อีกแล้ว! กับข่าวขโมยเด็กออกจากโรงพยาบาล ถึงแม้ว่าครั้งนี้จะปิดฉากด้วยความสุขของทั้งสองฝ่าย ทั้งแม่เด็กวัย 17 ที่ได้ลูกคืน และคนร้ายที่ยอมมอบตัวโดยผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ แต่เหตุการณ์เช่นนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น มันมีให้เห็นมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว คิดดูสิว่าคนเสพข่าวอย่างเราๆ ต้องใจหายกับความผิดพลาดภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลมาแล้วกี่ครั้งกี่หน
ภาพคุณแม่หมาดๆ ร้องห่มร้องไห้สะอึกสะอื้นเหมือนจะขาดใจ ร้องจนน้ำตาแทบเป็นสายเลือด ปากก็พร่ำบอกผ่านสื่อ วิงวอนขอร้องคนร้ายให้นำลูกมาคืน...
คือภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามหน้าหนังสือพิมพ์และหน้าจอโทรทัศน์ เพียงแต่รายล่าสุดโชคดีหน่อยที่จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง แต่หากมองย้อนกลับไปจะเห็นว่ายังมีอีกหลายรายที่คดีหายเงียบไปโดยผู้เป็นแม่ไม่มีโอกาสรู้เลยว่าสายเลือดแท้ๆ ของตัวเองจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง
“ตอนแรกผู้หญิงคนนั้นเขาบอกว่าเป็นพนักงานทำความสะอาดโรงพยาบาล ที่ให้อุ้มน้องเพราะเขาบอกว่าเคยมีลูกมาก่อน เห็นว่าเด็กน่ารักดีจึงขออุ้ม ไม่คิดว่าจะพาลูกวิ่งหนีไปต่อหน้าต่อตาแบบนี้ รู้สึกตกใจมากที่ลูกถูกขโมยเพราะเป็นลูกคนแรก” ข่าวเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2550
“รู้สึกปวดท้องเลยวางลูกสาวที่เพิ่งคลอดได้สองวันไว้บนเตียง กลับมาอีกทีก็ไม่เห็นลูกแล้ว พอดูกล้องวงจรปิดรู้สึกตกใจมาก เพราะคนที่เอาไปคือคนที่นั่งอยู่ข้างเตียงกันนี่เอง ที่ผ่านมาผู้หญิงคนนี้เดินเข้าออกเตียงนั้นเตียงนี้มาสองวันแล้ว มาตีสนิทชวนคุย บอกว่ามาเยี่ยมหลาน ไม่เคยคิดมาก่อนว่าเขาจะเป็นคนร้าย” ข่าวเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2554
ถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างเวลาต่างสถานที่กัน แต่หากสังเกตดูให้ดีจะพบว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมีจุดร่วมกันอยู่ นั่นก็คือเหตุการณ์ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นใน “โรงพยาบาลรัฐ” ทั้งสิ้น! ชวนให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดคนร้ายจึงพุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาลรัฐ หรือแม้แต่มิจฉาชีพเองก็รู้ว่าสถานที่ดังกล่าวดูแลเอาใจใส่คนไข้ได้ไม่ดีเท่าโรงพยาบาลเอกชน?
ไม่ใช่แค่มิจฉาชีพเท่านั้นที่อาจรู้สึกเช่นนี้ เชื่อว่าคนที่เคยก้าวเท้าเข้าไปใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐต้องเคยเจอเหตุการณ์บั่นทอนความรู้สึกมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นให้เห็นซึ่งๆ หน้า ญาติๆ ต่างรีบเร่งนำตัวผู้ป่วยอาการโคม่าเข้ารับการรักษา แต่ปรากฏว่ามาผิดตึก แทนที่เจ้าหน้าที่จะขะมักเขม้นเข้ามาอำนวยความสะดวก หาเครื่องไม้เครื่องมือมาปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ชายในเครื่องแบบรายนั้นกลับเข้ามาขวางและบอกเพียงว่า “ไม่ใช่ตึกนี้ ต้องไปอีกตึกหนึ่ง”
เสร็จแล้วก็สะบัดตูดหนีโดยไม่สนว่าคนที่อยู่บนรถเข็นกำลังพะงาบๆ อาการปางตายเพียงใด ไม่แม้แต่จะมีจิตสำนึกเดินพาไปส่งให้ถึงที่ ประหนึ่งว่าถ้าผู้ป่วยจะขาดใจขณะเคลื่อนย้ายกันเองก็ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของตน
แม้แต่ตึกฉุกเฉินหรือตึกอุบัติเหตุซึ่งวินาทีเป็นวินาทีตายพลิกผันได้ตลอดเวลา ผู้ปฏิบัติงานในนั้นก็ยังเนิบช้าเหมือนปล่อยให้เวลาผ่านไปวันๆ
มีเพื่อนคนหนึ่งพาคุณพ่อซึ่งตกจากที่สูงแล้วข้อเท้าบวมเป่งไปตรวจ หลังเอกซเรย์พบว่าไม่มีกระดูกส่วนใดแตกหัก ผู้ป่วยจึงถูกส่งมาทำแผลอีกแผนก ปรากฏว่าคนที่อยู่เบื้องหน้าไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นนักศึกษาฝึกหัดสองคนที่ทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าแม้แต่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากรถเข็นขึ้นบนเตียง ปล่อยให้คนเจ็บตะเกียกตะกายขึ้นไปเอง
ส่วนนักศึกษาหน้าละอ่อนทั้งสองเอาแต่มองอยู่ห่างๆ และตั้งหน้าตั้งตาจดรายละเอียดลงกระดาษอย่างเดียว ต้องรอให้อาจารย์แพทย์ป้อนคำสั่ง จึงยอมขยับเขยื้อนร่างกายบริการผู้ป่วย
วิญญาณความเป็นแพทย์อันน้อยนิดเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับนักศึกษาแพทย์ตามที่ยกตัวอย่างเท่านั้น ถ้าใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบ่อยๆ จะรู้ว่ามันเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวแพทย์แทบทุกคน
สังเกตง่ายๆ จากวิธีการตรวจแบบขอไปที แค่แตะๆ จิ้มๆ ใช้สายตาคาดคะเนแล้วจ่ายยาให้พ้นๆ ไป ไม่ยอมเสียเวลาซักถามอาการคนไข้ให้ละเอียด ดูก็รู้ว่าทำเพราะเป็นหน้าที่ ชดใช้หนี้เล่าเรียนของรัฐบาลหมดสิ้นเมื่อไหร่ คุณหมอเหล่านี้จึงจะกลับมาทำงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกครั้ง แต่อยู่ในคราบของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนแทน
นี่คือตัวอย่างเพียงเสี้ยวเดียวที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลรัฐซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดของระบบการทำงาน เริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่างความรู้สึกไว้วางใจที่ผู้ใช้บริการควรได้รับ หน่วยงานยังให้ไม่ได้! จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
… คุณแม่เพิ่งคลอดหลายรายต้องนอนพักฟื้นอย่างไม่เป็นสุขเพราะคอยถ่างตาเฝ้าลูกน้อย กลัวมือดีจะฉกไป คนไข้หลายรายต้องหวาดผวาเพราะไม่แน่ใจว่าจะอยู่รอดถึงคิวการรักษาของตัวเองหรือไม่
และถึงแม้จะถึงมือแพทย์แล้ว ก็ยังไม่วายต้องเตรียมใจว่าคุณหมออาจไม่มีอารมณ์ตรวจคนไข้ซึ่งมีฐานะยากจน ทั้งยังต้องคอยลุ้นว่าตนจะกลายเป็นเหยื่อให้นักศึกษาแพทย์ซึ่งไม่มีวิญญาณของความเป็นแพทย์ได้ทดลองอีกหรือเปล่า
หนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นั่นก็คือการหันไปพึ่ง “โรงพยาบาลเอกชน”… แล้วผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะได้รับการบริการที่ดี และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่วางใจได้ เพียงแค่ “มีเงิน”
ส่วนคุณลุงคุณป้าคุณตาคุณยายทั้งหลายที่ทุนทรัพย์ไม่เอื้ออำนวย เป็นเพียงรากหญ้าของสังคมจึงจำต้องก้มหน้ารับชะตากรรม ดูแลตัวเองกันต่อไป ตราบใดที่ “ค่าของเงิน” ยังคงซื้อทุกอย่างในสังคมนี้ได้ แม้กระทั่ง “ชีวิต” ของเราเอง
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์