xs
xsm
sm
md
lg

SMS เสี่ยงโชค ภัยพนัน...หลอกเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากผลการวิจัยที่ระบุว่า การส่งข้อความเสี่ยงโชคเป็นการพนัน เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายผ่านการส่งข้อความเสี่ยงโชคจากโทรศัพท์มือถือ และหลงเชื่อโฆษณาในสื่อต่างๆว่า การเสี่ยงโชคง่าย เสียเงินน้อย น่าทดลอง งานวิจัยวิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มสูงที่เด็กและเยาวชนจะติดพนันจนเป็นนิสัย ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตตกต่ำและพฤติกรรมก้าวร้าว

จุติมาศ สุกใส นักวิจัยโครงการการสำรวจสถานการณ์การเสี่ยงโชคผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และเครือข่ายรณงค์หยุดพนัน พบว่า ในปี 2554 การส่งข้อความสั้น (SMS) จะโกยเงินจากผู้บริโภคเข้ากระเป๋าผู้ประกอบการถึง 1,700 ล้านบาท ในหลากหลายช่องทาง เช่น โทรศัพท์มือถือโดยตรง โดยผู้ให้บริการส่งข้อความ SMS เพื่อให้เสี่ยงโชค, การเชิญชวนสมัครทางเว็บไซต์ ทั้งที่เต็มใจสมัคร และสมัครเพราะได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงจากการโฆษณาเกินจริง, รายการโทรทัศน์ เช่น ตอบคำถามชิงรางวัล หรือรายการประมูลทางเคเบิลทีวี หรือกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม เช่น การทายผลกีฬา ซึ่งยอดการเสี่ยงโชคจะพุ่งทะยานขึ้นในช่วงแข่งขันฟุตบอลยูโรและฟุตบอลโลก
จุติมาศ สุกใส
จากสถิติการเติบโตของจำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือในช่วงเดือนมีนาคม 2553 มีประมาณ 71.2 ล้านเลขหมาย และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน อีกทั้งราคาโทรศัพท์มือถือที่ถูกลงมาก บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องการความสะดวกในการติดต่อกับบุตรหลานที่กำลังเรียน ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากทั้งในเมืองและชนบทตั้งแต่ระดับประถมถึงมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือได้โดยง่าย เปิดช่องทางที่ผู้ประกอบการส่งข้อความเพื่อเชิญชวนให้ลูกค้าเสี่ยงชิงโชคลุ้นของรางวัล

หลายคนคิดว่าเสียเงินไม่มาก ส่ง SMS ครั้งละ 6- 12 บาท ได้รางวัลง่าย ถ้าส่งมากมีสิทธิ์ลุ้นได้รับของรางวัลชิ้นใหญ่ เป็นภาวะที่น่าห่วงสำหรับเด็กและเยาวชนที่หลงตั้งใจส่ง SMS เสี่ยงโชคเพื่อหวังของรางวัลที่ล่อใจ ผู้ปกครองดูแลไม่ทั่วถึงเพราะไม่มีข้อมูลและตรวจสอบยาก นอกจากเด็กเสียเงินแล้วยังซึมซับนิสัยการติดพนันอย่างไม่รู้ตัว” จุติมาศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมการติด SMS เพื่อเสี่ยงโชค ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลใกล้ชิดลูก และความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองเกี่ยวกับเทคโนโลยี ไม่เท่าทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ซึ่งนอกจากการให้ความรู้กับพ่อแม่เด็กและเยาวชน ตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาให้ข้อคิดเห็นว่าควรให้ข้อมูลกับคณะที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียนการสอน ซึ่งในทุกมหาวิทยาลัยมีคณะที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินคดี คุมเข้มทางกฎหมาย

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวทิ้งท้ายถึงการแก้ไขว่า มาตรการทางกฎหมายเพื่อดำเนินการให้สถาบันฯจัดการเสนอเรื่องต่อกรมการปกครองเพื่อดำเนินการกับผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน ในส่วนการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคเบื้องต้น สามารถยุติการรับ SMS กับระบบโทรศัพท์ที่ใช้บริการ ดังนั้น ขอเตือนผู้ที่ส่ง SMSโหวตหรือการชิงรางวัลผ่านโทรศัพท์มือถือ จะเสียเงินฟรีและไม่ได้ผล เพราะข้อจำกัดในการรับสายของรายการซึ่งการโหวตมีปริมาณเรียกเข้ามากกว่าสายที่รับเรื่องได้ ลำดับการรับเรื่องรอคิวนาน ซึ่งส่วนมากผู้บริโภคจะเสียเงินตั้งแต่กดโทรศัพท์ หากผลลัพธ์ที่ต้องการโหวต ส่วนมากไม่ทันต่อระยะเวลาที่กำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น