เพิ่งผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ’54 มาหมาดๆ ตอนนี้เชื่อว่า หลายคนก็คงจะโฟกัสไปที่บรรดาพรรคการเมืองใหญ่ ว่าตกลงจะเอายังไงกับอนาคตของตัวเองกันแน่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยที่กำลังสาละวนฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือพรรคประชาธิปัตย์ก็คงกำลังง่วนอยู่กับการหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ หลังนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำพรรคแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบ
เช่นเดียวกับพรรคขนาดกลางทั้งหลาย อย่างชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ภูมิใจไทย และพลังชล ว่าจะสามารถสอดแทรกตัวเองให้เข้าไปอยู่ในเก้าอี้ดนตรีที่เรียกว่า 'คณะรัฐมนตรี' ได้อย่างไร
แต่ก็ใช่ว่า เรื่องของการเมืองนั้นจะมีแค่ 'บิ๊กเนม' เพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากคนเด่นพรรคดังแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีพรรคการเมืองถึง 3 พรรคที่ได้ ส.ส.เพียง 1 คน คือ ‘รักษ์สันติ’ ‘มหาชน’ และ ‘ประชาธิปไตยใหม่’ ติดโผเกาะกลุ่มเข้านั่งทำหน้าที่กับเขาด้วย โดยจุดสังเกตอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือพรรคการเมืองเหล่านี้ต่างก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในระบบเขตเลยแม้แต่ที่เดียว แต่กลับได้คะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อนับแสนเสียงอย่างเหลือเชื่อ
เพราะฉะนั้น งานนี้จึงขอหยิบเอาปรากฏการณ์นี้ขึ้นมาวิเคราะห์ให้เห็นไปเลยว่า เหตุใดพรรคการเมืองจิ๋วๆ ที่แทบจะไม่มีคนรู้จักถึงได้สร้างปาฏิหาริย์ผุดขึ้นมาเล่นในสนามใหญ่ได้เช่นนี้
เข้ามาได้เพราะ 'กฎหมาย' เอื้ออำนวย
หากสังเกตกันดีๆ นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา พรรคการเมืองไทยที่คนรู้จัก เริ่มมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ในสภาผู้แทนราษฎรมักจะมีพรรคโน้นพรรคนี้อยู่ในสภาฯ เต็มไปหมด
ยิ่งพรรคเล็กๆ ที่มี ส.ส.เพียง 1 คนด้วยแล้ว ก็ถือเป็นองค์ประกอบที่เห็นได้บ่อยครั้ง อย่างสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2544 ก็มีพรรค 1 เสียงมากถึง 5 พรรค คือ กิจสังคม ถิ่นไทย ราษฎร ความหวังใหม่ และมวลชน (2 พรรคหลังเกิดขึ้นหลังการควบรวมพรรคความหวังใหม่กับไทยรักไทย) หรือสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2539 ก็มีพรรคแบบนี้อยู่ถึง 2 พรรคคือ พลังธรรม และ ไท เช่นเดียวกัน
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือระบบพรรคการเมืองแบบ 2 ขั้วที่แข็งแรงขึ้น หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมามีอำนาจเมื่อปี 2544 เห็นได้จากการควบรวมพรรคต่างๆ เข้ามาไว้ที่พรรคใหญ่ ส่งผลให้เมืองไทยมีพรรคการเมือง (ที่คนรู้จัก) น้อยลง ขณะเดียวกัน วิธีการเลือกตั้งของประชาชนก็มีความเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เลือกคนเป็นหลัก ก็หันมาเลือกพรรคเป็นหลักแทน เพราะฉะนั้นแนวคิดของผู้สมัครที่ว่าฐานเสียงดีสักอย่าง จะอยู่พรรคอะไรก็ได้ จึงหายไปจากสมองของบรรดานักเลือกตั้งหลายๆ คน
แต่การที่สภาฯ ไทยมีพรรคการเมืองเหล่านี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป เพราะพวกเขาไม่ได้คะแนนจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเหมือนกัน แต่ได้คะแนนรวมจากทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ชี้ว่า เป็นผลพวงจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เนื่องจากมีการกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งระบบรายชื่อเสียใหม่ จากเดิมที่ให้เลือกเป็นกลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 10 คน ก็กลายมาเป็นแบบบัญชีรายชื่อเดียว เลือกทั้งประเทศ แถมยังไม่ได้มีกำหนดอัตราขั้นต่ำเอาไว้จะต้องได้กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นช่องทางที่พรรคการเมืองเล็กๆ เหล่านี้จะเล็ดลอดเข้ามานั่งในสภาฯ ได้ไม่ยาก
“กฎหมายมันเปลี่ยน ถ้าเป็นแบบเก่าเขาไม่สิทธิสู้ได้เลย แต่ตอนนี้มารวมทั้งคะแนน ก็เลยมีหวัง เอาง่ายๆ ถ้าลองเราคำนวณคะแนนขั้นต่ำของการได้ ส.ส. น่าจะอยู่ที่ 200,000-250,000 คะแนน ซึ่งเศษปัดที่เหลืออยู่นั้น ก็มีส่วนสำคัญ ทำให้พรรคโนเนมบางพรรค ที่มีเศษคะแนนเหลือเยอะสามารถคว้าที่นั่งในสภาฯ ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้คาดหวังเอาไว้ด้วยซ้ำ
“แต่ก็ต้องยอมรับมีบางพรรคที่คาดหวังเอาไว้ว่า ตัวเองก็มีสิทธิที่จะได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงวางยุทธศาสตร์การหาเสียงเอาไว้ ซึ่งเห็นได้ชัดมาก โดยเฉพาะกรณีของพรรครักประเทศไทย ของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งพยายามหาจุดเด่น และหาเสียงไปตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสุดท้ายก็เขาก็ได้คะแนนตรงนั้นมา”
เปิด 'กลยุทธ์' พรรคขนาดจิ๋ว
อย่างไรก็ตาม การที่จะได้คะแนนให้เพียงพอที่จะปัดเศษได้ เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายๆ เลย เพราะขนาดผู้นำพรรคเป็นบุคคลที่ผู้คนรู้จัก อย่างพรรคกิจสังคมของ สุวิทย์ คุณกิตติ หรือพรรคพลังคนกีฬา ของ 'บิ๊กหอย' วนัสธนา สัจจกุล ที่ได้ไปเพียง 30,000-50,000 คะแนนเท่านั้นเอง แต่พรรคที่คนไม่รู้จักอย่างมหาชนกับประชาธิปไตยใหม่กลับได้คะแนนมากกว่า 100,000 เสียง ซึ่งในจุดนี้ รศ.ตระกูล ก็วิเคราะห์ให้ฟังว่า เหตุผลหลักๆ น่าจะมาจากยุทธศาสตร์ในการหาเสียงมากกว่า
อย่างกรณีของ 2 พรรคที่ไม่ได้ เหตุผลน่าจะมาจากการเน้นหาเสียงแบบภาพรวมทั้งประเทศ ไม่ได้เจาะจงลงไปที่ใดที่หนึ่ง แน่นอนแม้คนทั่วประเทศจะรู้จักสุวิทย์หรือบิ๊กหอยว่าเป็นใคร แต่สุดท้ายฐานคะแนนตรงนี้ก็จะไปทับกับพรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงอื่นๆ อยู่ดี เช่น นโยบายด้านกีฬา ก็ไปทับกับพรรคชาติไทยพัฒนาและชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ซึ่งเวลาคนตัดสินใจก็จะเอนเอียงไปทางฝั่งพรรคใหญ่มากกว่า ซึ่งแตกต่างกับพรรคเล็กๆ อย่างมหาชนหรือประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งอาจจะมีฐานคะแนนย่อยๆ ที่ทุกคนมองข้ามไปก็ได้ เช่น ฐานท้องถิ่นหรือฐานอาชีพ
“กิจสังคมถือเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเลย เพราะเขาพยายามหาเสียงในระดับเดียวกับพรรคอื่นๆ ซึ่งถามว่าแฟนพันธุ์แท้มีไหม ก็ต้องตอบว่าในอดีตนั้นมี แต่ตอนหลังก็โยกไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว เช่นเดียวกับความหวังใหม่ที่เน้นหาเสียงในกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งก็เป็นระดับเดียวกับพรรคอื่นๆ นั่นเอง สุดท้ายก็เลยไม่ติด ขณะที่ผมเชื่อ 2 พรรคที่ได้ น่าจะมีฐานเฉพาะกลุ่มของเขา มันก็เลยทำให้กลับมาได้”
แต่ทว่าในมุมของ สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ กลับให้ความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยเขาเชื่อว่าสาเหตุที่ได้รับเลือกนั้นเป็นนโยบายเป็นหลักโดยเฉพาะเรื่องรัฐสวัสดิการ
“ผมเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับพรรคนะ ผมไม่ได้เป็นผู้นำ ความคิดต่างๆ เป็นของประชาชน ความคิดที่ผมพูดมาคือความคิดที่ชาวบ้านเขารู้อยู่แล้ว แต่ว่าไม่สามารถใช้เป็นนโยบายลงไปในภาคปฏิบัติได้ เขาไม่มีอำนาจในภาครัฐบาล เพราะฉะนั้นการประชาสัมพันธ์ไม่ได้ยากเลย หลังที่พรรคเข้ารูปเข้าร่างแล้ว ผมก็เดินหน้านำนโยบาย สิ่งที่ทำให้เราได้รับคะแนนเป็นหลักแสนเพราะนโยบายพรรค ไม่ใช่ตัวบุคคล”
ด้วยเหตุนี้เอง สุรทินจึงมั่นใจว่า จะทำให้พรรคสามารถขยายฐานเสียงออกไปได้กว้าง โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มรากหญ้า ครูบาอาจารย์ และพระสงฆ์และกลุ่มผู้นำศาสนา ซึ่งน่าจะตอบรับนโยบายเหล่านี้ได้ไม่ยาก
เช่นเดียวกับ อภิรัต ศิรินาวิน หัวหน้าพรรคมหาชนซึ่งก็กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า เรื่องนโยบายถือเป็นปัจจัยของความสำเร็จ ยิ่งมาบวกกับกลยุทธ์ปากต่อปาก ก็สามารถสร้างคะแนนนิยมได้ไม่ยาก
“เนื่องจากเราเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ เราก็ไม่ได้มีหัวคะแนนหรือต้นทุนทางการเมืองอะไรมากมาย เราจึงใช้วิธีหาเสียงด้วยการบอกต่อ กระจายไปในหมู่คนที่รู้จัก คนที่ช่วยเหลือกันได้ ทั้งคนรู้จัก คนในพรรคเอง และคนที่เคยช่วยงานพรรคมหาชน อีกอย่างคือเราไม่ได้ส่ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ส่งเฉพาะแบบปาร์ตี้ลิสต์ เพราะฉะนั้นแนวทางหาเสียงก็ง่ายมากขึ้น เพราะว่าเราหาเสียงกับคนได้ทั้งประเทศ
“ขณะเดียวกันก็บอกกับประชาชนได้ว่า เราขอแบ่งเสียงหน่อย คือถ้าจำเป็นจะต้องเลือกส.ส.แบบแบ่งเขตเป็นใครก็ตามที่ถูกใจ เราขอส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ได้ไหม ในส่วนของนโยบายนั้น เราเน้นความเป็นคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ขัดแย้งอะไรกับใคร พยายามนำเสนอสิ่งใหม่ เราเชื่อว่าส่วนหนึ่งของประชาชนในสังคมคงเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งแล้ว”
บทบาท '1 เสียง' ในสภาฯ
ถึงตรงนี้ก็เชื่อว่า คำถามประเภทที่ว่าเข้าไปได้ยังไงก็คงจะหายข้องใจกันไปบ้างแล้ว คราวนี้เรื่องที่ต้องคิดต่อไป เห็นจะไม่พ้นว่าเมื่อเข้าไปแล้ว คุณจะทำยังไงต่อไป เพราะต้องยอมรับว่าเสียง 1 เสียงนั้นแทบจะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรในสภาฯ เลย และที่ผ่านมา อดีตคนดังหลายๆ คนที่เคยอยู่ในสภาฯ แบบพรรคเดียวคนเดียว ก็แทบไม่ได้แสดงบทบาทอะไรให้เห็นเลย ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สมัยเป็นหัวหน้าพรรคมวลชน หรือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมัยสังกัดพรรคพลังธรรม จนถึงขั้นบางทีประชาชนก็ลืมไปด้วยซ้ำว่า พวกเขาเป็น ส.ส.อยู่ ซึ่งเรื่องนี้สุรทิน ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องลำบากอยู่เหมือนกัน เพราะโอกาสที่จะผลักดันนโยบายของพรรคให้เกิดขึ้นได้นั้น 1 เสียงคงเป็นไปได้ยาก
ดังนั้น รศ.ตระกูล จึงกล่าวต่อไปว่า จริงๆ เรื่องนี้มีทางออกอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่ว่า บุคคลผู้นั้นจะใช้สิทธิของการเป็นสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎรมากน้อยแค่ไหน
“จริงๆ การที่เข้ามาคนเดียว โอกาสแสดงบทบาทมีมากกว่าเข้ามาหลายคน เพราะพวกนี้จะเหมือน ส.ส.อิสระ สามารถเล่นบทบาทได้มาก เนื่องจากไม่อิงทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ค้านอย่างอิสระ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แล้วเวลาเปิดอภิปรายรัฐบาล เขาสามารถใช้สิทธิการเป็นตัวแทนของพรรคอภิปรายได้ทันที พูดง่ายๆ คือถ้ารู้จักเล่นการเมืองในสภาฯ ก็จะสามารถสะท้อนปัญหากลุ่มเข้าได้ แล้วต่อไปถ้าพรรคกลุ่มเล็กๆ แบบนี้เกาะกลุ่มกันได้ ก็จะเกิดเป็นพันธมิตรในสภาฯ แล้วก็ยิ่งสร้างบทบาทในสภาฯ ได้มากขึ้น
“แต่เดิมที่มันเกิดปัญหา เนื่องจากส่วนใหญ่คนพวกนี้หลงตัวเอง เคยใหญ่ เคยดัง นำเขามาตลอด พออยู่คนเดียวก็เลยโดดเดี่ยว เพราะเขาก็จะพยายามทำตัวใหญ่วางท่าเหนือคนอื่นตลอด แล้วนักการเมืองมันไม่ยอมกันหรอก เพราะถือว่าเป็น ส.ส.เหมือนกัน แต่ถ้าคุณทำตัวเสมอเขา ร่วมมือกับเขา สุดท้ายก็ทำงานร่วมกันได้ แน่นอนว่าตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีและบุคลิกของคนด้วย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานพรรครักษ์สันติ หากอยากทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ก็ต้องขจัดคราบความเป็นนักวิชาการ หรือคราบอดีตรัฐมนตรี เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็จะทำให้การทำงานลำบาก”
สอดคล้องกับผู้ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนอย่าง ชิงชัย มงคลธรรม หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ที่บอกว่า คุณภาพนั้นมีความสำคัญกว่าจำนวน และการเป็น ส.ส.คนเดียวของพรรคก็ยิ่งมีอิสระมากกว่าอยู่หลายคน
โดยเขาชี้ให้เห็นว่า ระบบพรรคการเมืองไทยในปัจจุบันมักจะบีบสมาชิกด้วยมติพรรค ส่งผลให้บางครั้ง ส.ส.ก็มักจะมีอิสระในการตัดสินใจทั้งๆ ที่บางคนก็รู้ตัวอยู่แล้วว่า หากทำเช่นนั้นจะนำไปสู่ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
“ผมมองว่า ภารกิจของนักการเมืองในสภาฯ จะต้องมีการปฏิวัติแนวคิดแนวทางกันใหม่หมด โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอิสระ อย่างในต่างประเทศการโหวตคือเอกสิทธิ์ เละเป็นอิสระมันคือเรื่องใหญ่มากสำหรับระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นการที่คุณจะมีเสียงเดียวแต่นำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ”
ขณะที่ สุรทินเสริมว่า จริงๆ ตอนนี้เขาก็เริ่มเตรียมการหรือทางออกไว้บ้างแล้ว โดยหลักๆ ก็คือเข้าไปทำหน้าที่ในกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาฯ รวมไปถึงการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามการทำงานเรื่องของภาคบริหาร เพื่อจับตาการบริหารงานของรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร และแถลงให้ประชาชนรับทราบทุกสัปดาห์
ก้าวต่อไปของพรรคเล็กๆ
พอเห็นทิศทางและความเป็นไปได้ ของพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เพียงคนเดียวกันแล้ว
ถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงอยากทราบว่า แล้วในอนาคตล่ะ การเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป และถ้าต่อไปพรรคพวกนี้ยังเล็ดลอดมาได้ ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.ตระกูล วิเคราะห์ว่า โอกาสที่จะมีพรรคเล็กๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นมีแน่นอน
แต่จุดที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่ไม่เคยมีตัวแทนหรือมีสิทธิมีเสียงในสภาฯ มาก่อน เช่นกลุ่มแรงงาน กลุ่มเกษตร หรือแม้แต่กลุ่มรักร่วมเพศ ก็อาจจะเกิดการรวมตัวและริเริ่มตั้งพรรคของตัวเองขึ้นมาก็ได้ เพื่อจะได้มีปากมีเสียงที่แท้จริงไปทำหน้าที่ในสภาฯ และเป็นทางเลือกให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายต่อไป
“สมัยหน้าผมเชื่อว่าพรรคทางเลือกน่าจะเกิดขึ้นเยอะ อย่างกลุ่มรักร่วมเพศ ถ้ารวมกันได้ แล้วส่งสมัครรับเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าได้แน่นอน เพราะเขาน่าจะมีกันอยู่กว่าล้านคน หรือพรรคชาวนาที่เป็นชาวนาต่อไปอาจจะแยกตัวจากพรรคใหญ่ มาสร้างพรรคของตัวเอง และแม้แต่พรรคของกลุ่มประชาสังคมก็มีสิทธิที่จะเกิด เพราะเขาเห็นโอกาสแล้วว่า 1 ที่นั่งนั้นยังพอมีสิทธิ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องนี้ เพราะมันเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนต่างๆ เข้ามาได้ทำหน้าที่อย่างแท้จริง”
>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK