xs
xsm
sm
md
lg

"ทำ จาก ธรรม" รอยจำ ระหว่าง คน กับ ธรรมะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1 2 3 ...ไม่ใช่แค่ตัวเลขที่บอกถึงจำนวนสมาชิก แต่ยังคือนัยของการเริ่มต้นที่ ผศ.ศิรินทร์ ใจเที่ยง,อ.บุญช่วย เกิดรี และ อ.สรรพจน์ มาพบสุข อาจารย์สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อยากทำให้นักศึกษาเห็นเป็นตัวอย่างว่า

ผลงานด้านออกแบบสิ่งทอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชา นักศึกษาสามารถพัฒนาไปเป็นผลงานศิลปะที่มีคุณค่าและแฝงปริศนาธรรมให้ผู้ชมขบคิดได้เช่นกัน

ดังเช่นผลงานที่จัดแสดงให้ชมใน นิทรรศการ “ทำ จาก ธรรม” มากกว่าเทคนิคอันหลากหลายที่เลือกมาสร้างสรรค์ผลงาน ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในหลายประเด็น ที่อาจารย์ทั้ง 3 ท่าน อยากจะสื่อสารกับผู้ชม ในฐานะผู้ที่เชื่อและศรัทธาร่วมกันว่า พระพุทธศาสนาคือหนทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

วาระวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่ใกล้จะถึงนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราชาวพุทธจะได้รับชมผลงานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมะ ผลงานของศิลปินที่มีชีวิตอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกันกับเรา ผู้เลือกเอาธรรมะเป็นที่พึ่งจนค้นพบด้วยตัวเองว่า ไม่ว่าชีวิตจะตกอยู่ในสภาวะไหน ชีวิตยังพึ่งพาธรรมะได้เสมอ

ผศ.ศิรินทร์ ใจเที่ยง เลือกเทคนิคบาติกบนกระดาษสาและปักด้าย มาถ่ายทอดเป็นผลงานชื่อ “ทวนกระแส”, “ฝึกจิต ฝึกตน” และ “วิมุตติสุข”

เบื้องหลังผลงานที่ดูคล้ายงาน folk art และได้รับอิทธิพลมาจากสิมอีสาน เจ้าของผลงานได้ผ่านการฝึกฝนตัวเองด้วยธรรมะมาแล้วระยะหนึ่ง แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าส่งผลให้เวลานี้เชื่อเต็มหัวใจว่า หนทางไปสู่การหลุดพ้นมันมีอยู่จริง

“การที่จะไปสู่การหลุดพ้นได้ ต้องอาศัยการปฏิบัติ อาศัยความเพียรมากๆเลย อันดับแรกคือ เราต้องไม่เป็นไปตามกระแสหลัก เราทวนกระแสกลับขึ้นมา เพื่ออยู่กับใจของตัวเองให้เยอะ ฝึกจิตฝึกตน ด้วยการมีสติอยู่กับอิริยาบถทั้ง 4 ยืน เดิน นั่ง นอน

มีสติ ระลึกรู้อยู่กับอิริยาบถต่างๆในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องยึดติดว่าต้องไปนั่งสมาธิ เพราะการที่เรามีสติอยู่กับชีวิตประจำวัน ตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ตัวเองในฐานะคนเริ่มต้นใหม่แม้ยังไปไม่ได้ไกลมากนัก แต่รู้ว่ามันมีเส้นทางสายนี้อยู่ และท้ายที่สุด เมื่อไปถึงความหลุดพ้นจริงๆคือ วิมุติสุข ใจเราจะไม่แกว่งไปตามอารมณ์เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ แบบทางโลกอีกแล้ว ไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิด ไม่มาเกิดอีกแล้ว เหมือนพระพุทธเจ้า”

ขณะเดียวกันเราจะได้เห็นผลงานอันเกิดจากปัญญาที่มองเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง จากผลงานชื่อ "อสุภ" ของ อ.บุญช่วย เกิดรี

“เพราะชอบซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับสมุดข่อยเก็บเอาไว้ ภาพๆหนึ่งในสมุดข่อย ซึ่งเป็นภาพของพระภิกษุสงฆ์พิจารณาซากศพ ที่กำลังถูกนกกาจิกกิน ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ในใจของท่านรู้สึกอย่างไร ในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมจึงคิดว่าปัญญาน่าจะเกิดขึ้น ผมจึงแทนค่าปัญญาที่เกิดขึ้นในใจด้วยดอกไม้ เพราะมันคือสัญลักษณ์หนึ่งที่สื่อถึงความสดชื่น เบ่งบาน”

ดังนั้นแทนที่จะสื่อสารออกมาตรงๆด้วยภาพพระภิกษุมองไปที่ซากศพดังเช่นในสมุดข่อย อ.บุญช่วยเลือกใช้ เทคนิค เย็บผ้า ปักด้าย สื่อออกมาเป็นภาพนกที่กำลังจิกดอกไม้ มองแล้วดูสวยงามในสายตาผู้ชมมากกว่าจะเกิดอาการสังเวช เป็นสัญลักษณ์แทนปัญญาที่เกิดขึ้นในใจของพระภิกษุแล้วนั่นเอง

อ.สรรพจน์ มาพบสุข เป็นผู้หนึ่งที่เชื่อว่า พื้นฐานของการเป็นชาวพุทธที่ดี สิ่งที่จะช่วยให้คนเราสามารถครองชีวิตอยู่เป็นปกติสุข คือ การถือศีล 5 และในการรักษาศีล ต้องอาศัยสติคอยควบคุม ดังจะเห็นได้จากผลงาน เทคนิคภาพพิมพ์ตะแกรงไหมบนผ้าใบ ชื่อ “ความหวัง”

“สติเป็นตัวสำคัญที่สุด ก็เลยนำเอาเรื่องสติมานำเสนอ ในผลงานทุกชิ้นจะมีรูปทรงอย่างหนึ่งที่เหมือนกันหมด คือรูปทรงที่คล้ายๆกับลูกข่าง มีก้นแหลม ผมแทนค่าลูกข่างกับร่างกายของคนเราว่า ถ้าเรามีสติที่มากพอ ตัวเราที่เป็นลูกข่างล้มๆอยู่ จะสามารถตั้งนิ่งขึ้นมาได้”

มีเรื่องราวมากมายในโลกนี้ที่ศิลปินสามารถเลือกมานำเสนอผ่านผลงานศิลปะ แต่ทำไมศิลปิน กลุ่ม 1 2 3 จึงเลือกนำเสนอเรื่องราวของธรรมะ อ.สรรพจน์ เป็นตัวแทนตอบคำถามนี้แทนสมาชิกว่า

“เพราะมันคือสิ่งที่สมาชิกในกลุ่มของเรากำลังสนใจมากที่สุด ก่อนหน้าที่จะเริ่มสนใจศึกษาธรรมะ ชีวิตของพวกเรามีแต่ความวุ่นวาย พอได้รู้จักธรรมะ ทำให้เรารู้ว่า ธรรมะนี่แหล่ะคือสิ่งที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสมบูรณ์

ขณะเดียวกันการทำงานศิลปะ ยังเป็นเสมือนบันทึกการปฏิบัติธรรมของเราด้วยว่า ในแต่วัน แต่ละเดือน แต่ละปี เราคิดอะไรอยู่ เราได้อะไรจากธรรมะ งานศิลปะจึงเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกความเข้าใจในธรรมะของเราไปด้วย”

ฟังคำตอบนี้แล้ว ผู้ชมจึงไม่ต้องตั้งคำถามว่า เหตุใดนิทรรศการศิลปะชุดนี้ จึงใช้ชื่อว่า “ทำ จาก ธรรม”

นิทรรศการ “ทำ จาก ธรรม”

วันนี้ - 17 ก.ค.54 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1 - 15 ส.ค.54 ณ หอศิลป์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต

3 - 29 ก.ย.54 ณ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

สอบถามโทร.0-2218-3709 (หอศิลป์จามจุรี)

 
Text by  ฮักก้า

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 - 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น