พูดไปอาจจะไม่เชื่อ แต่รู้หรือไม่ว่าเหตุประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ที่ปกครองประเทศมายาวกว่า 30 ปี ซึ่งคุกรุ่นมาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2554 เรื่อยมา จะส่งผลกระทบแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก
เอาง่ายๆ อย่างเรื่องการชุมนุมประท้วงเอง ตอนนี้ก็ได้กลายเทรนด์ใหม่ของดินแดนแอฟริกาเหนือและตะวันออก เพราะมันลุกลามมายังประเทศรอบข้างอย่าง ตูนิเซีย เซอร์เบีย ฯลฯ แล้ว
ส่วนประเทศไทยเองมีหรือที่รอดพ้นจากปรากฏการณ์ 'เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว' นี้ไปได้ เพราะนอกจากจะมีเหตุชุมนุมขับไล่รัฐบาลแล้ว ล่าสุด บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์ 'ปัญหาทางการเมืองในอียิปต์...ยังคงมีผลจำกัดต่อเศรษฐกิจไทย'
แม้บทความจะระบุว่าไทยได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากไทยกับอียิปต์มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย เห็นได้จากยอดส่งออกของไทยไปอียิปต์มีมูลค่าเพียง 767.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 23,000 ล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.4 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ในขณะที่การนำเข้ามีเพียง 22.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 0.01 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย (ประมาณ 700 ล้านบาท)
แต่ตัวเลขเท่านี้ สำหรับหลายคนก็ถือว่าเป็นจำนวนมหาศาลแล้ว และต้องไม่ลืมว่าสถานภาพของอียิปต์ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกนั้นใช่ธรรมดาเสียที่ไหน ดังนั้นหากสถานการณ์ยังคงลุกลามและต่อเนื่องเช่นนี้ มีหวังส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไทยเองก็มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคนี้สูงถึงร้อยละ 8.9 ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็น 16,475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 500,000 ล้านบาท) และยอดการนำเข้าอีกร้อยละ 12 หรือคิดเป็นมูลค่า 2,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 80,000 ล้านบาท)
เห็นตัวเลขเยอะๆ หลายคนอาจจะเริ่มมึนหัวกันแล้วใช่ไหม จึงขอหยิบเอาเรื่องใกล้ๆ ตัวอย่าง 3 เรื่องธรรมดาแต่สำคัญไม่ใช่เล่น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว อาหาร และการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบกับเหตุที่เกิดขึ้นนี้อย่างไรบ้าง เพื่อทุกคนจะได้ให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
ท่องเที่ยวอาจชะงัก เมื่ออาหรับขอพักผ่อน (อยู่ในประเทศ)
ไม่บอกก็รู้ว่า ท่องเที่ยวคือน้ำหล่อเลี้ยงสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งประเทศไทยด้วย
แม้ที่ผ่านมา อียิปต์จะไม่ใช่ตลาดใหญ่ เพราะมียอดนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยตลอดปี 2553 แค่ 17,894 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.11 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมาไทย แต่ด้วยจำนวนเพียงเท่านี้ กลับสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ถึง 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 360 ล้านบาท)
และจากเหตุความวุ่นวายรวมทั้งคำสั่งเคอร์ฟิวของทางการอียิปต์นี้เอง การท่องเที่ยวก็คือเรื่องแรกทุกคนวิตกกังวล เพราะนั่นย่อมหมายถึงการหยุดชะงักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ก็ออกมายอมรับว่า แม้จะไม่เกิดผลกระทบมาก แต่ก็ถึงยังไงก็ยังส่งผลอยู่ดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวอียิปต์จะต้องหยุดเดินทางมาเที่ยวในไทย เพราะจะไม่มีสายการบินหรือเที่ยวบินที่จะเดินทางมาได้
นี่ไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนอียีปต์มาประเทศไทยเท่านั้น แต่ในทางกลับกันก็ถือว่าได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อียิปต์เช่นกัน ซึ่งหากถามในแง่ความสูญเสียเป็นตัวเลขตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คงยังไม่สามารถประเมินได้
“คนไทยที่จะเดินทางไปอียิปต์ก็ยอกเลิกทัวร์ไป 100 เปอร์เซ็นต์ เงินที่หายไปทั้งสองทาง ไปกลับประมาณ 100 ล้านบาทในช่วงนี้ และแม้เหตุการณ์สงบ พรุ่งนี้ก็ยังเดินทางต่อไปไม่ได้ ต้องรอสักพัก 1-2 เดือน จึงจะเป็นปกติ ซึ่งหากนานขนาดนั้นความเสียหายก็ประมาณ 200 ล้านบาท โดยประมาณ”
ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลจากบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังชี้ให้เห็นอีกว่าหากเหตุการณ์นี้ยังลุกลามต่อไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะส่งผลต่อภูมิภาคโดยรวม ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางที่จะลดลงตามไปด้วย
ครัวไทยอาจระส่ำ เมื่อร้านอาหารมีปัญหา
ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องท่องเที่ยวเท่านั้นที่มีความเสี่ยง หากจำกันได้ ครั้งหนึ่งรัฐบาลไทยเคยมีโครงการยักษ์จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นครัวเอกของโลกใบนี้ (ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลีย)
แม้ที่ผ่านมาภาพรวมของโครงการนี้จะดูเหมือนลุ่มๆ ดอนๆ และไปไม่ถึงไหน แต่นั่นก็ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ระบบอาหารไทยถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งนั่นก็คือ ธุรกิจอาหารสำหรับชาวมุสลิม หรืออาหารฮาลาล
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประเภทนี้ของไทยจัดว่าอยู่ในขั้นได้คุณภาพมีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ไม่แพ้อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมแท้ๆ ซึ่งอียิปต์เองก็จัดเป็นกลุ่มประเทศอาหรับประเทศหนึ่งที่นำเข้าอาหารฮาลาลจากไทยในปริมาณค่อนข้างสูง
ประกอบกับที่ผ่านมา ก็มีแรงงานไทยจำนวนมากเดินทางไปทำงานที่อียิปต์ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทุกวันนี้จะเห็นร้านอาหารไทยจำนวนมากเริ่มเข้าไปลงทุนในประเทศอียิปต์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนี่ อุตสาหกรรมฮาลาลจึงตกอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากการพูดคุยกับ ปรีชา อนุรักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และผู้รับผิดชอบกำกับดูแลสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ก็ออกมาบอกว่า ขณะนี้คงต้องรอการประสานจากผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปยังอียิปต์ว่าเป็นเช่นใด แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน คงต้องรอประเมินอีกสักระยะหนึ่ง
“เท่าที่ฟังจากหลายๆ สถานประกอบการที่ประสานเราเข้ามาบ้าง หรือที่ผมโทร.ไปเช็กบ้าง พบว่า ผลกระทบยังไม่มากพอ การส่งออกยังไปได้ในระดับหนึ่ง สถานประกอบการก็อยู่ในระหว่างการเฝ้าระวังเหมือนกันว่าจะกำหนดทิศทางอย่างไร เพราะยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อแค่ไหน
“ผมมองว่าสถานการณ์ในช่วงต้นๆ ไม่น่าจะมีอะไรมาก แต่ว่าเร็วๆ นี้ก็มีกลุ่มที่สนับสนุนผู้นำอียิปต์ขึ้นมา ผมเองก็เกรงเหมือนกันว่าระยะเวลาของการชุมนุมจะยืดเยื้อไป ด้านสถานประกอบการเองตอนนี้เราก็เฝ้าระวังอยู่ แต่การหาข้อมูลเพิ่มเติมน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลมากกว่า แต่เราก็เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะจบโดยเร็ว”
ซึ่งหากจะให้ประเมินว่า ความวุ่นวายในอียิปต์จะกระทบกับการส่งออกอาหารฮาลาลมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเร็วแค่ไหน หากยิ่งยืดเยื้อก็ยิ่งต้องเฝ้าจับตาใกล้ชิด
