xs
xsm
sm
md
lg

นลินี ทวีสิน เพื่อนที่แสนดีของ The Last Dictator Standing

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นลินี ทวีสิน
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Nando ซึ่งเป็นแบรนด์ฟาสต์ฟูดไก่ย่างชื่อดังของแอฟริกาใต้ เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง The Last Dictator Standing เพื่อส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาส โฆษณานี้เปิดฉากด้วยตัวแสดงที่เล่นเป็นนายโรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดีของซิมบับเว ยืนอยู่คนเดียวอย่างเดียวดายที่โต๊ะอาหาร เขาหยิบป้ายชื่อ มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบียที่เสียชีวิตไปแล้วขึ้นมาดูก่อนวางกลับไปที่เดิม

โต๊ะอาหารซึ่งควรจะคึกคักในยามเทศกาล บัดนี้ว่างเปล่า ทำให้มูกาเบตกอยู่ในอารมณ์เศร้า เหงา ซึม และคิดถึงวันชื่นคืนสุขกับเพื่อนรัก วันที่เคยวิ่งไล่ ยิงปืนฉีดน้ำใส่ กัดดาฟีร้องคาราโอเกะ กับเหมา เจ๋อตง เล่นเป็นทูตสวรรค์บนพื้นทรายกับซัดดัม ฮุสเซน แกว่งไกวชิงช้าให้ พี ดับบลิว. โบธา ผู้นำแอฟริกาใต้ในยุคเหยียดผิว และโอบประคองอีดี้ อามิน บนรถถัง ในท่วงท่าที่ลีโอนาร์โด ดี คาปริโอ ตระกองกอด เคต วินเลต บนเรือไททานิค โดยมีเสียงเพลง Those were the days โดยแมรี ฮอฟกินส์ ร้องคลอประกอบฉาก

บัดนี้เหลือเขาเพียงคนเดียว เป็นเผด็จการคนสุดท้ายที่อยู่ในอำนาจมายาวนานถึง 30 ปี ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หนังโฆษณาซึ่งมีความยาว 46 วินาทีนี้ จบลงด้วยฉากมูกาเบนั่งถอนใจอยู่คนเดียวที่หัวโต๊ะ ตามด้วยเสียงบรรยายว่า This time of year no one should have to eat alone. So get a Nado6 - pack meal for six



ทันที่ที่หนังโฆษณาเรื่องนี้ได้รับการเผยบแพร่ มีผู้เข้าไปชมผ่าน Youtube ถึง 600,000 กว่าคน ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ Nando ต้องถอดโฆษณาชิ้นนี้ ในวันที่ 2 ธันวาคม หลังจากถูกกลุ่มผู้จงรักภักดีนายมูกาเบในซิมบับเว ประกาศบอยคอตร้าน Nando ในซิมบับเว และขู่ว่าจะใช้กำลังคุกคามพนักงานของร้าน

การดูหมิ่น ล้อเลียนผู้นำ ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายของซิมบับเว

ถ้า นายดีน บลุมเบิร์ก ( Dean Blumberg) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รู้มาก่อนหน้านี้ว่า มูกาเบไม่ได้เป็นคนไม่มีเพื่อนอย่างที่เขาเข้าใจ ภาพยนตร์เรื่อง The Last Dictator Standing อาจไม่ได้เกิด หรืออาจจะมีเนื้อหาแตกต่างออกไป อาจจะมีฉากที่ผู้หญิงไทยที่ทีหน้าตาเหมือนนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ราวกับเป็นพี่น้องกัน พานายมูกาเบ และภรรยาไปซื้อเพชร หรือพาลูกชายนายมูกาเบไปกินแมคโดนัลด์

เพราะที่จริงแล้ว นายมูกาเบมีเพื่อนที่แสนดีอยู่อย่างน้อย 3 คนในประเทศไทย คือ นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของซิมบับเวประจำประเทศไทย และนางนลินี ทวีสิน ที่ได้ดิบได้ดีเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้เพิ่งจะยอมรับว่ารู้จักและเป็นเพื่อนกับมูกาเบและครอบครัวมานานหลายปี หลังจากที่ข้อเท็จจริงเรื่องทางการสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีนางนลินี เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ชาวอเมริกันติดต่อคบหาทำธุรกิจด้วย แพร่งพรายออกมา

เพื่อนผู้แสนดีของมูกาเบรายที่ 3 คือ นายกฯ นกแก้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยอมเอาผลประโยชน์ของชาติไปแลกกับความสัมพันธ์ที่นางนลินี มีกับมูกาเบ

ระหว่างถูกแบล็กลิตส์ กับแซงก์ชัน หรือคว่ำบาตร ที่นางนลินีพยายามชี้แจงว่ามีระดับความรุนแรงไม่เหมือนกันนั้นแท้จริง โดยเนื้อหาแล้วไม่แตกต่างกัน คือ เป็นบุคคลที่ทางการสหรัฐฯ ห้าม พลเมืองของตนคบค้าทำธุรกิจด้วย และห้ามไปมีกิจการใดๆในสหรัฐ ฯ หากมีสินทรัพย์และเงินลงทุนใดๆ ต้องถูกยึด เพราะนางนลินีไปคบค้ากับเผด้จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมูกาเบ

จริงหรือที่นายมูกาเบเป็นเผด็จการ ซึ่งเราไม่สมควรจะคบค้าสมาคมด้วย ไม่ว่าจะในทางใดๆ รวมทั้งทางสังคมอย่างที่นางนลินีอ้าง

เว็บไซต์ www.thaiafrica.net ของกระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับซิมบับเว และนายมูกาเบ ว่า

ซิมบับเวได้รับเอกราชจากอังกฤษตั้งแต่ปี 2523 (ค.ศ. 1980) โดยมีนายมูกาเบ เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2523-2530 หลังจากนั้น นายมูกาเบได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ ตั้งแต่ปี 2530

หลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ระยะหนึ่ง นายมูกาเบดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดิน โดยยึดที่ดินทำกินของชาวซิมบับเวผิวขาว (เชื้อสายอังกฤษ) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของที่ดินทั้งประเทศ มาจัดสรรใหม่ให้แก่ชาวซิมบับเวผิวดำ เพื่อเรียกความศรัทธาและความนิยมของประชาชน เหตุการณ์บุกรุกที่ดินเริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2543 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน และเกษตรกรผิวขาวกว่า 100 ครอบครัวต้องอพยพออกจากที่ดิน และอีกจำนวนมากต้องยุติการเพาะปลูก นโยบายปฏิรูปที่ดินนี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง

ประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้มีมาตรการ Smart/Targeted Sanctions เพื่อต่อต้านและกดดันรัฐบาลของนายมูกาเบตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ประกอบด้วยการเพิกถอนสมาชิกภาพของซิมบับเวในเครือจักรภพชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด การห้ามการเดินทางเข้าประเทศและการอายัดทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศตะวันตกของนายมูกาเบ รวมทั้งพรรคพวกและเครือญาติ อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า การกดดันของประเทศตะวันตกไม่อาจทำให้วิกฤตการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซิมบับเวบรรเทาลงได้ ซิมบับเวได้ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพในเดือนธันวาคม 2546 และฝ่ายรัฐบาลซิมบับเวได้ใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุมผู้นำฝ่ายต่อต้านและนักเคลื่อนไหวกว่า 40 คน เมื่อเดือนมีนาคม 2550

ในเดือนมิถุนายน 2550 เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ฯ เพื่อโน้มน้าวให้ไทยร่วมดำเนินมาตรการ Smart Sanctions ห้ามการเดินทางเข้าไทยกับนายมูกาเบและพวก แต่ฝ่ายไทยได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการใช้มาตรการกดดันที่ไม่ได้อยู่ภายใต้มติของ UN โดยฝ่ายไทยเชื่อมั่นในการที่จะบรรลุข้อยุติของปัญหาบนพื้นฐานของการเจรจาร่วมกันอย่างตรงไปตรงมาและเท่าเทียมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่ามาตรการกดดันเพื่อโดดเดี่ยวซิมบับเวนั้นจะไม่ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหา

เนื่องจากได้รับแรงต่อต้านจากประเทศตะวันตกอย่างสูง รัฐบาลซิมบับเวจึงดำเนินนโยบาย Look East แสวงหามิตรประเทศจากภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะการเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ในส่วนของไทย รัฐบาลซิมบับเวพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทย โดยได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ซิมบับเวประจำไทยและได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าซิมบับเวในกรุงเทพฯ (อนึ่ง ที่ผ่านมา นายมูกาเบและภริยาเดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัวบ่อยครั้ง บุตรชายของนายมูกาเบเคยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ)

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 ซิมบับเวมีการเลือกตั้งทั่วไปของสถาบันการเมืองหลักของประเทศ ได้แก่ ประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาท้องถิ่น ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปรากฏว่า นายมูกาเบ ผู้นำพรรค ZANU-PF ได้คะแนนเสียงร้อยละ 43.2 และนายมอร์แกน ชังกิราย (Morgan Tsvangirai) ผู้นำพรรค Movement for Democratic Change MDC ได้คะแนนเสียงร้อยละ 47.9 ซึ่งถือว่าไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงต้องมีการเลือกตั้งรอบที่ 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2551

ในช่วง 3 เดือนระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 1 และ 2 นั้น รัฐบาลของนายมูกาเบได้มีการใช้กำลังข่มขู่ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายค้านอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเขตชนบท มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้กว่า 60 คน และผู้สูญหายกว่า 30,000 คน นายชังกิราย ผู้นำฝ่ายค้าน แถลงถอนตัวจากการเลือกตั้งรอบที่ 2 เพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงข่มขู่ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านของรัฐบาล โดยฝ่ายค้านยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 85 คน และผู้สูญหายมากกว่า 200,000 คน ผลการเลือกตั้งรอบที่ 2 ปรากฏว่า นายมูกาเบที่ลงแข่งขันเพียงผู้เดียว ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ด้วยคะแนนร้อยละ 85.5 โดยมีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 42.4 ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนผู้ที่เลือกนายมูกาเบเมื่อเดือนมีนาคม 2551 และได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2551 ท่ามกลางความคลางแคลงใจของชาวซิมบับเวและนานาชาติ หลังจากการเลือกตั้ง นายชังกิรายได้เดินทางออกนอกประเทศไปอยู่ในบอตสวานา ในระหว่างนั้น ได้มีความพยายามในการคลี่คลายปัญหาในซิมบับเวโดยนานาชาติและประเทศแอฟริกันอื่นๆ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยประเทศที่ต่อต้านการครองอำนาจของนายมูกาเบอย่างชัดเจนและมีมาตรการคว่ำบาตรซิมบับเว ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ และกลุ่ม อียู

ประเทศมหาอำนาจกลุ่มเหนือ นำโดยสหรัฐฯ ได้เสนอให้ชุมชนโลก ในนามขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหประชาชาติ สหภาพแอฟริกา และ G8 กำหนดมาตรการลงโทษรัฐบาลของนายมูกาเบ เช่น คว่ำบาตรการค้าอาวุธและการเดินทางของเจ้าหน้าที่อาวุโสของซิมบับเว แต่ประเทศกลุ่มใต้ นำโดย รัสเซีย จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ยังลังเลต่อมาตรการคว่ำบาตร โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของซิมบับเว ในขณะที่แอฟริกาใต้มีท่าทีเป็นกลาง (ซึ่งมีนัยที่สนับสนุนนายมูกาเบ) โดยอ้างการดำเนินนโยบายตามหลัก Quiet Diplomacy

วิกฤตการณ์ในทุกมิติของประเทศส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของซิมบับเวล่มสลายภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีมูกาเบ เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง การขาดแคลนอาหาร และภาวะการว่างงานอย่างรุนแรง ในปัจจุบันมีประชากรเพียงร้อยละ 20 ของประเทศเท่านั้นที่มีงานประจำ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2551 รัฐบาลซิมบับเวยกเลิกการใช้เงินสกุลดอลลาร์ซิมบับเว (ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้พิมพ์ธนบัตรมูลค่า 100 Trillion Zimbabwean Dollars ออกใช้เท่ากับว่า เงินซิมบับเวดอลลาร์แทบจะไม่มีค่ามากไปกว่ากระดาษ) และอนุญาตให้ใช้เงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ และแรนด์แอฟริกาใต้ ในท้องตลาดได้ รวมทั้งจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจเริ่มทรงตัว ประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อ และเริ่มมีเงินไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้น
โรเบิร์ต มูกาเบ
กำลังโหลดความคิดเห็น