xs
xsm
sm
md
lg

‘โลก’ แห่งความเป็นจริง ในมุมของ ‘ดร.พิจิตต รัตตกุล’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว คงต้องยอมรับว่าชื่อของ ดร.พิจิตต รัตตกุล คือบุคคลที่มีบทบาทในเรื่องสิ่งแวดล้อมของเมืองกรุงสูงมาก เพราะในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเขาก็มักจะพกพานำทีมข้าราชการและสำนักงานเขตต่างๆ ลงไปตามพื้นที่ประสบเหตุจากภัยธรรมชาติเสมอ

โดยเฉพาะภาพที่ทุกคนน่าจะจดจำได้มากที่สุด ก็คือเวลาฝนตกน้ำท่วม ผู้ว่าฯ พิจิตตก็มักจะปรากฏตัวในชุดทะมัดทะแมง ลงไปขุดลอกคูคลอง หรือลงมาช่วยระบายน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ติดตัวเขามาจนถึงทุกวันนี้

หันกลับมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน แม้สถานภาพของ ดร.พิจิตตจะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับวงการการเมืองอีกต่อไปแล้ว แต่ทว่าบทบาทของนักสิ่งแวดล้อมไม่ได้จางหายไปไหน เหตุผลหนึ่งก็มาจาก เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาได้มีโอกาสเข้าทำหน้าที่ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center- ADPC) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ มากถึง 19 ประเทศทั่วโลก เพื่อศึกษาและพัฒนาศักยภาพตลอดจนการวางแผนด้านนี้ให้แก่ประเทศต่างๆ ในทั่วพื้นที่เอเชียแปซิฟิก

และแน่นอนว่า หากพิจารณาไปถึงสถานการณ์โลกในยุคนี้ คงจะบอกได้ว่าอยู่ในช่วงวิกฤตอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะหันไปมุมไหนต่างๆ ก็ประสบภัยพิบัติกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่ม หรือแม้แต่ปรากฏการณ์ฝนตกหนักนอกฤดูอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้จับเข่าคุยกับ ดร.พิจิตต ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง เพื่อพูดถึงโอกาสและความอยู่รอดของโลกใบนี้ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนกัน

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจหันเหชีวิตจากแวดวงการเมือง มาทำงานในตำแหน่งนี้

จริงๆ ก็มีหลายเรื่องประกอบกัน อย่างแรกก็คงเป็นเพราะงานนี้มันเกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งผมค่อนให้ความสนใจอยู่แล้ว (ดร.พิจิตต จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง สหรัฐอเมริกา) บวกกับเป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมทำมาตลอด และที่สำคัญ ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้เหตุการณ์เรื่องภัยพิบัติต่างๆ มันก็เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จากสามสาเหตุหลักๆ นี่แหละ ทำให้ผมคิดว่า เราจะน่าทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ก็เลยมารับทำงานตรงนี้

หน้าที่หลักๆ ต้องทำมีอะไรบ้าง

สิ่งที่เราทำมันเป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เพราะฉะนั้นหน้าที่สำคัญของเราก็คือ เอาเรื่องราว เอาความคิดเห็น เอาทำความรู้เข้าไปเข้าถึงชุมชน เพื่อที่ชุมชนจะได้สามารถรับมือกับสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าได้ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องนำงานนี้เข้าไปใส่ในนโยบายของแต่ละประเทศด้วย เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงขอบเขตของงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ หลายคนก็มักจะนึกว่าแต่เรื่องการกู้ภัย มนุษยธรรมหรือสังคมสงเคราะห์เฉยๆ

ทั้งที่ความจริงแล้วยังมีเรื่องที่ต้องทำก่อนการกู้ภัย อย่าง ‘การเตรียมการล่วงหน้า’ ด้วย แต่ปัญหาคือไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือชาวบ้านต่างก็เข้าใจในเรื่องนี้น้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะมันคือวิทยาศาสตร์ล้วนๆ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่นโยบายหลายๆ แห่งจึงออกมาในรูปของ เมื่อมีปัญหาขึ้นก็ต้องไปกู้ภัย ไปรักษาพยาบาลเบื้องต้น หรือไปทำที่อยู่อาศัยชั่วคราวเพียงอย่างเดียว

ถือว่าท้าทายมากไหม

แน่นอน เพราะมันเกี่ยวกับชีวิตคน คือถ้าเราสามารถทำได้ดี ชีวิตคนก็จะได้รับการรักษาเอาไว้ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือถ้าไปให้ข้อมูลหรือไปเพิ่มขีดความสามารถให้เขาตั้งแต่ต้นๆ มันก็จะยิ่งทำให้ชีวิตของเขาปลอดภัยขึ้นด้วย

ช่วงแรกๆ ที่เข้ามา คนไทยมีความตระหนักในเรื่องป้องกันมากน้อยแค่ไหน

ไม่มีเลย มีแต่เหตุ (หัวเราะ) คือพอเกิดเหตุขึ้นแล้วก็ถึงค่อยมาแก้ปัญหาตอนเกิดเหตุ ยกตัวอย่างเช่นการระดมเงินไปมาช่วยเหลือเงินผู้ประสบภัยสึนามิก็ตาม หรือนาร์กีสก็ตาม ซึ่งถือเป็นปลายเหตุแล้ว แต่หากเรามีการแบ่งเงินบริจาคมาสัก 5 เปอร์เซ็นต์เพื่อเอามาเตรียมการก่อน ก็เชื่อว่าคนก็จะไม่ตายมากมายเช่นนี้ แต่มันยังไม่เกิดขึ้น เพาะคนยังเข้าใจเรื่องน้อยอยู่

เป็นเพราะอะไร

ถ้าพูดเฉพาะในสังคมไทย คงเป็นเพราะเราเจอภัยพิบัติไม่มาก นานๆ เกิดครั้งเจอที เหมือนไฟไหม้ พอเกิดขึ้นมาเราก็มักจะบอกว่าดับไฟซะๆ แต่หารู้ไม่ว่า ตอนนี้ภัยมันประชิดเข้ามาในชีวิตประจำวันเราแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องคิดตอนนี้ก็คือ เราจะดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางภัยเหล่านี้อย่างไร อันนี้ถือเป็นมิติใหม่ในยุคที่ภัยนั้นเกิดถี่มากขึ้น

เป็นแนวคิดเดียวกับการทำประกันภัย

ใช่ แต่เราก็ชอบคิดว่า โชคร้ายไม่มาถึงฉันหรอก (หัวเราะ) แต่จริงๆ ก็มีอยู่สามประเทศ เว้นญี่ปุ่นที่ถือว่าเจริญแล้ว ซึ่งไม่คิดแบบนี้ คือเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เพราะเขามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่อย่างไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย จะชอบคิดว่านานๆ เกิดที

อย่างนี้มีวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้เราคิดเหมือนสามประเทศนั้นได้

อย่างแรกก็คงเป็นเรื่องความเข้าใจนั่นแหละ ซึ่งก็ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน ที่ใครพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วจะเป็นคนเพ้อเจ้อ (หัวเราะ) เพราะมันมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง สึนามิที่ญี่ปุ่นหรือไทย และพายุนาร์กีสเมื่อสองปีที่แล้ว หรือแม้แต่เรื่องควันพิษในกรุงเทพฯ

ไม่เพียงแค่นั้น คนก็เริ่มมองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญในชีวิตประจำวันเป็นอันดับสองรองจากเรื่องปากท้อง เพราะมันถูกโยงเข้ามาหากันมากขึ้น คิดง่ายๆ ถ้าสิ่งแวดล้อมเจ๊ง มันกระทบการกินอยู่ ทั้งเรื่องอาหาร เรื่องเศรษฐกิจไปด้วยใช่ไหม

แล้วสื่อทุกวันนี้ ก็เริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เห็นได้จากการที่เขาไม่ได้รายงานเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังรายงานไปถึงสาเหตุด้วย เช่น รอยเลื่อนที่ทำให้แผ่นดินไหว ซึ่งก็ถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้เรารู้ว่า รอยเลื่อนของนั้นอยู่ในภาคตะวันตก เพราะก่อนหน้านั้นเราเชื่อมาตลอดว่า ไทยไม่มีแผ่นดินไหว เพราะไม่มีรอยเลื่อน แต่ตอนนี้เราเริ่มรู้ว่า นอกจากรอยเลื่อนใหญ่ๆ ยังมีรอยเลื่อนเล็กๆ เช่น ศรีสวัสดิ์ แม่ริม ด่านเจดีย์สามองค์ที่ทำให้คนเริ่มตระหนักมากขึ้น

แต่ทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงมากนะ เพราะสิ่งที่ยากกว่า ก็คือการสื่อสาร เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า เราเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ดังนั้นจะไปยุ่งกับกิจการภายใน หรือไปบอกประชาชนโดยตรงไม่ได้ ดังนั้นวิธีทำงานของเราก็คือให้ข้อมูลกับหน่วยงานของเขา แล้วค่อยให้เขาตัดสินใจกันเองว่าจะนำข้อมูลไปเผยแพร่กับคนในประเทศอย่างไรบ้าง

ตัวอย่างเช่นกรณีประเทศพม่า ซึ่งเราว่าจะรู้ว่าเกิดกรณีนาร์กีสขึ้น เราก็เลยเตือนไป และรัฐบาลก็รับทราบ แต่ปัญหาคือเมื่อเขาส่งข้อความไปในชาวบ้านแถวลุ่มแม่น้ำอิระวดี ผลปรากฏว่าไม่มีการตอบสนองตามแผนว่าจะทำอะไรต่อ คงนึกว่าแค่มีคลื่นสูงๆ ลมแรงๆ ไม่คิดว่าขีดความรุนแรงจะหนักกว่าที่เคยเจอนัก ซึ่งปัญหาที่เราคิด ก็การเตือนภัยเองนั้นมีความบกพร่อง เช่น ไม่ได้ใช้ภาษาที่ชาวบ้านได้ง่ายๆ หรือบอกไปแล้ว ชาวบ้านรู้ไม่ทราบมันรุนแรงขนาดไหน เอาง่ายๆ สมมติคุณจะเตือนภัยชาวลุ่มแม่น้ำอิระวดีว่า นาร์กีสที่สองจะมา และมีความรุนแรงระดับห้า เราก็ต้องทำความตกลงกับเขาก่อนว่า ถ้าถึงระดับนี้คุณต้องย้ายบ้าน ต้องอพยพแล้วนะ แต่สถานการณ์ปัจจุบันการตกลงแบบนี้ยังไม่ชัดเจน มันต้องแปลสองถึงสามรอบกว่าจะปฏิบัติได้

แสดงว่าปัญหาเรื่องแปลคำพยากรณ์นี้ถือว่าอยู่ในขั้นรุนแรงมาก

เกือบทุกประเทศ (พยักหน้า) ผมว่านักวิทยาศาสตร์บางทีก็ไม่ชอบอะไรที่ผูกมัดตัวเอง เช่น จะอธิบายคำพยากรณ์ทีหนึ่งก็จะบอกว่า ถ้าเกิดความกดอากาศต่ำมาเจอความกดอากาศต่ำก็จะเกิดฝนขึ้น แต่ถ้าหากลมแรงพัดย่อมอากาศ ความกดอากาศสูงหายไปฝนก็จะไม่ตก ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเขาอยากรู้แค่ว่าตกลงฝนจะตกหรือไม่ตกเท่านั้นเอง (หัวเราะ)

อย่างนี้พอสรุปได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะศักยภาพของหน่วยงานของแต่ละประเทศ

แน่นอน ขีดความสามารถของรัฐบาลท้องถิ่นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าใจเรื่องภัยพิบัติ อย่าไปคิดถึงเรื่องสังคมสงเคราะห์ เพราะฉะนั้นพอรู้ว่าตรงนี้มีความเสี่ยงสูง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแทนที่จะเอางบเทไปที่การสร้างถนน หรือสร้างสะพานก็เอาแบ่งมาปลูกป่าชายเลนหน่อย ป้องกันกระแสน้ำ เรื่องพวกนี้รัฐบาลกลางต้องทำ ต้องฝึกคน

ขณะเดียวกัน ชุมชนเองก็มีขีดความสามารถให้มากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่เกิดภัยพิบัติยี่สิบสี่ชั่วโมงแรก เพราะโอกาสที่คุณจะได้รับความช่วยเหลือจากส่วนกลางไม่มีหรอก ต้องสู้เอง เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมของชุมชนนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยจะต้องทำแผนเตือนภัยของตัวเองขึ้นมา เช่น ชุมชนที่อยู่ริมเขา โดยปกติกรมทรัพยากรธรณีก็จะมีมาตรวัดปริมาณน้ำฝนไปวางไว้ที่บนเขา ซึ่งถ้าเผื่อว่าฝนตกระดับหนึ่ง ก็แสดงว่าพื้นที่อุ้มน้ำบนยอดเขาเริ่มสูงมากแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องมีคนเข้าไปตีเกราะ ตีไม้ไผ่ให้ชุมชนข้างล่างเตรียมอพยพ เพราะเดี๋ยวมันมีโอกาสจะถล่มลงมาได้

ที่สำคัญ ก็ต้องมีความพร้อมทางด้านโยธาธิการ เช่น ที่หมู่บ้านน้ำเค็ม ซึ่งเกิดสึนามิขึ้นมา ชาวบ้านก็ต้องไปพูดคุยกับโยธาฯ แล้วว่าจะทำอย่างไร เช่น ขุดเป็นเหมืองเอาไว้ สมมติคลื่นมาจะได้มีการเตรียมตัวกันเอาไว้ได้ หรือพอเกิดเหตุก็ต้องมีเฮลิคอปเตอร์ไปขนคนออกไป ซึ่งเรื่องแบบนี้คิดเอาไว้ได้ก่อนล่วงหน้าได้

ถ้าให้ลองไปเทียบกับประเทศตะวันตก ระบบเตือนภัยของเอเชียถือว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ของเราต่ำกว่ามาก ยกเว้นญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้นะ เอาง่ายๆ สมมติหากมีเกิดมีลมที่มีความเร็วรุนแรงสักหนึ่งร้อยห้าสิบถึงหนึ่งร้อยแปดสิบไมล์ต่อชั่วโมง ที่พัดเข้าไปในประเทศตะวันตกกับในบังคลาเทศหรือปากีสถาน คนตายในปากีสถานมหาศาล ขณะที่โลกตะวันตกตายน้อยกว่าเยอะ

เป็นเพราะเขาเจอภัยบ่อยมากกว่า

ไม่ใช่ (ตอบทันที) หกสิบเปอร์เซ็นต์ของภัยพิบัติเกิดขึ้นในเอเชีย แต่คนตายก็ยังเป็นเอเชียสักแปดสิบเปอร์เซ็นต์อยู่ดี ซึ่งตรงนี้แสดงว่าเขามีการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า และรัฐบาลเขาคงเห็นคุณค่าของชีวิตว่ามีความสำคัญ เลยมีการพัฒนาเรื่องความรู้ค่อนข้างมาก ขณะที่ประชาชนเขาก็มีสามารถเรียกร้องความปลอดภัยได้มากขึ้นด้วย

แล้วถ้าเป็นประเทศไทยถือว่าอยู่ในขั้นที่น่าพอใจไหม

ก็ถือว่าดีขึ้นทั้งในเรื่องเจ้าหน้าที่ ขีดความสามารถ ความเข้าใจและความตระหนัก เห็นได้จากการพัฒนาของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่จัดให้มีศูนย์เตือนภัยขึ้น มันก็เลยทำให้เกิดการพัฒนาการพยากรณ์เป็นการเตือนภัย หรือการที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเองก็พยายามสร้างความตระหนักมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าเป็นผลพวงจากเหตุการณ์สึนามิครั้งนั้น เอาง่ายๆ เมื่อเกิดเราคิดเรื่องการสื่อสารระหว่างเกิดภัยพิบัติเลย พอเกิดเหตุขึ้นมาระบบการสื่อสารล่มแล้วทำไง ตอนหลังเราเลยเห็นทั้งทีโอเอเข้ามา เอกชนเข้ามา เริ่มคิดกันแล้วว่าจะเริ่มช่วยผู้ประสบภัยอย่างไร

แต่ถ้าเป็นเชิงโยธาธิการ ผมคิดว่ายังน้อยอยู่ เอาง่ายๆ เรามองแค่เรื่องการกัดเซาะชายฝั่งของอ่าวไทย การเตรียมการก็ยังไม่มีเลย เรื่องการทรุดตัวของพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีเหมือนกัน หรือถ่ายน้ำจากถนน ลงคลองเวลาฝนตกก็ทำไม่ได้ เพราะน้ำในคลองสูง การป้องกันน้ำเค็มทะลักเข้ามาในน้ำจืดก็ไม่เคยคิดเลย หรือแม้แต่การเตรียมพันธุ์ข้าวที่สามารถทนอยู่ในน้ำนานๆ แถวสิงห์บุรีหรือสุพรรณบุรีซึ่งมันเกิดแน่ๆ เราได้เตรียมเอาไว้บ้างหรือยัง

แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ช่วงนี้ภัยพิบัติต่างๆ ก็เกิดขึ้นถี่เหมือนกัน

(พยักหน้า) หากเป็นเชิงวิทยาศาสตร์เป็นเพราะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง ทุกวันนี้ภัยพิบัติที่เรามันไม่มีตามแบบแผนเดิมอีกต่อไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มันทำให้กระแสน้ำหรืออากาศในมหาสมุทรมันแปรเปลี่ยนไปหมด ปริมาณฝนก็แปรเปลี่ยน พูดง่ายๆ ก็คือส่วนหนึ่งก็มาจากปฏิกิริยาเรือนกระจก อีกส่วนก็เป็นเรื่องของแกนของโลกที่เปลี่ยนไปด้วย ก็เลยทำให้ภูมิอากาศอีกส่วนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งพวกนี้มันอธิบายสาเหตุได้หมดเลยทั้งฝนตกมาก น้ำท่วม พายุไซโคลน ทอร์นาโด หรือสึนามิ เว้นอยู่เรื่องเดียวที่เราไม่รู้ว่า เป็นเพราะสาเหตุอะไรถึงถี่มากขึ้นก็คือ ‘แผ่นดินไหว’

แสดงว่า ภูมิอากาศในอนาคตก็มีโอกาสจะแย่ลงไปกว่านี้

แน่นอน มันจะแย่ลงเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายมันจะไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะเรื่องการเป็นการตายแล้ว แต่ยังมีผลต่อเรื่องความเป็นอยู่ด้วย เพราะอย่างข้าว สวน บ้านเรือนก็มีโอกาสเจ๊งเหมือนกันหมด

เรื่องไหนน่าจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้น

น้ำท่วมจะท่วมขังยาวขึ้น ระบายไม่ออก เพราะน้ำในอ่าวไทยจะมันสูงขึ้น แล้วมันจะมีปัญหาต่อมาคือ ดินทรุดตัว ซึ่งเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแถวกรุงเทพฯ ปากน้ำ เชื่อไหมตอนนี้ระดับเฉลี่ยเราสูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่สามสิบเจ็ดเซนติเมตร และก็จะลดลงเรื่อยๆ

อย่างนี้โอกาสที่เมืองจะหายไปก็มีสิทธิเหมือนกัน

คงจะวันหนึ่ง แต่ตอนนี้เราอย่าเพิ่งพูดเลย เอาแค่ไม่ให้มันท่วมนานก่อนดีกว่า (หัวเราะ)

ส่วนเรื่องต่อมาที่น่าจะเกิดแน่ๆ ก็คือดินถล่ม ซึ่งมีผลจากการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกพืชไร่ตามไหล่เขา เช่น ต้นยาง ซึ่งรากมันอ่อนแอ เพราะฉะนั้นการอุ้มน้ำ หรือการจับทรายหินมันก็น้อยลง พอน้ำอยู่บนเขามาก มันก็พร้อมจะทะลักมา และเรื่องสุดท้ายก็คือความเร็วของลมที่รุนแรงขึ้น คือปกติลมนี้มักจะมาทางเวียดนาม แล้วเข้าเขมร เข้าลาว พอเจอภูเขา เจอป่าไม้ พอถึงประเทศไทยก็อ่อนตัวลง แต่ตอนนี้มีหลายลูกเหมือนกันที่อ้อมเขมร อ้อมลาว แล้วมาเข้าที่ชุมพร โอกาสแบบนี้ยังมี

พอมีทางออกหรือหนทางการแก้ไขบ้างไหม

ผมว่าอยู่ที่การบริหารจัดการ อย่างหลายๆ เรื่องเราก็มีอยู่แล้ว เช่น สมัยที่ในหลวงทรงทำเรื่องแก้มลิงที่คลองด่าน ตอนนั้นก็มีการคันดินเล็กๆ เอาไว้ด้วย หากเราเติมอีกหน่อยได้ไหม ตลอดแนว มันจะมีประโยชน์มาก น้ำจากอ่าวไทยที่กระเพื่อมเข้ามาก็จะชนตรงนี้ได้บ้าง แบบนี้น่าจะทำได้ แต่อย่างว่าถ้ารัฐบาลไม่เอา เอาแต่ลด แลก แจก แถมอย่างเดียว ก็ไม่มีเงินมาทำแบบนี้ เพราะชาวบ้านไม่เห็นประโยชน์โดยตรง เพราะมันเป็นประโยชน์ระยะยาวที่จะเห็นเวลาน้ำท่วมหรือแล้งไปแล้ว

การเมืองต้องเข้าใจเรื่องนี้บ้าง ผมอยากให้ทุกพรรคเวลาหาเสียงน่าจะเอาเรื่องนี้เป็นนโยบายเป็นตัวหลัก เพราะมันไม่แค่ตายหรือไม่ตายอีกแล้ว แต่ยังเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เกี่ยวกับข้าว โยงกันไปหมดแล้ว

แล้วมองอย่างไร เวลาที่มีคนชอบมาบอกว่า หากทำจริงๆ ต้องไปปรับโครงสร้างทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังเมือง หรือระบบสาธารณูปโภค

ผมไม่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้ วิธีง่ายสุดก็คือนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ แล้วเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมพูดคุย เพราะแต่ละแห่งเขามีแผนหมดแล้วว่าจะทำอย่างไร ขาดอย่างเดียวลงมือทำ เช่น กระทรวงเกษตรฯ เขาก็มีแผนว่าจะรับมือต่อพื้นที่ปลูกข้าวอย่างไร กรมอุทกศาสตร์ก็มีแผนเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เอาทั้งหมดมาคุยกันหมดนี่แหละว่า สรุปว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องรักษาเอาไว้ มีวิธีการอย่างไรบ้าง ไม่ต้องทำแผนใหม่ แล้วนายกฯ ก็สั่งการเลยว่าจะทำอย่างไรบ้าง อย่าต่างคนต่างทำ แล้วมันจะง่าย สุดท้ายเราก็จะได้แผนป้องกันภัยพิบัติออกมาแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำว่าจะเห็นความสำคัญหรือเปล่า อย่าไปปฏิรูป เพราะเดี่ยวมันจะยุ่งไปหมด (หัวเราะ)

จริงๆ ผมมองว่าคงถึงเวลาแล้วล่ะที่รัฐบาลจะต้องกำหนดให้เห็นเลยว่า ตารางกิโลเมตรไหนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ตรงนี้เสี่ยงน้ำท่วม ตรงเสี่ยงดินถล่ม ทำเป็นแผนที่ออกมาเลย ซึ่งอาจจะไม่ต้องทำทั้งประเทศก็ได้ เอาแค่พื้นที่เสี่ยงภัยสูงก่อน แล้วค่อนไล่ลงมาในระดับต่ำลง

เอาง่ายๆ ไปดูที่เวียดนามก็ได้ คือเขารู้ว่าเขาเป็นหนึ่งในห้าของพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของภูมิอากาศมากที่สุดของโลก เพราะฉะนั้นเขาเตรียมแผนไว้เลย เช่น พื้นที่ปลูกข้าว เขาก็เป็นวงเอาเลยแล้วจากนั้นก็ล้อมคันดินเอาไว้ เพราะถ้าเกิดน้ำท่วม ข้าวมันไปหมดเลยนะ แล้วเขาก็ปลูกป่าโกงกางมาขึ้น ป้องกันสตอมเสิร์ช (คลื่นพายุซัดฝั่ง) เข้ามา เขายุบเมืองเล็กๆ ไปสองเมือง เพราะรู้ว่าจมน้ำแน่ และพันธุ์ข้าวพัฒนาแล้ว ดังนั้นภายในเจ็ดถึงสิบปีข้างหน้า ถึงเกิดปัญหาขึ้นมา เขาก็ยังรอดได้ แถมตอนนี้เขายังพัฒนาไปไกล เพราะล่าสุดเขามีแผนจะทำแผนป้องกันนี้แบบเต็มพื้นที่แล้ว จำนวนหกพันแห่ง ซึ่งหากเทียบกับเราแล้วถือว่าห่างกันมาก

คิดว่าเมืองไทยต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่ถึงจะทำสำเร็จ

ถ้าเราไม่ทำแผนใหม่นะ ก็ทำได้เลย เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีอำนาจอยู่แล้ว

แต่เคยมีคนตั้งข้อสังเกตเหมือนว่า การทำแบบนี้อาจจะกระทบต่อการพัฒนาของประเทศ

ผมว่าเราต้องหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนากับการป้องกันนะ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด ก็คือหากเราจะมีโครงการพัฒนาใดๆ ก็ตาม จะต้องเอาเรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับภัยเข้ามาประกอบด้วย เพราะหากพัฒนาแบบโดดๆ ก็จะเกิดปัญหาภายหลัง สมัยก่อนจำได้ไหม สมัยที่เรามีการพัฒนาชายฝั่ง สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็บังคับไว้เลยว่าโครงการที่เกิดขึ้นต้องคำนึงถึงอีไอเอ (การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ซึ่งคนก็รำคาญเหมือนกัน แต่ในที่สุดพอยอมรับทำก็ออกมาได้

แต่อย่างว่า โครงการในเมืองไทยหลายๆ ตัวมันก็มีการทุจริตเกิดขึ้น แล้วสุดท้ายมันจะเป็นไปได้จริงเหรอ

นั่นไง เราถึงต้องมีแผนที่เสี่ยงภัยและการประเมินความเสี่ยง ว่าตรงนี้คือเสี่ยงภัยสูง ตรงนี้คือเสี่ยงภัยน้อย เพราะฉะนั้นคุณเลื่อนโรงงานมาตรงนี้ได้ไหม ส่วนตรงนั้นก็ปลูกป่าชายเลนเท่านี้พอ เรื่องนี้ต้องทำให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

แผนที่ที่ว่านี้เริ่มทำกันบ้างหรือยัง

มันมีอยู่แล้ว แต่เป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ เช่น กรมชลประทานก็ทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่เกษตร กรมทรัพยากรธรณีก็ทำแผนที่เสี่ยงภัยเรื่องดินถล่ม ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยเรื่องแผ่นดินไหวนี้ไม่มีเลย แล้วเนื้อหาก็คร่าวมากๆ เป็นแบบรายจังหวัด ไม่ได้ลงรายละเอียดถึงตำบล อย่างล่าสุดเราไปทำแผ่นที่เสี่ยงภัยแผ่นไหวให้เมือง ธากา จิตตะกอง และชิลเหต สามเมืองใหญ่ของบังกลาเทศ แล้วเราก็ไปขุดเจาะดินลงไปดูระดับการฝั่งรากของแผ่นหินข้างล่าง เอาพิมพ์เขียวของอาคารที่สร้างไว้ แล้วทำแผ่นที่เอาไว้ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะรู้หมดว่า ตรงนี้ของเมืองธากา หากแผ่นดินไหวสักห้าริกเตอร์หายหมด แต่ถ้าไหวสี่ริกเตอร์หายครึ่งเดียว

เพราะฉะนั้นเรื่องแบบนี้คุณทำคร่าวๆ ไม่ลงรายละเอียดไม่ได้ เพราะเวลาเกิดเหตุมันเกิดเป็นหมู่บ้าน เช่น คุณต้องระบุไปเลยว่า หมู่บ้านน้ำเค็มที่เคยเกิดสึนามิเป็นที่เสี่ยงภัยสูง เพราะมีรอยเลื่อนของอินโดนีเซียมันอยู่ตรงนั้น

นอกจากแผนที่เสี่ยงภัย มีเรื่องอื่นที่ต้องรีบทำไหม

การฝึกอบรมคนให้มีความเข้าใจ โดยเฉพาะคนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างประเทศฟิลิปปินส์ที่ประสบภัยพิบัติอยู่บ่อยๆ เขามีเทรนเนอร์หนึ่งต่อห้าร้อย แต่ของเราขอแค่มีคนเดียวใน อบต.ทั่วประเทศก็ดีมากแล้ว ซึ่งคนนี้แหละที่จะต้องมีหน้าที่สำคัญในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน แล้วสุดท้ายมันก็จะกระจายต่อไปเอง ขณะเดียวกัน เรื่องของฮาร์ดแวร์บางอย่าง เช่น ป่าโกงกาง คันดิน การจัดการแหล่งน้ำ การสร้างแหล่งน้ำ ต้องรีบทำได้แล้ว

เพราะตอนนี้หลายๆ ประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ เขามีครบทั้งสามอย่างและสามารถรับมือได้ดีกว่าเรา เพียงแต่ว่าระบบบางอย่างก็ล้าสมัย เพราะว่าภัยมันทันสมัยขึ้น อย่างเช่นพายุที่เข้าฟิลิปปินส์ เขาก็ไม่คิดว่ามันจะยูเทิร์นมาเล่นงานเขาสองถึงสามรอบได้

เมืองไทยมีโอกาสไหมที่จะเจอภัยทันสมัยแบบนี้บ้าง

มี (ตอบทันที) และไม่ใช่ภัยอย่างที่เราเห็น ที่บอกว่าน้ำท่วม ดินถล่มมันถือเป็นภัยมาตรฐาน อย่างสึนามิก็ถือว่าใช่ และก็มีโอกาสเกิดขึ้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน แต่ฝั่งอันดามันจะมีโอกาสเกิดมากกว่า หรือเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ท่วมยาวเมื่อปีสองพันห้าร้อยสามสิบหกก็ถือว่าใช่

แต่ที่ผมกลัวสุดก็คือรอยเลื่อนทางภาคตะวันตก เพราะมันอาจจะมีแรงกระทบได้ เนื่องจากในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีการขยับตัวของรอยเลื่อนมากกว่าปกติ แล้วรอยเลื่อนมีอยู่สองอย่างคือชนกันแล้วเกิดแรงสั่นสะเทือน แผ่นดินไหว อีกอย่างคือไม่ชนแล้วเกิดสึนามิ ซึ่งทั้งสองแบบนี้พอเกิด มันก็จะสะเทือนไปถึงรอยเลื่อนเล็กๆ เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ เจดีย์สามองค์ หรือแม่สอด ด้วย ซึ่งเราประมาทไม่ได้ เพราะวันหนึ่งมันอาจจะเกิดการขยายผลอะไรขึ้นมาก็ได้

ถ้ามีโอกาสเกิดแบบนี้ โครงการบางตัว เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ควรจะต้องระงับไปเลยใช่ไหม

ใช่ ไม่ต้องไปพูดถึงเลย คือมันต้องแลกกัน เพราะของบางอย่างให้ผลกำไรสูง แต่ก็มีความเสี่ยงต่ำ เรื่องแบบนี้เราก็ต้องคิดควบคู่กันไป เพราะถ้าบอกว่าไม่คิดเลยก็ใช่ที เนื่องจากบางครั้งพอคิดแล้วโอกาสของความเสี่ยงมันก็น้อย อย่างนี้เราก็สามารถสบายใจได้ที่จะนำการพัฒนาเข้ามา

แล้วในส่วนของคนล่ะ ต้องทำอย่างไรบ้าง

ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่สภาพของโลกข้างหน้าที่มีภัยสูงๆ เพราะตอนนี้เรายังไม่ปรับกันเลย เรายังไม่ซ้อมว่ายน้ำ ทั้งๆ ที่น้ำจะท่วมแล้ว อย่างในแม่น้ำโขง เราไปทำในลาว ในกัมพูชา หากวันนี้เกิดท่วมจะทำยังไง หนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เราทำคือฝึกเด็กให้ว่ายน้ำ คือเขาอาจจะบอกทำไปทำไม เพราะไม่อยู่ใกล้ทะเล แต่หากวันใด จีนปล่อยน้ำจากเขื่อนตูมตามๆ จะทำยังไงล่ะ นี่แหละคือข้อดีของการเตรียมการไว้ก่อน

ทุกวันนี้ ถ้าลองให้คะแนนระบบเตรียมภัยของประเทศไทยจะให้สักเท่าไหร่

เราคงเทียบกับตะวันตกหรือญี่ปุ่นไม่ได้นะ เพราะมันเกินเลยไปแล้ว แต่ถ้าเทียบกับใกล้เคียง สมมติเวียดนามได้สิบเต็ม ผมว่าเราได้สักหกถึงหกจุดห้าคะแนนแล้วกัน
>>>>>>>>>>>
……….

เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร








กำลังโหลดความคิดเห็น