ใครจะเชื่อว่าจู่ๆ กระแสเรื่องเงินๆ ทองๆ ของบรรดาท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติก็ออกมาอีกคำรบ เพราะตอนนี้มีการส่งฟอร์เวิร์ดเมลกันให้ว่อนว่า ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันคัดค้านการออกพระราชกฤษฎีกาให้บำเหน็จบำนาญแก่อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตสมาชิกวุฒิสภา โดยแจกแจงรายละเอียดถี่ยิบ ตั้งแต่เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง สิทธิพิเศษสารพัด ฯลฯ
จนทำให้หลายคนนำไปขยายผลต่ออีกเต็มไปหมด อย่างบางคนก็นำเรื่องนี้ไปเขียนเป็นบล็อกเป็นเรื่องราวว่าช่างทำอะไรสวนกระแสน้ำท่วมเสียจริงๆ หรือบางคนก็นำไปส่งต่อให้เพื่อนฝูงใกล้เคียง เพื่อแฉพฤติกรรมของบรรดาผู้ทรงเกียรติให้รู้กันถ้วนหน้า
แต่อย่างว่า ปกติของแบบนี้หากมีการทำจริงกัน ก็น่าจะมีเรื่องเล็ดลอดกันมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นเพื่อกันพลาดๆ ก็เลยมีการตรวจสอบกันแบบลึกๆ ซึ่งเมื่อเจาะข้อมูลไปก็พบความจริงที่ว่า อีเมล์ฉบับที่หลายคนได้รับนั้นเป็นของจริง และมีการเปิดตู้ ปณ.69 ปณจ.สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 เพื่อรองรับเสียงจากผู้สนับสนุนก็มีอยู่จริงๆ เหมือนกัน
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสมัยเดือนมิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หยิบเอามาตรา 229 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเปิดช่องเอาไว้ และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแบบไม่สนใจเสียงค้านทั้งที่มีทั้งยื่นหนังสือ ประท้วงหน้าทำเนียบฯ และโจมตีผ่านหน้าจอเลยแม้แต่น้อย แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็จบลงไปแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เมื่อนายกฯ ทักษิณ ตัดสินใจยุบสภาก่อนวัยอันควรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549
และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีดูเหมือนภาครัฐก็ยังไม่มีแนวคิดที่จะฟื้นฟูแนวคิดอีก เพราะดูเหมือนคนที่เกี่ยวข้องจะไม่กล้าจะฝ่ากระแสสังคม ยืนยันได้จากคำพูดของผู้บริหารคนหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ออกมายืนยันว่า เท่าที่ผ่านยังไม่เห็นมีการยื่นเรื่องนี้.ให้เห็น และที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ ตู้ ปณ.เลขสวยดังกล่าวก็ถูกปิดไปเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2551 แล้วและยังว่างมาจนถึงทุกวันนี้
เพราะฉะนั้นคำถามที่ตามมาคงหนีไม่พ้นว่า เพราะเหตุใด ทำไมอีเมล์เจ้าปัญหานี้ถึงถูกส่งอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้พบเห็น (โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยได้อีเมล์ฉบับนี้มาก่อน) ทั้งๆ ที่เรื่องราวนั้นจบไปนานกว่า 5 ปีกว่าแล้ว
คนเขากลัวอะไรกันหนอ?
แน่นอน หากให้วิเคราะห์จุดแรกกันแบบง่ายสุดๆ ไม่มีจุดประสงค์การเมืองใดๆ แฝงเอาไว้แม้แต่น้อย เรื่องนี้ก็คงเป็นเพราะความไม่รู้ของคนที่ส่งนั่นเอง เพราะบางทีอีเมล์ที่ได้รับก็ไม่มีวันและเวลา ทำให้คนรับรู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งถ้ายกตัวอย่างก็คงเหมือนการส่งอีเมล์ตามหาคนหายหรือขอบริจาคเลือด ที่บางครั้งก็ไม่รู้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อใด และกว่าจะรู้เรื่องก็จบไปตั้งนานแล้ว
แต่ถึงอย่างนั้น หากมองในมุมกลับ เรื่องนี้ก็ถือเป็นภาพสะท้อนอย่างดีว่า การที่มีคนส่งต่อนั้นก็เป็นอาจเพราะมีปฏิกิริยาไม่พอใจและไม่ไว้วางใจนักการเมือง โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีประชาชนแล้ว ก็ยิ่งต้องประกาศออกไป จนบ้างครั้งก็ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จ พูดง่ายๆ ก็คือหากเกิดขึ้นจริงก็จะได้สู้เต็มที่ แต่หากไม่เกิดก็เป็นการดักคอไว้ก่อน และเป็นการส่งสัญญาณให้บรรดาผู้ทรงเกียรติรับรู้ร่วมกันว่า อย่าคิดจะทำเด็ดขาด!!!
“เรื่องนี้น่าจะเกิดจากความไม่พอใจในบทบาทของ ส.ส. ในช่วงนี้มากกว่า สังเกตจากตอนนี้น้ำกำลังท่วม เราจะเห็นแต่บทบาทของรัฐบาลกับสื่อแต่ไม่เห็นบทบาทของ ส.ส. เลย ก็ไม่รู้ว่าพวกเขาทำอะไร หรือทำแต่สื่อไม่ทำข่าวหรือไม่ แต่ทั้งหมดมันก็อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนได้เหมือนกัน คือฟอร์เวิร์ดเมล์ มันเป็นเหมือนกับการแสดงพลังของประชาชนทางหนึ่ง เพราะอะไรที่เราเห็นด้วยหรือชอบใจเราก็อยากที่จะส่งต่อ เป็นการระบายความขุ่นข้องหมองใจ คือความไม่พอใจมันมีมานานแล้ว เรื่องน้ำท่วมนี่อาจจะมาเป็นแค่ตัวเร่งเท่านั้นเอง” รศ.พรชัย เทพปัญญา อาจารย์ประจำคณะวิทยาการการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าว
ที่สำคัญ แม้เรื่องนี้จะล่มไปแล้ว แต่ขอให้เชื่อเถอะว่า ถึงวันนี้ อดีตบรรดาผู้แทนฯ ทั้งหลายก็ยังมีความหวังและพร้อมจะสนับสนุนเต็มที่ หากมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก สังเกตได้จากช่วงที่มีการเสนอเรื่องใหม่ๆ ไม่มี ส.ส.-ส.ว.หน้าไหนออกมาคัดค้านเลยแม้แต่น้อย แถมยังออกมาสนับสนุนอีกต่างหาก เพราะต้องยอมรับว่า ส.ส.ส่วนใหญ่มองตัวเองว่า เป็นผู้เสียสละเข้ามาทำงานเพื่อชาติ ต้องรับภาระหนัก ขณะเงินเดือนก็มีไม่เท่าไหร่เอง และเมื่อไม่ได้ทำหน้าที่แล้ว บางคนก็ไม่มีรายได้เลย เพราะฉะนั้นก็ควรจะต้องมีการให้เงินตรงนี้บ้าง เพื่อเป็นกำลังใจและตอบแทนคุณงามความดี
ดังเช่นการพูดคุยกับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสหลายสมัย จากกลุ่มวาดะห์ นัจมุดดีน อูมา ที่แม้จะไม่ได้ว่าบอกว่า อดีต ส.ส.จำเป็นต้องได้บำนาญ แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เสมือนเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่อดีตผู้แทนราษฎรที่ไม่พร้อมในเรื่องสถานะทางการเงิน เป็นผลตอบแทนในหน้าที่อันเสียสละเพื่อชาติที่พึงได้
“ส่วนตัวผมไม่มีความเดือดร้อนขนาดนั้นนะ แต่อย่าง ส.ส. บางคนเขาไม่ได้มีฐานะทางครอบครัวที่เข้มแข็งพอก็น่าเห็นใจเขา อย่างผมก็มีธุรกิจส่วนตัวมีสวนยาง พออยู่ได้ แต่ก็เห็นใจบางคนเขาไม่ได้เตรียมตัวเรื่องนี้ โดยส่วนตัวผมว่าข้าราชการประเภทอื่นก็มีบำเหน็จบำนาญกันอยู่แล้ว เราก็ควรจะให้ ส.ส.-ส.ว. เหมือนกัน ถ้าเทียบดูอัตราเงินเดือนของ ส.ส. ประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศมาเลเซีย ก็ถือว่าด้อยกว่าเขาเยอะแล้ว เพราะประเทศนั้น แค่เป็น ส.จ. (สมาชิกสภาจังหวัด) ก็มีบำนาญแล้ว ส่วนในประเทศเรามองว่ามีความจำเป็นน่าจะให้บำเหน็จบำนาญแก่พวกเขา”
แค่ความเหมาะสมก็จบเห่!!!
ไม่เพียงแค่นั้น ประเด็นเรื่องความเหมาะสมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้อีเมล์ลักษณะยังขยายตัวอยู่ได้ เพราะแม้ท่านผู้ทรงเกียรติจะเชื่อว่า ตัวเองควรได้ แต่สำหรับความรู้สึกคนส่วนใหญ่แล้ว ก็ยังรู้ว่า ส.ส.-ส.ว. นี้ทำงานไม่คุ้มเงินเดือนอยู่ดี และที่สำคัญตามประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยปรากฏว่า 'ข้าราชการการเมือง' เคยได้ของแบบนี้มาก่อน และมีแต่ข้าราชการประจำกับพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เคยได้
ซึ่งประเด็นนี้ รศ.พรชัย ก็เสริมให้ฟังแบบชัดเจนด้วยการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำ
“การให้บำนาญนักการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทุกกรณี เพราะนักการเมืองไม่ได้เป็นการทำงานประจำ แต่เป็นงานอาสาได้เงินเดือนก็บุญแล้ว โอเคว่าอย่างรัฐมนตรีนั้นก็ถือเป็นข้าราชการแต่ก็ไม่ควรจะมีบำนาญนะ ลองคิดง่ายๆ ว่ากว่าข้าราชการจะได้บำนาญนั้น ต้องมีระยะเวลารับราชการมาแล้วเกิน 25 ปี ที่สำคัญพวกนั้นเขาทำงานเต็มเวลาตั้งแต่เช้าถึงเย็น แค่ 2 ข้อนี้โดยหลักการก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าไม่ควรมีบำนาญ สิ่งที่ควรได้ก็น่าจะเป็นเบี้ยประชุมเท่านั้น”
และถ้ามองให้ลึกไปมากกว่า ก็จะพบว่า ความเป็นข้าราชการการเมืองนั้นไม่มีทางเกษียณอายุ เพราะฉะนั้นบรรทัดฐานของคนที่จะได้เงินตรงนี้ก็ไม่มี โดย พีระ บุญจริง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ที่วันนี้พูดในฐานะราษฎรเต็มขั้น ได้ยกกรณีในตัวอย่างให้ฟังว่า หาก ส.ส.คนนั้นพ้นวาระไปแล้ว และได้รับเงินบำนาญไปแล้ว เกิดเปลี่ยนใจกลับมาลงสมัครอีก ก็เท่ากับเป็นการทำให้บุคคลนั้นมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะสามารถนำเงินภาษีประชาชนมาหาเสียงได้นั่นเอง
“คนที่กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น ส.ส. ได้ ล้วนแต่เป็นคนที่มีเงินมาทั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ส.จ. นักเลงใหญ่ เพราะฉะนั้นบำนาญจึงควรเป็นของคนซื่อสัตย์สุจริต ข้าราชการเงินเดือนก็น้อยอยู่แล้ว ทำงานก็เยอะ บ้านก็ยังไม่มีเป็นของตัวเองเลยสำหรับคนที่ซื่อสัตย์จริงๆ”
ทำได้ แต่คงไม่มีใครกล้าทำ
อย่างไรก็ดี ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพียงแค่อารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ของแบบนี้สำคัญอยู่ที่โอกาสนั้นมีอยู่มากน้อยแค่ไหน แน่นอนหากพูดถึงเรื่องอดีต ก็ต้องถือว่า กฎหมายเอื้อให้เต็มที่อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้น พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่สามารถหยิบเรื่องนี้มากล่าวอ้างได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนกฎหมายก็ต้องเปลี่ยนเป็นธรรมดา
ซึ่งเมื่อพิจารณากันแบบถี่ถ้วนแล้ว ก็พบว่าจริงๆ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะถึงแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะไม่ระบุข้อความเหมือนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่นั่นก็ก็ไม่ได้หมายความว่า มีข้อห้ามไว้แต่อย่างใด ฉะนั้นหากวันใดรัฐบาลเกิดนึกถึงอดีตผู้ทรงเกียรติขึ้นมาก็ทำได้แบบง่ายๆ และไม่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน
แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม ในมุมของ ผศ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กลับเชื่อว่าสุดท้ายก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะถึงอย่างไรกระแสสังคมก็คงไม่ยอมเอาด้วยอยู่ดี เพราะต้องยอมรับความจริงอยู่ข้อว่า แม้แต่ข้าราชการประจำที่ทำงานจนถึง 60 ปียังถูกตั้งคำถามเลย ฉะนั้นข้าราชการการเมืองที่บ้างครั้งก็ทำงานไม่เต็มที่ บางคนก็ยังไม่ครบวาระด้วยซ้ำ อย่างนี้จะสามารถตอบคำถามสังคมได้อย่างไร
“สังคมเขาไม่เอาด้วย ในทางกฎหมายมันเปิดช่องให้ทำได้ แต่ทางความชอบธรรมหรือมวลชน มันไม่ได้รับการยอมรับ และที่สำคัญแต่ละคนก็เป็นผู้มีทรัพย์กันทั้งนั้นแหละ ไม่มีความจำเป็นจะต้องมาเอาบำเหน็จบำนาญซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยนิดสำหรับพวกเขา สังคมไทยค่อนข้างมีคำถามกันมากมายอยู่แล้วเกี่ยวกับตัวแทนมวลชนเหล่านี้ เข้ามาด้วยวิธีการไหน ซื้อเสียงหรือเปล่า เข้ามาด้วยความชอบธรรมไหม ทำให้บางคนก็ถามว่า ในเมื่อมีเงินซื้อเสียง แล้วทำไมยังต้องให้รัฐเลี้ยง”
ที่สำคัญ เรื่องพวกนี้จะไปเทียบกับกรณีของต่างประเทศไม่ได้ เพราะถึงแม้ทั้งสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ฯลฯ จะมีการให้บำเหน็จบำนาญแก่อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา แต่ก็เป็นเงินเพียงน้อยนิด และก็ไม่มีใครคัดค้าน เพราะข้าราชการการเมืองที่นั่นเขาทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์
..........
แม้เรื่องให้บำเหน็จบำนาญ อดีต ส.ส.-ส.ว.จะจริงหรือเท็จประการใด แต่การที่อีเมล์นั้นยังคงอยู่ ก็คงเป็นสิ่งสะท้อนภาพได้อย่างดีแล้วว่า สุดท้ายแล้วประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ฟอร์เวิร์ดเมลส่งต่อกันนั้น มีความตื่นตัวตระหนกและระวังพฤติการณ์ของนักการเมือง รวมถึงศรัทธาต่อผู้แทนฯ ของตัวเองแค่ไหน แน่นอน ความสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่ท่านเหล่านั้นจะได้เงินภาษีประชาชนเพิ่มเติมหรือไม่ แต่อยู่ที่การทำหน้าที่ของพวกเขาต่างหากว่า ได้รับการยอมรับหรือไม่
เพราะหากผู้แทนฯ บ้านเราทำงานเต็มที่ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุจริต เงินแค่นี้คงไม่ใช่เรื่องลำบากสำหรับการตอบแทนคุณความดีหรอก แต่ถ้าไม่ใช่สักอย่าง แม้แต่บาทเดียว ถึงอย่างไรคนก็คงต้องบ่นเสียดายอยู่วันยังค่ำ
>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK