xs
xsm
sm
md
lg

สว.สรรหา ความแตกต่างที่คล้ายกันยังกับแกะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หมดอายุไปหมาดๆ สำหรับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แบบสรรหาชุดแรก จำนวน 74 คนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเพิ่งครบกำหนดการดำรงวาระ 3 ปี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 นี้เอง

งานนี้ทำเอาหลายคนต่างจับตามองกันใหญ่ว่า สงสัยคงจะเกิดศึกการแย่งชิงตำแหน่งกันอย่างอุตลุด เพื่อเป็นสมาชิกสภาสูงชุดใหม่แน่ๆ เห็นได้จากการที่มีอดีตบรรดาผู้ทรงเกียรติมากถึง 67 คนต่างพากันตบเท้าลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เพื่อเข้ารับการสรรหาใหม่ จนตอนนี้เหลือ ส.ว.แบบสรรหาเดิมนั่งทำงานอยู่กับ ส.ว.แบบเลือกตั้งเพียง 7 คนเท่านั้น คือนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ, ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต, นายวรินทร์ เทียมจรัส, นางอุไร คุณานันทกุล, พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ และร.ท.ภูมิศักดิ์ หงษ์หยก

ทำเอาผู้คนรอบข้างเกิดความสงสัยเป็นการใหญ่ว่า เก้าอี้สมาชิกวุฒิสภาคงจะต้องนุ่มน่านั่งแน่ๆ เลย เพราะถ้าไปดูบทบาทหน้าที่หลักๆ ของตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญก็แค่การกลั่นกรองกฎหมายอีกชั้น ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคัดเลือกบุคคลเพื่อไปเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ

แต่ปัญหาที่น่าสงสัยยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเชื่อเถอะว่า ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็คงจะยังไม่ทราบว่า สรุปแล้ว ส.ว.ประเภทนี้นั้นมีกันไว้เพื่ออะไรกันแน่ และแตกต่างกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง และที่สำคัญพวกเขาเหล่านี้มีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองสักแค่ไหน

เพราะฉะนั้นเนื่องในโอกาสที่คนไทยต้องลาจาก ส.ว.สรรหาชุดแรกอย่างเป็นทางการ ก็เลยขอกลับมาย้อนดูบทบาทและศักดิ์ศรีของท่านผู้ทรงเกียรติทั้ง 74 ชีวิตนั้นน่าประทับใจชาวประชาสักแค่ไหนกันเชียว

(1)

ก่อนจะไปสู่ประเด็นอื่นๆ คงต้องขอกลับมาดูถึงวัตถุประสงค์ของการมี ส.ว.ประเภทนี้เสียก่อน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องยอมรับว่า ก่อนที่จะได้สมาชิกวุฒิชุดนี้มา ประเทศไทยเคยมีการเลือกตั้ง ส.ว.จำนวน 200 คน มาแล้วถึง 2 ครั้ง

แต่ด้วยกลเม็ดและฐานคะแนนเสียงที่เน้นเลือกตั้งของนักเลือกตั้ง ทำให้คนที่ต้องรับเลือกตั้งส่วนใหญ่หนีไม่พ้นบรรดาพ่อ แม่ ลูก พี่น้องของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง จนหลายคนขนานนามระบบ 2 สภาของไทยว่า 'สภาผัวเมีย' 'สภาพ่อลูก' 'สภาพี่น้อง' ฯลฯ

ประกอบที่ผ่านมา ตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ค่อนข้างน้อย ตัวอย่างเช่นกลุ่มคนพิการ ซึ่งหลังจากที่นายณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ อดีตสมาชิกวุฒิสภาแบบแต่งตั้งหมดวาระลงเมื่อปี 2543 ก็ไม่เคยมีตัวแทนคนพิการเข้ามาทำหน้าที่อีกเลย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นหลังจากที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมีระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ให้แบ่งตามกลุ่มอาชีพ 5 ประเภทคือ ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆ (เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯ) โดยเปิดโอกาสให้องค์กร สมาคม กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ส่งตัวแทนเข้ามาเพื่อรับการคัดเลือกแบบ โดยมี 7 ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรอิสระต่างๆ เป็นผู้กลั่นกรองรอบสุดท้าย

แต่ทว่าในมุมมองของ รศ.ตระกูล มีชัย จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมอง การสรรหาในครั้งนั้นยังขาดความหลากหลายในด้านวิชาชีพอยู่

“มองในภาพรวมแล้วมันยังขาดความหลากหลาย ซึ่งสิ่งที่ขาดมากที่สุดคือชุดที่มาจากตัวแทนของภาคประชาสังคมน้อยมาก กับตัวแทนของกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพจริงๆ โดยหลักการแล้วน่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพ ตัวแทนของความหลากหลายของกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่อำนาจรัฐในระบบสภาได้ และยังไม่ได้ความหลากหลายของการกระจายด้านพื้นที่ มันเกิดลักษณะของการกระจุกของกลุ่มคน กระจุกในเชิงของพื้นที่ส่วนกลาง”

ตรงนี้ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากความไม่หลากหลายของตัวกรรมการสรรหาเองที่อุดมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายเป็นหลัก ส่งผลให้มุมมองบางอย่างไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร โดยเฉพาะการพิจารณาบุคคล ซึ่งการสรรหาที่ผ่านมาถึงเป็นจุดสะท้อนได้ดีว่า คนที่ได้ส่วนใหญ่ก็มักจะกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มก้อนความคิดที่จำกัดของชนชั้นกลาง ซึ่งถือว่าไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ

“กลุ่มคนของภาคประชาสังคมทางด้านคณะกรรการสรรหาอาจยังให้ความสำคัญน้อยไปหน่อย กลายเป็นการกระจุกตัวของชนชั้นกลางระดับสูง และอยู่ในพื้นที่ของศูนย์กลางอำนาจรัฐมากเกินไป ส.ว.สรรหา ควรจะกระจายในสัดส่วนที่เสมอภาคกัน ทั้งกลุ่มอาชีพ พื้นที่ให้ครอบคลุมไม่เอาแต่เพียงพื้นที่ส่วนกลาง”

แต่ในทางหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงว่า ก็มีหลายคนจากหลายภาคส่วนหลุดรอดมาได้ เช่น มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งป็นอดีต ส.ว.ไปแล้วก็ได้เข้าไปในฐานะตัวแทนคนพิการ

“อย่างผมมาจากตัวแทนคนพิการ ตัวผมเองก็เป็นคนพิการ และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรคนพิการทั่วประเทศ มันหนีไม่พ้นนะ มันมีความชัดเจนของมันเอง แต่ แต่กลุ่มความหลากหลายอื่น ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน”

(2)

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วสุดท้ายบทบาทของ ส.ว.สรรหาจะออกมาตรงใจกับที่รัฐธรรมนูญอุตส่าห์ระบุเอาไว้หรือไม่ ความหลากหลายก็ยังเป็นปัญหาอยู่

“หลายท่าน ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ท่านสามารถใช้ความเป็นผู้แทนของท่านได้เต็มที่หรือเปล่า ตรงนี้ก็อาจจะมองไม่ชัด แต่ผมก็เห็นความพยายามนะ อย่างเช่นสายที่พยายามผลักดันกองทุนเกษตรกร สภาเกษตรกร” อดีต ส.ว.มณเฑียรกล่าว

แต่เรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า กลุ่มที่เข้ามานั้นเป็นตัวแทนที่แท้จริงของกลุ่มผลประโยชน์อันหลากหลายในสังคมจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งสำหรับตัวเขาเองที่เข้ามาในฐานะตัวแทนกลุ่มก็ถือว่าสามารถทำอะไรได้มากเช่นกัน

“เรื่องคนพิการ ผมก็ได้รับความร่วมมือค่อนข้างดีในการลงคะแนน หลายครั้งที่ผมสามารถคว่ำมติกรรมาธิการได้ในสนามใหญ่ ทั้งๆ ที่ในกรรมาธิการไม่เอาด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเหตุผลยังสามารถที่จะดึงเสียงได้ ตรงนี้ก็เป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า ถ้าเรามีคนที่เป็นปากเป็นเสียงอย่างจริงจังอยู่ในสภา ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ผมแก้กฎหมายที่มีผลกระทบต่อคนพิการทั้งทางตรงทางอ้อมได้หลายฉบับมากพอสมควรก็เพราะวิธีการนี้”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เล่ามานั้นก็เพียงการทำงานของแต่ละบุคคลเท่านั้น เพราะสิ่งที่ประชาชนคาดหวังมากที่สุดก็คือความแตกต่างในการปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.ทั้ง 2 แบบ

แต่ภาพที่ออกมากลับเป็นการแย่งตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งประธานวุฒิสภาซึ่งคาราคาซังจนถึงทุกวันนี้ การแย่งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ การล็อบบี้เพื่อลงมติ การซื้อตัว รวมไปถึงการงัดข้อระหว่าง ส.ว. 2 แบบที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้ รศ.ตระกูลก็ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการคัดเลือกไม่ได้ทำให้ได้บุคคลที่แตกต่างกันเท่าใดนัก พูดง่ายๆ ก็คือ ส.ว.สรรหาอาจจะทำงานได้ตรงจุดมากกว่าเพราะมาจากสายวิชาชีพโดยตรง แต่ในเรื่องพฤติกรรมก็เหมือนกันอยู่ดี

ขณะที่อดีต ส.ว.ตัวแทนคนพิการชี้ว่า เรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติและเป็นอย่างนี้ทุกองค์กรอยู่แล้ว

“ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องหนักหนาอะไร เพียงแต่การแสดงออก บางครั้งอาจจะดุเดือดเกินความจำเป็น ก็หลายท่านก็มองกัน แต่ผมเฉยๆ ผมมาจากองค์กรภาคประชาชนก็มีการแข่งขันกัน”

อย่างไรก็ตาม ถึงพวกเขาจะชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นจุดด้อยของ ส.ว.สรรหา แต่ทั้งหมดก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหานั้นควรจะมีอยู่ระบบต่อไป แต่อาจจะต้องพิจารณาให้ถึงความหลากหลายมากขึ้น

“ส.ว.สรรหา จะช่วยอุดช่องว่างของการเลือกตั้งส.ว. เพระเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่หลากหลาย เช่น ตัวแทนของชาวนา ตัวแทนของกร หรือตัวแทนของกลุ่มรักร่วมเพศ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เขามาต่อสู้เพื่อกลุ่มของเขา แต่มุมมองที่หลากหลายของกลุ่มที่หลากหลายทั้งด้านกลุ่มอาชีพ และชนชั้น หรือพื้นที่ มันจะให้มุมมองของ ส.ว.ในการกลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบหน้าที่ของรัฐบาล มีความหลากหลายมากขึ้น และระบบการล๊อบบี้ในการกระจุกตัวของเสียงก็เกิดขึ้นได้ยาก” รศ.ตระกูลกล่าว

(3)

แม้หลายคนจะมองเห็นความสำคัญของการมี ส.ว.ระบบนี้ แต่ความเป็นจริงในกลุ่มของตัวแทนวิชาชีพเองกลับรู้สึกว่าที่ผ่านมา ส.ว.เหล่านี้แทบจะไม่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงของกลุ่มวิชาชีพอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะในสายเกษตรกร ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้รับคัดเลือกเข้าไปถึง 3 คน โดยประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินชี้ว่า ส.ว.สรรหาแทบไม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการปฏิรูปที่ดินให้ดีขึ้นแม้แต่น้อย และถึงจะไม่มีระบบนี้ไปเลยก็ไม่น่าจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ

“ปัญหาของการปฏิรูปที่ดินเรื่องใหญ่ๆ เลย คือเรื่องการกระจุกตัวของที่ดิน ที่ดินมักกระจุกตัวอยู่ในมือของคนร่ำรวย ขณะที่ ส.ว.สรรหาเองก็มีคนเป็นเจ้าที่ดินอยู่พอสมควร บางทีมากกว่าผู้แทนอีก เพราะฉะนั้นถึงจะได้เข้าไปใหม่อีกชุดก็ไม่น่าจะมีประโยชน์ในการผลักดันปัญหาของประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนและด้อยโอกาสได้”

และถึงเขาจะมองว่า ที่ผ่านมา ส.ว.แบบนี้หลายๆ คนก็มีบทบาทค่อนสูง โดยเฉพาะ ส.ว.ที่ทำงานภาคประชาชนมาก่อน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ส.ว.กลุ่มนี้มีจำนวนเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เคยเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ดีว่าระบบเล่นพรรคเล่นพวกอย่างรุนแรงอยู่ในสังคมไทย แถม ส.ว.สรรหาเองก็ไม่ได้มีความยึดโยงกับพื้นที่ เพราะฉะนั้นความผูกพันหรือการต่อสู้เพื่อประชาชนจริงๆ จึงยังมีไม่มากเท่าที่ควร

“ผมคิดว่าควรจะต้องกลับมาในกระบวนการเลือกตั้ง แต่ว่าบทเรียนในอดีตเมื่อเทียบกับ ส.ว.ชุดที่มีการเลือกตั้งมา ก็ยังมีส.ว.ที่เป็นภาคประชาชนอยู่จำนวนมากเลยทีเดียว อย่างชุดที่มีเตือนใจ ดีเทศน์ (ชุดเลือกตั้ง 2543) หลายคนก็เข้าไปมีปากเสียงให้แก่ประชาชนได้ แล้วก็เชื่อมโยงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ก็ยังมีสายสัมพันธ์หรือมีสิ่งที่พอจะไปเรียกร้องกับส.ว.พวกนี้ได้”
.........

เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่เมืองไทยมีได้มีโอกาสทดลองการมี ส.ว. 2 ระบบ เชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า ผลงานที่เกิดขึ้นนั้นผ่านหรือไม่ผ่านตามเกณฑ์เงินเดือนร่วมแสนบาทที่ประชาชนต้องจ่ายไป

แต่ความจริงอีกข้อที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การปรับเปลี่ยนระบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น บทบาทการคัดเลือก ส.ว.แบบสรรหาชุดใหม่ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะพวกเขานั่นแหละที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนของเราในอนาคต และสุดท้ายจะได้มานั่งเซ็งภายหลังเวลาที่ได้คนไม่ถูกใจ (อีกแล้ว) เข้ามาทำงาน
>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ธนารักษ์ คุณทน




กำลังโหลดความคิดเห็น