ทันใดที่น้ำลด...คราบสกปรกติดตามผนังห้อง พื้นบ้านถูกถมด้วยโคลนตม ข้าวของเครื่องใช้ที่เคยลอยกลางน้ำเน่า ตอนนี้วางกระจัดกระจายอย่างไม่ถูกที่ บ้างเลอะเทอะเปรอะเปื้อน บ้างก็เสียหายใช้การไม่ได้ แถมกลิ่นน้ำเน่ายังลอยคละคลุ้งอยู่เต็มบ้าน เมื่อเจ้าของกลับมาเห็นสภาพบ้านเช่นนี้ จึงไม่รู้จะจัดการอย่างไร จะปัดกวาดเช็ดถูตรงไหนก่อนดี...
M-Living จึงขอแนะนำวิธีการจัดการและฟื้นฟูบ้านหลังน้ำท่วม เพื่อเป็นแนวทางให้การทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่นี้ไม่ยากอย่างที่คิด โดยวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิ เกชา ธีระโกเมน วิศวกรงานระบบอาวุโสของวงการก่อสร้าง ผู้รอบรู้งานระบบวิศวกรรมทุกประเภท จะมาให้คำแนะนำดีๆ ในการรับมือเพื่อฟื้นฟูจัดการบ้านของคุณ
ตรวจเช็ควงจรไฟฟ้าก่อน
การเข้ามาทำความสะอาดบ้าน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตรวจดูระบบไฟฟ้า ซึ่งแบ่งเป็นแผงควบคุมวงจรไฟฟ้า ปลั๊กไฟ สายไฟ และเบรกเกอร์ไฟฟ้า ถ้าบ้านท่วมไม่เกิน2 อาทิตย์ สามารถใช้ไดร์เป่าผมเป่าลมให้อุปกรณ์ต่างๆ แห้งเร็วขึ้น แต่ส่วนใหญ่น้ำท่วมติดต่อกันหลายเดือน น้ำสกปรกที่เข้าไปอาจทำให้อุปกรณ์เบรกเกอร์ภายในเกิดความเสียหายมากกว่าจะแก้ไขให้แห้งเพียงเท่านั้น
“เรื่องไฟฟ้ามันเป็นเรื่องของชีวิตด้วย ถ้าไม่อยากเอาชีวิตไปเสี่ยง เมื่อไม่แน่ใจในการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จมน้ำนานนับเดือนก็ควรเปลี่ยนใหม่ดีกว่า และพาช่างไฟฟ้าเข้าไปตรวจสอบด้วย”
จากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านหลายคนเข้าไปสำรวจบ้านในขณะที่น้ำยังไม่แห้งสนิท บางครั้งอาจเกิดไฟฟ้าดูดได้ ซึ่งมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นบทเรียน ดังที่ออกมาเป็นข่าวแล้วหลายราย เพราะฉะนั้นการเข้าสำรวจบ้าน หรือทำความสะอาด ควรลงมือทำเมื่อน้ำแห้งสนิทก่อน
“เมื่ออนาคตทุกคนคิดว่าน้ำจะมาอีก” ถ้ามีงบประมาณมากพอที่จะเปลี่ยนและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่ แนะนำให้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งปลั๊กไฟ อาจขึ้นไปอยู่ที่ระดับเดียวกับสวิทซ์ไฟ คือประมาณ 1.10-1.50 เมตร หลังจากนั้นควรแยกไฟฟ้าออกเป็น 2 วงจร คือ วงจรไฟฟ้าบ้านชั้นล่าง (คาดว่าน้ำอาจท่วมถึง) และวงจรไฟฟ้าบ้านชั้นบน (คาดว่าพ้นระดับน้ำท่วม) เมื่อแบ่งการควบคุมวงจรไฟฟ้าดังนี้แล้ว จึงทำให้ง่ายต่อการเปิด-ปิดวงจรไฟฟ้า และสามารถบำรุงซ่อมแซมได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
แก้ไขน้ำผุดกลางบ้าน และพื้นไม้ปาเก้
เมื่อสำรวจระบบไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจพบความเสียหายของตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง เพดาน รวมไปถึงอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ภายในบ้าน ก่อนอื่นเรามาเริ่มซ่อมแซมส่วนของพื้นบ้านกันก่อนเลยดีกว่า
“ปัญหาที่พบมากกับพื้นบ้านหลังน้ำลด คือน้ำผุดขึ้นกลางบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านปูนซึ่งปูพื้นด้วยแผ่นปูนสำเร็จรูป สร้างจากการเทคานแล้วเอาแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปมาวางแล้วเทคอนกรีตทับหน้าลงไปอีกที ซึ่งแผ่นคอนกรีตที่นำมาวางนี้ ไม่สามารถกันน้ำไม่ได้ และส่วนมากปูนที่เททับจะมีความหนาประมาณเพียง 7 ซม. ฉะนั้นเวลาน้ำดันขึ้นมาจึงแตกง่าย”
จะเห็นได้ว่าหมู่บ้านจัดสรรทั่วไปจะใช้ระบบการสร้างพื้นแบบเดียวกันนี้ เนื่องจากสามารถลดต้นทุนการผลิต ซึ่งตอนนั้นผู้ขายอาจคิดไม่ถึงว่าน้ำจะท่วมถึงพื้นที่โครงการ จึงไม่เคยมีปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นเลย
“เมื่อพื้นเสียหายมาก และไม่อยากให้แตกร้าวหรือมีน้ำรั่วซึมอีก ควรเปลี่ยนวิธีทำพื้นใหม่โดยการเทคอนกรีตลงพื้นที่ตรงนั้นไปเลย ซึ่งเป็นการหล่อพื้นคอนกรีตอยู่กับที่ โดยไม่ใช้แผ่นปูนสำเร็จรูป อันนี้จึงแข็งแรงกว่ากันมาก และป้องกันน้ำรั่วซึมได้ดีกว่า”
ปัญหาพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่ง คือพื้นไม้ปาเก้ ซึ่งไม้ปูพื้นเหล่านี้ทำมาจากไม้ที่มีคุณภาพต่างกัน ถ้าเป็นไม้เก่าจะไม่ค่อยมีปัญหา อาจนำมาใช้งานต่อได้ โดยการแกะออกมาผึ่งลมให้แห้งก่อนแล้วจึงใส่กลับตามเดิม แต่ถ้าเป็นไม้ที่มีอายุไม่นานนัก พอโดนน้ำมาก อาจจะบวมโก่งขึ้นมา หรือบิดเปี้ยวเสียรูปจึงต้องเปลี่ยนใหม่
ถ้าจะทำพื้นใหม่ด้วยวัสดุอื่น ควรเลือกวัสดุปูพื้นที่ทนน้ำได้มากกว่า เช่น กระเบื้อง หินอ่อน หรือหินแกรนิต หาซื้อได้ตามความชอบของแต่ละคน
เปลี่ยนผนัง และวอลล์เปเปอร์
ผนังบ้านที่ทำจากไม้ ควรเช็ดทำความสะอาดคราบสกปรก และทิ้งระยะเวลาให้ความชื้นระเหยออกไปให้หมดก่อน จากนั้นเมื่อแน่ใจว่าผนังแห้งดีแล้ว จึงใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ทาชโลมลงที่ผิวเพื่อยืดอายุไม้ต่อไป
ส่วนผนังก่ออิฐฉาบปูน ทำความสะอาดเช่นเดียวกับผนังไม้ แต่ต้องทิ้งระยะเวลาเพื่อให้ผนังแห้งนานกว่าไม้ เนื่องจากผนังอิฐสามารถเก็บความชื้นได้มากกว่า จึงต้องใช้เวลาระเหยความชื้นออกนานกว่า เราสามารถใช้กระดาษทรายขัดสีเดิมออกไปให้หมดก่อน เพื่อรอเวลาทาสีใหม่ จากนั้นอีกประมาณ 1 อาทิตย์ หลังผนังแห้งสนิทก็จะได้ผนังใหม่ให้บ้านเรา
สำหรับการซ่อมผนังที่บุด้วยวอลล์เปเปอร์ เมื่อโดนน้ำท่วมจะลอกร่อน แก้ไขโดยดึงออกให้หมด เพื่อให้ความชื้นระเหยออกไป แล้วค่อยติดตั้งใหม่ แต่ถ้าเกิดน้ำท่วมอีกก็จะเสียหายเหมือนเดิม ฉะนั้นถ้าคิดจะเลิกใช้วอลล์เปเปอร์และเปลี่ยนมาทาสีผนังแทน ควรเลือกสีเคลือบชนิดปูนขัดมัน เพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นผงและเชื้อราเกาะตามผนัง
“การใช้สีเคลือบแบบใหม่ ฝุ่นจะไม่เกาะ และสามารถกันความชื้นได้ ผนังที่เป็นก่ออิฐฉาบปูน และใช้สีพลาสติกทาเหมือนในสมัยก่อน ฝุ่นเกาะง่าย จึงไม่ดีสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ และเมื่อน้ำท่วมไปนานๆ ตะไคร้และเชื้อราก็เกิดขึ้น พวกนี้ถ้าอยู่ในเนื้อปูนแล้วกำจัดยากด้วย”
ถ้าบ้านไหนใช้ผนังยิบซัมบอร์ด เมื่อเจอน้ำท่วมไม่ว่าจะดีเพียงใดก็ไม่มีเหลือ เนื่องจากวัสดุชนิดนี้เป็นแผ่นผงปูนยิบซัมที่หุ้มด้วยกระดาษอย่างดี วิธีแก้ไขเพื่อไม่ให้เสียหายซ้ำเก่า ควรรื้อทิ้งเสียใหม่แล้วเปลี่ยนมาใช้วัสดุอื่นแทนจะดีกว่า อย่างเช่น สมาร์ทบอร์ด ซึ่งกูรูวิศวกร บอกว่า “มันโอเคเลยล่ะ”
“แผ่นสมาร์ทบอร์ดทนน้ำได้มากกว่ายิบซัมบอร์ด เนื่องจากเป็นแผ่นซีเมนต์ ผสมไซเบอร์ มีลักษณะบางจึงไม่อมน้ำ ถ้าจมน้ำก็แกะบางแผ่นออกให้ความชื้นระเหยแล้วค่อยตีกลับเข้าไปใหม่ ทำงานได้ไม่ยาก และที่สำคัญมีราคาไม่แพง ทาสีง่าย ไม่เปลืองสี แต่ถ้าเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ผนังอิฐมวลเบา กว่าจะแห้งต้องใช้เวลานานหลายเดือน เพราะเป็นวัสดุอมน้ำ”
ซ่อมเฟอร์นิเจอร์ไม้ และอุปกรณ์โลหะ
“เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ใช้ไม้อัดกับโครงเข้าไม้ ถ้าแช่น้ำอยู่เป็นเดือนคงเสียหมด ถ้าเก็บไว้วันหลังจะมีปลวกขึ้นตามมา แต่ถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ทำจากไม้จริงๆ ไม่ใช่ไม้อัด อาจเป็นตู้โบราณ ซึ่งเป็นไม้เก่า สามารถนำไปตากแดดได้ แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้”
เฟอร์นิเจอร์ติดอยู่กับที่ (Built in) มักจะมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง จึงควรตรวจสอบความแข็งแรงให้ดีก่อน รวมถึงสายไฟที่ฝังอยู่ภายในตู้ “ถ้าน้ำท่วมเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินไม่มีเหลือ”
ถ้าประตูไม้ตก บานพับไม้ตก เนื่องจากบวมน้ำจึงทำให้มีน้ำหนักมาก จนประตูและบานพับรับน้ำหนักไม่ไหว ควรหาลิ่มมายันไว้ให้อยู่ในสภาพปกติมากที่สุดก่อน แล้วพยายามทำให้เนื้อไม้แห้ง แต่ถ้ายังเอียงอยู่ ควรเปลี่ยนตำแหน่งไขน็อตใหม่ จึงจะทำให้บานพับกลับมาเหมือนเดิม (วิธีนี้ใช้ได้กับเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงเท่านั้น ถ้าเป็นไม้อัด แนะนำให้เปลี่ยนใหม่จะดีกว่า)
ส่วนบานพับ ลูกปิด และรูกุญแจ ซึ่งทำด้วยโลหะ เมื่อโดนน้ำท่วมขังนานย่อมมีปัญหาเรื่องสนิม วิธีแก้ไขโดยเช็ดให้แห้ง ขัดส่วนที่เป็นสนิทออกให้หมด จากนั้นใช้น้ำยาหล่อลื่นชโลมให้ทั่วตามรอยต่อและรูกุญแจ ไม่ควรใช้จาระบีหรือขี้ผึ้งทา เพราะจะทำให้ความชื้นระเหยออกไม่ได้ และจะเกิดปัญหามากขึ้น
เตรียมบ้านใหม่ รับมือน้ำท่วม
อนาคตข้างหน้าหลายคนคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้อีก การหาวิธีการป้องกันด้วยการพึ่งตัวเองจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจมาซ้ำรอยเดิม
หลายวิธีที่แนะนำไปแล้วข้างต้นสำหรับการเตรียมรับมือในอนาคต อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนตำแหน่งปลั๊กไฟ การใช้วัสดุสร้างบ้านที่แข็งแรงทนทาน ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งภายในบ้านที่สามารถทนน้ำได้ดี แต่ถ้าใครมีปัจจัยเหลือเฟือ การเปลี่ยนแนวคิดเพื่อต่อเติมบ้านใหม่ จึงเป็นหนทางที่น่าสนใจเหมือนกัน
“บางคนต่อเติมชั้น 2 ส่วนบนหลังคาที่จอดรถ อย่างน้อยชั้นล่างท่วมก็มีอีกส่วนที่ยังอาศัยอยู่ได้ อีกอย่างการต่อเติมเป็นชั้น 2 ตรงส่วนนี้ทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าใครต้องการยกบ้านใหม่เลยนี่ คงยากหน่อย และต้องศึกษาข้อมูลดีๆ ซึ่งในประเทศไทยมีมือยกบ้านเก่งๆ ไม่กี่คน และต้องใช้เงินเยอะมาก อย่างน้อยๆ ก็หลายแสนถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว มีชาวบ้านใช้ไฮดรอลิกส์ไปยกกันเอง บ้านก็บิดเอียงหมด บางหลังพังลงมาก็มี ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นเขายกก็ยกบ้าง ซึ่งมันไม่ง่ายขนาดนั้นเลย”
“หรือไม่เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ ที่คิดว่าบ้านเราคือชั้นล่าง ชั้นบนคือห้องนอน ต้องเปลี่ยนใหม่ว่าบ้านเรา คือชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นส่วนสันทนาการ เป็นห้องนั่งเล่น จึงควรคิดใหม่ว่าถ้าบ้านเราน้ำท่วมแล้วชั้น 2 ยังเป็นบ้านที่เราอยู่ได้ มีห้องที่ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกับชั้นล่าง ทำให้เหมือนบ้านไทยสมัยก่อน เราต้องคิดว่าชั้นบนคือบ้าน ชั้นล่างคือสันทนาการ”
สำหรับคนที่กำลังคิดสร้างบ้านใหม่ แนะนำให้เอาแนวคิดนี้ไปใช้ได้ไม่สงวนลิขลิทธิ์ เพราะในอนาคตสามารถเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อีกเสมอ จึงต้องวางแผนเพื่อเตรียมการป้องกันไว้ ก่อนคิดจะรอให้คนอื่นมาช่วย ถึงคราวนั้น... คงไม่ทันการณ์เสียแล้ว
วิธีกำจัดเชื้อโรคภายในบ้าน
หัวใจสำคัญของการทำความสะอาดบ้านน้ำท่วม คือการไล่ความชื้นออกไปจากบ้าน เนื่องจากความชื้นทำให้ตัวบ้าน และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านเกิดความเสียหาย ทั้งยังเป็นที่มาของเชื้อโรค ซึ่งวิธีกำจัดความชื้นออกไปจากบ้านของเราได้ง่ายและประหยัดที่สุด คงต้องหันมาพึ่งพาธรรมชาติด้วยการ “ผึ่งแดด”
“ในเมืองนอกเขาเจอพายุ ธุรกิจอย่างหนึ่งที่เติบโตดีมาก คือการอบบ้านให้แห้ง แต่เมืองไทยคงไม่ขนาดนั้น ช่วงนี้ใกล้หน้าหนาวอากาศจะเริ่มแห้ง คิดว่าบ้านเราใช้วิธีผึ่งแดด น่าจะดีที่สุด โดยการเปิดประตู หน้าต่างทิ้งไว้ เพื่อให้แดดส่องถึง เป็นการกำจัดเชื้อโรควิธีหนึ่งด้วย”
สำหรับคราบสกปรกฝังแน่น ติดตามพื้น ผนัง และเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน สามารถใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาคลอรีนราดเพื่อกำจัดคราบสกปรกและฆ่าเชื้อโรคได้
“ปัญหาเชื้อราขึ้นตามพื้นไม้ เฟอร์นิเจอร์ และราวบันได เริ่มแรกควรเปิดหน้าต่าง ประตูบ้านเพื่อระบายความชื้นออกไปก่อน จากนั้นนำแอลกอฮอล์เจลมาเช็ดคราบสกปรกและเชื้อราออก สามารถฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ได้ดี โดยไม่เกิดความเสียหายต่อเฟอร์นิเจอร์ และไม่เป็นอันตรายต่อคน”
นอกจากแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเจลล้างมือธรรมดาๆ ที่เราใช้กันทั่วไปจะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้แล้ว คลอรีนก็เป็นสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน แต่ต้องใช้ปริมาณคลอรีนที่เข้มข้นมากกว่าปกติ เริ่มจากราดที่ผนัง ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ส่วนโต๊ะ ชั้นวางของ ทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดแล้วใช้ผ้าชุบน้ำที่ผสมน้ำยาคลอรีนพอหมาดๆ แล้วเช็ดให้ทั่วอีกครั้ง
แต่ด้วยคุณสมบัติของคลอรีน อาจทำให้สีทาผนังเกิดหลุดร่อนบ้างเล็กน้อย เนื่องจากมีฤทธิ์ในการกัดกร่อน ถ้ามีความเข้มข้นที่สูงพอสมควร โดยเฉพาะพวกผิวโลหะ เนื้อไม้ หรือเฟอร์นิเจอร์จำพวกหนัง แต่ถ้าเป็นผิวปูนอาจไม่กระทบมากนัก ฉะนั้นจึงแล้วแต่การเลือกใช้ทำความสะอาดกับวัสดุชนิดใด และเป็นอีกวิธีที่สามารถเลือกใช้กันได้ ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์หรือคลอรีนต่างก็มีราคาไม่แพง และหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต