xs
xsm
sm
md
lg

สภาเกษตรกรแห่งชาติ เสียง (ต้อง) ดัง - ฟัง (ให้) ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกษตรกรเคยเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเรืองอำนาจ คงเป็นความเชื่อของผู้คนสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ไม่นานก็เชย เพราะหลัง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจ และคลอดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับแรก เมื่อปี 2504 ภาคเกษตรกรรมก็ต้องหลบหลังม่านไปโดยปริยาย

หลายสิบปีผ่านไป ภาคอุตสาหกรรมและการค้ารุดหน้า ผนึกกำลังกันในรูป สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีอำนาจในการต่อรองชนิดที่กระแอม รัฐบาลก็ต้องกุลีกุจอเปิดห้องรับฟัง ส่วนภาคเกษตรกรรมต้องใช้วิธีก่อม็อบและตะโกน รัฐบาลก็หูทวนลมกันไป

แรงผลักดันและบีบคั้นจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 จึงมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดสภาเกษตรกรแห่งชาติ จำนวน 99 คน เข้ามาดูแลทุกข์สุขและเสนอนโยบายแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร เสนอเพื่อกำหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตรรูปแบบทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งให้คำปรึกษาและแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรแก่ ครม. และยังมีสภาเกษตรกรจังหวัดที่จะคอยเป็นปากเสียงของเกษตรกรในพื้นที่อีกส่วนหนึ่ง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 จึงมีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 1 คน ซึ่งบรรยากาศเงียบเหงามาก บางหมู่บ้านมีผู้สมัครเพียง 1 คน จึงได้เป็นตัวแทนไปแบบไม่มีคู่แข่ง ผู้ที่ได้รับเลือกบางคนยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าตำแหน่งที่ได้มาจะต้องทำอะไรบ้าง สวาท สุทธิอาคาร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ยังบอกเราว่า ในเวลานี้ความไม่เข้าใจของผู้ที่ได้รับเลือกและผู้ที่ไปเลือกตั้งเองยังไม่มีความเข้าใจเต็มร้อย จะเข้าใจมากหรือน้อยอยู่ที่พื้นที่ของจังหวัด ทางส่วนกลางยังให้เวลาน้อยไปกับการทำความเข้าใจเรื่องนี้

“บางคนยังโทรศัพท์มาถามผมว่าเมื่อเลือกชนะในหมู่บ้าน เป็นตัวแทนหมู่บ้านแล้วต้องทำอย่างไร เราก็ให้คำแนะนำเขาไป ว่าเขาจะต้องเป็นตัวแทนเกษตรประจำหมู่บ้าน รักษาผลประโยชน์ ช่วยงานเกษตรกรด้วยกัน”

พอสอบถาม วีระชัย แสงชมภู สมาชิกเกษตรกรประจำหมู่บ้านเหล่าผักหอม จังหวัดอุบลราชธานี ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งหมาดๆ จากการลงสมัครรับเลือกตั้งในหมู่บ้านทั้งหมด 2 คน บอกว่า

“เราอยากเป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกร เรารู้ข่าวจากเกษตรจังหวัดเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็เลยลงสมัครเพื่อขอเป็นตัวแทน”

ถึงรวมๆ แล้ววีระชัยจะไม่รู้ว่าหน้าที่ของตนต้องทำอะไรบ้าง แต่เขาก็ยินดีที่จะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ โดยหลังจากนี้หน้าที่ของวีระชัยและสมาชิกเกษตรกรประจำหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศจะต้องทำหน้าที่เลือกผู้แทนในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดต่อไป

-1-
 
นับเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างพื้นที่ให้เกษตรกรได้ใช้เป็นเวทีต่อรอง แต่ด้วยระบบโครงสร้างแบบไทยๆ ที่ดำรงอยู่คงยังไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่า ถึงที่สุด สภาเกษตรฯ จะสามารถทำหน้าที่ได้ตามเจตนารมณ์

ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะที่เคยผลักดันร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติฉบับประชาชนมาก่อน กล่าวว่า ต้องจับตาอย่างมากว่า จะเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มเกษตรกรจริงๆ แค่ไหน เพราะถ้ามองจากเชิงโครงสร้างในตัวกฎหมายก็ถือว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่เวทีให้แก่เกษตรกร เพิ่มขึ้นกว่าโครงสร้างแบบเดิมๆ

กระนั้นก็ดี แม้โครงสร้างที่ถูกออกแบบมาจะดูใหม่ แต่ถึงที่สุดความคิดเห็นของสภาเกษตรฯ ก็ต้องเข้าไปสู่ระบบราชการอยู่ดี เนื่องจากต้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความเห็นชอบก่อนและนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งปัญหาก็คือพอเข้าสู่ระบบแบบนี้ ประสิทธิภาพก็อาจจะถูกตัดทอนลง

ทว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่เกษตรกรจะสามารถใช้กลไกโครงสร้างดังกล่าวแก้ปัญหาให้แก่ตัวเองได้หรือไม่ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับกลไกที่มีอยู่ในทำนองเดียวกัน เช่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือกองทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งเปิดโอกาสให้มีตัวแทนของเกษตรกรเข้ามา จะพบว่าท้ายที่สุดก็ไม่ได้ตัวแทนของเกษตรกรจริงๆ เข้ามาแก้ปัญหา พูดง่ายๆ คือเปลี่ยนแค่เชิงโครงสร้าง แต่ไม่ได้เปลี่ยนในเชิงกระบวนการ เขายกตัวอย่างว่า

“สมมติการเลือกตัวแทนในระดับจังหวัด คนที่เป็นตัวแทนอาจจะไม่ได้เป็นเกษตรกรอย่างเดียว แต่ยังเป็นคนรับซื้อผลผลิตด้วย ถามว่าระหว่างเกษตรระดับตำบลกับคนแบบนี้ใครจะได้เป็นตัวแทนระดับจังหวัด และพอไปอยู่ในสภาฯ ชุดใหญ่ พฤติกรรมในการใช้อำนาจของคนที่เข้ามาจะเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรหรือเปล่า เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบของทุน และการไม่มีนโยบายสนับสนุนทางภาครัฐ เพราะฉะนั้นกระบวนการในการตัดสินใจมันต้องไปชนกับสองปัญหานี้ แล้วเขาจะกล้าชนหรือเปล่า”

ไพสิฐเกรงว่าหากสภาเกษตรฯ กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มการเกษตรที่แฝงตัวเข้าไป นโยบายที่จะตามออกมาก็จะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนมากกว่าตัวเกษตรกร

-2-

“มันเป็นเรื่องน่าสนใจ ถ้ารัฐบาลจะให้ความสนใจกับกลุ่มเกษตรเท่ากับกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ถ้าเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อจะฟังๆๆ แต่ไม่ทำอะไรมันก็ไม่เป็นประโยชน์”

วิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กล่าวถึงการเกิดขึ้นของสภาเกษตรฯ ว่า สภาเกษตรฯ จะต้องไม่มองแต่ปัญหาเฉพาะหน้า หากต้องให้ความสำคัญต่อนโยบายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในระยะยาวด้วย

และจริงๆ แล้วการรวมกลุ่มเพื่อการจัดการและสร้างอำนาจต่อรองไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวิฑูรย์ เพราะพวกเขาได้มีการรวมกลุ่มกันมานานแล้วในนามสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย

“พวกผมมีการรวมกลุ่มกันเองอยู่แล้ว และพิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญมากในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ คือในโลกธุรกิจสมัยใหม่ต้องอาศัยความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นลอจิสติกส์ (ระบบการจัดการการส่งสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรอย่างอื่นจากจุดต้นทางไปยังจุดบริโภคตามความต้องการของลูกค้า) การจัดการ ฯลฯ ส่วนอุปสรรคของการรวมกลุ่ม มันไม่ได้อยู่ที่ตัวสมาชิกเพราะทุกคนเขามีความสนใจร่วมกันอยู่แล้ว แต่มันอยู่ที่การสนับสนุนของภาครัฐมากกว่า

“ตัวอย่างเช่นการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์นั้นมีมานาน แต่ก็ไม่เติบโตขึ้นสักเท่าไร เพราะในบางครั้งรัฐก็หวังดีเกินไป เขามาห่วงมาประคบประหงมจนไม่มีโอกาสได้เติบโต จริงๆ ต้องปล่อยให้การรวมกลุ่มนั้นอิสระมากขึ้น”

ซึ่งการรวมกลุ่มนี่เองที่ถือเป็นอีกบทบาทสำคัญประการหนึ่งที่สภาเกษตรกรฯ จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ ไพสิฐมองว่า หากไม่เกิดการรวมกลุ่ม อำนาจต่อรองก็ไม่มี ที่สำคัญต้องทำให้การผูกขาดปัจจัยการผลิตหายไป เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้บริษัทขนาดใหญ่ผูกขาดเรื่องนี้ครบวงจร หากกลุ่มไหนพยายามรวมกลุ่มขึ้นมาก็ถูกสลายผ่านระบบเกษตรพันธสัญญาที่ระบุว่าใครจะปลูกพืชประเภทไหนต้องเชื่อฟังบริษัทเท่านั้น ส่วนภาครัฐเองก็ไม่แสดงบทบาท พอเกิดปัญหาขึ้นมาก็ไม่ทำอะไร

"สภาเกษตรฯ จำเป็นต้องผลักดันกฎหมายการคุ้มครองพื้นที่เกษตร กฎหมายที่คุ้มครองเกี่ยวกับเรื่องเกษตรพันธสัญญา ซึ่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ตกอยู่ภายใต้สัญญาที่ไม่ธรรม เพราะหากไม่ทำเรื่องพวกนี้ ปัญหาก็แก้ไม่ได้ และสุดท้ายก็จะเหมือนสภาอื่นๆ ที่มีแล้วก็ไม่มีความหมาย"

-3-

ที่ผ่านมาภาครัฐมักให้ความสำคัญต่อภาคการเกษตรน้อยกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น เพราะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ซึ่งนับเป็นความผิดพลาดที่ดำรงอยู่มายาวนานเกินไปแล้ว วิฑูรย์ บอกกับเราว่า

“เขามองผิดไปแล้ว เอาเข้าจริง ภาคเกษตรนี่ผลิตวัตถุดิบพื้นฐานเลยนะ ถ้าไม่มีภาคเกษตร อุตสาหกรรมก็ลำบาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารนี่จะไม่เหลือเลย อย่างที่บอก การมีสภาเกษตรฯ เกิดขึ้นเป็นเรื่องดี แต่จะดีแค่ไหน ใช้ได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ความจริงใจที่รัฐมีให้ด้วย”

เส้นทางของสภาเกษตรกรฯ ยังอีกยาวไกล การลืมตาอ้าปากของเกษตรกรไทยยิ่งยาวไกลกว่าและยืนอยู่บนความไม่แน่นอน สภาเกษตรกรฯ อาจถือเป็นย่างก้าวหนึ่งที่ต้องช่วยกันจับตา ไม่ปล่อยให้นายทุนและนักการเมืองฮุบไปเหมือนที่แล้วๆ มา เพื่อให้กระดูกสันหลังของชาติได้ส่งเสียงให้สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้า และรัฐบาลต้องฟัง เพราะต่อให้เราผลิตเครื่องบินได้ ค้าขายได้เป็นแสนล้าน แต่จะไม่มีใครอยู่ได้ถ้าไม่มีข้าวกิน

“เป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่เขาจะได้มีเวทีร้องตะโกนออกมาเป็นภาษาหนังสือไม่ต้องไปก่อม็อบ นั่งตากแดด เขาต้องได้รับการดูแลที่ดีขึ้น เขาต้องบอกให้รัฐได้รู้ว่าเขาต้องการอะไร ปัญหาอะไร ให้ถูกที่ถูกทาง รัฐบาลควรให้ความสำคัญสักที ไม่ใช่ทำอะไรก็มองผ่าน” สวาทกล่าวทิ้งท้าย

>>>>>>>>>>>
 
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK      
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น