ด้วยกลไกการประดิษฐ์ใช้มอเตอร์ไฮโดรลิคเพียงตัวเดียว บวกกับการใช้ระบบโซ่และเฟือง ทำให้ผลงาน “กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย” คว้ารางวัลสุดยอดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์ฯ ปี 53 จากทั้งหมด 58 ผลงาน ไปครอง จนสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ แจงประหยัดน้ำมัน และตาอ้อยไม่แตกนำไปทำพันธุ์ต่อได้
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ จัดงานพิธีมอบรางวัลโครงการจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2553 ภายใต้หัวข้อ “เครื่องจักรกล พลังงาน และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเกษตร” เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 54 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า วท. ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ติดตามผลการประกวดในครั้งนี้ด้วย
การประกวดโครงการดังกล่าวได้เริ่มตั้งแต่ปี 2536 จวบจนปัจจุบัน สำหรับการประกวดประจำปี 2553 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 58 ผลงาน และได้ประกาศมอบรางวัลในปี 2554 โดยผลงาน “กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย” ของนายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ กรรมการผู้จัดการ หจก.สามารถเกษตรยนต์ คว้ารางวัลที่ 1 ไปครอง สำหรับรางวัลที่ 2 คือ ผลงาน “เครื่องคว้านเมล็ดลำไยแบบ 2 หัวคว้าน” ของนายเกรียงไกร ธารพรศรี อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ ส่วนรางวัลที่ 3 ผลงาน ได้แก่ “เครื่องปรับปรุงคุณภาพน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยพลังงานน้ำในการหมุนชุดแผ่นหมุนชีวภาพ” ของนายธนวัฒน์ ประกาศิต นักวิชาการสุขาภิบาล
นอกจากนั้น ยังมีรางวัลเชิดชูเกียรติ อีก 4 รางวัล ได้แก่ 1.ชุดใบมีดตัดหญ้ามหัศจรรย์ ของนายจรัญ เกิดแก้ว 2.เครื่องตัดขนมขบเคี้ยวและขนมกวนรูปทรงสี่เหลี่ยม ของนายวีระยุทธ พรหมจันทร์ 3.เครื่องหว่านข้าวแห้งพ่วงรถแทรกเตอร์ ของนายสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี และ 4. รถตัดหญ้านั่งขับแบบสองเครื่องยนต์ ของนายนเรศ เปาะทองคำ
โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท ที่ 2 จำนวน 150,000 บาท ที่ 3 จำนวน 100,000 และรางวัลเชิดชูเกียรติอีก 4 รางวัล จะได้รับเงินรางวัลละ 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณสำหรับทุกทีม
นายสามารถ เจ้าของผลงาน “กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย” บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า การวิจัยและพัฒนาผลงานนั้นใช้เวลาร่วม 5 ปี มีแนวคิดจากรถตัดอ้อยทั่วไปที่ใช้มอเตอร์ไฮโดรลิคเป็นจำนวนมาก ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน กินน้ำมัน และทำให้ตาอ้อยแตกแยกไม่สามารถนำไปทำพันธุ์ต่อได้
"ผมจึงได้คิดค้นจนเกิดเป็นกลไกการประดิษฐ์ใช้มอเตอร์ไฮโดรลิคเพียงตัวเดียว บวกกับการใช้ระบบโซ่และเฟืองเข้ามาแทนที่การใช้มอเตอร์หลายตัวด้วย นอกจากง่ายต่อการบำรุงรักษาแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจากกลไกดังกล่าวนั้นทำให้ประหยัดน้ำมัน" นายสามารถ กล่าว
ทั้งนี้ กลไกการประดิษฐ์ดังกล่าวจะทำให้รถตัดอ้อยมีน้ำหนักเบาลงมาก ทำให้สามารถตัดอ้อยเป็นท่อนได้โดยไม่ทำให้ตาอ้อยแตกแยก อีกทั้งเกษตรกรสามารถนำท่อนอ้อยไปปลูกทำพันธุ์ต่อได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี นายสามารถ บอกว่า ปัจจุบัน “กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย” มีชาวต่างชาติสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลไกเก็บเกี่ยวนี้มีประมาณ 4.5 ล้านบาท และทางบริษัทได้ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศอินเดียแล้ว 8 คัน อินโดนีเซีย 2 คัน และจำหน่ายในประเทศไทยอีก 6 คัน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมาก
ด้าน นายเกรียงไกร เจ้าของผลงาน “เครื่องคว้านเมล็ดลำไยแบบ 2 หัวคว้าน” ได้อธิบายถึงแนวคิดการคิดค้นทำเครื่องดังกล่าวขึ้นมา เนื่องจากปัจจุบันการคว้านลำไยแต่ละครั้งนั้นต้องใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก นอกจากไม่สะอาดแล้ว ยังทำให้ได้ลูกลำไยไม่สวยอีกด้วย โดย 8 ชั่วโมงสามารถทำได้เพียง 30 กิโลกรัม
"แต่ด้วยเทคโนโลยีของเครื่องคว้านเมล็ดลำไยแบบ 2 หัวกว้าน มีประสิทธิภาพสูงกว่า 8 เท่า คือ 1 ชั่วโมงสามารถคว้านเมล็ดลำไยได้ถึง 30 กิโลกรัม ซึงจะทำให้ลูกลำไยยังมีรูปทรงที่สวยงามกว่า ทั้งยังสะอาด ปลอดเชื้อโรคอีกด้วย ทั้งนี้ ใช้เวลาวิจัยและพัฒนา 2 ปี ส่วนราคาจำหน่ายต่อเครื่องอยู่ที่ 80,000 บาท" นายเกรียงไกร อธิบาย
ด้าน ดร.วีรพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการประกวดครั้งนี้ด้วยว่า โครงการจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักประดิษฐ์และประชาชนทั่วไป ได้พัฒนาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้
“การมอบรางวัลในครั้งนี้นั้นเพื่อส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า โดยสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรม จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสังคมได้จริง นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตทางภาคเกษตร และอุสาหกรรมแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายวีรพงษ์ กล่าว