xs
xsm
sm
md
lg

งัดพรบ.มั่นคง ตั้ง"วิเชียร"ปราบพันธมิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“มาร์ค”ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พื้นที่ 7 เขต ตั้งแต่ 9-23 ก.พ. อ้างป้องกันม็อบป่วน "วิเชียร"จัดทัพสนอง เตรียมเจรจาขอคืนพื้นที่จราจร 1-2 เส้นทาง หากไม่รู้เรื่องยึดพื้นที่คืนทันที ยกโทษขู่ซ้ำ ติดคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น ด้าน "สุเทพ" อ้างต้องใช้เพื่อป้องกันสารพัดม็อบบุกทำเนียบ รัฐสภา พันธมิตรฯ เตรียมฟ้องศาลปกครองเพิกถอน

นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หมวดที่ 2 ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (8 ก.พ.) ว่า การประกาศพื้นที่และห้วงเวลา สืบเนื่องมาจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีถึง 3-4 กลุ่ม และมีการชุมุนมอยู่ 3 จุด ในบริเวณถนนพิษณุโลก และถนนราชดำเนิน ทั้งกลุ่มเกษตรกร พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มอื่นๆ และมีการประกาศชุมนุมใหญ่ ซึ่งบางครั้งมีการประกาศยกระดับการชุมุนม และมีการพูดถึงการบุกยึดสถานที่ราชการ และตนเข้าใจว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ทางกลุ่มเสื้อแดงได้ประกาศชุมุนมแบบเบ็ดเสร็จ ฉะนั้น เราจึงมีหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งเครื่องมือของการใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อเป็นการป้องกันและป้องปราม และระงับเหตุปัญหาที่จะนำไปสู่การลุกลามของความไม่สงบ รวมไปถึงการแก้ปัญหาการกระทำที่ผิดกฎหมาย เบื้องต้นมีการประกาศพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวทั้งหมด 7 เขต
ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ยังได้มีการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ซึ่งจะไปทำงานกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งท่านจะมีอำนาจในการประกาศข้อกำหนดในรายละเอียด เช่น เรื่องของการห้ามเข้าออกนอกสถานที่ หรือในเส้นทางคมนาคม

เบื้องต้นที่ได้มีการสอบถามกันนั้น การดูแลทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เป็นเป้าหมายแรก ซึ่งเครื่องมือตรงนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการบุกรุก หรือการปิดล้อมไม่ให้เข้าออก ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และการปิดถนนอยู่ในขณะนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาล ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินเลยขอบเขตของการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จะเริ่มต้นจากการขอเปิดเส้นทางสัญจรไปมาโดยผ่านถนนในบางส่วนได้ โดยที่ยังไม่ไปกระทบกระเทือนกับการชุมุนม ซึ่งยังสามารถทำได้อยู่

“สิ่งที่เราต้องการ คือ ชุมุนมก็ชุมนุมไป แต่อย่าชุมนุมในลักษณะที่ผิดกฎหมายและเดือดร้อนต่อประชาชน โดยจะต้องเปิดเส้นทางการจราจร 1 ถึง 2 เส้นทางให้ประชาชนผ่านไปมาได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีความจำเป็น”นายกฯ กล่าว

***คุม 7 เขตวันที่9-23ก.พ.

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร หมวด 2 มาบังคับในเขตพื้นที่ทั้งหมด 7 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต ป้อมปราบ ปทุมวัน วังทองหลาง วัฒนา ราชเทวี และพระนคร ตั้งวันที่ 9-23 ก.พ. โดยเป็นไปตามการประเมินในการดูแลพื้นที่ให้ปลอดภัย และได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ

ส่วนที่ต้องมีการประกาศไปถึงเขตวังทองหลาง เพื่อดูในพื้นที่สำคัญ และที่ผ่านมา ทางด้านการข่าวพบว่า มีบางกลุ่มไปเคลื่อนไหวในพื้นที่เหล่านั้น และถือเป็นพื้นที่เป้าหมาย เพราะมีสถานที่สำคัญ อาจจะทำให้เกิดปัญหาหากไม่มีการควบคุมตั้งแต่ต้น และเป็นการอนุมัติที่มีการเสนอมา ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนการดำเนินการให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่นั้น ในเบื้องต้นจะมีการมอบหมายทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ

***"เทพเทือก"อ้างต้องใช้ป้องกันม็อบ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เนื่องจากมีผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ที่ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะปิดล้อมสถานที่ราชการ โดยเฉพาะทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา และบางกระทรวง ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มก็ประกาศว่าจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ทางตำรวจรู้สึกกังวลใจว่าผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกระทบกระทั่งกันเอง หรือกระทำการจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือทางราชการ จึงต้องหาทางระงับยับยั้งไว้ก่อน
หลังการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ตำรวจจะมีอำนาจ สั่งห้ามเข้าหรือออกพื้นที่ที่เน้นเป็นพิเศษ เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และถนนราชดำเนิน และหากมีการฝ่าฝืน ก็จะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น สมมุติว่าห้ามเข้าถนนพิษณุโลก หากใครฝ่าฝืน ก็ผิดกฎหมาย

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะเริ่มปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ทันที หลังจากที่พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีผลบังคับใช้ นายสุเทพ กล่าวว่า อย่าไปถามล่วงหน้าว่าเจ้าหน้าที่จะทำอย่างไร แต่เรียนว่า เมื่อประกาศพื้นที่ความมั่นคง กฎหมายมีบทบัญญัติไว้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ทำอะไรได้บ้าง เมื่อถามว่า ได้กำชับตำรวจอย่างไร เพราะหลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวาย นายสุเทพ กล่าวว่า ตำรวจเข้าใจ และจะปฏิบัติอย่างเหมาะสม และไม่ประสงค์ที่จะใช้ความรุนแรง ทำร้ายประชาชน

***"วิเชียร"จัดทัพสนอง"มาร์ค"คุมม็อบ

ต่อมาเวลา 17.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกตร. ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังครม. มีมติให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 9-23 ก.พ. ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศอ.รส.ขึ้น โดยมีตนเป็นผอ.ศูนย์ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผช.ผบ.ตร. เป็นเลขาธิการ นอกจากนี้ ยังมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ที่ปรึกษาสบ 10 พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี พล.ต.ท.จิโรจน์ ไชยชิต ผช.ผบ.ตร. และ พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผช.ผอ.ศอ.รส. ซึ่งทุกเช้าจะมีการประชุมประเมินสถานการณ์ มาตรการและข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น การห้ามเข้าถนนบางสาย ห้ามเข้าบางพื้นที่ เป็นต้น ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า เป้าหมายของศอ.รส. ในการคลี่คลายสถานการณ์ครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมาได้ตามปกติ โดยเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกข้อกำหนดให้เปิดการจราจรให้สามารถใช้ได้บางส่วน โดยบริเวณถนนพิษณุโลกตั้งแต่สะพานชมัยมรุเชฐ ถึงแยกสวนมิสกวัน และถนนราชดำเนิน ให้เปิดเส้นทางคู่ขนานฝั่งทำเนียบรัฐบาล เบื้องต้นจะใช้การเจรจากับแกนนำกลุ่มก่อน หากการเจรจาไม่เป็นผลจะดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งขั้นตอนต่างๆ จะออกเป็นข้อกำหนดในที่ประชุมของศอ.รส.

***ขู่เจรจาไม่เป็นผลขอคืนพื้นที่ทันที

พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวต่อว่า หากออกเป็นข้อกำหนดต่างๆ ไปแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมทำตาม ก็จะดำเนินการเคลื่อนย้ายคนและของออกจากพื้นที่ต่อไป โดยการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มขึ้นจาก 20 กองร้อยเป็น 50 กองร้อยในเขตการประกาศเป็นพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทั้ง 7 เขต อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ใดที่มีสถานการณ์ความวุ่นวาย ก็จะประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพิ่มเติมได้ เช่น พื้นที่บริเวณศาลอาญา ซึ่งกลุ่มเสื้อแดงจะไปชุมนุมวันที่ 13 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุม ดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาสถานที่ราชการ ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สถานฑูตกัมพูชา เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปปิดล้อม บุกรุก หรือดาวกระจาย ไปสถานที่เหล่านี้

“เชื่อว่าวันที่ 9-23 ก.พ.นี้ จะคลี่คลายสถานการณ์ให้เรียบร้อยได้ หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีเงื่อนไขหรือเหตุผลในการชุมนุมที่ดีพอ ก็จะเลิกการชุมนุมไปเอง ทั้งนี้ จะมีการสลายการชุมนุมหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เจ้าหน้าที่ศอ.รส. จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ อย่างไรก็ตาม ศอ.รส. จะมีการประชุมทุกวันในช่วงเช้า และจะแถลงข่าวให้ทราบ”ผบ.ตร.กล่าว

เมื่อถามว่า หากแกนนำพันธมิตรดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการเช่นไร พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีความเห็นใด อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์และดูศาลปกครองอีกครั้ง

***กร้าวดื้อเจอจับโทษจำคุก 1 ปีปรับ2 หมื่น

พล.ต.ดิฎฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) แถลงภายหลังการประชุมกอ.รมน.ว่าในที่ประชุมได้ยกระดับมาดูแลความมั่นคงขึ้นเป็นหมวดที่ 2 โดยใช้มาตรา 15 ซึ่งได้กำหนดพื้นที่อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรทั้งหมด 7 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยขณะนี้กำลังทำแผนที่จะดำเนินการมาตรการจากเบาไปหาหนัก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการสูงสุดที่เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้กับกลุ่มผู้ชุมนุมคืออะไร พล.ต.ดิฎฐพร กล่าวว่า ความจริงแล้ว เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจับกุมผู้ชุมนุมที่เข้าไปในพื้นที่ห้ามเข้าได้ โดยจะมีการเจรจาให้ออกจากพื้นที่ก่อน หากไม่ออกก็สามารถจับกุมได้และดำเนินตามกฎหมายมาตรา 24 ได้ โดยได้ระบุโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งหากผู้ชุมนุมขัดขืนไม่ยอมให้จับกุม เจ้าหน้าที่ก็จะมีการบันทึกไว้และออกหมายเรียกและหมายจับต่อไป

***กทม.เตรียมรับมือม็อบแดงชุมนุมใหญ่

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (ผอ.รมน.กทม.) ได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเหตุการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ สำนักงานปกครองและทะเบียน ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โทร. 0-2224-2940 และ 0-2225-5610 โทรสาร 0 -224-2941 โดยได้แต่งตั้งนายยุทธศักดิ์ ร่มฉัตรทอง ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เรือโทวารินทร์ เดชเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และนายยศศักดิ์ คงมาก ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการเหตุการณ์ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.2554 เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มมวลชนต่างๆ ที่มีการชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งในวันที่ 13 ก.พ.นี้ กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นัดชุมนุมใหญ่หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก จากนั้นจะเคลื่อนขบวนมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน

ทั้งนี้ ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีหน้าที่อำนวยการ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของกทม.และหน่วยงานภายนอก เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์เมื่อได้รับรายงานเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แล้วรายงานสถานการณ์ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะ ผอ.รมน.กทม. และปลัดกรุงเทพมหานคร รอง ผอ.รมน.กทม. ทราบทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์

***พันธมิตรฯยันไม่เข้าองค์ประกอบ

นายประพันธ์ คูณมี โฆษกการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ เป้าหมายใหญ่อยู่ที่การรวมพลังเพื่อปกป้องแผ่นดิน โดยให้รัฐบาลออกมาทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยดินแดนของชาติ และรักษาประโยชน์คุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการรุกรานของกัมพูชาเป็นหลัก โดยมุ่งให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน ไม่ได้ต้องการเห็นความวุ่นวาย หรือสร้างความเดือดร้อน เหมือนกับกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ ที่ผ่านมา เราต้องการชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ไม่ทำหน้าที่อย่างไร
การที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในวันที่ 9-23 ก.พ.นั้น รัฐบาลต้องคำนึงถึงการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยสงบ ปราศจากอาวุธ และมีวัตุประสงค์เพื่อประโยชน์ของชาติ ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง เนื่องจากกฎหมายนี้ ระบุว่าจะใช้ก็ต่อเมื่อมีภัยต่อความมั่นคงต่อรัฐ และมีการทำลายชีวิตทรัพย์สินของรัฐ ต่างจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีพฤติกรรมบุกยึด รัฐสภา สถานีโทรทัศน์ และบุกเผาสถานที่ต่างๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เข้าองค์ประกอบ และที่รัฐบาลระบุว่า ประกาศใช้กฎหมายเพื่อห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าพื้นที่ตรงนั้น ตรงนี้ ก็ยังไม่มีเหตุเกิดขึ้น ครั้งก่อนที่รัฐบาลประกาศ เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงบุกยึดรัฐสภา พร้อมยึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ หากเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็สมควรที่จะประกาศ

***ฟ้องศาลปกครองค้านพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ

นายประพันธ์ กล่าวว่า หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แล้ว พันธมิตรฯ จะเดินหน้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ถอนการประกาศใช้ รวมทั้งยื่นคำฟ้อง ดำเนินคดีฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการประกาศใช้โดยไม่เข้าองค์ประกอบ รัฐบาลควรประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ที่มีการปะทะ ทั้งบริเวณภูมะเขือ และวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ที่มีกัมพูชาเข้าไปตั้งกองกำลังอาวุธ เพราะเป็นการกระทำอันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

"กฎหมายระบุชัดว่า ให้ใช้กรณีความมั่นคงของชาติ และต้องเกิดเหตุการณ์เสียก่อน แต่การที่รัฐบาลประกาศใช้กับพันธมิตรฯ เพื่อเป็นการรักษาความมั่นคงในตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพเอง ดังนั้น อย่านำความมั่นคงของตัวเองมาแทนความมั่นคงของชาติ และการประกาศใช้กฎหมายนี้ เข้าข่ายมีความผิดกฎหมาย" นายประพันธ์กล่าว

***อัด"เทพเทือก"จินตนาการโอเว่อร์

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาล โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ อ้างว่าออกพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะพันธมิตรฯ จะบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภานั้น ล้วนเป็นจินตนาการของนายสุเทพเพียงคนเดียว ดังนั้น การใช้จินตนาการในการอ้างเพื่อประกาศใช้กฎหมาย จึงไม่ถูกต้อง โดยพันธมิตรฯ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่เคลื่อนไหวใดๆ จนกว่าจะมีมติจากคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน รัฐบาลจึงมาอ้างไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การที่พันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวที่ไหนนั้น รัฐบาลก็ไม่สามารถเอาผิดตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้ เพราะมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องดินแดนอธิปไตย ตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ การประกาศกฎหมายที่จำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากคณะรัฐมนตรี มีมติให้ใช้กฎหมายความมั่นคง เราจะฟ้องต่อศาลปกครองให้ทั้งครม. รับผิดชอบ
"จินตนาการของนายสุเทพ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสลาย และยุติการชุมนุมของพันธมิตรฯ เสมือนกับรัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นกฎหมายเผด็จการเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ เจตนามณ์รัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชนในการชุมนุม และปกป้องประเทศ หากเป็นเช่นนี้จะไม่เป็นประชาธิปไตย กลายเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายเผด็จการพร่ำเพรื่อ" นายปานเทพกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น