xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : รัฐบาล “ลุแก่อำนาจ” งัด พ.ร.บ.มั่นคงฯ ส่งสัญญาณทำร้ายประชาชน!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ยื่นหนังสือต่อสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ขอให้ตรวจสอบการบังคับใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ของรัฐบาล(10 ก.พ.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
 
ไม่น่าเชื่อว่า อยู่ดีดีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะลุกขึ้นมาประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ครอบคลุมพื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาล ทั้งที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดเหตุรุนแรงจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยนายกฯ และรองนายกฯ ต่างยกเหตุผลมาอ้างคนละทิศคนละทาง นายอภิสิทธิ์ บอก เพื่อเรียกคืนพื้นที่จราจรให้ประชาชน ส่วนนายสุเทพบอก เพราะมีผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม นอกจากพันธมิตรฯ แล้ว วันที่ 13 ก.พ. คนเสื้อแดงก็จะชุมนุมอีก ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า ทั้ง 2 เหตุผลล้วนฟังไม่ได้ และไม่เข้าเงื่อนไขให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ แถมยังสะท้อนว่า รัฐบาลลุแก่อำนาจ หวังใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำร้ายประชาชน เพียงเพื่อความมั่นคงของรัฐบาลเท่านั้น

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

หลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปักหลักชุมนุมอย่างสงบบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.ให้ไทยถอนตัวออกจากคณะกรรมการมรดกโลก 2.ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 และ 3.ผลักดันชาวกัมพูชาออกไปจากแผ่นดินไทย แต่นอกจากรัฐบาลจะไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว ยังส่งสัญญาณเตรียมสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย สังเกตได้จากหลังพันธมิตรฯ ชุมนุมผ่านไปแค่ 15 วัน รัฐบาลก็ใช้อำนาจออกประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรรอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ครอบคลุมพื้นที่ 7 เขต ประกอบด้วย เขตปทุมวัน, ดุสิต, พระนคร, ราชเทวี, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, วัฒนา และวังทองหลาง โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และให้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 9-23 ก.พ. รวมเวลา 15 วัน

ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง อ้างว่า เหตุที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะชุมนุมวันที่ 13 ก.พ. พร้อมยืนยันว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ครั้งนี้ ไม่ใช่การตอบโต้หรือยั่วยุท้าทายผู้ชุมนุม แต่ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อย และว่า ไม่อยากให้คาดการณ์ล่วงหน้าว่า รัฐบาลจะขอคืนพื้นที่ทันที แต่มีบทบัญญัติกำหนดอำนาจเจ้าหน้าที่ไว้ชัดเจน เช่น ถ้าเจ้าหน้าที่ขอให้ผู้ชุมนุมออกจากถนนพิษณุโลก จะถือว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

ขณะที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้เป็น ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) บอก (8 ก.พ.) ว่า ได้เตรียมกำลังตำรวจประมาณ 52 กองร้อยในการควบคุมการชุมนุม โดย ศอ.รส.จะออกข้อกำหนดและเจรจากับพันธมิตรฯ ในการเปิดถนนบางสาย เช่น ถนนราชดำเนินนอก ถนนพิษณุโลก หากพันธมิตรฯ ไม่ทำตามจะต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อคลี่คลายสถานการณ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ได้แค่ 1 วัน วันนี้ (10 ก.พ.) ศอ.รส.ภายใต้การดูแลของ พล.ต.อ.วิเชียร ก็ออกประกาศ 2 ฉบับเพื่อกดดันพันธมิตรฯ ให้ยุติชุมนุม โดยประกาศดังกล่าว ห้ามทั้งคนและยานพาหนะเข้า-ออกบริเวณพื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการกระชับพื้นที่และลดกำลังคนที่ร่วมชุมนุม เสมือนเตรียมพร้อมใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ นั่นเอง

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่า ไม่ทราบรายละเอียดการประกาศห้ามคนและรถเข้า-ออกพื้นที่รอบทำเนียบฯ และรัฐสภา แต่ยืนยันว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ไม่ได้ต้องการให้มีการยุติชุมนุม แต่ไม่ต้องการให้การชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน ดังนั้น ขอให้เปิดถนนบางส่วนเพื่อให้รถสัญจรไปมาได้ หากพันธมิตรฯ ไม่ต้องการชุมนุมโดยมีรถวิ่งผ่าน ก็ต้องไปชุมนุมที่อื่น นายอภิสิทธิ์ยังเหน็บพันธมิตรฯ ด้วยว่าเป็นผู้ที่สร้างความวุ่นวาย “ผมเพียงอยากจะถามว่า ทำไมทำเท่านี้เพื่อส่วนรวม ทำไม่ได้ และถ้าหากรัฐบาลบอกว่า กลุ่มนี้สามารถที่จะปิดถนน 24 ชั่วโมงทั้งหมด และกลุ่มอื่นๆ เขาจะทำบ้าง บ้านเมืองก็จะมีปัญหามากยิ่งขึ้น จะไปเป็นเครื่องมือของคนที่ต้องการให้บ้านเมืองวุ่นวายหรืออย่างไร...”

หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ 7 เขตรอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งที่ไม่ได้มีสัญญาณว่าจะเกิดเหตุรุนแรงจากการชุมนุม ปรากฏว่า ได้มีปฏิกิริยาคัดค้านจากหลายฝ่าย เช่น นางอัมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่า รัฐบาลต้องอธิบายให้ได้ว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ พื้นที่รอบทำเนียบฯ เพราะปกติแล้วไม่ควรนำกฎหมายนี้มาใช้ นอกจากมีสถานการณ์พิเศษและไม่มีทางเลือก

ด้าน พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ก็ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ใน 7 เขตพื้นที่รอบทำเนียบฯ โดยชี้ว่า นอกจากไม่มีเหตุผลที่จะประกาศแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย พร้อมเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ จะย้อนกลับไปสู่รัฐบาลเอง

“เป็นการออกมาแบบมิชอบ เหมือนกับนายกฯ สมัคร (สุนทรเวช) เคยออก มันไม่มีเหตุผลที่จะออก เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ...ตอนที่นายกฯ สมัครออกนั้น ก็ให้อดีตตำรวจ พล.ต.อ.โกวิทหรือไงเนี่ย ที่อยากได้ตำแหน่ง และให้มาสลายพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานฯ จำได้มั้ย และรุ่งขึ้นก็ออก (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เลย เนี่ยเหมือนกับสร้างสถานการณ์ แต่อันนี้ยังไม่ได้สร้างสถานการณ์ แต่ส่วนตัวผมคิดว่ามันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการอ้างเรื่องจราจรนี่ก็อ้างไม่ได้ด้วย เพราะการจราจรมันเป็นการจัดได้ จะหลบไปซ้ายก็ได้ ไปขวาก็ได้ ขึ้นอยู่กับการจัด แต่ถ้าอ้างว่าขัดจราจร รัฐธรรมนูญมาตรา 63 จัดชุมนุมไม่ได้ จัดที่ไหนก็ไม่ได้ ถ้าหากว่ากีดขวางการจราจรแล้วไม่ยอมให้เขาจัดชุมนุมเนี่ย ไปปิดเขาเนี่ย ก็ต้องไปจัดกันที่บ้านสิ เป็นเรื่องตลกนะ เราไม่เคยคิดเลยว่ารัฐบาลชุดนี้ซึ่งเคยมีตัวอย่างจากรัฐบาลเก่าๆ ในการที่ไปสลายการชุมนุม มันจะต้องมีปัญหา แล้วยังกล้าทำอีก ออก (พ.ร.บ.มั่นคงฯ) มาอย่างนี้ จะมีปัญหามากมายเลย มันเป็นสิ่งบอกเหตุนะว่า การที่รัฐบาลทำอย่างนี้ มันกำลังจะไปไม่รอดน่ะ ผมเคยเห็นนายกฯ หลายคนแล้ว เมื่อเขาชุมนุมขับไล่แล้ว ส่วนใหญ่เขายอมกัน ตั้งแต่จอมพล ป. คือเขาจะเอาเหตุผลที่ความเป็นจริงมาพูดกัน แล้วคนที่เป็นนายกฯ ก็รู้สึกจะยอมรับและยอมออกไป”

“(ถาม - รัฐบาลจะอ้างได้หรือไม่้ว่า ก็ประกาศไว้ก่อนไง เพราะนี่พันธมิตรฯ ชุมนุม เดี๋ยวเสื้อแดงก็จะชุมนุมอีก?) เขาชุมนุมตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญนะ ผมก็ไม่รู้นะ ผมยืนยันได้ว่าพันธมิตรฯ หรือ พล.ต.จำลอง หรือคุณสนธิเนี่ย เขาเข้มงวดมากนะ แม้แต่การพูดก็ต้องสุภาพ อาวุธก็มีไม่ได้ ดื่มเหล้าก็ไม่ได้ และข้อมูลที่ขึ้นไปพูดก็ต้องเป็นข้อเท็จจริง นอกจากตัวเองรู้ไม่จริงแล้วไปพูด อย่างนั้นต้องอภัยให้ แต่ที่เราฟังมาเป็นของจริงทั้งนั้น นี่คือกฎกติกาที่ทางคุณสนธิและคุณจำลองเขากำหนดไว้ แต่เสื้อแดงผมไม่ทราบ แต่ถ้ามาใช้กฎหมายอย่างนี้กับกลุ่มพันธมิตรฯ เนี่ย ผมถือว่าความเสียหายมันจะย้อนไปที่ตัวเอง”


ด้าน ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ใน 7 เขตพื้นที่รอบทำเนียบฯ เพราะการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีอะไรส่อเค้าว่าจะมีความรุนแรง รัฐบาลจึงไม่น่าจะกลัวเกินเหตุหรือมองพันธมิตรฯ ในแง่ร้าย พร้อมชี้ว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ จะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

“ผมมองว่าโดยสภาพของม็อบเนี่ย ก็ไม่น่าจะมีความรุนแรง เพราะฉะนั้นในลักษณะนี้ รัฐบาลก็ไม่น่าจะไปกลัวหรือไปประเมินม็อบในทางร้าย ผมยังเห็นว่าม็อบพันธมิตรฯ เป็นม็อบที่น่าจะมีอารยธรรม คือเป็นม็อบอารยะ วัฒนธรรมทางการเมืองที่มันพัฒนาขึ้นจากบทเรียนต่างๆ ซึ่งทางพันธมิตรฯ เขาจะมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของม็อบก็จะอยู่ในกรอบ ไม่ใช่ม็อบมั่ว ไม่ใช่คนที่มาเพื่อที่จะเฮ้ว มาสนุก หรือถ้าเผื่อบางม็อบอาจจะมีคำว่า ม็อบรับจ้าง หรือม็อบไปเช้ากลับเย็น อะไรอย่างนั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ผมดูในภาพรวมแล้ว ม็อบพันธมิตรฯ เป็นม็อบที่มีระบบระเบียบและสามารถควบคุมได้”

“(ถาม - นายกฯ บอกว่า เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่เพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมา?) ตำรวจก็จัดการได้นี่ ทั้ง พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ของ กทม.ก็มีอยู่ด้วย ใช้แค่กฎหมาย 2 อันนี้ ก็จัดการไป เท่าที่เห็นเวลาที่เขาทำ ก็คือกั้นเขต ขอความร่วมมือในการกั้นเขต ถ้าเผื่อม็อบไม่ร่วมมือ ก็แจ้งข้อหาไปสิว่าขัดขวางการปฏิบัติงาน แต่ตอนนี้รัฐบาลและตำรวจเกรงกลัวม็อบเกินเหตุ และเกรงว่าจะไปทำอะไรเข้า และจะลุกลามใหญ่โต ผมว่าการใช้ พ.ร.บ.มั่นคงนี่ซะอีกที่จะเป็นตัวยั่วยุ อย่าลืมว่าอารมณ์ของม็อบเนี่ย ถ้าถูกยั่วยุก็ยิ่งท้าทาย ก็ยิ่งจะเกิดความรู้สึกว่าอยากจะทำอะไรที่แสดงพลัง ถ้าเผื่อทำได้ เขาก็จะมีความรู้สึกที่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นยิ่งโยนอุปสรรคมาให้ม็อบมากๆ ม็อบเขาก็พยายามจะฝ่าอุปสรรคนั้นไป เขาอาจจะชวนคนเข้ามามากอีก เพราะเห็นว่ารัฐบาลทำรุนแรงมากขึ้น ก็จะเกิดการต่อต้านขัดขืนมากขึ้น ผมคิดว่าอันนี้เป็นผลร้ายมากกว่าผลดี”


ขณะที่ นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ มองการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ รอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลว่า สะท้อนว่ารัฐบาลลุแก่อำนาจ พยายามเอากฎหมายมาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม รวมทั้งอาศัยกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของประชาชน

“ขณะนี้รัฐบาลพยายามจะเอากฎหมายมาจำกัดการใช้เสรีภาพของประชาชนและจะอาศัยกฎหมายนี้เพื่อใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกับประชาชน ซึ่งในขณะนี้การชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบ ฉะนั้นการที่รัฐบาลออกมาเป็นการแสดงออกถึงการลุแก่อำนาจและเจตนาที่จะต้องการทำให้คิดได้ว่าประสงค์จะทำร้ายประชาชน (ถาม-รัฐบาลสามารถอ้างได้มั้ยว่า เนี่ยพันธมิตรฯ ชุมนุม เดี๋ยวเสื้อแดงก็จะมาชุมนุมอีก?) รัฐบาลจะปฏิเสธการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม เพราะการใช้สิทธิในการชุมนุมของประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่เป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตรกร เรื่องที่ดินทำกิน เรื่องดอกเบี้ย เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ประชาชนโดยทั่วไปนั้น เป็นการชุมนุมอันเกิดจากการบริหารงานของรัฐทั้งนั้น เพราะฉะนั้นรัฐต้องใจกว้าง ต้องเข้าใจสิทธิเสรีภาพของประชาชนตรงนี้ ไม่มีประชาชนที่มาโดยไม่มีเหตุจากรัฐ เริ่มต้นจากรัฐทั้งนั้น”

“(ถาม - พ.ร.บ.ความมั่นคง ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุม โดยไม่ต้องรับผิดมั้ย?) กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการสลายการชุมนุมเลย ดังนั้นถ้าประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ รัฐบาลจะมาบอกว่าห้ามชุมนุม รัฐบาลก็ต้องมีเหตุผลว่ามันมีปัญหาอะไรที่ห้ามชุมนุม มันกระทบต่อความมั่นคงตรงไหน มันกระทบต่อเศรษฐกิจตรงไหน ความมั่นคงนี่คือความมั่นคงของประเทศนะ ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาลนะ ก็ต้องชี้แจงกันมา มันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายความเสียหายอันคาดหมายคาดเดาได้ จะเกิดจลาจลกลางบ้านกลางเมือง ก็ต้องว่ามา อย่าเอาความรู้สึกไม่ชอบใจ หรือความรู้สึกรำคาญมาขัดขวางการใช้สิทธิของประชาชนโดยความรู้สึกนี้ไม่ได้”


นายนิติธรยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลไม่สมควรประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพราะสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เท่าที่ตนได้เข้าไปสังเกตการณ์ พบว่า ยังอยู่ในลักษณะของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าการชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้บุคคลใด ก็สามารถใช้สิทธิทางศาลหรือดำเนินการตามกฎหมายปกติได้อยู่แล้ว ไม่ใช่ออก พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพื่อเอาถนนคืนให้ประชาชน หรือออก พ.ร.บ.มั่นคง เพื่อตีประชาชนให้เปิดถนน ถือว่าไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง นายนิติธรยังบอกด้วยว่า เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ โดยไม่สมเหตุสมผล ตนจึงต้องยื่นหนังสือต่อสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อขอให้ติดตามและสังเกตการณ์การบังคับใช้กฎหมาย ของรัฐบาลว่าจะใช้กฎหมายนี้ในการละเมิดสิทธิประชาชนและทำร้ายประชาชนหรือไม่ เพราะขณะนี้ถือว่ารัฐบาลเริ่มแสดงเจตนาให้เห็นแล้วว่า มีความพยายามที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชน!!
 บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.)
ศอ.รส.ออกประกาศขับพันธมิตรฯ พ้นถนนรอบทำเนียบ(10 ก.พ.)
กำลังโหลดความคิดเห็น