“กาญจนา” เผย ในหลวง ห่วงการใช้ภาษา “ไทยคำอังกฤษคำ” ใช้ภาษาปาก คำสั้นๆ ง่ายๆ ทำให้ไม่รู้รากศัพท์ที่แท้จริง ราชบัณฑิต นิยาม “แล็ปทอป หรือคอมพิวเตอร์วางตัก”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตและนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของคนไทย โดยเฉพาะนักเรียนนอกที่ชอบใช้ภาษาฝรั่งคำไทยคำนั้น ในส่วนของราชบัณฑิตเอง ก็เป็นห่วงเช่นกัน จึงพยายามที่จะส่งเสริมให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจ และใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รวบรวมคำต่างๆ มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ จากการศึกษาข้อมูล สถานการณ์การใช้ภาษาไทยของคนไทย พบว่า อยู่ในภาวะวิกฤตและน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ที่พบว่า ใช้ภาษากันอย่างไม่ระมัดระวังเปลี่ยนไปตามแฟชั่น พูดไทยคำอังกฤษคำและเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งคำศัพท์อังกฤษที่คนไทยชอบพูดทับศัพท์ ได้แก่ โอเค คอนเฟิร์ม การ์ด ทั้งที่มีคำภาษาไทยแต่ไม่พูดกัน โดยเฉพาะภาษาที่ใช้กันในสังคมอินเทอร์เน็ต ที่มักใช้คำง่ายๆ สั้นกะทัดรัด แต่ไม่ถูกอักขระ จนกลายเป็นค่านิยม ที่ส่งผลให้ความประณีตของภาษาหายไป และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เด็กไทยก็จะไม่ทราบความหมายของรากศัพท์ทางภาษาที่แท้จริง ไม่รู้จักความสุนทรีย์ของภาษา และใช้คำที่ง่ายๆ ได้อย่างเดียว
ทั้งนี้ ราชบัณฑิตยสถาน ได้รวบรวมคำใหม่ที่คนไทยใช้ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาปากที่ใช้แทนภาษาพูด คำสแลง ทั้งคำไทย และต่างประเทศ ซึ่งไม่เหมาะสม ได้แก่ คำว่า งดงาม หรือ มโหฬาร ก็จะใช้กันว่า อลังการงานสร้าง, โทรศัพท์ ก็จะใช้คำว่า ต่อสาย, พบปะ ใช้ว่า กระทบไหล่, ผนึกกำลัง ใช้คำว่า สนธิกำลัง, เงินสนับสนุน ใช้ว่า น้ำเลี้ยง เช่น พอหมดน้ำเลี้ยง ผู้ชุมนุมก็สลายตัว ส่วนคำต่างประเทศ ที่นิยมใช้ทับศัพท์ ได้แก่ คำว่า แอกซิเดนต์ (accident) สามารถใช้คำไทยว่า อุบัติเหตุ หรือ เหตุขัดข้อง, เช็ก (check) คำไทย คือ ตรวจสอบ สอบถาม หาข้อมูล, ฟรี (free) คำไทยใช้ว่า ว่าง, ไม่เสียเงิน, อินดอร์ (indoor) ในร่ม,ในอาคาร, โลโก (logo) ตราสัญลักษณ์, โพล (poll) สำรวจประชามติ
นอกจากนี้ ยังมีคำที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี สังคมอินเทอร์เน็ต ที่นิยมใช้ เช่น อีเมล ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งอีเมล (ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์) เน็ตเวิร์ก เครือข่าย, โครงข่าย, วงจรข่าย, search เสิร์ต ค้นหา การค้นหา, laptop computer แล็ปทอปคอมพิวเตอร์ หรือ คอมพิวเตอร์วางตัก, overload โอเวอร์โหลด โหลดเกิน, ภาระเกิน, adapter อแดปเตอร์ ตัวปรับต่อ, ตัวปรับ ซึ่งคำดังกล่าวส่วนใหญ่จะใช้ในสังคม วงการสื่อมวลชน และในทางการเมือง ปัจจุบัน