xs
xsm
sm
md
lg

ระดมสมองนักวิชาการ-ปราชญ์ชาวบ้านแปรประวัติศาสตร์รัฐโบราณ”พุมเรียง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - จังหวัดสุราษฏร์ธานีระดมสมองนักวิชาการ- ปราชญ์ชาวบ้านกว่า 200 ชีวิตเปิดเวทีศิลปวัฒนธรรมพุมเรียง ถิ่นฐานบ้านเกิดของพระธรรมโกศาจารย์หรือท่านพุทธทาสภิกขุ รัฐโบราณในภาคใต้หวังแปรความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปต่อยอดเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนในอนาคต

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 นี้ มรส. ร่วมกับมูลนิธิเดโช สวนานนท์-ราชภัฏ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดเวทีศิลปวัฒนธรรมขึ้น ณ โรงเรียนวัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเชิญประชาชนในพื้นที่ตำบลพุมเรียงและปราชญ์ชาวบ้านกว่า 200 คนมาร่วมกันเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนและทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่พุมเรียงและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งทัศนศึกษาย่านเมืองเก่าพุมเรียง โดยหวังแปรความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปต่อยอดเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนในอนาคต

อธิการบดี มรส.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรมอีกหลายท่านมาร่วมแลกเปลี่ยน อาทิ นายเดโช สวนานนท์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร, รศ.โรจน์ คุณอเนก อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะบรรยายพิเศษเรื่อง “เมืองเก่า ย่านประวัติศาสตร์ ทำไมต้องอนุรักษ์” และ ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม กรรมการวิชาการ ราชบัณฑิตยสถาน จะบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น ตำบลพุมเรียง”

“พุมเรียงเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของพระธรรมโกศาจารย์หรือท่านพุทธทาสภิกขุ เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐโบราณในภาคใต้ที่มีพัฒนาการสืบเนื่องมายาวนาน ในชั้นหลังมีฐานะเป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองไชยา ก่อนที่จะย้ายสถานที่ราชการไปยังเมืองไชยาแห่งใหม่ มีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและทรัพยากรวัฒนธรรมปรากฏเป็นประจักษ์พยานมากมาย สะท้อนถึงความเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเล มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

อาทิ ไทย จีน และมลายู ดังนั้นการดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนในท้องที่มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนและทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชนจะเป็นหนทางหนึ่งซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นรากฐานในการอนุรักษ์ การกำหนดแนวทางการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชนร่วมกันและการพัฒนาชุมชนในอนาคตได้” อธิการบดี มรส. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น