ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
การเดินหน้าผลักดันสร้าง 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในพื้นที่ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ด้วยการหว่านโปรยเงินนับสิบนับร้อยล้านบาทไปกับกลเกมสารพัด ทั้งแบบที่ฉายสปอตไลต์ให้สังคมได้รับรู้ และใช้ความพยายามคลี่ม่านมืดบังเอาไว้ ความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นถี่ยิบในวันนี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนของภาคใต้ไปแล้ว
ไม่เฉพาะคนในพื้นที่ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงเท่านั้น แต่คนแทบจะทั้งภาคใต้ รวมถึงคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยต่างก็รู้ว่า ที่ กฟผ.ดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมสำรองพลังงานไว้เพื่อรับการเกิดขึ้นของแหล่งอุตสาหกรรมขนาดมหึมาที่จะกระจายอยู่ทั่วภาคใต้ ซึ่งเป็นไปภายใต้กรอบโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลชายภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด (SSB) อันเป็นภาคต่อเนื่องจากอีสเทิร์นซีบอร์ด (ESB) ที่กำลังสร้างวิกฤตหนักหน่วงอยู่ที่ภาคตะวันออกในเวลานี้
ด้วยมุมมองการพัฒนาตามนโยบายรัฐที่ชักใยโดยกลุ่มทุนการเมืองสามานย์ ที่เน้นฮุบทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นไปสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่แล้ว จนลืมว่าชาวบ้านต้องการการพัฒนาที่พึ่งพิงฐานทรัพยากรเช่นกัน ต้องการให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่กำลังจะกลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่สูญเสียต้นทุนทุกๆ ด้านในการดำรงชีวิต ทั้งที่อยู่ ที่ทำกิน ชุมชน สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีมลพิษ แต่กลับถูกกลุ่มทุนนั้นตราหน้าจากสังคมภายนอกว่า เป็นผู้ขัดขวางความเจริญเสียด้วยซ้ำ
สำหรับกิจกรรม “รวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ.2554 ซึ่งประชาชนจากทุกภาคส่วนเรือนหมื่นออกมาร่วมมือร่วมใจกันที่ อ.ท่าศาลา มีการรณรงค์ด้วยขบวนแห่และติดธง “คนท่าศาลาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ทั่วเมือง รวมถึงการต่อมือถือแขนโอบล้อมไปรอบเมือง โดยเฉพาะที่ว่าการอำเภอท่าศาลาที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญ ปรากฏการณ์นี้ต้องถือเป็นการหลอมรวมพลังที่เป็นการแสดงออกอย่างเป็นเอกภาพว่า ผู้คนเขาคิดเห็นและมีคำตอบอย่างไรกับชุดการพัฒนาที่ถูกยัดเยียดมาให้ดังกล่าว
กลุ่มคนที่ไปร่วมกิจกรรมในครั้งนั้น นอกจากคนในพื้นที่แล้วก็มีมาสมทบจากทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เครือข่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจาก อ.หัวไทร เครือข่าย ม.วลัยลักษณ์เพื่อปวงชน ที่เป็นการรวมตัวกันของทั้งคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา โดยมีการออกมาแถลงการณ์ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา กลุ่มกรีนพีซ ที่แสดงจุดยืนให้รัฐพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อความยั่งยืนและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นต้น
“กิจกรรมรวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากคนใต้ในหลายๆ จังหวัด เนื่องจากต่างก็มองเห็นภาพการพัฒนาที่จะถาโถมเข้าใส่ชุมชนจนล่มสลาย หรือถูกทำให้แตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ซึ่งความเดือดร้อนไม่ได้เกิดเฉพาะจุดเท่านั้น แต่จะกระทบกับทุกคน เพราะหากโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถเกิดขึ้นได้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่ จ.นครศรีธรรมราชก็จะตามมา เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะขยับขยายไปจากภาคตะวันออก มันไม่ใช่ความต้องการของภาคประชาชนแต่อย่างใด ส่วน กฟผ.เองก็พยายามอ้างความต้องการใช้ไฟฟ้าด้วยตัวเลขที่เกินจริง”
เป็นการอธิบายภาพรวมของกิจกรรมที่รวมพลคนท่าศาลาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินของ นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว แกนนำเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา แก่นแกนของการจัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งต้องถือว่าภาพของกิจกรรมในครั้งนั้นประสบผลสำเร็จเกินเป้าหมายที่วางไว้อย่างเป็นที่ประจักษ์
“อีกทั้งการแสดงออกของชาวนครศรีธรรมราชและชาวใต้ในครั้งนี้ ต้องนับว่าเป็นไปในรูปแบบเดียวกับที่นานาประเทศทั่วโลกต่างลุกฮือขึ้นต่อต้านในเรื่องนี้มาแล้วอย่างต่อเนื่องแล้วนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อยุติปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา ทั้งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเยียวยาแก้ไขอย่างไม่จบสิ้น” นายทรงวุฒิกล่าวและเพิ่มเติมว่า
การผลักดันสร้าง 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของแนวคิดการพัฒนาของภาครัฐ และถ้าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้แล้วก็จะต้องมีชุดโครงการอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนกั้นน้ำที่กระจายตัวทั่วภาคใต้เพื่อป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ส่วนอีกในหลายๆ จังหวัดก็จะต้องถูกชุดโครงการพัฒนาในลักษณะเดียวกันรุกราน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานต่างๆ คลังน้ำมัน รวมถึงท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น
ขณะเดียวกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ได้ร่วมตรวจสอบโครงการพัฒนาในภาคใต้ที่ไม่ชอบมาพากลตามการร้องเรียนของประชาชนตั้งแต่ต้น ทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ในครั้งนี้เขาก็ได้เข้าร่วมเวทีและติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดด้วย
พร้อมกันนั้น นพ.นิรันดร์ยังได้ประกาศให้ทุกคนทราบถึงเรื่องของสิทธิชุมชน ในการจะร่วมกันกำหนดอนาคตของตัวเองได้ด้วย ทุกชุมชนสามารถปกป้องตัวเองได้ หากทราบว่าจะมีกลุ่มทุนเข้าไปกอบโกยทรัพยากรในท้องถิ่นและทิ้งปัญหามากมายไว้ให้กับชุมชน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสียงของประชาชนทุกหมู่เหล่าในครั้งนี้จะดังกึกก้องเพียงใด แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาพบว่า กระบวนการทำลายความเข้มแข็งของประชาชนนั้นถูกแทรกซึมเข้าไปทำลายได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะรูปแบบของการใช้สิ่งของล่อใจ การให้เงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ในชุมชน หรือหากยังไม่สามารถซื้อใจได้ก็จะลงลึกถึงการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะการซื้อตัวผู้นำในระดับท้องถิ่นนั่นเอง
ดังนั้น ในเวทีรวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้จึงมีการร่วมลงนามในสัญญาประชาชนระหว่างผู้นำท้องถิ่น ทั้งในระดับ อบจ. อบต. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน เพื่อการันตีว่าผู้นำท้องถิ่นเลือกที่จะฟังเสียงและยืนอยู่ข้างประชาชน แม้จะมีเสียงเตือนถึงความรุนแรงของขบวนการทำลายชุมชนว่า หากไม่สามารถซื้อผู้นำท้องถิ่นได้แล้ว คงต้องใช้วิธียึดสนามการเลือกตั้งในอนาคต โดยสนับสนุนผู้สมัครที่เป็นคนของตนเองให้กุมคะแนนเสียงข้างมากให้ได้
ทว่า ยังมีบทเรียนหนึ่งที่แม้แต่นักการเมืองระดับประเทศผู้ที่เคยมีตำแหน่งเป็นถึง “นายกรัฐมนตรี” หากอยู่ด้วยความไม่ชอบธรรมแล้ว ท้ายที่สุดพลังประชาชนนั่นเองที่จะเป็นผู้ตัดสินอนาคตพวกเขา ดังที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาแล้วจากการชุมนุมอย่างสันติ อหิงสา ของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ 193 วัน ซึ่งสามารถขับไล่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยให้พ้นไปได้ถึง 3 คน โดยมีกำลังสำคัญที่หนุนช่วยไปจากคนทั่วภาคใต้นั่นเอง
ดังนั้น การที่ชาวนครศรีธรรมราช รวมทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงจากทั่วภาคใต้ ซึ่งได้ร่วมกันประกาศจุดยืนไม่ต้องการให้สร้าง 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินในแผ่นดินด้ามขวานทอง ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทยควรต้องจ้องมองแบบชนิดอย่ากระพริบตากันเลยทีเดียว ?!?!