xs
xsm
sm
md
lg

‘ผังประเทศ 2600’ จะยกประเทศให้ใคร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณรู้หรือไม่ว่าเรามีการวางผังประเทศล่วงหน้าถึง 50 ปี

วิสัยทัศน์เป็นของหายาก แต่จำเป็นต่อโลกยุคท่องอวกาศ การมองเห็นรูปร่างหน้าตาของประเทศไกลครึ่งศตวรรษ คือการลดความเสี่ยงที่อนาคตอาจหยิบยื่นให้เราอย่างไม่เต็มใจ

ทว่า ในบริบทแบบไทยๆ สิ่งที่เรียกว่าวิสัยทัศน์ 50 ปีอาจเสี่ยงพอกันหรือยิ่งกว่า...

9 กรกฎาคม 2545 มีมติคณะรัฐมนตรีให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำผังเมืองครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เป็นการวาดภาพประเทศไทยในปี พ.ศ.2600 ผังนี้เสร็จออกมาเป็นหนังสือ ‘ผังประเทศไทย พ.ศ.2600’ (มีใครรู้บ้าง?) และแตกย่อยไปอีกจำนวนไม่น้อยเล่ม ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน การพัฒนาเมือง การบริหารจัดการชายฝั่ง เศรษฐกิจและการจ้างงาน ฯลฯ

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่างานนี้เป็นเรื่องใหญ่! ใหญ่ระดับเปลี่ยนหน้าตาประเทศที่เราเคยรู้จัก และใหญ่เกินกว่าจะให้คนหยิบมือมากำหนดอนาคตของคนทั้งประเทศแบบเงียบเชียบ

การมีส่วนร่วม? ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็เป็นคำถามที่ภาครัฐตอบไม่ได้แล้ว ไม่นับรวมว่าการศึกษาที่เกิดขึ้นมีหลังพิงทางหลักวิชาการมากน้อยแค่ไหน และเหตุใดโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ-โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก การผันน้ำ-จึงถูกบรรจุไว้ในผังประเทศ 2600 เสมือนการประทับความชอบธรรมแก่โครงการเหล่านั้นทั้งที่ผังประเทศแทบไม่ผ่านการรับรู้ของสังคม

[1]

นับจากปี 2545 หลากโครงการดำเนินไปตามผังนี้ เหมือนจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ ที่จะประกอบเป็นภาพใหญ่ภายหลัง ยิ่งถ้ามัวสนใจตัวจิ๊กซอว์ ภาพทั้งภาพก็คงหล่นทับหัวก่อนจะรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะแม้แต่อภิโปรเจกต์ อย่าง โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาเทิร์นซีบอร์ด ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผังประเทศ 2600

ในการจัดทำผังประเทศ 2600 ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ว่าจ้าง 3 บริษัทที่ปรึกษาที่เป็นที่รู้จักกันดี เนื่องจากทั้ง 3 บริษัทนี้เรียกได้ว่าแทบจะผูกขาดการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระจากเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม คือคนหนึ่งที่ถูกว่าจ้างจาก 1 ใน 3 บริษัทให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำผัง แต่เธอทำอยู่ประมาณ 6 เดือน ก็ลาออกจากคณะทำงาน เพราะพบว่าขั้นตอนการศึกษาไม่เป็นอิสระ และถูกแทรกแซงจากหน่วยงานราชการ

“ระหว่างที่ทำ คณะกรรมการกำกับการศึกษาที่ต้องคอยตรวจรับงานเป็นช่วงๆ ก็จะเรียกเข้าไปรื้อโน่น สั่งนี่ ทำให้เราไม่มีอิสระทางวิชาการ ในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็จะถูกสกรีนโดยกรมโยธาฯ ว่า จะให้เชิญใครบ้าง ทั้งที่น่าจะเปิดกว้าง ทำให้ภาคประชาสังคมมีน้อยมาก

“สอง-สิ่งที่บริษัทที่ปรึกษา นักวิชาการศึกษามา แล้วจะนำเสนอกับชาวบ้านจะต้องนำไปให้เจ้าหน้าที่ของกรมโยธาฯ ตรวจดูก่อนว่าจะเสนออะไร ถ้าเขาไม่เห็นด้วยก็จะแก้ไม่ให้เสนอ เราจะเอาประเด็นไปให้ชาวบ้านร่วมคิด กรมโยธาฯ ไม่เอา แต่ต้องการให้มีทางเลือกหนึ่ง สอง สาม แล้วแบ่งให้ชาวบ้านเลือก”

เธอเป็นหนึ่งในนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งที่ลาออกจากงานนี้ เธอเห็นด้วยว่าการทำผังประเทศเป็นแนวคิดที่ดี เพราะจะเป็นการวางกรอบกว้างๆ และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต แต่จะต้องมีความอิสระทางวิชาการ มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างหลากหลาย และไม่ควรมีแรงกดดันจากใครทั้งสิ้นที่จะบอกว่า ต้องใส่โครงการนั้นนี้ลงไปในผัง

[2]

เมื่อดูในรายงานผังประเทศ 2600 จะพบว่า โครงการต่างๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ล้วนปรากฏอยู่ในรายงาน เช่น ในหน้า 5-78 ที่พูดถึงผังนโยบายอุตสาหกรรม ระบุว่าจะพัฒนากลุ่มจังหวัดชลบุรีและระยองสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานของภูมิภาคอาเซียน และพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในพื้นที่แนวแกนฉะเชิงเทรา-ปราจีนบุรี-สระแก้ว ซึ่งรู้กันดีว่าปัญหามาบตาพุดยังคาราคาซัง ขณะที่นิคมอมตะ 2 ก็ถูกผลักดันอย่างหนักในพื้นที่รอยต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา-ชลบุรี จนเกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ หรือการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน โรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมัน และอุตสาหกรรมเกษตร ในหน้า 5-8 ก็มีการระบุถึงท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ที่เพิ่งมีการค้นพบปูทหารพันธุ์ใหม่

ขณะนี้ ผังประเทศ 2600 จึงเสมือนตราประทับให้แก่ผู้ที่ต้องการดำเนินโครงการที่สามารถเข้าถึงผังนำไปใช้อ้างอิงได้ อย่างไรก็ตาม ผังประเทศ 2600 ก็ยังเป็นเพียงผลการศึกษา ไม่มีอำนาจทางกฎหมายใดๆ รองรับ แต่ก็ไม่รู้จะเป็นเช่นนี้อีกนานเพียงใด

เพราะกรมโยธาฯ กำลังผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ผังเมือง ซึ่งเนื้อหาบอกกลายๆ ว่า ให้นำผังประเทศ 2600 มาใช้ เช่น ในมาตรา 31 ระบุว่า เมื่อผังประเทศใช้บังคับ โครงการพัฒนาของรัฐด้านกายภาพ ต้องสอดคล้องกับผังประเทศ และการตั้งงบประมาณต้องสอดคล้องกับผังประเทศ เป็นต้น นั่นหมายถึงอนาคตเราจะมีคณะกรรมการที่สามารถชี้นิ้วได้ว่า พื้นที่ไหนจะเป็นอะไร

ความพยายามจากทีมข่าวที่จะสอบถามไปยัง อุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในหัวข้อคำถามว่า

-กระบวนการจัดทำผังประเทศ 2600 มีความโปร่งใส ไร้แรงกดดัน และมีการส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมากน้อยเพียงไร
-การกำหนดโครงการต่างๆ ลงไปในตัวผังประเทศ 2600 มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ในเชิงวิชาการ
-เหตุใดโครงการใหญ่ต่างๆ ที่มีการดำเนินการอยู่ขณะนี้จึงถูกบรรจุอยู่ในผังประเทศ 2600
-ร่าง พ.ร.บ.ผังเมือง ฉบับใหม่ ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เขียนขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินตามผังประเทศ 2600 มีข้อเท็จจริงอย่างไร

แต่ดูเหมือนว่าด้วยเงื่อนไขด้านเวลาและขั้นตอนอันสลับซับซ้อนของระบบราชการจะไม่อนุญาตให้เขาตอบคำถาม

[3]

คงไม่เป็นธรรม...หากจะบอกว่า ผังประเทศ 2600 มีแต่การพัฒนาอุตสาหกรรม เนื้อหารายงานได้พูดถึงผังนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดิน, ผังนโยบายพื้นที่เกษตรกรรม, ผังนโยบายการพัฒนาสังคม, ผังนโยบายการท่องเที่ยว เป็นต้น แต่ด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จากประสบการณ์การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา อย่าแปลกใจ หากประชาชนจะเกิดความไม่ไว้เนื้อใจว่ารัฐจะดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล มีหลักวิชาการ ให้ความสำคัญแก่ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม และปราศจากแรงกดดันจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ

เพราะเมื่อดูในผังประเทศจะพบความไม่สอดคล้อง เช่น ขณะที่ระบุว่าจะพัฒนาชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน แต่ก็จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน

ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาคการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตอย่างแหลมคมว่า ผังคือความต้องการเชิงพื้นที่อันเนื่องมาจากทิศทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผน

“ปัญหาคือแผนระยะ 50 ปีที่นำมาสู่ผังคืออะไร มีผังประเทศก็ต้องมีแผนประเทศก่อน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเขียนที่ 5 ปี แล้วทำไมผังเขียน 50 ปี แล้วช่วงที่เกินไปของแผนพัฒนาที่ไม่เหมือนฉบับนี้แล้ว แล้วผังเดิมจะใช้ได้หรือไม่”

เพราะการวางแผนพัฒนาประเทศที่ต่างกัน เช่น วางบนฐานอุตสาหกรรมกับฐานเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมแน่นอนว่าผังที่ออกมาจะต้องไม่เหมือนกัน

“ไม่ต้องไปดูผังเลย ถ้าผังนี้ผิดจากหลักการที่ว่าต้องมีแผนก่อน สิ่งที่อยู่ในผังประเทศ 2600 ก็ลอยทั้งหมด คนที่เป็นวิศวกรจราจรถามผมว่า ใครมาคำนวณผังนี้ให้ เพราะวิศวกรจราจรคำนวณอนาคตได้แค่ 30 ปี คือถ้าไม่มีแผน ไม่มีใครทำอะไรได้ คิดเอาเองเท่านั้น และจะตอบไม่ได้ด้วยว่าถูกหรือผิดเพราะไม่มีแบ็กอัป ตอนนี้ก็พัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งศักยภาพตรงนี้มันไม่ใช่ เราไม่ได้พัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ เพราะว่าการพัฒนามันดิ้นได้เสมอ มันมีทางเลือกในการพัฒนามากมายตามวิสัยทัศน์ แต่ตอนนี้ไม่มีวิสัยทัศน์ แต่ทำตามใจตัวเองว่าจะมีผัง 50 ปี แล้วแผนอยู่ไหน”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.พนิต ยังบอกว่า ปัญหาการพัฒนาประเทศส่วนหนึ่งคือความไม่ลงตัวระหว่างระบบการเมืองกับระบบราชการ

“หลักการของระบอบประชาธิปไตย ถ้าพูดถึงระดับภาคและประเทศ นักการเมืองหาเสียงที่นโยบาย เมื่อชนะการเลือกตั้งปุ๊บก็ต้องบอกสภาพัฒน์ ให้เขียนตามนโยบายที่เขาหาเสียงมา บอกสำนักงบฯ ว่าออกงบตามที่ผมหาเสียงมา ปัญหาของประเทศนี้คือ รัฐบาลอยู่ 4 ปี สภาพัฒน์ เขียนแผน 5 ปี มันไม่แมตช์กัน แถมรัฐบาลยังอยู่ไม่ถึงด้วย สมมติสภาพัฒน์ เพิ่งเขียนแผนเสร็จ รัฐบาลใช้ไปได้ 2 ปี ออก รัฐบาลชุดใหม่หาเสียงมาด้วยนโยบายใหม่ แก้แผนไม่ได้ เพราะต้องอยู่อีก 3 ปี ประเทศนี้ไม่รู้จะเอารัฐบาลหรือข้าราชการนำ ตอนนี้หน่วยงานของรัฐก็ทำตามใจตัวเอง ทำตามระบบข้าราชการ นักการเมืองก็ทำตามระบอบนักการเมือง มันจึงไม่แมตช์อะไรกันสักอย่าง”

คงพอเห็นวี่แววว่า ผังประเทศ 2600 จะเป็นชนวนความขัดแย้งใหญ่ระหว่างรัฐ ทุน และประชาชนในอนาคต เพราะการหมกเม็ดและปิดเงียบตลอด 8 ปี 5 รัฐบาล ยังเหมือนเดิมไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกี่ฉบับ จะมาจากการเลือกตั้งหรือรถถัง

....การปฏิรูปประเทศจึงป่วยการที่จะเอ่ยถึง

>>>>>>>>>>

เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมข่าว CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น