละประเทศในเรื่องแบล็กลิสต์ เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่เป็นไร แต่เมื่อศึกษาละเอียด ก็ดูน่าสงสารเหมือนกัน”

อิทธิพลเหนือโลก!!!

คงพอจะเห็นภาพคร่าวๆ กันแล้วว่า ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาใช้บัญชีดำในทิศทางเช่นใดบ้าง ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ก็คงจะไม่พ้นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนั่นเอง แต่ในทางอ้อม ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบแบบไม่รู้ตัว เพราะแบล็กลิสต์มักเกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะการเลือกคบใคร เพราะสหรัฐฯ มักถือคติว่า มิตรของศัตรูก็คือศัตรู เพราะฉะนั้นถ้าใครคบกับคนที่ติดแบล็กลิสต์ ก็ต้องถือเป็นศัตรูของสหรัฐฯ ไปด้วย

“เราจะสังเกตได้เลยว่า ประเทศไหนที่เป็นมิตรของเขา รวมทั้งสหประชาชาติด้วยจะไม่กล้าที่จะเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านั้น ซึ่งอำนาจแบบนี้มันจะขยายไปสู่องค์กรที่เชื่อมโยงกับสหรัฐอเมริกา เช่น IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) องค์การการค้าโลก ธนาคารโลก ซึ่งวิธีที่เขาดำเนินการกับประเทศต่างๆ นั้น จะวางระดับไม่เท่ากัน เช่นบางแห่งที่แม้ไม่ติดแบล็กลิสต์ แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่เข้าหลักการของตัวเองก็จะพยายามกีดกัน เช่นจีน ที่กว่าจะเข้า WTO (องค์การการค้าโลก) ได้ก็ต้องเวลาตั้งหลายปี โดยอเมริกาอ้างว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน” รศ.ดร.ชัยชนะกล่าว

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าบัญชีดำของสหรัฐอเมริกาจะมีอิทธิฤทธิ์เหนือทุกประเทศในโลกเสมอไป เพราะมหาอำนาจอื่นๆ เช่น จีน รัสเซีย ก็ไม่สนใจบัญชีนี้ และพร้อมออกมาตอบโต้ทันที ถ้าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศ รวมไปถึงประเทศเล็กๆ ที่ต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากสหรัฐฯ ด้วย

“ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีของอิรักที่สหรัฐฯ ประกาศทำสงครามกับซัดดัม ฮุสเซน และประกาศบัญชีดำสนิทเลย ซึ่งสิ่งอเมริกากำหนดตามมาก็คือ เป็นเขตห้ามบิน ขณะที่ ฮิวโก ซาเวส แห่งเวเนซูเอลาซึ่งคบกับอิรักภายใต้ซัสดัม กลับเลือกบินไปที่อิหร่าน แล้วใช้ทางรถเข้าในอิรัก กรณีเช่นนี้ถือว่าเวเนซูเอลาไม่แคร์อเมริกา ประกาศตัวเป็นศัตรูอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะมีผลแค่ไหน ก็คืออยู่กับประเทศนั้นๆ ว่ามีอำนาจอธิปไตยที่โดดเด่นเพียงใด และต้องพึ่งพาเขาแค่ไหน จนเรียกได้ว่าแม้ไม่เป็นทางการ แต่ก็ต้องเกรงใจ”

ไทยต้องกลัวอยู่แล้ว

สำหรับประเทศไทยแล้ว แบล็กลิสต์นั้นมีบทบาทอย่างมากโดยเฉพาะ ในภาคเอกชนที่ยังถือว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดที่สำคัญอยู่ เนื่องจากปัจจุบันนี้ไทยได้เปรียบดุลการค้าอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าส่งออก อย่างสัตว์น้ำหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

เช่นกับภาครัฐเองที่มีความสัมพันธ์กันหลากหลายมิติ 2 ด้านด้วยกัน ส่วนแรกที่เห็นชัดก็คือ กิจการทางทหารของไทย และถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์รัฐบาลไทยก็ยังผูกติดกับสหรัฐฯ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา หรือเวียดนาม

“สังเกตไหมว่า การประชุมอาเซียน พออเมริกาไม่มา ก็เคยความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับพฤติกรรมระหว่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นถ้าดูจากรัฐบาลไทยไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยก็ตาม ก็ยังพึ่งพาอเมริกาทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุนเยอะพอสมควร”

แถมเรื่องนี้ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่า ข้อมูลส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลมากกว่าประเทศ ดังนั้น รศ.พรชัย เทพปัญญา อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเชื่อว่าโอกาสที่จะมีมูลเป็นไปได้สูง เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไรที่มหาอำนาจจะต้องเลือกโจมตีบุคคล หากไม่ได้กระทำผิดจริงๆ

“เราต้องเข้าใจก่อนว่า แม้แบล็กลิสต์กับการแทรกแซงมันคนละเรื่องกัน แต่ทั้ง 2 คำต่างก็มีความหมายตรงกันว่า บุคคลนี้เป็นบุคคลที่สหรัฐอเมริกาไม่ปรารถนาที่จะค้าขาย หรือจะดำเนินการต่างๆ ด้วย และลึกๆ แล้วผมก็ไม่คิดว่า นี่คือการเมืองระหว่างประเทศ เพราะก่อนจะขึ้นบัญชีดำ อเมริกาเขาก็ดูบุคคลแต่ละบุคคลว่ามีพฤติกรรมว่าเป็นอย่างไร และพฤติกรรมเหล่านั้นจะส่งผลอย่างไร ฉะนั้นมันจังน่าจะเป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่าการเมือง”

ทำอย่างไรให้อยู่เหนือแบล็กลิสต์

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องนี้จะจริงหรือเท็จแต่ก็หนีความจริงข้องหนึ่งไปไม่ได้ ก็คือ การออกมาเคลื่อนไหวเรื่องแบล็กลิสต์ของสหรัฐอเมริกานั้นมักจะนำผลกระทบมาให้แก่ประเทศชาติไม่มากไม่น้อย

เพราะฉะนั้นประเด็นที่น่าจะนำมาคิดต่อ ก็คือจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้

แน่นอนหากเป็นกรณีอย่างที่เป็นข่าวอยู่นั้น รศ.พรชัยก็บอกว่า วิธีแก้ที่ง่ายสุดก็คือ คนที่มีปัญหาก็ถอนตัวออกไปเสีย เพราะนี่ถือเป็นมารยาททางการเมืองรูปแบบหนึ่ง

“ผมมองว่าการตั้งรัฐมนตรีในประเทศไทยควรจะหลีกเลี่ยงตั้งคนที่มีปัญหาเข้ามา เพราะถือเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทย ปัญหาในลักษณะใดก็ตามโดยเฉพาะเป็นปัญหาที่สร้างความมั่นใจให้กับมิตรประเทศ ซึ่งผลกระทบคือความไม่ยอมรับของฝ่ายค้าน ความไม่ยอมรับของประชาชน มีผลกระทบต่อภาพพจน์ของรัฐบาลในที่สุด”

แต่ถ้าจะหวังผลระยะยาว รศ.ดร.ชัยชนะก็บอกว่าไทยเองจะต้องพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยให้เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อลดทอนโอกาสที่ต่างชาติจะเข้ามาครอบงำได้

“ถ้าเราจะอิสระได้ ผมว่าเราจำเป็นจะมีเศรษฐกิจพอเพียง และอยู่ด้วยตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือเราต้องไม่แคร์การส่งออก ไม่แคร์จีดีพี ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คืออินเดีย ซึ่งก็ค้าขายกับอเมริกาเหมือนกัน แต่อเมริกาเกรงใจอินเดียมาก เพราะคนที่นั้นเข้มแข็ง บริษัทเพื่อการลงทุนของอเมริกาบางแห่งเขาก็ไม่เอาเลย และเมื่อเราพึ่งตนเองได้แล้ว ฝรั่งเขาก็จะมาเกรงใจเราด้วยซ้ำไป และเขาจะวิ่งมาหาเราเอง ยกตัวอย่างพม่า อเมริกากับอียู (สหภาพยุโรป) อยากจะคบกับเขานานแล้ว แต่มันเหมือนอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะฉะนั้นพอพม่าเริ่มอ่อนก็เริ่มโดดเข้าไปหาเลย”
…..............

แม้ที่ผ่านมา กระแสข่าวการขึ้นบัญชีดำจะไม่สามารถยับยั้งให้ ดร.นลินีก้าวสู่ทำเนียบรัฐบาลได้ แต่จากกรณีแบล็กลิสต์นี้เอง ก็ทำให้คนไทยเริ่มเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการทำหน้าที่เป็นพี่ใหญ่ของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ประเทศที่มีรายชื่อในแบล็กลิสต์ แต่สิ่งที่น่าจะถือว่าคุ้มค่ามากที่สุด ก็คือโอกาสทองที่สังคมจะได้ตรวจสอบผู้บริหารประเทศว่า แท้ที่จริงแล้วมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องแค่ไหน หรือมีขยะหรือสิ่งปฏิกูลซุกซ่อนอยู่ในเบื้องหลังดีหรือไม่?
>>>>>>>>>>>>>

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพรายวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น