แต่โดยส่วนตัวแล้ว ก็เชื่อว่าคงไม่มีผลต่อภาพรวมมากนัก เพราะต่อให้เกิดความลุกลามไปในกลุ่มประเทศอาหรับ ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีกำลังซื้อมากนัก ส่วนกลุ่มประเทศที่มีอิทธิพลในโลกอาหรับอย่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ซึ่งมีกำลังซื้อสูงซึ่งน่าจะแรงกระเพื่อมได้มากกว่าก็ยังไม่เห็นทีท่าว่าจะมีเหตุการณ์วุ่นวายอะไรขึ้นมา
เด็กไทยอาจเรียนไม่จบ เมื่อโรงเรียนไม่เปิดทำการ
แม้จะถูกยกตัวอย่างเป็นเรื่องสุดท้าย แต่ขอบอกไว้เลยว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งที่ประเทศอียีปต์เองก็ถือเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของชาวมุสลิมแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้
เพราะที่นี่มี 'มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร' เป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่อายุมากกว่าหนึ่งสหัสวรรษ (1,000 ปี) ซึ่งจะมีเยาวชนชาวมุสลิมจำนวนมหาศาล มุ่งหน้าสู่กรุงไคโร เพื่อเข้าศึกษาต่อที่นี่เป็นจำนวนมาก โดยจำนวนนั้นเป็นเยาวชนไทยประมาณ 100 ชีวิตได้ เพราะฉะนั้น วิกฤตการณ์ดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อการศึกษาด้วยเช่นกัน เพราะคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานก็หมายความว่า สถาบันการศึกษาก็ต้องปิดชั่วคราว รอจนกว่าสถานการณ์จะสงบนั่นเอง
อับดุลลฆอนี เด่นตี อาจารย์ประจำโรงเรียนมิฟตาฮุ่ลอุลูมิดดีนียะฮุ (บ้านดอน) ในฐานะอดีตนักเรียนทุนคณะศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร เล่าถึงที่ไปที่มาของการศึกษาที่นี่ว่า โดยปกติแล้ว นักเรียนไทยจะได้ทุนเรียนจากสถานทูตอียิปต์ให้มาเรียนต่อมหาวิทยาลัยนี้ปีละ 60 ทุน โดยจะเฉลี่ยให้โรงเรียนมุสลิมทั่วประเทศและมีการสอบประเมินความรู้อีกครั้ง แต่ถ้านักเรียนสนใจจะมาเรียนเอง ก็ต้องออกใช้จ่ายมากกว่านักเรียนทุนประมาณ 2 เท่า ซึ่งแขนงสาขาที่จะเปิดนั้นก็มีอยู่หลากหลายไม่จำกัด ไม่ว่าวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมไปถึงศาสนศาสตร์ ด้านอิสลามศึกษาที่เจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นสาขาหลักที่นักเรียนไทยเชื้อสายมุสลิมจำนวนมากนิยมเข้าเรียนต่อที่ประเทศอียิปต์
อย่างไรก็ตาม จากข่าวคราวที่ออกมา อับดุลลฆอนีก็บอกว่า เด็กไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเด็กที่ไปด้วยทุนส่วนตัวเพราะพวกนี้จะอาศัยอยู่ในบ้านพัก
“พวกเด็กหอพักนานาชาติในมหาวิทยาลัยไม่ค่อยมีปัญหา ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีอาหารเลี้ยง 3 มื้อ มีค่าครองชีพรายเดือน แต่เด็กที่อยู่บ้านคือเด็กที่ไม่ใช่นักเรียนทุนที่ไปอยู่รวมกับชาวอียิปต์จะมีปัญหา เพราะตอนนี้กฎเกณฑ์มันไม่มีไง มันโดนทำลาย ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน นักศึกษาที่อยู่บ้านคนเดียวก็โดนปล้นโดนทำร้ายร่างกายก็มี”
ส่วนเรื่องโอกาสทางศึกษาจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ครูมุสลิมก็บอกว่า หากเป็นเด็กปี 1 ก็ไม่ถือว่ามีปัญหามาก จะลำบากหน่อย หากเด็กคนนั้นใกล้จะเรียนจบ เพราะจะต้องเสียเวลาแล้วอย่างน้อยก็อีกปี
“คนไหนที่สอบไปเมื่อต้นปีก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าใครที่กำลังจะสอบ ก็เกิดปัญหาแน่นอน คือการเรียนที่นี่จะคล้ายกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงของเรา คือถ้าไม่ได้ไปเรียนหรือไปสอบก็ต้องเสียโอกาสเสียเวลาอีก”
………..
แม้จะอยู่ห่างไกลหลายร้อยหลายพันกิโลเมตร แต่งานนี้ก็ดูเหมือนว่า ความแรงของเหตุการณ์ในอียิปต์ดูจะไม่ธรรมดา และส่งผลกระทบเยอะกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด
เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เอาเครื่องบินไปรับคนไทยกลับประเทศแล้วจะจบ แต่ยังมีปัญหาอีรุงตุงนังให้ต้องแก้ไขกันต่อไป เพราะฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นการนั่งภาวนาเอาใจช่วยให้เหตุการณ์ความไม่สงบหรือยุติลงเร็วพลัน
>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK