'ภาษา' เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร และเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าภาษานั้นเป็นสิ่งที่มีพัฒนาการไปตามวันและเวลาที่เปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อโลกมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ถ้อยคำที่จะเอามาใช้เรียกสิ่งนั้นๆ ก็ต้องมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
และเมื่อไม่นานมานี้ หลายๆ คนคงได้ยินข่าวคราวของศัพท์ใหม่ๆ ที่เหล่าราชบัณฑิตได้สรรค์สร้างขึ้นเพื่อทดแทนหรือเพิ่มทางเลือกให้แก่ศัพท์ต่างประเทศและศัพท์สแลงที่ใช้กันจนชินปากในปัจจุบัน นัยว่าเพื่อเป็นการสร้างทางเลือกให้แก่คนไทย ได้หันมาใช้คำศัพท์ภาษาไทยที่ถูกต้อง
ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ราชบัณฑิตฯ มีความพยายามในการสร้างคำศัพท์ใหม่ๆ โดยก่อนหน้านี้ทางราชบัณฑิตฯท่านก็เคยบัญญัติคำว่า 'คณิตกร' มาใช้เรียกสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นนวัตกรรมอย่างคอมพิวเตอร์ แต่ครั้งนั้นนับได้ว่าทางฝั่งราชบัณฑิตฯแพ้หมดรูป เพราะในชีวิตจริงแทบจะไม่มีใครเรียกคอมพิวเตอร์ว่าคณิตกรเลย หนำซ้ำคนในสังคมยังมีการคิดคำใหม่ๆ ขึ้นมาล้อเลียนการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตฯ
เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นคำว่า 'ละมุนภัณฑ์' ที่หมายถึง ซอฟต์แวร์ 'กระด้างภัณฑ์' ที่หมายถึงฮาร์ดแวร์
แต่คำที่ดูจะเรียกรอยยิ้มจากคนในสังคมมากที่สุดก็คงจะไม่พ้นคำว่า 'แท่งหรรษา' ที่จะเอามาแทนคำว่าจอยสติ๊ก
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศัพท์อย่างเป็นทางการที่คิดค้นกันมาเพื่อทดแทนภาษาปากหรือภาษาต่างประเทศที่ใช้กันอยู่ หลายๆ คำดูจะไม่ได้รับความนิยมชมชอบและยินยอมพร้อมใจนำไปใช้นัก
นั่นเป็นเพราะอะไร หรือถ้าจะถามกันตั้งแต่ก็ต้นก็คงต้องถามกันว่าแล้วเหตุใดจึงต้องคิดค้นคำศัพท์ใหม่ๆ นั้นขึ้นมา
เป็นคนไทยน่าจะใช้ภาษาไทย
จากคำถามข้างต้น แน่นอนว่าคงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ นอกจากคนจากราชบัณฑิตฯเอง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ในฐานะราชบัณฑิตผู้มีส่วนในการดูแลสอดส่อง สังเกตการณ์ และสร้างคำใหม่ให้แก่ศัพท์บางคำ ได้อธิบายว่า ถ้าคำบางคำนั้นอาจเกิดจากการรับเข้ามาแล้วไม่สามารถอธิบายเป็นคำไทยให้เข้าใจชัดเจนตามความหมายเดิมได้ก็จะใช้คำนั้นเป็นคำยืม (จากต่างประเทศ) ซึ่งสังคมเข้าใจตรงกันดีอยู่แล้ว แต่หากศัพท์คำใดที่มีการสะกดผิด เขียนผิด หรือใช้ความหมายผิดเพี้ยนไปราชบัณฑิตฯก็จะเข้ามาจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายทางภาษา
“คำใหม่ที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากรับเข้ามา และถ้าภาษาไทยมีคำที่ตรงกันก็ใช้คำภาษาไทย แต่ถ้าใช้คำภาษาไทยแล้วไม่เข้าใจหรือใช้แล้วไม่ได้ความหมายอย่างที่ต้องการอาจจะคิดคำขึ้นมาใหม่ที่เป็นคำบาลีสันสกฤตมาประกอบสร้างคำใหม่ขึ้น หรือไม่ก็ใช้การยืมคือใช้คำต่างประเทศนั้นเลย เช่น สึนามิ ที่มีการแปลกันว่าคลื่นยักษ์หรือคลื่นใหญ่ แต่จริงๆ มันมีความหมายมากกว่าจะเป็นเพียงคลื่นทั่วๆ ไป ต้องบอกว่าที่มาเป็นยังไงจึงจะเป็นสึนามิ จึงใช้คำว่าสึนามิไปเลย เพราะสังคมเข้าใจตรงกันอยู่แล้ว
“ทั้งนี้ราชบัณฑิตฯจะเป็นคนดูแลว่าคำที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นคำอะไร มีความหมายอย่างไร ถ้าหากมีปัญหาเรื่องการเขียน การสะกดการันต์ หรือการให้ความหมาย ราชบัณฑิตฯก็จะคอยดูแลในเรื่องนั้น เพื่อจะไม่ให้เกิดความวุ่นวายในการใช้ภาษาจะมีระเบียบวิธีในเรื่องของศัพท์ ไวยกรณ์ ถ้อยคำ และความหมาย ดูว่ารวมๆ แล้วถูกต้องหรือไม่ ยอมรับได้หรือไม่ บางคำก็มีที่ราชบัณฑิตยังไม่เห็นด้วย ก็จะบอกไปว่ามันอาจจะยังไม่ค่อยถูกนะ เป็นคำที่ใช้ผิดความหมายไป เช่นภาษาของกลุ่มย่อยๆ ที่เป็นศัพท์สแลง ซึ่งถ้ามีการใช้ไปนานๆ จนเคยชินคำที่ไม่ถูกก็กลายเป็นถูกไปได้”
ในส่วนของหลักเกณฑ์การประเมินที่จะประเมินว่าศัพท์คำใดเหมาะสมที่จะใช่ต่อไปหรือศัพท์คำใดที่ควรหาคำอื่นมาทดแทนนั้น ดร.กาญจนา กล่าวว่าศัพท์แต่ละกลุ่มจะมีคณะกรรมการควบคุมดูแลตามสาขาวิชานั้นๆ
“ในการบัญญัติก็จะมีคณะกรรมการแต่ละสาขาวิชา เช่น คำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ก็มีคณะกรรมการทางวิทยาศาสตร์ คำศัพท์ทางภูมิศาสตร์ก็มีคณะกรรมการทางภูมิศาสตร์ หรือทางสื่อสาร ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เราก็จะมีคณะกรรมการอย่างละชุดเพื่อจะดูแลศัพท์ทั้งหลายเหล่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ดร.กาญจนา ก็เข้าใจถึงความเคลื่อนไหวของสังคมซึ่งพาให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และแม้แต่ในวงการวิชาการ และนักภาษาศาสตร์เองก็ยังมีบางส่วนที่เห็นไม่ตรงกันในเรื่องคำศัพท์บางคำ โดยกล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวตัดสินว่าคำไหนจะอยู่คำไหนจะไป สุดท้ายแล้วก็คือสังคมส่วนใหญ่นั่นเอง
ภาษา กับการต่อรองเชิงอำนาจ
ในเรื่องของพัฒนาการของภาษานั้น ชลเทพ ปั้นบุญชู นักวิชาการอิสระด้านสังคมศาสตร์และวัฒนธรรม ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกับกับ ดร.กาญจนา แต่ทว่าน้ำหนักของประเด็นที่เขาให้นั้นแตกต่างออกไป เพราะเขามองไกลไปถึงเรื่องของการใช้ภาษาในเชิงอำนาจด้วย
“เรื่องมันมีอยู่ว่าภาษาของราชบัณฑิตฯนั้น มีต้นกำเนิดจากภาษาที่เป็นทางการ แต่ชีวิตจริงๆ เราไม่ได้เกี่ยวพันกับเรื่องแบบนี้มากนัก แต่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตนเองมากกว่า ดังนั้นคนที่สร้างภาษาขึ้นมาใหม่นั้น ก็เป็นการสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองตัวเขาเอง”
“ดังนั้นคำบางคำที่ผู้มีอำนาจในการกำหนดภาษาสร้างขึ้นมานั้น ถ้ามันไม่สามารถทำให้คนทั่วไปจินตนาการได้ว่ามันคืออะไร มันก็ไม่มีประโยชน์ อีกอย่าง ภาษาไทยนั้นก็เป็นภาษาที่มีการหยิบยืมที่อื่นมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นจีน ชวา บาลี - สันสกฤต ดังนั้นถ้าจะมีใครนำคำใหม่ๆ ที่มาจากที่อื่นมาใช้ในปัจจุบันก็ไม่น่าเป็นเรื่องแปลก”
นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมก็เป็นตัวกำหนดประสบการณ์ที่แตกต่างกันของคนแต่ละยุคสมัยที่มีประสบการณ์ร่วมกัน และถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
“ประการต่อมา ภาษามันมีลักษณะของวัฒนธรรมย่อยอยู่ และมีกาลเทศะของมัน อย่างคำว่าแซป แวนท์ สก๊อย ฯลฯ นั้นเป็นภาษาเฉพาะกลุ่ม ที่คนรุ่นเก่าเขาอาจจะไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาก็อาจจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่กับคนรุ่น 20 - 30 มันสามารถสื่อความหมายได้ และที่คำบางคำได้รับความนิยมก็เพราะภาษามีการผลิตซ้ำที่สืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคโลกาภิวัฒน์นั้น ภาษาเกิดใหม่ที่ไม่ได้สร้างโดยราชบัณฑิต มันได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ แต่ทั้งนี้มันก็จะมีระยะเวลาของมัน คือมันอาจจะโตเร็ว แต่สักวันมันก็จะหายไปในที่สุด”
ชลเทพมีความเห็นว่า ภาษานั้นเกี่ยวพันกับสภาพของสังคมที่เป็นไป ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาชี้เป็นชี้ตายว่าอะไรผิดอะไรถูก
“บ้านเราเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นจึงไม่ควรให้ราชบัณฑิตฯผูกขาดเรื่องภาษาแต่เพียงผู้เดียว คือภาษาราชการที่ถูกต้องตามความคิดของเขา มันไม่ได้สะท้อนถึงความหลากหลายของชีวิตที่ดำรงอยู่ในสังคม สังเกตว่าภาษาที่เป็นทางการของราชบัณฑิตฯ มักจะไม่ค่อยได้รับความนิยม หากแต่ภาษาที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยคนในสังคมกลับมีคนใช้มากกว่า นั่นแสดงให้เห็นถึง การต่อรองเชิงอำนาจของคนในสังคมกับรัฐผ่านเครื่องมือทางภาษานั่นเอง”
มีไว้เป็นเรื่องดีแต่นานๆ ที่จะได้ใช้
เท่าที่ผ่านมาคำศัพท์ในแวดวงเทคโนโลยีนั้น ดูจะเป็นกลุ่มที่มีการบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ มาใช้ในหลายกรนี ไม่ว่าจะเป็นการบัญญัติคำว่า คณิตรกร มาใช้แทนคำว่าคอมพิวเตอร์ หรือล่าสุดที่มีการออกคำว่า คอมพิวเตอร์วางตัก มาให้ใช้ควบคู่ไปกับการใช้คำว่าแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นคำทับศัพท์
ทว่าคำศัพท์เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่บัญญัติใหม่ขึ้นมาเหล่านี้ กลับกลายเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความนิยม และไม่ค่อยมีใครนำเอาไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นคนในแวดวงเทคโนโลยีเองหรือคนทั่วไป แต่กระนั้น ราชบัณฑิตฯก็ยังคงมีความพยายามที่จะบัญญัติศัพท์ภาษาไทยมาใช้อยู่เนืองๆ
ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ พิธีกรรายการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะผู้คร่ำหวอดด้านไอที แสดงความคิดเห็นว่า ถูกต้องแล้วที่ราชบันฑิตยสถานจขะต้องคอยบัญญัติศัพท์ภาษาไทยออกมาใช้ควบคู่กับคำทับศัพท์ต่างๆ โดยเฉพาะคำศัพท์ทางด้านไอที
“ส่วนตัว ก็รู้สึกแฮบปี้ แล้วก็โอเคที่มีคนมาให้ความสำคัญกับคำศัพท์เหล่านี้ ทำให้คำมีความหมายที่ชัดเจนขึ้น แต่ในความเป็นจริงนั้นอาจจะไม่ได้ใช้ เพราะว่า ถ้าจะให้เรียกแบบนั้นจริง ๆ คงสร้างความยุ่งยาก เพราะต้องมาแปลความหมายอีก คนทั่วไปเขาน่าจะเรียกตามความเคยชินมากกว่า”
เช่นเดียวกับ ฌา ศรีสัจจัง วิศวะกรระบบเครือข่าย (network systems engineer) ซึ่งในชีวิตการทำงานของเขานั้นเต็มไปด้วยคำทับศัพท์จากภาษาอื่น แสดงความเห็นถึงเรื่องการหาคำไทยมาใช้แทนคำทับศัพท์ว่า ในหลักการแล้วมันเป็นเรื่องดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
“ในมุมมองของผมนั้น ผมว่าดีนะที่จะหันมาใช้ภาษาไทยกัน ได้ยินเรื่องนี้มานานแล้ว แต่คำบางคำมันไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งมากำเนิดในนี้ แต่เรารับมาจากที่อื่น ดังนั้นถ้าจะมาคิดคำเรียกใหม่ๆ เอามาใช้แทนของเดิม มันจะต้องเป็นคำที่สื่อสารเข้าใจ มีแบบแผนในการสร้างขึ้นมา ในระยะยาวนั้นอาจจะเป็นไปได้ ถ้ามีกรอบในการสร้างชัดเจนและมีการให้ข้อมูลกับคนใช้ แต่ ถ้าจะมาเปลี่ยนการใช้ปุปปับทันทีนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้
“ทุกวันนี้ผมเวลาไปทำงาน ถ้าเป็นกับทางราชการผมอาจจะใช้คำว่าระบบเครือข่ายได้ แต่ถ้าเป็นลูกค้าเอกชน เขาจะใช้คำว่าระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่า”
ในประเด็นเดียวกันนี้ ฉัตรปวีณ์ ก็แสดงความเห็นยว่าการบัญญัติคำต่างๆ ของราชบันฑิตยสถานที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ถูกใช้ในชีวิตความเป็นจริงเท่าที่ควรนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มของคนที่จะต้องใช้มันอย่างจริงจัง หรือยังไม่ถึงเวลาที่เราต้องใช้ เลยมองว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะต้องมาให้ความหมายของคำเหล่านี้ อย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ต้องมีประโยชน์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้เป็นคนที่ใช้คำเหล่านี้ ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่สำคัญเท่านั้นเอง
…........
จริงอยู่ว่าภาษาไทย เป็นหนึ่งในมรดกที่สำคัญของชาติ และคู่ควรกับการอนุรักษ์ไว้ แต่ในบางโอกาสการอนุรักษ์ที่ว่ามันกลับสวนทางกับพัฒนาการที่เป็นไปของโลก
ดังนั้น เมื่อผู้มีอำนาจในการกำหนดภาษาอย่างราชบัณฑิตจะสร้างสรรค์ถ้อยคำใดขึ้นมา ก็จะต้องตระหนักไว้เสมอว่า สังคมจะสามารถเรียนรู้และนำคำนั้นไปใช้ได้จริงเพียงไหน เพราะไม่ว่าศัพท์ที่คิดค้นขึ้นมานั้นจะถูกต้องตามระเบียบวิธีทางภาษาหรือหลักไวยกรณ์มากเพียงใด หากสังคมส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นผู้ใช้ตัวจริงไม่ได้นำไปใช้ คำศัพท์นั้นๆ ก็จะค่อยๆ ตายลง และสูญหายไปตามกาลเวลา ดังที่นักวิชาการอิสระอย่างชลเทพ ให้ความเห็นไว้ว่า
“ภาษาถ้ามีคนใช้มันถึงจะมีชีวิตนะ ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่ราชบัณฑิตกำหนดมานั้น กลับตายไปเพราะไม่ค่อยมีคนใช้ คือภาษาที่ถูกแยกออกไปไกลจากชีวิตจริงและมีความซับซ้อน มันก็จะไม่มีคนใช้นั่นเอง”
********
ไม่ใช่เพียงแต่ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเท่านั้น ที่ราชบัณฑิตยสถานสรรหาคำใหม่มาให้ใช้แทนคำเดิม ทว่าคำบางคำที่เป็นภาษาปากที่ใช้พูดกันทั่วไปหรือคำทับศัพท์ ราชบัณฑิตก็มีความคิดที่จะรณรงค์ให้ใช้อย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน โดยแบ่งได้เป็นหมวดหมู่ดังนี้
หมวดหมู่คำที่เป็นคำภาษาปากที่ไม่เหมาะสม
อลังการงานสร้าง ให้ใช้คำว่า งดงาม หรือ มโหฬาร
ต่อสาย ให้ใช้คำว่า โทรศัพท์
กระทบไหล่ ให้ใช้คำว่า พบปะ
สนธิกำลัง ให้ใช้คำว่า ผนึกกำลัง
น้ำเลี้ยง ให้ใช้คำว่า เงินสนับสนุนเช่น
หมวดหมู่คำต่างประเทศที่นิยมใช้ทับศัพท์
แอกซิเดนต์ (accident) สามารถใช้คำไทยว่า อุบัติเหตุ หรือ เหตุขัดข้อง
เช็ก (check) คำไทย คือ ตรวจสอบ สอบถาม หาข้อมูล
ฟรี (free) คำไทยใช้ว่า ว่าง, ไม่เสียเงิน
อินดอร์ (indoor) ในร่ม,ในอาคาร
โลโก (logo) ตราสัญลักษณ์
โพล (poll) สำรวจประชามติ
หมวดหมู่คำที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และสังคมอินเทอร์เน็ต
อีเมล ให้ใช้คำว่า ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
เน็ตเวิร์ก ให้ใช้คำว่า เครือข่าย, โครงข่าย, วงจรข่าย
search ให้ใช้คำว่า เสิร์ต ค้นหา การค้นหา
laptop computer ให้ใช้คำว่า แล็ปทอปคอมพิวเตอร์ หรือ คอมพิวเตอร์วางตัก
overload ให้ใช้คำว่า โอเวอร์โหลด โหลดเกิน ภาระเกิน
adapter ให้ใช้คำว่า อแดปเตอร์ ตัวปรับต่อ, ตัวปรับ
********
เรื่อง ทีมข่าว CLICK
ภาพ ทีมภาพ CLICK