xs
xsm
sm
md
lg

“หมอลำถูทา” ศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตอย่างสงบในบ้านสวนเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายทองมาก จันทลือ หรือรู้จักดีในชื่อ “หมอลำถูทา” เสียชีวิตอย่างสงบจากอาการป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน ขณะนอกพักรักษาตัวที่บ้านสวนเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านแมดหมู่ 5 ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี -ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน หมอลำคนแรกของประเทศไทย “นายทองมาก จันทลือ” เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพัก ด้วยวัย 82 ปี บุตรสาวเผยบิดาสั่งก่อนตายให้จัดพิธีศพแบบเรียบง่าย และมอบศพให้โรงพยาบาลไปศึกษาหาความรู้

วันนี้ (17 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุบลราชธานี รายงานว่า นายทองมาก จันทลือ หรือรู้จักดีในชื่อ “หมอลำถูทา” เสียชีวิตอย่างสงบจากอาการป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน ขณะนอกพักรักษาตัวที่บ้านสวนเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านแมดหมู่ 5 ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อเวลา 03.20 น.และญาตินำศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านพักถึงวันอาทิตย์ที่ 20 มี.ค.ศกนี้ ก่อนมอบให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น นำไปศึกษาตามจุดประสงค์ของผู้เสียชีวิต

นางลำดวน ปูคะธรรม อายุ 57 ปี ลูกสาวคนที่สองจากบุตรทั้งหมด 5 คน ซึ่งอยู่ดูแลนายทองมากจนถึงวันสุดท้าย เล่าว่า เมื่อเย็นวันที่ 16 มี.ค.บิดาไม่ยอมทานข้าวเย็น เพราะมีอาการหายใจทางจมูกไม่สะดวก และขอตัวเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ กระทั่งดึก นางลำดวน ได้แวะเข้ามาดูบิดาที่นอนอยู่ในห้องพักกับ นางพัน ภรรยาคู่ชีวิต ก็พบว่าบิดาได้เสียชีวิตไปอย่างสงบแล้ว

สำหรับบิดาได้ล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตันตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ทำให้ร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรง ก่อนเสียชีวิตบิดาสั่งให้จัดการศพตามประเพณีแบบเรียบง่ายไม่สิ้นเปลือง หลังหมดพิธีทางศาสนาให้มอบศพแก่โรงพยาบาลรับไปดำเนินการทันที เพราะบิดาบอกอยากกลับบ้านเกิดไปเป็นครูใหญ่แก่นักศึกษาแพทย์

ประวัติของนายทองมาก จันทลือ เกิดเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2467 ที่จังหวัดขอนแก่น เริ่มเข้าสู่วงการหมอลำ เมื่ออายุ 14 ปี โดยบิดาพาไปสมัครเรียนหมอลำกับพระอาจารย์อ่อนที่วัดประดู่น้อย และได้เรียนรู้ทั้งด้านกลอนลำ และพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาอันเป็นพื้นฐานสำคัญของหมอลำนานถึง 2 ปี ก่อนไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากครูหมอลำอีกหลายท่าน จนแตกฉานด้านวิชาหมอลำ และได้ทำการแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2491

ด้วยความสามารถลำกลอน 7 กลอน 8 และกลอน 9 ได้อย่างสดๆ โดยไม่ติดขัด ในปี 2500 ได้เข้าประกวดหมอลำกลอนฝ่ายชาย และได้รางวัลชนะเลิศประกาศนียบัตรหมอลำชั้นพิเศษ 4 ดาว ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของหมอลำในสมัยนั้น ขณะเดียวกัน นายทองมาก ยังได้จัดรายการวิทยุ และเป็นโฆษกขายยาให้กับบริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จากการนำเอาศิลปะหมอลำเข้าไปประยุกต์ใช้ในการโฆษณา ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังเป็นผู้คิดคำใช้โฆษณาขายยาหม่อง คือ ถูทาทางวิทยุ จนต่อมากลายเป็นคำที่ประชาชนใช้เรียกนายทองมากแทนชื่อจริง คือ หมอลำถูทา

กระทั่งปี 2512 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุบลราชธานี โดยไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด และได้รับเลือกเข้าสภาพร้อมกับ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกจากชาว จ.ตรัง เข้าสภาเป็นครั้งแรกเช่นกัน กระทั่งปี 2514 ได้รวบรวมสมัครพรรคพวก ที่เป็นหมอลำตั้งสหพันธ์สมาคมหมอลำแห่งประเทศไทย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสหพันธ์เป็นคนแรก

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้นายทองมากเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหมอลำเป็นคนแรกของประเทศเมื่อปี พ.ศ.2529 โดยช่วงหลังนายทองมากไม่ได้รับงานแสดง แต่รับเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ตามสถาบันการศึกษา เพื่อนำศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสานไปเผยแพร่ ส่วนวันว่างจะดูแลสวนที่ทำแบบไร่นาสวนผสมอยู่ที่บ้านพัก จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น