ถึงกำลังวังชา จะไม่มากพอคนรุ่นลูก หลาน แต่บางอย่างหัวหงอกๆ อย่างเรานี่แหละจะเป็นเครื่องนำทางให้คนรุ่นหลัง โดยเฉพาะจิตใจ เชื่อว่า คนแก่มีความเข้มแข็งและอดทนมากกว่าคนหนุ่มสาวเยอะเลย”
ลุงปลื้ม เทอดเกียรติชาติ วัย 75 ปี เล่าอย่างอารมณ์ดี ระหว่างที่แจกเอกสารกิจกรรมนำเสนอวิธีการใช้ชีวิตแบบ “พุทธศาสนิกชน” แก่ผู้ร่วมเสวนาในงานประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาอุปสรรคของการร่วมกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคมโดยภาคประชาชน วิเคราะห์ผ่านนโยบายสังคมว่าด้วยปัญหาผู้สูงวัย ซึ่งจัดขั้นภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ลุงปลื้มเป็นอดีตข้าราชการครู ที่ดำรงตำแหน่งประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.ทรายขาว อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โดยเหตุผลที่เข้าร่วมการประชมครั้งนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาของผู้สูงวัยและแนวทางแก้ไขในภาคสังคม พร้อมๆกับการเผยแพร่วิธีการดำรงชีวิตแบบ “พุทธบำบัด” เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในวัยสูงอายุ โดยวิธีหลักๆ ของชมรมฯดังกล่าว เริ่มต้นที่การร่วมกลุ่มสมาชิกวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 300 คน โดยสมาชิกทั้งหมดร่วมทำกิจกรรมเกี่ยวกับวิถีพุทธ ตั้งแต่การสวดมนต์เป็นภาษาบาลี พร้อมบทแปล ในช่วงเช้าและเย็นของทุกวัน รวมถึงการนั่งสมาธิ เพื่อคุมสติพิจารณาถึงความจริงของการใช้ชีวิต การเดินจงกรมรอบๆลานวัดในชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เหมือนดังการออกกำลังกายทางอ้อม ที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว แต่ที่ได้แบบเต็ม ๆ คือ มีอารมณ์และจิตใจที่เย็นลงและความนิ่งสุขุมที่มีเพิ่มขึ้น
“ธรรมะที่เราใช้สื่อสารกันในชมรม บางครั้งเป็นธรรมะที่มาจากพระสงฆ์ในวัด เกี่ยวกับประวัติและการบรรลุธรรมขององค์พระพุทธเจ้า แต่การแผ่เมตตาในบทสวดทุกเช้า ทุกเย็น มันคือธรรมะในชีวิตประจำวันที่เราต้องรู้ นั่นคือการให้อภัย ความมีน้ำใจ ความอดทนและความเมตตา สิ่งเหล่านี้พระพุทธศาสนามีทั้งหมด ซึ่งเมื่อใจนิ่ง ผู้สูงอายุที่เคยมีปัญหาเรื่องกังวล ว่าลูกหลานจะทิ้ง จะลาไกล จะไม่ยอมรับ ก็จะเริ่มดีขึ้น บางคนก็พาลูกหลานเข้ามาปฏิบัติธรรมกันอย่างพร้อมหน้า พร้อมตา ” ลุงปลื้มเล่า
นอกจากการทำกิจกรรมในวัดแล้ว สมาชิกชมรมฯ ยังมีการเข้าถึงธรรมะด้วยวิธีอื่น นั่นคือ การเปิดซีดีและเทปเสียงของพระนักปฏิบัติธรรม เพื่อฟังผ่อนคลายอารมณ์ด้วย เช่น ซีดีชุดคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ อันเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนหลายคน โดยสื่อการสอนดังกล่าวจะเปิดในเวลาการทำอาชีพเสริม เช่น ขณะทำพิมเสนน้ำ และข้าวเกรียบทอด เพื่อไปขายในโครงการตลาดภูมิปัญญา สำหรับรายได้นั้น ลุงปลื้มบอกว่ามีไม่มากแต่มันชัดเจนตรงกำไรของชีวิตซึ่งทุกคนพึงพอใจ
การเข้าถึงธรรมมะนั้น หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องสำหรับคนแก่ แต่ในชีวิตจริง ชมรมผู้สูงอายุต.ทรายขาว พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นทางออกของสภาพจิตใจได้เยี่ยม เมื่อได้ลองออกไปเผยแพร่ชุดความรู้ธรรมมะในชีวิตประจำวันแก่เยาวชนรุ่นหลาน ในสถานศึกษา และคนกลุ่มอื่นๆ ผ่านการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ เช่น พุทธสมาคม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้สามารถปรับใช้ในชีวิตได้ ซึ่งการทำหน้าที่ในการถ่ายทอดธรรมมะ นั้นเหมือนกับการได้เป็นครูสอน และการตั้งตนเป็นที่พึ่งของคนรุ่นหลัง ซึ่งสมาชิกทุกคนเชื่อว่า ทุกคำสอนตามวิถีพุทธช่วยกล่อมเกลาจิตใจของคนทุกช่วงวัยได้ดี โดยยึดตามหลักคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า “ทุกชีวิตล้วนเต็มไปด้วยปัญหา แต่เมื่อจิตใจเข้าถึงศาสนา ก็จะเกิดปัญญาได้ ปัญหาก็จะหมดสิ้นและกลายเป็นผู้พ้นทุกข์ มีสุขจริง ทันที” ซึ่งการถ่ายทอดเรื่องนี้เป็นทั้งความรู้และยาทางใจของพุทธศาสนิกชน
แนวทางแบบพุทธบำบัดที่ว่านี้ ผู้สูงวัยทุกคนมั่นใจว่า ไม่ใช่ไสยศาสตร์ หรือเรื่องมงายใดๆ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ต้องรอใครมาออกใบรับรองให้ แต่การที่สมาชิกรุ่นตา ยาย มีรอยยิ้ม และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคม มันคือประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่คุ้มค่าแล้ว ซึ่งภาคท้องถิ่นหรือชุมชนอื่นสามารถปรับใช้แนวทางดังกล่าวได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ชาวพุทธเท่านั้น แต่หากศาสนาอื่นมีหนทางในการปรับสุขภาวะกายและใจก็ย่อมทำได้ในลักษณะคล้ายกัน ตามแต่ความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน